มงคล วัฒนชานนท์ ร้านขนมปัง 20 บาท ที่แบ่งทุกการขายทำบุญ

นุดา 11 กรกฎาคม 2020

หากใครเดินทางด้วยรถไฟฟ้า BTS  ขึ้นลงที่สถานีหมอชิตช่วงหัวค่ำถึงดึกเป็นประจำ คงเคยเจอผู้ชายคนนี้ยืนเรียกลูกค้าเชิญชวนให้ซื้อขนมปังชิ้นละ 20 บาทของเขา  และถ้าหยุดดูสักนิดจะสังเกตเห็นป้ายที่ติดไว้หน้ากล่องขนมปังของเขาว่า .

‘เพียงท่านซื้อขนมปัง เท่ากับได้ร่วมสมทบทุนช่วยเหลือผู้ติดเชื้อ HIV วัดพระบาทน้ำพุ ชิ้นละ 1-2 บาท’  ทุกสัปดาห์เขาจะรวมยอดเงินจากขนมปังที่ขายได้โอนเข้าบัญชีกองทุนอาทรประชานาถ ของวัดพระบาทน้ำพุอย่างไม่เคยขาด ไม่ว่าจะขายขนมปังได้มากหรือน้อยก็ตาม

 

ชีวิตที่ไม่ได้ดีไซน์ว่าจะมาขายขนมปังในวัย 50

ตั้งแต่ยังเรียนไม่จบมหาวิทยาลัย มงคล วัฒนชานนท์ ต้องมาดูแลร้านขายของชำธุรกิจของครอบครัวต่อจากคุณพ่อซึ่งเสียชีวิต แต่เมื่อวันหนึ่งร้านสะดวกซื้อ 24 ชั่วโมงเข้ามาแทนที่ ร้านขายของชำก็ขายไม่ดีอย่างแต่ก่อน ยิ่งไปกว่านั้นสัญญาเซ้งตึกของครอบครัวหมดลง เจ้าของที่ไม่ให้ต่อสัญญา เขาจึงออกมาหาเช่าบ้าน และหางานใหม่แทนงานที่เคยทำมากว่า 20 ปี

ช่วงแรกนั้นเขาลองทำธุรกิจประเภทขายส่ง แต่ก็ล้มเหลว จึงไปสมัครทำงานที่มูลนิธิแห่งหนึ่ง แต่เมื่อมูลนิธิหมดงบประมาณ เขาก็ถูกเลิกจ้าง  หลังจากนั้นมงคลไปทำงานประจำที่ร้านหนังสือ ด้วยเงินเดือนประมาณหมื่นกว่าบาท เขาทำงานร้านหนังสือราวๆ ปีกว่า ก็ตัดสินใจลาออก เนื่องจากรายได้ไม่เพียงพอกับการดูแลครอบครัว และได้เริ่มต้นอาชีพใหม่คือ ขายขนมปัง

“เราไม่ได้ตั้งใจดีไซน์ชีวิตว่าอายุ 50 กว่าจะมาทำอาชีพแบบนี้ แต่มีเค้าลางว่าจะมีเหตุการณ์นี้เกิดขึ้น เคยคิดว่าถ้าถึงที่สุดแก้ปัญหาธุรกิจของเราไม่ได้ ก็รีเซ็ตทุกอย่าง เริ่มต้นที่ศูนย์ใหม่ จากเคยขายของมีร้านของตัวเอง ก็พร้อมมาขายของเงินสด 10-20 บาท ข้างถนนได้ และพอถึงเวลาที่เราตกงาน แฟนก็ตกงาน เราเสิร์ชหาว่าขายอะไรดี พอมาเจอขนมปังเจ้านี้ รู้สึกว่าสะดวกลงตัว ถ้าขายได้วันละ 100 ชิ้น หลังจากหักค่าขนมแล้วเหลือกำไร 500-600 บาท ก็พออยู่ได้ เลยลองรับขนมมาขาย แรกๆ เดินขายตามบ้านคน แบกขนมปังไปทีละ 2 ลัง ตอนเดินขายตัดทิ้งหมดทุกอย่าง ความอาย ตัวตน ไม่มีเลย ”

