ก่อนสายใยจะขาดสะบั้น

พระไพศาล วิสาโล 1 ตุลาคม 2011

ย้อนหลังไปเมื่อ ๑๐ ปีก่อน ไม่กี่วันหลังจากเปลี่ยนศักราชใหม่

ได้เกิดปรากฏการณ์ใหม่หลายประการที่สร้างความประหลาดใจและความตื่นเต้นแก่คนไทยค่อนประเทศ เมื่อผลการเลือกตั้งวันที่ ๖ มกราคม ๒๕๔๔ ออกมาปรากฏว่าพรรคไทยรักไทยได้ ส.ส.จำนวนกึ่งหนึ่งของสภา นับเป็นสัดส่วนที่มากที่สุดเท่าที่เคยมีมาในประวัติศาสตร์ไทย ทำให้สามารถเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลที่มีเสียงท่วมท้นในสภาได้ แม้จะเป็นรัฐบาลผสมก็ตาม เป็นนิมิตหมายว่ารัฐบาลพลเรือนที่ขาดเสถียรภาพอันเป็นปัญหาเรื้อรังของการเมืองไทยกำลังจะกลายเป็นอดีต นั่นหมายความว่าการปฏิรูปการเมืองอันมีรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนเป็นแม่บทกำลังจะบังเกิดผลแล้ว

พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เข้ามาบริหารประเทศพร้อมกับการสร้างความหวังให้แก่ประชาชนไทยว่าเมืองไทยกำลังเคลื่อนไปสู่ประวัติศาสตร์หน้าใหม่ เขาไม่เพียงนำชัยชนะมาให้แก่พรรคไทยรักไทยโดยอาศัยนโยบายที่ “โดนใจ” ประชาชนเท่านั้น หากยังพยายามทำนโยบายดังกล่าวให้เกิดผลตามที่สัญญา ไม่กี่เดือนหลังจากที่เขาได้นั่งทำเนียบคนจนทั่วประเทศก็มีสิทธิได้รับการรักษาพยาบาลตามนโยบาย ๓๐ บาทรักษาทุกโรค หลังจากนั้นนโยบายประชานิยมอื่นๆ ก็ตามมา รวมทั้งกองทุนหมู่บ้าน และโครงการเอื้ออาทรนานาชนิด ใช่แต่เท่านั้นเขายังมีโครงการใหม่ๆ อีกมากมายเพื่อผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านต่างๆ ของโลก ไม่ว่า ด้านอาหาร แฟชั่น การท่องเที่ยวและบริการ ฯลฯ การทำงานด้วยความรวดเร็ว ฉับไว และกล้าตัดสินใจ ได้สร้างความตื่นตาตื่นใจให้แก่ประชาชนทั้งประเทศ ขณะเดียวกันความสามารถในการควบคุมพรรคให้เป็นเอกภาพ จนไม่มีกลุ่มก๊วนใดกล้าก่อคลื่นใต้น้ำ ทำให้ผู้คนมีความหวังว่าการเมืองไทยนับแต่นี้ไปจะเข้มแข็งและขับเคลื่อนเมืองไทยให้รุดหน้าอย่างมั่นใจท่ามกลางกระแสโลกาภิวัตน์อันเชี่ยวกราก หลังจากที่ล้มฟุบไปพักใหญ่ในช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง

อย่างไรก็ตามเมื่อผ่านไปเพียง ๕ ปี สถานการณ์ก็แปรเปลี่ยนไป ความหวังได้กลายเป็นความผิดหวังในหมู่ผู้คนเป็นอันมาก เสียงวิพากษ์วิจารณ์กระหึ่มดังมากขึ้น โดยมีจุดร่วมอยู่ที่การใช้อำนาจในทางมิชอบของ พ.ต.ท.ทักษิณ อาทิ การเอื้อประโยชน์แก่พรรคพวก และการคอร์รัปชั่นทางนโยบาย ความไม่พอใจขยายตัวอย่างต่อเนื่องจนเกิดการชุมนุมประท้วงครั้งแล้วครั้งเล่า ผู้คนร่วมสมทบอย่างต่อเนื่องจนบางครั้งมีจำนวนเรือนแสน การเมืองที่เคยมั่นคงมีเสถียรภาพเริ่มเรรวนและปริร้าว เมืองไทยที่เคยรุดหน้าก็สะดุดหยุดกับที่ แม้จะมีการยุบสภาและเลือกตั้งใหม่ แต่ก็ไม่ช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้น ตรงข้ามกลับการแบ่งขั้วแบ่งข้างในหมู่ประชาชนที่สนับสนุนและต่อต้าน พ.ต.ท.ทักษิณปรากฏชัดเจนขึ้นทั่วประเทศ จนเกือบจะเป็นการเผชิญหน้า

