สอนลูกทำบุญ

พระไพศาล วิสาโล 1 สิงหาคม 2004

ชีวิตที่ดีคือชีวิตที่รักตนและรักผู้อื่นอย่างถูกต้อง  ในทางพุทธศาสนา การรักตนและรักผู้อื่นนั้นมิได้ขัดแย้งกันเลย หากสามารถดำเนินควบคู่กันไปได้บนวิถีแห่งบุญ

พ่อแม่ทุกคนย่อมปรารถนาให้ลูกมีชีวิตที่ดี จึงควรช่วยให้ลูกเจริญงอกงามวิถีแห่งบุญ ด้วยการแนะนำให้ลูกใฝ่ในการทำบุญอย่างถูกต้อง  เพราะบุญนั้นช่วยให้เกิดความไพบูลย์ทั้งกายและใจ อีกทั้งยังก่อประโยชน์แก่ผู้อื่น นำมาซึ่งความสุขทั้งแก่ตนเองและเพื่อนมนุษย์

ในเทศกาลเข้าพรรษา คนไทยนิยมทำบุญให้เกิดศิริมงคลแก่ชีวิต  เป็นโอกาสดีที่พ่อแม่จะชักชวนลูกๆ ให้ทำบุญอย่างเหมาะสมกับวัยและสอดคล้องกับยุคสมัย  ขณะเดียวกันหากพ่อแม่ได้ทำบุญร่วมกับลูก หรือเป็นแบบอย่างให้แก่ลูกด้วย ก็จะทำให้ลูกมั่นใจและมั่นคงบนวิถีแห่งบุญ

ผู้ให้ความสุขย่อมได้ความสุข

บุญนั้นเริ่มต้นด้วยการรู้จักให้  การให้ (หรือทาน) ช่วยให้เราไม่คิดจะเอาเข้าตัวอยู่ร่ำไป  ชีวิตที่คิดแต่จะเอาเป็นชีวิตที่ไม่สมดุล  จิตที่คิดแต่จะเอาเป็นจิตที่คับแคบ เห็นแก่ตัว ทำให้เป็นคนไม่น่ารัก และมีความสุขยาก  ด้วยเหตุนี้ผู้ใหญ่สมัยก่อนจึงนิยมพาลูกหลานใส่บาตรตั้งแต่ยังตัวเล็กๆ  ทีแรกก็เป็นฝ่ายเฝ้าดูพ่อแม่หรือตายายเอาอาหารหวานคาวใส่บาตร ต่อมาก็ใส่บาตรด้วยตนเอง

การถวายของให้พระถือว่าเป็นบุญ  แต่บุญไม่ได้จำกัดอยู่แค่นั้น  ให้ของแก่ผู้อื่น โดยเฉพาะคนที่ยากลำบาก ก็ถือว่าเป็นบุญเช่นกัน  ลูกๆ สามารถทำบุญได้ด้วยการสละของเล่นให้แก่เด็กยากจนหรือเด็กด้อยโอกาสในเมืองและในชนบท หรือให้เงินช่วยคนพิการ

นอกจากให้เงินหรือสิ่งของแล้ว  การให้ชีวิตแก่สัตว์ก็เป็นบุญเหมือนกัน เช่น ช่วยปลาที่ติดปลักให้กลับคืนสู่แม่น้ำลำคลอง  แม้แต่ต้นไม้ที่เหี่ยวแห้งใกล้ตาย ช่วยรดน้ำให้เขา ก็เป็นบุญเช่นกัน

โลกสวยด้วยน้ำใจ

การเสียสละเพื่อส่วนรวม หรือลงมือลงแรงเพื่อช่วยผู้อื่น เป็นบุญอีกอย่างหนึ่ง  บุญอย่างนี้เด็กๆ สามารถทำได้ในชีวิตประจำวัน  เช่น เก็บเศษแก้วหรือตะปูที่ขวางทาง เก็บขยะในละแวกบ้าน ช่วยเหลืองานของโรงเรียน ถือของให้คนแก่ จูงคนตาบอดข้ามถนน ปลูกต้นไม้ในที่สาธารณะ  นิสัยเช่นนี้ปลูกฝังได้ด้วยการสอนให้ลูกรู้จักช่วยงานบ้าน แม้จะมีคนใช้ก็ตาม

การช่วยเหลือผู้อื่นจะเป็นไปได้ ก็ต้องเริ่มต้นด้วยการรู้จักรักษาตนไม่ให้ก่อความเดือดร้อนแก่ใคร หรือเอาเปรียบส่วนรวม  บุญประเภทนี้เราเรียกว่าศีล

การกินอยู่ให้เป็น รู้จักใช้ของ ก็เป็นส่วนหนึ่งของพฤติกรรมที่เรียกว่าศีล  เช่น กินง่ายอยู่ง่าย เลือกกินสิ่งที่มีประโยชน์ ไม่ตามใจลิ้นจนเป็นโทษแก่ร่างกาย

ข้อนี้รวมถึงการใช้เทคโนโลยีต่างๆ อย่างเหมาะสม ไม่หมกมุ่นหรือสิ้นเปลือง  เช่นใช้โทรศัพท์มือถืออย่างเป็นเวลา ดูโทรทัศน์เมื่อทำการบ้านหรืองานเสร็จแล้ว เล่นเกมคอมพิวเตอร์พอประมาณ  เมื่อกินเป็นใช้เป็นแล้ว ขั้นต่อมาคือสอนให้ลูกจับจ่ายใช้สอยเป็น รู้จักประหยัด ไม่ติดนิสัยช็อปปิ้ง อวดร่ำอวดรวยแข่งกัน หรือหลงติดอบายมุข อาทิ การพนัน การเที่ยวสถานเริงรมย์