หลังจากเดินขายขนมปังสักพักหนึ่ง มงคลก็ได้เช่าที่จากแผงขายล็อตเตอรี่ในตลาดสด ทุกวันเขาจะหิ้วขนมปังไปยืนขายในตลาดตั้งแต่เช้าถึงค่ำ จากที่เคยขายดีช่วง 2-3 เดือนแรก ต่อมายอดขายเริ่มตก เขาจึงมองหาทำเลใหม่ และพื้นที่ๆ เขาตัดสินใจไปขายก็คือแถวสวนจตุจักร ทางขึ้นลงรถไฟฟ้า BTS

“ผมนั่งรถเมล์ผ่านจตุจักร เห็นคนรอรถเมล์เยอะ ก็คิดว่ามีที่แทรกสักตารางเมตรให้เราขายขนมปังไหม อีกวันเลยลองหิ้วขนมไปยืนแทรกกับแม่ค้าพ่อค้า เขาก็ไล่เรา แต่ไม่ใช่ไล่ไม่ให้ขาย แต่ไล่บอกว่าให้ไปยืนตรงไหน พอขายไปขายมามีเทศกิจมาไล่ คือตลอดเวลาที่ขายมา 2 ปีมีอะไรเปลี่ยนแปลงมาเรื่อย แต่การที่เราไปขายขนมปังตรงนี้ล่ะที่รู้สึกว่า เราได้รับความเมตตา คนที่ซื้อขนมปังเขาไม่ได้ซื้อเพราะขนมเราดีเลิศอะไร แต่เพราะเขาเห็นว่าเราสู้ แล้วเรามีอะไรตอบแทนเขา  การตอบแทนคือเราช่วยเอาเงินของเขาไปทำบุญ”

สะพานบุญและโรงทานที่เปิดทุกวัน

ขนมปังของมงคลราคาชิ้นละ 20 บาท ทุกการขายต่อชิ้นเขาจะแบ่งทำบุญอย่างน้อย 1-2 บาท แล้วรวบรวมเงินโอนเข้าบัญชีกองทุนอาทรประชานาถ วัดพระบาทน้ำพุ สัปดาห์ละครั้งถึงสองครั้งเป็นประจำ แม้บางวันยอดขายขนมลดลงหรือไม่ได้ตามเป้าที่วางไว้ แต่ความตั้งใจที่จะทำบุญทุกวันของเขา ไม่เคยขาด

“เพราะถือว่าไม่ใช่เงินของเรา แต่เป็นเงินที่ลูกค้าร่วมทำบุญกับเรา” มงคลบอกกับเราเช่นนั้น

โครงการปัง ปัน บุญ เป็นชื่อโครงการเล็กๆ ที่มงคลตั้งขึ้นมา เพื่อนำรายได้จากการขายขนมปังไปทำบุญ ซึ่งดูจะกลายเป็นชื่อร้านขายขนมปังของเขาไปด้วยแล้ว  มงคลเล่าให้ฟังว่าสาเหตุที่เขาตั้งใจนำเงินบริจาคมอบให้วัดพระบาทน้ำพุ สืบเนื่องจากเขาเคยทำงานเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับโรคเอดส์ให้มูลนิธิหนึ่ง ทำให้เข้าใจปัญหาของผู้ป่วยติดเชื้อ HIV และเคยมีโอกาสเจอหลวงพ่ออลงกต ขณะที่ท่านมาบิณฑบาตที่กรุงเทพ ฯ รับข้าวสาร อาหารแห้ง และปัจจัยจากผู้มีจิตศรัทธาทำบุญให้ผู้ป่วยที่กำลังรอรับความช่วยเหลืออยู่ที่วัด มงคลจึงคิดว่า ถ้าเรามาช่วยกันคนละไม้คนละมือ โอนเงินบริจาคไปที่วัด แม้จะเป็นจำนวนเงินไม่มากในแต่ละวัน แต่ถ้ามีจำนวนคนที่ทำอย่างนี้เยอะ ๆ คงพอช่วยแบ่งเบาภาระของหลวงพ่ออลงกต