การรัฐประหารที่ตามมา แม้จะยึดอำนาจจาก พ.ต.ท.ทักษิณได้ แต่หาได้ทำให้บ้านเมืองสงบลงไม่ ตรงกันข้ามกลับแตกร้าวหนักขึ้นในทุกระดับและทุกวงการ ไม่เพียงมีการต่อสู้แย่งชิงอำนาจในแวดวงระดับสูงเท่านั้น หากยังมีการเคลื่อนไหวมวลชนสนับสนุนชนชั้นนำทั้งสองฝ่าย ควบคู่ไปกับการผลักดันให้มีการเปลี่ยนระบบการเมืองตามอุดมการณ์ของตน ความพยายามที่จะช่วงชิงชัยชนะของแต่ละฝ่าย โดยไม่ยอมประนีประนอม นำไปสู่การประท้วงที่เข้มข้น ดุดัน ยืดเยื้อ อย่างไม่เคยมีมาก่อน เพื่อสร้างแรงกดดันอย่างหนักหน่วงให้แก่อีกฝ่าย ความรุนแรงที่เกิดขึ้นตามมาไม่ว่าจากฝ่ายใด ยิ่งซ้ำเติมความรู้สึกเคียดแค้นชิงชังและผลักคนไทยให้กลายเป็นปฏิปักษ์ต่อกันยิ่งกว่าเดิม แต่สถานการณ์จะไม่เลวร้ายกว่านี้หากไม่เกิดเหตุการณ์นองเลือดระหว่างการชุมนุมของคนเสื้อแดงเมื่อเดือนเมษายนและพฤษภาคมปีที่แล้ว ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตร่วม ๑๒๐ คน บาดเจ็บร่วม ๓,๐๐๐ คน อันเป็นความสูญเสียที่มากที่สุดเท่าที่เคยมีจากการชุมนุมประท้วงกลางกรุงเทพมหานคร มาถึงวันนี้ไม่ผิดหากจะกล่าวว่าผู้คนส่วนใหญ่มองไม่เห็นอนาคตที่สดใสของเมืองไทย มีแต่ความหวาดวิตกว่าสิ่งเลวร้ายกำลังรออยู่ข้างหน้า

เมื่อปี ๒๕๔๔ คงไม่มีใครที่คิดว่าในชั่วเวลาเพียง ๑๐ ปี ความหวังของผู้คนจะเลือนหาย การเมืองไทยจะล้มลุกคลุกคลานและถอยหลังอย่างวันนี้ จะว่าไปแล้วความเสื่อมถอยดังกล่าวมิใช่ของใหม่สำหรับการเมืองไทยซึ่งผ่านรัฐประหาร-เผด็จการ และประชาธิปไตยครึ่งใบมาหลายครั้งตลอดช่วงเวลาเกือบ ๘๐ ปีที่ผ่านมา แต่สิ่งหนึ่งซึ่งไม่เคยปรากฏมาก่อน และเป็นเรื่องที่น่าวิตกยิ่งกว่าก็คือ สำนึกร่วมในความเป็นชาติ หรือสายใยที่เคยเชื่อมโยงผู้คนให้รู้สึกผูกพันกันและเกาะเกี่ยวอยู่ในชุมชนเดียวกันที่เรียกว่า “ชาติ” นั้น กำลังถูกบั่นทอนและใกล้จะขาดสะบั้น

 

เป็นที่รู้กันดีว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ความแตกแยกอันเนื่องจากการแบ่งฝ่ายทางการเมืองได้เกิดขึ้นอย่างลึกซึ้งและกว้างขวาง

ตั้งแต่ระดับครอบครัว ที่ทำงาน ชุมชน ละแวกบ้าน สถาบันหรือองค์กร (เช่น ทหาร ตำรวจ กระทั่งคณะสงฆ์) ไปจนถึงระดับจังหวัด แม้แต่ภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคกลาง และภาคใต้ ก็แบ่งเป็นขั้วทางการเมืองอย่างชัดเจน ความร้าวฉานได้เกิดขึ้นทั้งประเทศอย่างไม่มีใครปฏิเสธได้

ขณะที่ความเห็นต่างทางการเมืองแพร่หลายและลงลึกนั้น สิ่งซึ่งเคยเป็นที่ยอมรับนับถือ หรือเป็นจุดร่วมของผู้คนทั้งประเทศ นับวันจะรวมใจคนทั้งชาติได้น้อยลง ไม่สามารถยึดโยงหรือเชื่อมร้อยผู้คนให้เป็นหนึ่งเดียวกันได้ การเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย ครั้งหนึ่งเคยเป็นที่ยอมรับร่วมกันว่าเป็นวิถีทางแก้ไขความขัดแย้งทางการเมืองที่ดีที่สุด แต่ปัจจุบันกลับถูกปฏิเสธโดยคนจำนวนไม่น้อย ส่วนคนที่เหลือก็ตั้งคำถามกับสถาบันหรือกลไกระดับชาติ เช่น สถาบันตุลาการ หรือกระบวนการยุติธรรม และองค์กรอิสระ มิไยต้องเอ่ยถึงสถาบันนิติบัญญัติ ซึ่งสูญเสียศรัทธาของประชาชนไปนานแล้ว

