ตรงข้ามกับเดือนตุลาคม พฤษภาคมไม่เคยเป็นเดือนที่ชวนให้นึกถึงเหตุการณ์ร้ายแรงในประวัติศาสตร์การเมืองไทยสมัยใหม่เลย จนกระทั่งเมื่อ ๒๐ ปีที่แล้ว พฤษภาคมปีนี้ นอกจากจะเป็นวาระครบสองทศวรรษเหตุการณ์นองเลือดปี ๓๕ แล้ว ยังครบสองปีการปราบปรามผู้ชุมนุมปี ๕๓ อีกด้วย
ทั้งสองเหตุการณ์กินเวลาหลายวัน และคร่าชีวิตผู้คนไปมากมาย แต่ในขณะที่เหตุการณ์ปี ๓๕ ลงเอยด้วยชัยชนะของประชาชนและความพ่ายแพ้ของอดีตคณะรัฐประหาร (ที่หวังสืบต่ออำนาจผ่านพรรคการเมือง) เหตุการณ์ปี ๕๓ ไม่มีฝ่ายใดเป็นผู้ชนะเลย ต่างพ่ายแพ้และสูญเสียบอบช้ำทั้งคู่ ตามมาด้วยความแตกร้าวของสังคมไทยยิ่งกว่าเดิม
หลังจากเหตุการณ์ปี ๓๕ ซึ่งเป็นการรวมพลังเพื่อประชาธิปไตยครั้งใหญ่ที่สุดหลัง ๑๔ ตุลา ๑๖ เคยเชื่อ (และหวัง) กันว่าจะไม่เกิดเหตุการณ์นองเลือดในเมืองไทยอีก เพราะผู้กุมอำนาจได้รับบทเรียนสำคัญว่า การใช้ความรุนแรงไม่อาจแก้ปัญหาได้จริง ไม่ว่าจะใช้วิธีรัฐประหารหรือปราบปรามผู้ชุมนุมก็ตาม ในที่สุดย่อมส่งผลเสียสะท้อนกลับมาสู่ผู้ใช้ความรุนแรงเสมอ การกลับมาของประชาธิปไตยโดยเฉพาะหลังจากที่มีการวางรากฐานด้วยรัฐธรรมนูญปี ๔๐ “ฉบับประชาชน” ทำให้เชื่อว่าเหตุการณ์นองเลือดจากความขัดแย้งทางการเมืองจะยุติเสียที
แต่ดูเหมือนว่าความคิดแบบอำนาจนิยมจะฝังลึกในหมู่คนไทย การใช้อำนาจหรือความรุนแรงเพื่อแก้ปัญหาจึงเกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่า ไม่ว่าปัญหาผู้ก่อความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ (รวมทั้งกรณีกรือเซะและตากใบ) ปัญหายาเสพติด (ฆ่าตัดตอน) รวมทั้ง “ปัญหาทักษิณ” (ซึ่งถูกจัดการด้วยวิธีรัฐประหาร) ดังนั้นเมื่อเกิดความขัดแย้งทางการเมืองครั้งใหญ่อันเนื่องมาจากการปักหลักประท้วงอย่างยืดเยื้อของคนเสื้อแดง ซึ่งไม่มีทีท่าว่าจะยุติง่ายๆ การใช้ความรุนแรงเพื่อสลายการชุมนุมจึงเกิดขึ้นอีกครั้งจนเกิดการบาดเจ็บล้มตายมากมาย
เหตุการณ์ดังกล่าวได้ตอกย้ำว่า ความรุนแรงเป็นปัญหาที่ฝังลึกของสังคมไทย มันกลายเป็นวิถีทางการเมืองอย่างหนึ่งที่ไม่ได้ผูกติดอยู่กับระบบเผด็จการเท่านั้น แม้เป็นประชาธิปไตย ความรุนแรงก็ยังสามารถเกิดขึ้นได้บ่อยครั้ง ส่วนหนึ่งเป็นผลจากทัศนคติที่แพร่หลายในหมู่ผู้คน อาทิ ความคิดแบบอำนาจนิยม รวมทั้งความคิดที่ว่า คนผิดมีสิทธิเป็นศูนย์ คือ เมื่อตัดสินใครว่า “ผิด”แล้ว ก็สามารถจะทำอย่างไรกับเขาก็ได้ รวมทั้งฆ่าเขา โดยไม่ต้องสนใจกระบวนการยุติธรรม
