วันที่ ๑๗ มิถุนายน เป็นวันครบรอบที่พระสุพจน์ สุวโจ ถูกสังหารอย่างโหดเหี้ยมในสำนักของท่าน คือสวนเมตตาธรรม อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ คนร้ายซึ่งเชื่อว่ามีไม่น้อยกว่า ๒ คนได้ใช้มีดเชือดคอและฟันร่างของท่านเป็นแผลฉกรรจ์กว่า ๑๐ แผล ก่อนหน้าเหตุการณ์ดังกล่าวได้มีกลุ่มอิทธิพลมาก่อกวนและข่มขู่คุกคามพระภิกษุและคนงานในสวนเมตตาธรรมอย่างต่อเนื่องไม่น้อยกว่า ๓ ปี ทั้งนี้เนื่องจากที่ดินกว่า ๗๐๐ ไร่ของสำนักนี้เป็นที่หมายปองของผู้มีอิทธิพลทั้งในและนอกเขตอำเภอฝางมาเป็นเวลาหลายปี แต่ติดขัดที่มีพระสงฆ์พำนักและดูแลอยู่ จึงพยายามทุกวิถีทางที่จะขับไล่ท่านออกไปจากพื้นที่
ฆาตกรรมดังกล่าวเชื่อว่ามีความเชื่อมโยงกับผู้มีอิทธิพลกลุ่มนี้ ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่ตำรวจท้องที่พยายามเบี่ยงเบนประเด็นว่า เป็นฝีมือของชาวบ้านในละแวกนั้นที่มาลักลอบตัดไม้แล้วถูกท่านขัดขวางจึงบันดาลโทสะทำร้ายท่าน เมื่อมีการชันสูตรและตรวจสอบที่เกิดเหตุ หลักฐานหลายอย่างก็ถูกละเลยจากทางตำรวจ เช่น ไม่มีการพิสูจน์คราบเลือดในอังสะและสบง (เครื่องนุ่งห่ม) ของท่าน รวมทั้งไม่มีการตรวจสอบลายนิ้วมือในกุฏิของท่าน
ผลก็คือจนบัดนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจยังไม่สามารถจับคนร้ายหรือผู้ต้องหาได้ ไม่จำต้องพูดถึงผู้บงการ แม้คดีจะโอนไปให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) แล้วก็ตาม กรณีนี้ก็เช่นเดียวกับคดีอื่นๆ ก่อนหน้านั้น (และหลังจากนั้น) ที่ผู้ตายมีบทบาทในการปกป้องสิ่งแวดล้อมหรือขัดขวางผลประโยชน์ของผู้มีอิทธิพล ซึ่งเป็นนักธุรกิจ นักการเมืองท้องถิ่นหรือระดับชาติ เหตุการณ์ทำนองนี้ไม่ได้เป็นผลพวงของระบอบทักษิณเท่านั้น (แม้ว่าในช่วงนั้นมีการสังหารผู้นำท้องถิ่นและนักสิทธิมนุษยชนไม่น้อยกว่า ๒๐ คนรวมทั้ง เจริญ วัดอักษร และสมชาย นีละไพจิตร) แต่เกิดขึ้นมาในทุกรัฐบาลโดยเฉพาะในช่วง ๔๐ ปีที่ผ่านมา
กรณีของพระสุพจน์ จึงเป็นภาพสะท้อนปัญหาขั้นพื้นฐานของเมืองไทย ได้แก่ ความรุนแรงที่ซึมลึกและแผ่กว้าง กระบวนการยุติธรรมที่ไร้ประสิทธิภาพ และการเติบใหญ่ของกลุ่มอิทธิพล จนสามารถครอบงำกลไกรัฐตั้งแต่ระดับท้องถิ่นไปจนถึงระดับชาติ และสามารถใช้กลไกรัฐนั้นปกป้องผลประโยชน์ของตน ด้วยวิธีการต่างๆ ตั้งแต่วิธีการที่แนบเนียน คือ การคอร์รัปชั่นเชิงนโยบาย ไปจนถึงการใช้อำนาจดิบอย่างโจ่งแจ้ง เช่น ลอบสังหารผู้ที่ขัดขวางผลประโยชน์