มิใช่แต่จุดร่วมในเชิงการเมืองการปกครองเท่านั้น สิ่งที่เลือนหายไปจากเมืองไทยยังรวมถึงจุดร่วมในทางวัฒนธรรม จิตสำนึก หรือแม้แต่ผลประโยชน์ ทุกวันนี้ความเป็นไทยไม่สามารถหล่อหลอมผู้คนให้เป็นหนึ่งเดียวกันได้ เพราะถูกตีความไปต่างๆ นานา จนแม้แต่ซื้อของฝรั่ง กินอาหารญี่ปุ่น แต่งตัวแบบเกาหลีก็ยังเรียกว่าเป็นไทยได้อย่างเต็มปาก สิ่งที่รัฐกำหนดให้เป็น “วัฒนธรรมแห่งชาติ” (รวมทั้งภาษาไทยแบบมาตรฐาน) แทบไม่มีความหมายในทางปฏิบัติ เช่นเดียวกับสถาบันแห่งชาติอีกมากมายที่ขาดการยอมรับอย่างกว้างขวาง

กระทั่ง “ผลประโยชน์แห่งชาติ” นับวันจะมีความหมายพร่าเลือนและขาดมนต์ขลัง ไม่สามารถเชิญชวนเรียกร้องให้ผู้คนพร้อมใจเสียสละได้ เพราะไม่เชื่อว่าประโยชน์ที่เกิดขึ้นนั้นจะตกแก่ส่วนรวม มิใช่แค่แก่คนบางกลุ่มเท่านั้น ขณะที่อีกส่วนหนึ่งรู้สึกว่า ประเทศชาติมิใช่เป็นของตน ไม่รู้สึกร่วมใน “ชาติ” ที่ผู้ปกครองประเทศเอ่ยอ้างถึง ด้วยเหตุนี้เสียงกระตุ้นให้ “รักชาติ” จึงไม่สามารถระดมผู้คนให้สมัครสมานสามัคคีได้เหมือนก่อน ในขณะที่หลายคนตั้งคำถามว่ารักชาติแล้วได้อะไร เพราะปากท้องของตนสำคัญกว่า ส่วนจำนวนไม่น้อยถามว่ารักชาติไปทำไม ในเมื่อทุกครั้งที่มีเสียงเรียกร้องให้รักชาติเสียสละเพื่อประเทศ พวกเขากลับต้องสูญเสียที่ดิน พลัดที่นาคาที่อยู่ และมีชีวิตลำบากมากขึ้น ส่วนคนอื่นกลับอยู่ดีกินดี มีความสะดวกสบายกว่าเดิม ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่คนเสื้อแดงที่มาชุมนุมประท้วงรัฐบาลที่กรุงเทพฯ เมื่อปีที่แล้ว มีเพียงร้อยละ ๒ เท่านั้นที่ตอบว่าตนเป็น “ผู้รักชาติ” (ประภาส ปิ่นตบแต่ง “การลุกขึ้นสู้ของคน “ยอดหญ้า”: บทวิเคราะห์ในเชิงมิติการเมืองใน แดง (สำนักพิมพ์ openbooks)) เชื่อแน่ว่าทัศนคติดังกล่าวยังเกิดแก่คนกลุ่มอื่นที่อยู่ในระดับล่างของสังคม ไม่จำเพาะกับคนเสื้อแดงเท่านั้น

 

สำนึกร่วมในความเป็นชาติกำลังเลือนหาย สายใยที่ยึดโยงผู้คนให้รู้สึกถึงความเป็นเพื่อนร่วมชาติ หรือมีชะตากรรมร่วมกันในประเทศนี้กำลังขาดสะบั้น

ปรากฏการณ์ดังกล่าวแม้แสดงตัวอย่างชัดเจนในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา แต่ก็มิได้หมายความว่ามันเป็นผลพวงจากความขัดแย้งทางการเมืองระหว่าง พ.ต.ท.ทักษิณกับฝ่ายตรงข้าม แท้ที่จริงปัญหาดังกล่าวมีความเป็นมาที่ยาวไกลกว่านั้น และเชื่อมโยงกับโครงสร้างทางเศรษฐกิจการเมืองที่ฝังรากลึกมานาน ประสมกับความเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ที่มาพร้อมกับกระแสโลกาภิวัตน์ เป็นแต่ว่าความขัดแย้งทางการเมืองที่ผ่านมาได้ซ้ำเติมปัญหานี้ให้รุนแรงขึ้น ขณะเดียวกันเมื่อสาวไปให้ถึงที่สุด ก็จะพบว่าความขัดแย้งนี้มีรากเหง้าอันเดียวกันกับปัญหาดังกล่าว

