ความลวงร่วมสมัย

อรศรี งามวิทยาพงศ์ 21 เมษายน 2001

มีนิทานพื้นบ้านไทยเรื่องหนึ่ง เล่าถึงชายโง่คนหนึ่งนั่งอยู่ใต้ต้นไม้ใหญ่ริมบึง  เมื่อมองลงไปในบึงเห็นรวงผึ้งอยู่ในน้ำ ก็กระโจนลงน้ำไปงมหารวงผึ้งที่เห็นนั้น  หาอยู่นานก็ไม่พบ จนกระทั่งไปถูกคนหาปลาเอาฉมวกแทงตายในที่สุด  ฟังนิทานเรื่องนี้แล้วก็ให้กลับมานึกถึงสถานการณ์รอบตัวเราในสังคมเวลานี้ มีบางอย่างที่ละม้ายคล้ายกัน คือ  เงาสะท้อนของบางสิ่งบางอย่างถูกเข้าใจไปว่าเป็น “ความจริง” แล้วเราทั้งหลายก็กระโจนลงไปสู่เงาสะท้อนนั้น  แล้วก็เชื่อกันอย่างเอาเป็นเอาตายในหลายครั้งหลายคราว

เรื่องหนึ่งที่น่าจะเห็นและรู้สึกกันได้ชัดเจน คือ ความเข้าใจของคนในสังคมที่มีต่อข่าวสารข้อมูลมากมายมหาศาลทางสื่อมวลชน ไม่ว่าทางสิ่งพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ และทางอินเตอร์เน็ต ว่าข่าวสารที่เสนอมานั้นคือ “ความจริง” มีความน่าเชื่อหรือเชื่อถือได้  ไม่ว่าจะเป็นเพราะฟังดูมีเหตุมีผล มีตรรกะสอดรับกันดี หรือเพราะคนพูดคนเขียนหรือสื่อและสถาบันนั้นๆ มีสถานภาพน่าเชื่อถือ  ทั้งที่ความจริงแล้ว ข้อมูลที่เรารับในรูปแบบต่างๆ ทางสื่อทุกชนิดนั้น ก็เป็นเพียงเงาสะท้อนของความจริง  เหมือนเงาสะท้อนของรวงผึ้งในน้ำ ซึ่งไม่ว่าน้ำจะนิ่งและใสจนมองเห็นรวงผึ้งชัดเจนแจ่มแจ้งเพียงใด แต่นั่นก็เป็นเพียง “เงาสะท้อน” อยู่วันยังค่ำ หาใช่ตัวความจริงแต่อย่างไรไม่  เราอาจใช้เงาสะท้อนนั้น เพื่อสืบสาวไปสู่ความจริงได้ (เหมือนเรารู้ว่ามีรวงผึ้งอยู่บนต้นไม้ จากเงาสะท้อนในน้ำ) แต่เราไม่สามารถยึดเงาสะท้อนนั้นเป็นตัวความจริงได้เลย

ชีวิตของเราทุกวันนี้ อยู่ท่ามกลางเงาสะท้อนจำนวนมากมายมหาศาล เพราะวันหนึ่งๆ เรารับข่าวสารมากมายหลายด้าน  หากเราไม่เข้าใจและไม่รู้เท่าทันความจริงในข้อนี้ เราก็อาจจะเกิดอาการได้สองอย่าง  อย่างหนึ่งคือเป็นคนเชื่ออะไรง่ายเกินไป เร็วเกินไป  อย่างหนึ่งคือสับสนไม่รู้จะเชื่อใครดี  เหมือนที่ชาวกาลามะเคยสับสนกับคำสอนจำนวนมากมายของเจ้าลัทธิ-นิกายต่างๆ ในสมัยพุทธกาล  จนกระทั่งเข้าเฝ้าพระพุทธองค์ กราบทูลว่าไม่รู้จะเชื่อใครแล้ว  และพระศาสดาได้ตรัสสอนหลักกาลามสูตร มิให้เชื่ออะไรโดยทันทีเพราะเหตุผล ๑๐ ประการ  เช่น เชื่อเพราะฟังตามกันมา เพราะเป็นครูของเรา เพราะเหตุผลดีน่าเชื่อ เป็นต้น  หากแต่ทรงสอนให้รู้จักการไตร่ตรองมีวิจารณญาณก่อนจะเชื่อ นั่นคือชาวพุทธจะต้องใช้สติปัญญากำกับเสมอก่อนเชื่อสิ่งใด  แม้ไตรตรองและเชื่อในเบื้องต้นแล้ว ก็จะต้องไม่เชื่ออย่างปักใจ แบบเชื่อแล้วเชื่อเลย  หากเป็นความเชื่อที่ต้องใช้สติปัญญากำกับไปโดยตลอด  และกระบวนการไตร่ตรองตรวจสอบหรือทำในใจให้แยบคายที่เรียกว่าโยนิโสมนสิการนี้เอง ที่จะทำให้ชีวิตเกิดการเรียนรู้ต่อสิ่งภายนอก พร้อมไปกับการเรียนรู้และพัฒนาพฤติกรรม จิต และปัญญาของตนเองให้เติบโตขึ้นด้วยพร้อมกัน

หากไม่เข้าใจความจริงในข้อนี้ เราจะเกิดอาการได้สองอย่าง  อย่างหนึ่งคือเป็นคนเชื่ออะไรง่ายเกินไป อย่างหนึ่งคือสับสนไม่รู้จะเชื่อใครดี