สาเหตุอีกส่วนหนึ่งที่หนุนเสริมให้เกิดความรุนแรงได้ง่าย ก็คือ ความไม่เป็นธรรมหรือความเหลื่อมล้ำ ซึ่งไม่ได้เกิดจากการเลือกปฏิบัติในระดับบุคคลหรือกลุ่มบุคคลเท่านั้น หากยังมีโครงสร้างและกลไกต่างๆ รองรับ สนับสนุน เช่น โครงสร้างอำนาจที่รวมศูนย์สู่ส่วนกลาง ซึ่งทำให้เกิดการเอารัดเอาเปรียบและความคับแค้นใจในหมู่ผู้คนในท้องถิ่นต่างๆ ลำพังช่องว่างที่ถ่างกว้างขึ้นระหว่างคนระดับบนกับระดับล่าง ก็ทำให้ฝ่ายหลังเกิดความไม่พอใจอยู่แล้ว ยิ่งมาพบว่าตนสิทธิมีเสียงน้อยกว่าคนระดับบน หรือนักการเมืองที่ตนสนับสนุนต้องมีอันเป็นไปด้วยกลวิธีต่างๆ ก็ยิ่งเกิดความคับแค้นใจ ดังนั้นจึงง่ายมากที่จะโดนใจกับคำว่า “ไพร่-อำมาตย์” หรือ “สองมาตรฐาน” จนพร้อมที่จะลุกขึ้นมาประท้วงเพื่อเรียกหาความเป็นธรรม การประท้วงนั้นไม่จำเป็นต้องลงเอยด้วยความรุนแรงเสมอไปก็จริง แต่มักนำไปสู่การเผชิญหน้าจนง่ายที่จะเกิดการปะทะและลุกลามขยายตัวกลายเป็นความรุนแรงได้ โดยเฉพาะเมื่อมีความเชื่อว่าความรุนแรงจะแก้ปัญหาได้
กล่าวโดยสรุปก็คือ เหตุปัจจัยแห่งความรุนแรงนั้น ในด้านหนึ่งมีรากเหง้าอยู่ที่ทัศนคติหรือจิตสำนึกของผู้คน อีกด้านหนึ่งก็แฝงฝังอยู่ในโครงสร้างที่ห้อมล้อมครอบคลุมผู้คนเอาไว้ นั่นหมายความว่าเมืองไทยจะก้าวข้ามความรุนแรงถึงขั้นนองเลือดได้ก็ต่อเมื่อแก้ไขเหตุปัจจัยทั้งสองระดับ น่าเสียดายที่แม้เหตุการณ์นองเลือดครั้งล่าสุดผ่านไปได้สองปีแล้ว แต่ก็ไม่มีวี่แววว่าเหตุปัจจัยทั้งสองระดับจะได้รับความใส่ใจอย่างจริงจังแต่อย่างใด แม้จะมีความพยายามหาหนทางปรองดองเพื่อลดความแตกแยกก็ตาม จริงอยู่การปรองดองเป็นสิ่งที่ต้องทำ แต่ถึงแม้จะสำเร็จ ก็ไม่ได้เป็นหลักประกันว่าความรุนแรงถึงขั้นนองเลือดจะไม่เกิดขึ้นอีกตราบใดที่เหตุปัจจัยทั้งสองระดับยังคงอยู่
อย่างไรก็ตามปัญหาเฉพาะหน้าที่กำลังเกิดขึ้นก็คือ ความแตกแยกของผู้คนในสังคม ซึ่งยังไม่มีทีท่าว่าลดลง แม้จะไม่ถึงขั้นเผชิญหน้าด่าทอในลักษณะกลุ่มชน แต่ก็ขยายตัวไปในรูปลักษณ์อื่น กล่าวคือ ไม่เพียงแบ่งฝักแบ่งฝ่ายในเชิงบุคคลเท่านั้น แต่ยังมีการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายในเชิงคุณค่าด้วย เช่น แบ่งแยกหรือจัดฝ่ายว่า “คุณธรรม” หรือ “ความดี” เป็นเรื่องของคนเสื้อเหลือง ส่วน “ประชาธิปไตย” หรือ “ความเป็นธรรม” เป็นของคนเสื้อแดง คนเสื้อเหลืองจำนวนไม่น้อยรู้สึกเป็นลบหรือถึงกับรังเกียจหากมีการพูดถึง ประชาธิปไตย หรือ ความเป็นธรรม ส่วนคนเสื้อแดงหลายคนก็มีอาการอย่างเดียวกันหากมีการพูดถึง คุณธรรม หรือความดี พูดอีกอย่างคือ ตอนนี้ไม่ใช่แต่ตัวบุคคลเท่านั้นที่ถูกประทับตราอย่างง่ายๆ แม้แต่คุณค่าก็ถูก “ใส่สีสวมเสื้อ” ว่าเป็นเหลืองหรือแดงเช่นกัน
