เปิดเล่ม: จดหมายข่าวพุทธิกา ฉบับที่ 58

พระไพศาล วิสาโล 1 เมษายน 2015

กรณีธัมมชโย/ธรรมกาย กลายเป็นข่าวใหญ่ในช่วงเดือนที่ผ่านมา  หลายคนอดไม่ได้ที่จะนึกย้อนไปยังปี ๒๕๔๒ อันเป็นปีที่วัดพระธรรมกายตกเป็นข่าวครึกโครมต่อเนื่องนานข้ามปี  ครั้งนั้นนอกจากสมเด็จพระสังฆราชจะมีพระลิขิตระบุว่าเจ้าสำนักนี้ต้องอาบัติปาราชิกแล้ว ทางฝ่ายรัฐยังมีการดำเนินคดีกับเจ้าสำนักในข้อหายักยอกทรัพย์  เหตุการณ์ครั้งนั้นรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ กรมการศาสนา ตำรวจและอัยการ ต่างไม่นิ่งดูดาย ดำเนินการไปในแนวทางเดียวกัน จนเชื่อได้ว่าหากไม่มีการถอนฟ้องโดยอัยการในสมัยรัฐบาลทักษิณ เมื่อปี ๒๕๔๙ (ซึ่งยังเป็นที่กังขาทุกวันนี้ว่า ดำเนินการได้อย่างไร) จำเลยจะต้องถูกตัดสินลงโทษอย่างแน่นอน

๑๖ ปีผ่านไป ทั้งๆ ที่ยังมีรอยด่างมากมาย  วัดพระธรรมกายกลับเติบโตขยายตัวยิ่งกว่าเดิม คราวนี้ได้รับการปกป้องจากมหาเถรสมาคมอย่างชัดเจน ขณะที่หน่วยงานรัฐก็ดูจะไม่แข็งขันกับเรื่องนี้อย่างในอดีต  ปรากฏการณ์ดังกล่าวย่อมบ่งชี้ถึงปัญหาหลายอย่างที่กำลังเกิดขึ้นกับสังคมไทย  รวมทั้งเป็นภาพสะท้อนวิกฤตที่กำลังเกิดขึ้นกับวงการพุทธศาสนาไทย

ประการแรก กรณีดังกล่าวไม่เพียงชวนตั้งคำถามกับคุณธรรมและวิจารณญาณของกรรมการมหาเถรสมาคมเป็นรายบุคคลเท่านั้น  หากยังบ่งชี้ถึงข้อบกพร่องของระบบการปกครองคณะสงฆ์ไทยในปัจจุบัน โดยเฉพาะการรวมศูนย์อำนาจมาไว้ที่คนเพียง ๒๐ คน โดยไม่มีกลไกการตรวจสอบภายใน ไม่ต้องรับผิด (accountability) กับผู้ใด  อีกทั้งขาดความโปร่งใส จึงเปิดโอกาสให้มีการวิ่งเต้นใช้เส้นสายหรือผลประโยชน์เพื่อชักจูงโน้มน้าวกรรมการมหาเถรสมาคม  นำไปสู่การละเลย ไม่ใส่ใจ ต่อการประพฤติผิดพระธรรมวินัยของพระที่ร่ำรวยหลายรูป  หรือถึงกับสนับสนุน รู้เห็นเป็นใจให้กับพระเหล่านั้นครั้งแล้วครั้งเล่า (รวมทั้งเลื่อนสมณศักดิ์) จนบุคคลอย่างธัมมชโยสามารถแผ่อำนาจและเครือข่ายไปอย่างกว้างขวาง