ปัญหาเหล่านี้ได้ผนึกผสานและสืบทอดกันมาจนกลายเป็นระบบที่ฝังลึก อีกทั้งยังเชื่อมโยงกับระบบและโครงสร้างต่างๆ ของประเทศ อาทิ ระบบเศรษฐกิจ โครงสร้างการพัฒนา โครงสร้างอำนาจ และระบบการเมือง จนกลายเป็น “โครงสร้างแห่งความรุนแรง” ขึ้นมา กล่าวคือเป็นโครงสร้างที่นำไปสู่การเอารัดเอาเปรียบผู้ที่อ่อนแอ เช่น กดราคาพืชผลทางการเกษตร แย่งชิงทรัพยากรสาธารณะ อาทิ แหล่งน้ำ ป่าไม้ ที่ดิน ตลอดจนเบียดบังงบประมาณของรัฐ เพื่อสนองผลประโยชน์ของคนส่วนน้อยหรือผู้มีอิทธิพล ผลที่ตามมาคือเกิดความเหลื่อมล้ำทางด้านรายได้ คนส่วนใหญ่ประสบภาวะยากจน ขาดสวัสดิการที่เหมาะสม และนำไปสู่ความเจ็บไข้ได้ป่วย ทั้งหมดนี้เป็นความรุนแรงอีกแบบหนึ่ง ที่แม้ไม่ทำให้เลือดตกยางออก แต่ก็กัดกร่อนคุณภาพชีวิต จนอาจถึงแก่ความตายได้
แต่โครงสร้างแห่งความรุนแรงดังกล่าว ไม่เพียงก่อให้เกิดความรุนแรงที่ทำให้ผู้คนตายอย่างช้าๆ โดยไม่เป็นข่าวเท่านั้น นับวันมันกำลังลุกลามไปสู่การก่อความรุนแรงชนิดที่เลือดตกยางออก กรณีสังหารพระสุพจน์และผู้นำท้องถิ่นนับสิบนั้น เป็นเพียงส่วนน้อยของผู้เป็นเหยื่อของความรุนแรงประเภทนี้ มีชาวบ้านธรรมดาอีกมากมายนับไม่ถ้วนที่ถูกฆ่าเพราะขวางทางของผู้มีอิทธิพล โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ บางครั้งเจ้าหน้าที่รัฐก็ลงมือเสียเอง (โดยอ้างว่าเป็น “การฆ่าตัดตอน” โดยพวกค้ายา เป็นต้น) แต่ถ้าหากเจ้าหน้าที่คนใดพยายามทำความจริงให้ปรากฏ ก็มักมีอันเป็นไปโดยถูกกลไกรัฐหรือระบบตำรวจนั้นเอง “จัดการ” เช่น ถูกย้าย ถูกสอบ หาไม่ก็ถูกกำจัด วิธีการดังกล่าวได้ทำกันเป็นระบบจนเป็นส่วนหนึ่งของกลไกรัฐไปแล้วก็ว่าได้ หากแต่ไม่ได้มีการตราไว้เป็นลายลักษณ์อักษรเท่านั้น