การพัฒนาเศรษฐกิจที่ผ่านมาตลอด ๕๐ ปี แม้จะกระตุ้นให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว จนรายได้ต่อหัวของคนไทยเพิ่มขึ้นถึง ๕๐ เท่า (จาก ๒,๒๓๘ บาทในปี ๒๕๐๓ เป็นแสนบาทเศษในปัจจุบัน) แต่ในเวลาเดียวกัน โครงสร้างทางเศรษฐกิจการเมืองที่เติบใหญ่จากการพัฒนาดังกล่าวก็ทำให้ช่องว่างระหว่างคนไทยด้วยกันถ่างกว้างขึ้นเรื่อยๆ เมื่อปี ๒๕๔๙ พบว่า กลุ่มคนรวยสุดมีทรัพย์สินมากเป็น ๖๙ เท่าของกลุ่มคนที่จนสุด ยิ่งกว่านั้นยังพบว่า ร้อยละ ๔๒ ของเงินฝากในธนาคารทั้งประเทศ (ซึ่งมีค่าประมาณ ๑ ใน ๓ ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของชาติ) เป็นของคนเพียง ๓๕,๐๐๐ คนเท่านั้น (ประมาณ ๑ ใน ๒,๐๐๐ ของประชากรทั้งประเทศ) หรืออาจน้อยกว่านั้นด้วยซ้ำ

เห็นได้ชัดว่าความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจของประเทศไทยมีสูงมาก สิ่งที่ตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ก็คือ ความไม่เป็นธรรมทางสังคมที่เกิดกับคนระดับล่าง อาทิ การถูกเลือกปฏิบัติ ไม่ได้รับความเสมอภาคตามกฎหมาย ไม่ได้รับโอกาสที่เท่าเทียมกับคนที่รวยกว่า (เช่น โอกาสในการศึกษา การเข้าถึงแหล่งเงินทุน หรือทรัพยากรของรัฐ) รวมทั้งต้องประสบกับการใช้อำนาจบาตรใหญ่ หรือการดูถูกเหยียดหยามแม้กระทั่งจากเจ้าหน้าที่รัฐ

ในบริบทเช่นนี้เอง พ.ต.ท.ทักษิณจึงได้รับความนิยมอย่างล้นหลาม เมื่อผลักดันนโยบายประชานิยม ซึ่งเป็นประโยชน์โดยตรงต่อคนระดับล่าง อาทิ ชาวนา ชาวไร่ แรงงานนอกระบบ และผู้ประกอบการรายย่อย คนเหล่านี้ไม่เพียงถูกละเลยจากรัฐบาลชุดแล้วชุดเล่าก่อนหน้านั้นเท่านั้น หากยังเป็นผู้รับภาระจากการพัฒนาเศรษฐกิจตลอด ๕๐ ปีที่ผ่านมามากกว่าคนกลุ่มใด อีกทั้งยังได้รับประโยชน์น้อยมากจากโครงสร้างเศรษฐกิจการเมืองที่เป็นอยู่ ตรงข้ามกับคนอีกกลุ่มหนึ่งได้รับประโยชน์อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย ภายใต้โครงสร้างที่มีความเหลื่อมล้ำอย่างมากเช่นนี้ รัฐบาลทักษิณจึงกลายเป็นความหวังของประชาชนระดับล่าง ซึ่งไม่เพียงกระจายหยิบยื่นผลประโยชน์จากส่วนกลางมาให้แก่พวกเขาอย่างเป็นรูปธรรมเท่านั้น หากยังช่วยปราบปรามผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่น และทำให้พวกเขารู้สึกว่ามีที่พึ่งพาในยามที่มีปัญหากับข้าราชการที่ใช้อำนาจบาตรใหญ่ ดังนั้นแม้เสียงวิจารณ์รัฐบาลทักษิณจะดังเพียงใด มีการประท้วงต่อต้านหนักขนาดไหน ก็ไม่สามารถเปลี่ยนใจพวกเขาได้

 

การก่อรัฐประหารเพื่อยึดอำนาจจาก พ.ต.ท.ทักษิณ

ตลอดจนการพยายามกำจัดเขาและพรรคพวกออกจากวงการเมืองด้วยวิธีการต่างๆ ได้ตอกย้ำให้คนระดับล่างจำนวนไม่น้อยที่สนับสนุนเขารู้สึกถึงความไม่เป็นธรรม หรือ “สองมาตรฐาน” ที่มีอยู่ในประเทศ แต่ถึงจะไม่มีเหตุการณ์ดังกล่าว ความรู้สึกถึงความไม่เป็นธรรมในหมู่คนระดับล่างก็มีอยู่แล้ว และมีแนวโน้มจะเพิ่มมากขึ้น จนอาจถึงกับเกิดความรู้สึกว่าประเทศชาตินี้มิใช่เป็นของเขา เขาเป็นเพียงผู้อาศัยเท่านั้น