การแบ่งฝักแบ่งฝ่ายดังกล่าวมีแนวโน้มจะขยายไปถึงประเด็นปัญหาต่างๆ ด้วย เช่น ถ้าเป็นเรื่องคอร์รัปชั่น หรือ อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ก็ถูกมองว่าเป็นประเด็นของคนเสื้อเหลือง แต่ถ้าเป็นเรื่องความเหลื่อมล้ำ หรือ การละเมิดสิทธิเสรีภาพ ก็มองว่าเป็นเรื่องของคนเสื้อแดง ใครที่ต่อต้านเขื่อน พูดเรื่องการโกงกิน จึงมีแนวโน้มที่จะถูกตีตราว่าเป็นเสื้อเหลือง (หรือสลิ่ม) ส่วนใครที่เสนอแก้ ม.๑๑๒ ก็ถูกตีตราว่าเป็นคนเสื้อแดง
จริงอยู่แม้คนเสื้อเหลืองและเสื้อแดงจะชูคุณค่าที่ต่างกัน หรือถึงกับใช้คุณค่าดังกล่าวเป็นเครื่องมือในการกล่าวหาอีกฝ่าย (เช่น ไม่ใช่คนดี หรือต่อต้านประชาธิปไตย) แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าคุณค่าเหล่านี้จะถูกผูกขาดโดยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หรือเป็นคุณค่าที่อยู่คนละขั้ว คุณธรรม กับ ประชาธิปไตย หรือ ความดี กับ ความเป็นธรรม เป็นคุณค่าที่สำคัญทั้งคู่ ต่างเสริมสมบูรณ์ให้แก่กันและกัน ไม่ว่าบุคคลหรือสังคม ย่อมไม่อาจขาดคุณค่าอย่างใดอย่างหนึ่งไปได้ การเชิดชูสิ่งหนึ่ง และปฏิเสธอีกสิ่งหนึ่ง ย่อมทำให้ชีวิตยากไร้ สังคมถดถอย จะว่าไปแล้วในส่วนลึกของเราทุกคนย่อมมีใจใฝ่ในคุณค่าทั้งสองประการ แต่หากมีความเข้าใจไปว่าคุณค่าอันใดอันหนึ่งเป็นของฝ่ายตรงข้ามที่เราไม่ควรสมาทานหรือเชิดชูด้วยแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาก็คือ การปฏิเสธด้านหนึ่งของตัวเอง คนที่ปฏิเสธตัวเองย่อมรู้สึกพร่องและบั่นทอนพลังของตนเอง ดังนั้นจึงยากที่จะนำพาชีวิตให้เจริญงอกงามและสร้างสรรค์ประโยชน์สุขแก่ส่วนรวมได้
การเห็นว่าคนแต่ละฝ่ายมีความเป็นมนุษย์เหมือนกับตน แม้จะมีสีเสื้อหรืออุดมการณ์ต่างกันก็ตาม เป็นสิ่งสำคัญสำหรับการปรองดอง แต่ที่สำคัญไม่น้อยไปกว่าการปรองดองของคนทุกฝ่าย ก็คือ การปรองดองระหว่างคุณธรรมกับประชาธิปไตย ไม่มองว่าคุณค่าทั้งสองเป็นศัตรูที่อยู่คนละข้าง การปรองดองเชิงคุณค่าดังกล่าว ไม่เพียงทำให้เกิดการปรองดองภายในตนเองเท่านั้น แต่ยังเป็นพื้นฐานของการปรองดองในสังคมไทยอีกด้วย