ในทำนองเดียวกัน การเติบใหญ่ของกลุ่มอิทธิพลหรือ “เจ้าพ่อ” ทั้งหลายก็ได้พัฒนาจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างอำนาจในเมืองไทยไปแล้ว ตั้งแต่ระดับหมู่บ้านไปจนถึงระดับชาติ โดยมีความเชื่อมโยงแนบแน่นกับโครงสร้างเศรษฐกิจและการพัฒนาในปัจจุบัน ทั้งนี้เพราะการพัฒนาเกือบ ๕๐ ปีที่ผ่านมาเอนเอียงเข้าข้างภาคอุตสาหกรรมและบริการโดยผลักภาระให้แก่ภาคเกษตรกรรมมาตลอด ขณะเดียวกันก็ตอบสนองผู้ประกอบการมากกว่าผู้ใช้แรงงาน การพัฒนาแบบไร้สมดุลดังกล่าวทำให้นักธุรกิจและผู้ประกอบการในท้องถิ่นเติบโตอย่างรวดเร็วจนบางส่วนได้กลายเป็นผู้มีอิทธิพล นอกจากจะอิงอาศัยกลไกรัฐเพื่อสนองผลประโยชน์ของตนแล้ว หลายคนยังโดดเข้าสู่การเมืองระดับท้องถิ่นและก้าวสู่การเมืองระดับชาติ จนสามารถมีอิทธิพลเหนือกลไกรัฐได้อย่างน้อยก็ในระดับท้องถิ่น ถึงตรงนี้การใช้ความรุนแรงกับชาวบ้าน (หรือแม้แต่พระสงฆ์) ที่ขัดขวางผลประโยชน์ของตน ก็ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป
ในเมื่อพระสุพจน์ซึ่งเป็นภิกษุที่มีผลงานเป็นที่รู้จักไม่น้อย ในฐานะแกนนำของกลุ่มพุทธทาสศึกษา ยังตกเป็นเหยื่อของโครงสร้างแห่งความรุนแรง ตั้งแต่ต้นจนจบ (คือจับคนร้ายไม่ได้แม้แต่คนเดียว) ทั้งๆ ที่เป็นคดีที่ถูกจับตามองโดยสาธารณชนทั้งในและนอกประเทศ จึงไม่น่าสงสัยเลยว่า คนเล็กคนน้อยที่อยู่ชายขอบของสังคมจะมีจำนวนมากมายเพียงใดที่ประสบชะตากรรมเดียวกับท่าน ยิ่งในดินแดนที่ไกลหูไกลตาผู้คน อย่างสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วยแล้ว กรณีทำนองนี้น่าจะมีอยู่ไม่น้อยทีเดียว ด้วยเหตุนี้จึงไม่ควรแปลกใจที่ผู้คนในพื้นที่ดังกล่าวทั้งเกลียดชังและหวาดกลัวเจ้าหน้าที่รัฐเป็นอย่างยิ่ง จนในที่สุดกลายเป็นแนวร่วมให้กับผู้ก่อความไม่สงบ จะว่าไปความรุนแรงของผู้ก่อความไม่สงบเหล่านั้นคือปฏิกิริยาต่อความรุนแรงของเจ้าหน้าที่รัฐที่สะสมต่อเนื่องมานาน และหากมองให้ลึกอีกหน่อย ก็จะเห็นได้ว่าความรุนแรงที่กำลังลามไหม้ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ คือผลพวงของโครงสร้างแห่งความรุนแรงที่ฝังรากมาหลายสิบปี
กรณีของพระสุพจน์ เป็นภาพสะท้อนปัญหาขั้นพื้นฐานของเมืองไทย ได้แก่ ความรุนแรงที่ซึมลึกและแผ่กว้าง กระบวนการยุติธรรมที่ไร้ประสิทธิภาพ และการเติบใหญ่ของกลุ่มอิทธิพล