ควบคู่กับความรู้สึกไม่เป็นส่วนหนึ่งของชาติอย่างสนิทใจ ก็คือความรู้สึกเหินห่างจนถึงกับแปลกแยกระหว่างคนในชาติด้วยกัน โดยเฉพาะระหว่างคนรวยกับคนจน ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจที่มากล้นและโอกาสที่แตกต่างกัน ทำให้คนสองกลุ่มมีวิถีชีวิตที่ต่างกันราวฟ้ากับดิน มีรสนิยมและความคิดไปคนละทาง คนรวยในไทยกลับมีความรู้สึกใกล้ชิดกับคนรวยในสิงคโปร์หรืออังกฤษ มากกว่าที่จะรู้สึกใกล้ชิดกับคนจน (หรือแม้แต่คนชั้นกลางระดับล่าง) ที่เป็นไทยด้วยกัน สภาพเช่นนี้นักวิชาการบางท่านเรียกว่า “หนึ่งรัฐ สองสังคม” คือแม้จะอยู่ในประเทศเดียวกันแต่ผู้คนแตกขั้วออกเป็นสอง

ในขณะที่ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ และความไม่เป็นธรรมในสังคม ทำให้สังคมแตกตัวหรือแบ่งแยกในแนวตั้งตามระดับรายได้ คือรวยกับจน กระแสโลกาภิวัตน์ที่ไหลบ่าก็ทำให้เกิดการแตกตัวในแนวราบ กล่าวคือ แม้ในหมู่คนรวย หรือคนชั้นกลางที่มีรายได้ระดับเดียวกัน ก็ยังมีการแบ่งเป็นกลุ่มย่อยๆ ตามรสนิยม การดำเนินชีวิต ความคิดความเชื่อ และผลประโยชน์ ที่แตกต่างกัน ทั้งนี้เพราะโลกาภิวัตน์ได้ทำให้ผู้คนเข้าถึงสื่อที่หลากหลาย (โทรทัศน์ ๑๐๐ ช่อง เว็บไซต์นับล้าน) และมีทางเลือกมากมายในการบริโภค (เสื้อผ้านับพันยี่ห้อ) ในเวลาเดียวกันการเปิดตลาดเสรีก็นำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว มีอาชีพหลากหลายมากขึ้น จึงมีวิธีคิดและผลประโยชน์แตกต่างกันมากขึ้น ยิ่งคบค้าสมาคมในกลุ่มคนที่มีวิถีชีวิต รสนิยม ความคิดความเชื่อและผลประโยชน์ที่คล้ายกัน ก็ยิ่งเกิดความเหินห่างจนอาจถึงกับแปลกแยกกับคนกลุ่มอื่นที่มีวัฒนธรรมหรือผลประโยชน์ต่างกัน ทั้งนี้ยังไม่ต้องเอ่ยถึงผลกระทบจากเศรษฐกิจไร้พรมแดนตามกระแสโลกาภิวัตน์ ที่ทำให้คนรวยได้รับประโยชน์มากขึ้น ในขณะที่คนระดับล่างเดือดร้อนยิ่งกว่าเดิม (เช่น เกษตรกรเชียงใหม่ขายกระเทียมไม่ออกเนื่องจากถูกกระเทียมจากจีนตีตลาด) จึงยิ่งเพิ่มความเหลื่อมล้ำและขยายช่องว่างระหว่างคนในชาติให้ถ่างกว้างขึ้น

ความแตกต่างทางวัฒนธรรมและผลประโยชน์ไม่จำเป็นต้องหมายถึงความแตกแยกของสังคมหรือคนในชาติ แต่ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและความไม่เป็นธรรมในสังคมนั้นเป็นปัญหาอย่างแน่นอน เพราะสามารถบั่นทอนสายใยแห่งความเป็นชาติได้ ทำให้ผู้คนรู้สึกเหินห่างหมางเมิน หรือเกิดอคติต่อกันจนกลายเป็นความเคียดแค้นชิงชัง เพียงแค่มีสิ่งกระตุ้นเร้าความโกรธเกลียด ผู้คนก็สามารถทำร้ายเข่นฆ่ากันได้

การเรียกร้องให้รักชาติ หรือให้คนไทยสามัคคีกันนั้น ไม่มีประโยชน์ตราบใดที่ความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรมยังดำรงอยู่และตอกย้ำให้ผู้คนมีความรู้สึกนึกคิดในทางตรงข้าม สำนึกร่วมในความเป็นชาติจะมั่นคงเข้มแข็งได้ก็ต่อเมื่อลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้น จะทำเช่นนั้นได้ก็ต้องสาวไปให้ถึงตัวการสำคัญที่ทั้งเสริมสร้างและค้ำจุนความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรมมาโดยตลอด นั่นคือโครงสร้างอำนาจที่รวมศูนย์ไว้กับส่วนกลาง