แต่ความยากของการจะไม่เผลอไผลเข้าใจผิดไปกับเงาสะท้อนในสังคมปัจจุบัน ก็ดูจะเป็นเรื่องยากไม่น้อย  เพราะเงาสะท้อนมีความสมจริงหรือ “เสมือนจริง” มาก จนเราอาจเผลอเป็นแบบชายโง่ในนิทานพื้นบ้านไปได้ง่าย  เช่น ถ้าเราไม่รู้ว่าภาพยนตร์โฆษณาน้ำยาล้างจานนั้น กว่าจะออกมาให้เราดู ๒๐ วินาทีนั้น ผู้แสดงหรือพรีเซ็นเตอร์ต้องเอามือแช่น้ำจนแทบเน่า ล้างจานกันอยู่ทั้งวันกว่าจะได้ภาพออกมาให้เราดู  เช่นเดียวกับยาสระผม สบู่ (ทั้งสระทั้งฟอกกันจนหนังจะถลอก) อาหารเสริม โทรศัพท์มือถือ ฯลฯ  แม้แต่ข่าวที่ดูว่ามิใช่มีเป้าหมายชวนเชื่อเหมือนโฆษณา  ถ้าเราไม่เข้าใจขั้นตอนและกระบวนการผลิตข่าวสาร เราก็อาจเข้าใจไปได้ว่า ข่าวและความจริงเป็นสิ่งเดียวกันในทุกกรณี   ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิดอย่างสิ้นเชิง เพราะข่าวที่ปรากฏออกมาทางสื่อแต่ละประเภทนั้น  กว่าจะมาสู่ผู้บริโภคข่าวสาร มีบุคคลและขั้นตอนการผลิตเข้ามาเกี่ยวข้องมากมาย  โอกาสของความผิดพลาดมีทั้งในขั้นของการส่งต่อข่าว และความผิดทางเทคนิค  แม้ข่าวโทรทัศน์ที่เราคิดกันว่าน่าเชื่อถือเพราะมีทั้งภาพทั้งเสียง หลอกกันยาก ก็ยังขึ้นกับการตัดต่อ  คัดเลือกข้อมูล-ภาพของผู้เสนอ  แม้แต่ภาพที่เห็นกันสดๆ ในการถ่ายทอดสด ถึงที่สุดแล้ว ความจริงก็ยังถูกมองผ่านสายตาของช่างภาพ และขึ้นกับว่าช่างกล้องและผู้สื่อข่าวอยู่ตรงมุมใดของเหตุการณ์นั้น  ดังนั้น สิ่งที่เรารับรู้จากสื่อทุกชนิดจึงเป็นเพียงเงาสะท้อนของความจริงหรือเป็นเพียงบางด้านของความจริงอยู่นั่นเอง  เพราะเหตุการณ์หนึ่งๆ และมนุษย์คนหนึ่งๆ ที่ปรากฏเป็นข่าว ไม่ว่าทางดีหรือร้าย มีความจริงอยู่หลายแง่มุม  มิได้มีเฉพาะส่วนที่ถูกนำมาเสนอเท่านั้น

หากเข้าใจตรงนี้ เราย่อมจะรู้ว่า การอยู่ในสังคมแห่งข่าวสารข้อมูลนั้น  การใช้ปัญญาขบคิด ไตร่ตรอง กลั่นกรองหาความจริงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างมาก  ข่าวที่ตอกย้ำความข้อนี้ คือ รายงานของสำนักข่าวเอบีซีเมื่อ ๒-๓ เดือนก่อนว่า นักวิจัยตรวจสอบพบว่า ตำราเรียนวิชาวิทยาศาสตร์ของโรงเรียนในสหรัฐอเมริกามีข้อผิดพลาดจำนวนมาก รวมๆ แล้วถึง ๕๐๐ จุด  ผิดกันตั้งแต่รูปแบบ เช่น เทพีเสรีภาพถือคบเพลิงด้วยมือซ้าย ไปจนกระทั่งถึงกฎของนิวตัน  ความผิดพลาดมาจากหลายสาเหตุ บ้างก็จากเทคนิคการพิมพ์ บ้างเป็นเพราะไปให้ให้นักชีววิทยาเขียนเรื่องฟิสิกส์ ฯลฯ  ประมาณว่า อาจมีนักเรียนถึง ๘๕ % ในสหรัฐที่รับถ่ายทอดความรู้ที่ผิดตามตำราเหล่านี้ไป  โดยเฉพาะเมื่อครูอาจารย์ผู้สอนเองก็รู้ไม่จริง และถ้านักเรียนก็เชื่อตามครูไปด้วย ความรู้ที่ผิดก็จะยิ่งลามออกไป

ขนาดตำราเรียนที่มุ่งความถูกต้องแม่นยำยังผิดพลาดกันขนาดนี้  แล้วข่าวสาร ข้อมูลที่แข่งกับเวลาและแข่งกันขาย จะวางใจเชื่อโดยไม่คิดเลยได้อย่างไร  การใช้สติปัญญาคิดไตร่ตรองจึงเป็นปัจจัยสำคัญของการจะมีชีวิตอยู่ในยุคที่เรียกว่า สารสนเทศและสังคมที่มี “ความรู้เป็นฐาน” (Knowledge-based Society) เพื่อมิให้เรากลายเป็นอย่างชายโง่ในนิทานพื้นบ้านที่คนโบราณท่านเตือนใจไว้


ภาพประกอบ