โครงสร้างแห่งความรุนแรงไม่เพียงผลักไสผู้คนทั้งประเทศให้เข้าสู่ความทุกข์ ความเหลื่อมล้ำ และการเอารัดเอาเปรียบกันเท่านั้น หากยังพาสังคมไทยสู่วังวนแห่งปาณาติบาตและการทำร้ายซึ่งกันและกัน บ้านเมืองจึงหาสันติสุขได้ยาก เมื่อเร็วๆ นี้มีการจัดอันดับความสงบสุขของประเทศต่างๆ ทั่วโลก (Global Peace Index) โดยพิจารณาจากความรุนแรงในลักษณะต่างๆ อาทิ การเกิดอาชญากรรม การเข้าถึงอาวุธ งบประมาณทางทหาร การคอร์รัปชั่น และการละเมิดสิทธิมนุษยชน ปรากฏว่าประเทศไทยอยู่ในอันดับท้ายๆ คือ อันดับที่ ๑๐๕ จากทั้งหมด ๑๒๑ ประเทศ จากดัชนีดังกล่าวแสดงว่าประเทศไทยมีความรุนแรงมากกว่าเอธิโอเปียและยูกานดาด้วยซ้ำ ทั้งๆ ที่ประเทศไทยถือตัวว่าเป็นเมืองพุทธ และมีการเทศนาสอนศีล ๕ แทบทุกวัน
ทั้งหมดนี้นำมาสู่คำถามว่าเหตุใดการสอนศีล ๕ จึงไม่ได้ผล คำตอบนั้นส่วนหนึ่งเป็นเพราะเราสนใจแต่ศีลธรรมระดับบุคคล แต่มองข้ามศีลธรรมในระดับโครงสร้าง เราปล่อยให้โครงสร้างทางเศรษฐกิจการเมืองและสังคมกลายเป็นแหล่งบ่มเพาะความรุนแรงให้แพร่ขยาย ด้วยการทำให้กลไกรัฐมีอำนาจล้นเหลือและขาดความโปร่งใส ขณะที่ระบบการเมืองเอื้อต่อผู้มีอิทธิพล และไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมและทัดทานอำนาจการเมือง ส่วนระบบเศรษฐกิจก็ถือเอาเงินตราเป็นใหญ่และส่งเสริมการเอาเปรียบกัน กล่าวอีกนัยหนึ่งเราปล่อยให้โลภะ โทสะ และโมหะฝังรากลึกในโครงสร้างจนผลักไสให้ผู้คนข่มเหงคะเนงร้ายกัน กระทั่งการฆ่ากันกลายเป็นเรื่องธรรมดา
โครงสร้างแห่งความรุนแรงเหล่านี้เราทุกคนล้วนมีส่วนสนับสนุนให้เกิดขึ้น อย่างน้อยก็ด้วยการยินยอมพร้อมใจให้มันดำรงอยู่ แม้จะถือศีล ๕ อย่างเคร่งครัดเพียงใด แต่จะโดยรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม เราได้มีส่วนส่งเสริมให้ปาณาติบาตเกิดขึ้นทุกหัวระแหง ด้วยการสนับสนุนโครงสร้างแห่งความรุนแรงดังกล่าว การถือศีล ๕ ด้วยการรักษากายและวาจาให้ดีจึงยังไม่เพียงพอ แต่ควรขยายไปสู่การช่วยกันขจัดโครงสร้างแห่งความรุนแรง เพื่อทำให้สังคมมีสันติสุขและตั้งมั่นอยู่ในศีลธรรมอย่างแท้จริง
มรณกรรมของพระสุพจน์ อาจลงเอยด้วยการจับฆาตกรและผู้บงการไม่ได้เลยแม้แต่คนเดียว แต่นั่นอาจไม่สำคัญเท่ากับการกระตุ้นให้คนไทยหันมาตื่นตัวถึงอันตรายจากโครงสร้างแห่งความรุนแรง ใช่หรือไม่ว่าโครงสร้างดังกล่าวคือ “ฆาตกร” ที่ร่วมลงมือประหัตประหารท่านด้วย แต่หากคนไทยแม้เพียงน้อยนิดยังไม่ตระหนักถึงฆาตกรดังกล่าว และไม่ทำอะไรเลยกับมัน นั่นแสดงว่าพระสุพจน์ “ตายเปล่า” อย่างแท้จริง