หลายทศวรรษที่ผ่านมาการรวมอำนาจที่ส่วนกลาง ได้เอื้อให้คนส่วนน้อยใช้อำนาจนั้นในการวางนโยบายและจัดการทรัพยากรเพื่อเอื้อประโยชน์แก่กลุ่มของตัว โดยผลักภาระให้แก่คนระดับล่าง ซึ่งมักลงเอยด้วยการสูญเสียทรัพยากรที่จำเป็นต่อการดำเนินชีวิต จนต้องละทิ้งวิถีชีวิตดั้งเดิมของตน ขณะเดียวกันแผนพัฒนาเศรษฐกิจสังคมที่ออกมาจากส่วนกลาง ยังทำให้ท้องถิ่นอ่อนแอลง ไม่สามารถจัดการตนเอง แม้กระทั่งเรื่องพื้นฐาน ผลก็คือ นอกจากช่องว่างระหว่างผู้คนในสังคมจะถ่างกว้างขึ้นแล้ว ยังเกิดช่องว่างระหว่างเมืองกับชนบท และระหว่างเมืองหลวงฯ กับเมืองอื่น จนเป็นปัญหาเรื้อรังกระทั่งทุกวันนี้

 

ทางออกก็คือการปฏิรูปโครงสร้างอำนาจรัฐ โดยให้กระจายสู่ท้องถิ่น

เพื่อให้ประชาชนในท้องถิ่นมีอำนาจในการจัดการชีวิตและชุมชนของตนได้ ประโยชน์ย่อมจะตกแก่คนในท้องถิ่นมากขึ้น ทำให้มีฐานะความเป็นอยู่ดีกว่าเดิม ขณะเดียวกันศักยภาพที่เพิ่มขึ้นจากการที่ต้องรับผิดชอบตนเอง จะช่วยให้ท้องถิ่นสามารถปกป้องตนเองจากกระแสโลกาภิวัตน์ได้มากขึ้น โดยเฉพาะในยามนี้ที่รัฐบาลมีอำนาจน้อยลงในการปกป้องประชาชนจากอิทธิพลข้ามชาติ (แม้จะยังมีอำนาจบังคับบัญชาประชาชนอยู่มากก็ตาม)

นี้เป็นประเด็นที่คณะกรรมการปฏิรูปซึ่งมี นายอานันท์ ปันยารชุน เป็นประธานให้ความสำคัญมาก ดังได้เสนอให้มีการปฏิรูปโครงสร้างอำนาจรัฐ โดยยกเลิกการบริหารราชการส่วนภูมิภาค แล้วโอนอำนาจการบริหารจัดการตนเองไปให้ท้องถิ่นตั้งแต่ระดับจังหวัดลงไปจนถึงตำบล กล่าวคือให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เป็นผู้จัดการทรัพยากรท้องถิ่น เป็นผู้จัดการศึกษา ดูแลรักษาความสงบพื้นฐาน และวางแผนพัฒนาเอง รวมทั้งมีอำนาจในการจัดระบบการคลังของตน เช่น การลงทุน การกู้ยืม การร่วมทุน ตลอดจนมีอำนาจในการจัดเก็บภาษีบางประเภท

นอกจากการโอนอำนาจการจัดการตนเองให้ อปท. แล้ว รัฐยังต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนในท้องถิ่นมีส่วนร่วมกับ อปท. ในการบริหารจัดการตนเองด้วย ทั้งในด้านทรัพยากร ศิลปวัฒนธรรม การให้บริการสาธารณะ และการวางแผนพัฒนา อีกทั้งยังสามารถกำกับตรวจสอบ อปท. ได้ด้วย ทั้งนี้เพื่อมิให้อำนาจที่กระจายจากส่วนกลาง มากระจุกอยู่ที่ อปท. แต่ยังกระจายไปถึงประชาชนอย่างแท้จริง

การปฏิรูปตามแนวทางดังกล่าว จะช่วยให้ท้องถิ่นเข้มแข็งขึ้น ประชาชนมีความเป็นอยู่ดีขึ้นเพราะได้รับประโยชน์จากทรัพยากรท้องถิ่นอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย การศึกษาจะสอดคล้องกับความต้องการของชุมชนมากขึ้น แทนที่จะสนองนโยบายจากส่วนกลางอย่างที่เป็นอยู่ วัฒนธรรมซึ่งเคยถูกครอบงำจากส่วนกลาง จะฟื้นฟูและทำให้ประชาชนมีความภาคภูมิใจในตนเองมากขึ้น การพัฒนาท้องถิ่นจะตอบสนองประโยชน์ของท้องถิ่นเป็นหลัก