ทำบุญที่ใจ

คนเราสามารถทำบุญได้ตลอดเวลา ไม่ว่าที่บ้าน ที่โรงเรียน หรือบนท้องถนน  ไม่มีเงินหรือไม่ใช้เงินเลย ก็ทำบุญได้  แม้กระทั่งอยู่เฉยๆ  แต่ทำใจให้ถูกต้อง จนเกิดความรู้สึกดีๆ ขึ้นมา ก็เป็นบุญ  เช่น ยินดีปลาบปลื้มเมื่อเห็นคนอื่นทำความดี ไม่อิจฉา หรือค่อนแคะเขาว่าอยากดัง  การสอนให้ลูกชื่นชมคนดีคือการสร้างนิสัยใฝ่ดีขึ้นมาในตัวเด็ก

สมาธิช่วยให้ใจสงบง่าย ดับความโกรธความเร่าร้อนได้ดี  เวลาลูกโมโห ควรแนะให้ลูกหายใจเข้าลึกๆ หายใจออกยาวๆ สัก ๔-๕ ครั้งเป็นอย่างน้อย  แต่สมาธิจะได้ผลดี ต้องฝึกเป็นประจำแม้ในยามปกติ  วิธีฝึกมีหลายอย่าง เช่น จดจ่ออยู่กับลมหายใจเข้าออก หรือ เดินช้าๆ ด้วยความสงบ  ถ้าพ่อแม่ทำร่วมกับลูกด้วย จะได้ผลมาก  การทำเป็นกิจวัตรแม้เพียงวันละ ๕ นาที ช่วยพัฒนาจิตใจได้มาก

ความจริง การฝึกสมาธิสามารถทำได้กับกิจกรรมทุกอย่าง เช่น มีสมาธิกับการถูฟัน ล้างจาน หรือทำการบ้าน อ่านหนังสือ  นอกจากนั้น การสอนให้เด็กทำอะไรเป็นอย่างๆ ไม่ทำอะไรพร้อมกันหลายอย่างเวลาเดียวกัน เช่น กินข้าวไปด้วยอ่านหนังสือไปด้วย จะช่วยฝึกจิตให้มีสมาธิ ไม่ฟุ้งซ่าน

การแผ่เมตตาเป็นการฝึกจิตให้มีภูมิต้านทานความโกรธได้เป็นอย่างดี  ความโกรธนั้นยิ่งหมักหมมก็ยิ่งเผาลนใจให้รุ่มร้อน  พ่อแม่ควรสอนลูกแผ่เมตตาก่อนนอน เริ่มจากคนใกล้ตัวไปจนถึงคนที่มีเรื่องโกรธเคืองหรือผิดใจกัน  การให้อภัยเป็นอีกวิธีหนึ่งที่ช่วยให้ใจสงบเย็น

อบรมจิตให้คิดชอบ

ฝึกใจให้สงบแล้ว ถ้าจะให้ดียิ่งขึ้น ควรฝึกใจให้มีปัญญาด้วย คือ คิดถูกคิดชอบ  เมื่อประสบกับสิ่งใดก็ตาม ก็เอาความถูกต้องเป็นหลัก ไม่ใช่ดูว่าถูกใจหรือไม่  เวลาถูกตักเตือน แม้ไม่ถูกใจ แต่ก็รับฟังเพื่อมาใคร่ครวญว่าที่เขาพูดนั้นถูกต้องไหม  ท่าทีแบบนี้นอกจากจะทำให้ไม่ทุกข์เวลาถูกตำหนิแล้ว ยังจะได้ประโยชน์จากคำตำหนิด้วย

การคิดถูกคิดชอบต้องอาศัยการฟังและอ่านสิ่งที่มีประโยชน์  พ่อแม่จึงควรสนับสนุนให้ลูกได้รับรู้สิ่งที่ดีงาม ได้ฟังสิ่งที่เป็นคติธรรมแก่ชีวิต  เช่น แนะนำหนังสือที่ดี หรือรายการโทรทัศน์ที่มีประโยชน์  นอกจากนั้นเวลาดูโทรทัศน์พ่อแม่ควรอยู่เป็นเพื่อนเพื่อช่วยแนะนำสิ่งที่มีประโยชน์แก่ลูก

การสอนลูกให้ทำความดีเป็นบุญอยู่แล้วในตัว  ถ้าลูกนำไปปฏิบัติ ก็เท่ากับว่าลูกได้ร่วมทำบุญด้วย  บุญที่ถูกต้องช่วยให้ชีวิตจิตใจเกิดความสะอาด สว่าง สงบ และเป็นสุขอย่างแท้จริง  ไม่มีอะไรสำคัญสำหรับมนุษย์เท่ากับสิ่งนี้  พ่อแม่พร้อมให้อะไรมากมายแก่ลูก เช่น เงิน บ้าน ที่ดิน  แต่สิ่งหนึ่งที่ลืมไม่ได้คือ การสอนลูกให้รู้จักบุญและมีชีวิตที่เปี่ยมบุญ  มรดกใดเล่าจะสำคัญมากไปกว่านี้


ภาพประกอบ

พระไพศาล วิสาโล

ผู้เขียน: พระไพศาล วิสาโล

เจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต และประธานมูลนิธิเครือข่ายพุทธิกา