ประการต่อมา การที่ธัมมชโย/ธรรมกายได้รับความนิยมจากผู้คนอย่างต่อเนื่องเป็นลำดับ สาเหตุสำคัญเป็นเพราะชาวพุทธจำนวนมากมีความเข้าใจน้อยมากในหลักธรรมทางพุทธศาสนา  แม้กระทั่งเรื่องพื้นฐาน เช่น บุญ ก็มีความเห็นที่ผิดพลาดคลาดเคลื่อน เช่น เชื่อว่าบริจาคเงินมากเท่าไรก็ได้บุญมากเท่านั้น หรือทำบุญเพื่อเอา มิใช่ทำบุญเพื่อละ (ยังไม่ต้องพูดถึงหลักธรรมขั้นสูง เช่น นิพพาน)  ดังนั้นจึงง่ายที่จะคล้อยตามและหลงใหลศรัทธาในธัมมชโย/ธรรมกาย และพร้อมที่จะปิดหูปิดตาต่อพฤติกรรมที่ไม่ชอบมาพากลของธัมมชโย/ธรรมกาย  กล่าวอีกนัยหนึ่งกรณีดังกล่าวสะท้อนถึงความล้มเหลวในการเผยแผ่ธรรมของชาวพุทธไทย โดยเฉพาะคณะสงฆ์ ซึ่งโยงไปถึงความล้มเหลวของการศึกษาคณะสงฆ์อย่างชัดเจน

เหตุผลอีกประการหนึ่งที่ทำให้ธัมมชโย/ธรรมกายได้รับความนิยมจากผู้คนโดยเฉพาะคนชั้นกลางก็คือ พฤติกรรมที่ไม่น่าศรัทธาของพระจำนวนมาก ซึ่งไม่เพียงปรากฏเป็นข่าวอื้อฉาวเป็นประจำ หากยังพบเห็นได้ทั่วไปบนท้องถนน  ปรากฏการณ์ดังกล่าวชักนำให้คนชั้นกลางจำนวนไม่น้อยหันไปศรัทธาชื่นชมพระธรรมกาย ซึ่งดูเรียบร้อยกว่า มีความสงบเสงี่ยมมากกว่า (โดยหาได้ตระหนักไม่ว่าผู้นำสำนักนี้มีพฤติกรรมที่เสียหายแต่แนบเนียนกว่า ร้ายแรงกว่า และส่งผลกระทบกว้างไกลกว่า)  คนเหล่านี้จึงไม่เห็นด้วยเลยหากว่ามหาเถรสมาคมจะลงโทษธัมมชโย/ธรรมกาย แต่กลับปล่อยให้พระอลัชชี (กลุ่มอื่น) ลอยนวล

อย่างไรนั่นไม่ใช่ประเด็นสำคัญในที่นี้  ประเด็นที่สำคัญกว่าก็คือคำถามว่าอะไรทำให้พระที่มีพฤติกรรมไม่น่าศรัทธามีอยู่เต็มบ้านเต็มเมือง  คำตอบนั้นไม่ได้อยู่ที่ความไร้ประสิทธิภาพของผู้ปกครองสงฆ์ โดยเฉพาะมหาเถรสมาคมเท่านั้น  หากยังอยู่ที่ตัวระบบการปกครองคณะสงฆ์ ที่ก่อให้เกิดปัญหาตามมามากมาย รวมทั้งการมีพระประพฤติผิดพระธรรมวินัยมากมาย  จะว่าไปแล้วการที่ระบบการปกครองคณะสงฆ์เป็นอย่างทุกวันนี้ย่อมทำให้คณะสงฆ์มีผู้ปกครองระดับสูงสุด ที่อ่อนแอ ไร้ประสิทธิภาพ และมีข้อกังขาในทางคุณธรรมอย่างหลีกเลียงได้ยาก

กรณีธัมมชโย/ธรรมกาย หากสามารถกระตุ้นให้ชาวพุทธไทยตระหนักถึงวิกฤตดังกล่าว และเห็นความสำคัญของการปฏิรูปคณะสงฆ์ ก็ถือว่าเป็นเรื่องดี สมกับคำว่า “ในวิกฤตมีโอกาส”  แต่หากกรณีนี้จบลงดังคลื่นกระทบฝั่ง เหมือนเมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว ก็นับว่าเป็นคราวเคราะห์ของบ้านเมืองและการพระศาสนา

บทความที่เกี่ยวข้อง

 


อ่านจดหมายข่าวพุทธิกาฉบับอื่นๆ ได้ ที่นี่

พระไพศาล วิสาโล

ผู้เขียน: พระไพศาล วิสาโล

เจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต และประธานมูลนิธิเครือข่ายพุทธิกา