การให้อำนาจแก่ท้องถิ่นในการจัดการตนเอง ยังเป็นการเปิดพื้นที่ให้แก่ประชาชนกลุ่มต่างๆ ที่มีวัฒนธรรมและผลประโยชน์แตกต่างกันมาต่อรองและจัดสรรทรัพยากรร่วมกัน ซึ่งจะอำนวยให้เกิดความเป็นธรรมในท้องถิ่นมากขึ้น ขณะเดียวกันการใช้อิทธิพลจากภายนอกเพื่อแย่งชิงทรัพยากรท้องถิ่นก็จะลดลง ไม่ว่าจะเป็นอิทธิพลจากส่วนกลางหรือทุนขนาดใหญ่ก็ตาม วิธีนี้จะช่วยให้ท้องถิ่นต่างๆ สามารถรับมือกับกระแสโลกาภิวัตน์ได้มากขึ้น แทนที่จะถูกกระทำแต่ฝ่ายเดียว โดยอาศัยข้อตกลงที่ทำไว้กับส่วนกลาง หรืออาศัยอำนาจจากรัฐบาล อย่างที่เป็นอยู่ในขณะนี้

อำนาจเมื่อกระจายสู่ท้องถิ่น ย่อมก่อให้ความเปลี่ยนแปลงที่ส่วนกลาง จากเดิมที่เคยใช้อำนาจกับท้องถิ่น ก็จะเปลี่ยนมาเป็นการปรึกษาหารือหรือชักจูงโน้มน้าวแทน พร้อมกันนั้นก็ทำให้การเมืองระดับชาติที่มุ่งชิงอำนาจจากส่วนกลาง มีความเข้มข้นดุเดือดหรือเอาเป็นเอาตายน้อยลง เพราะอำนาจและผลประโยชน์ที่จะได้จากการเป็นรัฐบาลจะลดลง

หากมีมาตรการอื่นๆ เข้ามาเสริม เช่น การปฏิรูปที่ดิน การปฏิรูปเกษตรกรรม การปฏิรูปภาษี และการเพิ่มโอกาสสำหรับผู้มีรายได้น้อยในการเข้าถึงแหล่งทุนและการศึกษา ก็จะส่งผลให้ความเหลื่อมล้ำระหว่างเมืองกับชนบท เมืองหลวงกับเมืองเล็ก และคนรวยกับคนจน ลดลงมากขึ้น และที่จะขาดไม่ได้คือการรักษาและเสริมสร้างระบบประชาธิปไตยให้เข้มแข็ง โดยเปิดพื้นที่ทางการเมืองให้แก่คนทุกคน เสียงทุกเสียง และกลุ่มทุกกลุ่ม การกระจายอำนาจและโอกาสในการต่อรองให้แก่คนกลุ่มต่างๆ อย่างเท่าเทียมกัน รวมทั้งการรักษาหลักนิติธรรมให้เป็นที่เคารพของสถาบันต่างๆ อันเป็นหลักของชาติ ก็จะเป็นการตอกย้ำสำนึกแก่ผู้คนทั้งประเทศว่า ประเทศชาติเป็นของเขาด้วย หาใช่ผู้อาศัยเท่านั้นไม่ ประชาธิปไตย ความเป็นธรรมในสังคม และการมีศรัทธาร่วมกันในสถาบันต่างๆ ของชาติเท่านั้นที่จะเสริมสร้างสายใยแห่งความเป็นชาติให้เหนียวแน่น

 

ทุกวันนี้มีเหตุปัจจัยต่างๆ มากมายที่สามารถฉุดดึงหรือแบ่งแยกผู้คนให้เหินห่างจากกัน

การพัฒนาเศรษฐกิจแบบไม่สมดุลทำให้ชุมชนอ่อนแอ คนหนุ่มสาวต้องทิ้งหมู่บ้านไปขายแรงงาน ขณะที่ชาวบ้านต่างคนต่างอยู่มากขึ้น ขณะเดียวกันครอบครัวก็แตกสลายมากขึ้น พ่อแม่แยกทางกัน ทิ้งลูกให้อยู่กับตายาย หาไม่ก็มีเวลาพูดคุยกันน้อยแม้อยู่บ้านเดียวกัน เพราะมีชีวิตไปคนละทิศละทาง ซ้ำยังมีเทคโนโลยีนานาชนิด (โดยเฉพาะโทรศัพท์มือถือ โทรทัศน์และอินเตอร์เน็ต) มาขวางความสัมพันธ์ในบ้านแย่งชิงเวลาไปจากกันและกัน หล่อหลอมโลกทัศน์และสร้างค่านิยมไปคนละแบบ ยิ่งวัฒนธรรมบริโภคนิยมไหลบ่า ผู้คนก็นึกถึงแต่การเสพสุขเฉพาะตน มีชีวิตแบบปัจเจกชนมากขึ้น ร้ายกว่านั้นก็คือพร้อมจะเอาเปรียบเบียดเบียนผู้อื่น เพื่อประโยชน์ส่วนตนล้วนๆ ในระดับกลุ่มชน อัตลักษณ์ที่แตกต่างกันไม่ว่าเชื้อชาติ ศาสนา ภาษา กลับกลายเป็นกำแพงที่ขวางกั้นซึ่งกันและกัน เท่านั้นยังไม่พอ การแย่งชิงอำนาจอย่างดุเดือดทำให้ความแตกต่างทางความคิดกลายเป็นการแบ่งขั้วแบ่งข้างทางการเมืองทั้งประเทศ ผู้คนแตกแยกอย่างหนักถึงกับมุ่งร้ายต่อกัน โดยมีความเหลื่อมล้ำทางรายได้และความไม่เป็นธรรมทางสังคมเป็นเชื้อให้ความโกรธเกลียดลุกลามขยายตัว

ใช่แต่เท่านั้นความเหินห่าง แปลกแยก หรือแตกแยก ยังได้ลามไปจนถึงในใจของผู้คน นั่นคือเกิดความรู้สึกแปลกแยกกับตนเอง ไม่รู้สึกเป็นมิตรกับตนเอง ทนอยู่กับตนเองได้น้อยลงเรื่อยๆ รู้สึกเป็นทุกข์ อ้างว้าง แม้อยู่ท่ามกลางผู้คนและแวดล้อมด้วยทรัพย์สมบัติและสิ่งเสพมากมาย นี้คือสภาพที่เกิดขึ้นกับเมืองไทยวันนี้

ในสภาพเช่นนี้ การเรียกร้องให้รักกันหรือเป็นมิตรกัน ย่อมไม่แก้ปัญหา (เพราะแม้แต่จะเป็นมิตรกับตัวเองยังทำได้ยาก) การเสริมสร้างจิตสำนึกให้ปรารถนาดีต่อกัน ลดละอคติระหว่างกัน และหันหน้าเข้าหากัน เป็นสิ่งที่ดี แต่ยังไม่พอ สิ่งที่ควรทำควบคู่ไปด้วยก็คือการสร้างเงื่อนไขทางสังคมเพื่อส่งเสริมให้ผู้คนอยู่ร่วมกันอย่างสันติ นั่นคือลดการเบียดเบียนเอารัดเอาเปรียบกัน แม้มีผลประโยชน์ต่างกัน ก็หันมาเจรจาต่อรองกัน แทนที่จะใช้อำนาจแย่งชิง (ไม่ว่าถูกหรือผิดกฎหมายก็ตาม) จะทำเช่นนั้นได้ก็ด้วยการทำให้สังคมมีความเหลื่อมล้ำน้อยลง มีความเป็นธรรมมากขึ้น กระจายอำนาจอย่างทั่วถึงเพื่อให้การเอาเปรียบผ่านกลไกต่างๆ ลดน้อยลง และเพื่อเพิ่มศักยภาพในการดูแลและป้องกันตนเองได้มากขึ้น การเปิดพื้นที่ให้ผู้คนในชุมชนต่างๆ มาร่วมกันบริหารจัดการตนเอง ยังจะช่วยให้ผู้คนหันมาปรึกษาหารือกัน ทำให้เกิดความร่วมมือกัน เกิดสำนึกต่อส่วนรวมมากขึ้น ไม่นิ่งดูดายหรือเฉื่อยเนือย ขณะเดียวกันเมื่อกลุ่มต่างๆ มีโอกาสต่อรองที่ใกล้เคียงกัน ก็จะหันมาเจรจากันด้วยเหตุผลมากขึ้น แทนที่จะใช้อำนาจ ความรุนแรงก็จะลดลงและมีโอกาสที่จะทำงานร่วมกันได้

สังคมที่ผู้คนมีปฏิสัมพันธ์ดังกล่าวย่อมเข้มแข็งและมีความปกติสุขมากขึ้น เป็นเงื่อนไขให้ผู้คนมีความสงบเย็นภายใน ยิ่งศาสนธรรมหรือภูมิปัญญาดั้งเดิมได้รับการส่งเสริมตั้งแต่ระดับท้องถิ่นขึ้นมา ไม่ถูกทำลายด้วยวัฒนธรรมบริโภคนิยม ความงอกงามของชีวิตด้านในก็เป็นไปได้ ประเทศที่ประกอบด้วยสังคมเข้มแข็ง ผู้คนสงบเย็น ย่อมเป็นประเทศที่มั่นคงและก้าวหน้าอย่างแน่นอน


ภาพประกอบ

พระไพศาล วิสาโล

ผู้เขียน: พระไพศาล วิสาโล

เจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต และประธานมูลนิธิเครือข่ายพุทธิกา