“ผมรู้สึกว่าทำไมหลวงพ่อต้องเหนื่อยมากขนาดนั้น  เลยคิดว่าถ้ามีคนบริจาคเงินโอนเข้าไปวันละ 50 บาท 100 บาท มากพอถึงจุดที่วัดพอใช้จ่ายดูแลผู้ป่วยได้  หลวงพ่อก็ไม่ต้องออกมาเดินบิณฑบาตตามตลาด ตามห้าง เพื่อรับบริจาค ตอนนี้ท่านก็อายุ 60 กว่าแล้ว เราอยากให้ท่านได้พักบ้าง ซึ่งผมหวังว่าโครงการเล็กๆ ของเรา จะช่วยทำให้คนไม่ลืมวัดพระบาทน้ำพุ เหมือนได้ช่วยประชาสัมพันธ์วัดพระบาทน้ำพุให้คนที่ผ่านไปมา คนที่มาซื้อขนมปังเรา”

นอกจากจะแบ่งรายได้จากการขายขนมปังไปทำบุญแล้ว มงคลยังเป็นอีกคนหนึ่งที่ร่วมโครงการปันกันอิ่ม ของมูลนิธิเครือข่ายพุทธิกา โครงการที่ชวนคนทำบุญในรูปแบบสมัยใหม่ที่ไม่ต้องใช้เงินเยอะ และทำได้บ่อย ๆ ไม่ต้องรอเทศกาลงานบุญ โดยการฝากเงินค่าอาหารไว้ที่ร้านค้าซึ่งเข้าร่วมโครงการ เป็นทางเลือกในการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ซึ่งทำได้ง่าย ตามกำลังและโอกาส มีร้านอาหารเป็นสะพานบุญ เชื่อมระหว่างผู้ให้และผู้รับ โดยทั้งสองฝ่ายไม่จำเป็นต้องรู้จักกัน แต่แบ่งปันให้กันได้

“สิ่งที่ผมเจอทุกวันขณะยืนขายขนมปังคือ เจอคนยากจน ไม่ว่าจะคนจรจัด คนต่างจังหวัดที่เข้ากรุงเทพฯ คนเก็บของเก่าขาย เรารู้สึกว่าทรัพยากรของกินบ้านเมืองเรามีเยอะ แต่ทำไมต้องให้เขาหิว ต้องให้เขามาคุ้ยขยะหาของกิน  งั้นเอาขนมปังดีๆ ของเราไปให้กินดีกว่า คนเราอย่ามองแต่ตัวเอง ถ้าเห็นว่าคนนั้นเขาขาด คนนี้ต้องการความช่วยเหลือ ถ้าคนเรามีน้ำใจช่วยเหลือกัน คนที่มีความทุกข์ก็จะทุกข์เบาบางลง ในเมื่อเราขายอาหาร สิ่งที่เราช่วยได้คือแจกอาหาร พอมาเจอโครงการปันกันอิ่ม รู้สึกว่าแนวคิดโครงการตรงกับสิ่งที่เราทำอยู่  ถ้าคุณมาตรงนี้ อยากทำบุญบริจาคอาหาร เราเป็นโรงทานที่เปิดทุกวัน ไม่ใช่เปิดตามเทศกาล หรือวันพิเศษ แต่เราแจกทุกวัน คนที่หิว  แวะมาที่นี่ ไม่ต้องไปจ่ายตังค์เข้าร้านสะดวกซื้อ แวะมาที่เรารับขนมปังไปทานได้ คนที่อยากทำบุญไม่ต้องไปวัด ไม่ต้องรอเทศกาล คุณแวะมาฝากเงินไว้ จะ 20 บาทหรือกี่บาทก็ได้ทำบุญกับคน”

มีคนใจดีฝากเงินเป็นค่าขนมปัง ให้ช่วยแจกคนไร้บ้าน

มงคลเสริมว่าสิ่งที่เขาอยากทำเพิ่มคือจัดทำป้ายโครงการปันกันอิ่มให้ชัดเจน เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการจุดประกายแนวคิดการทำบุญ ที่สำคัญคืออยากให้คนที่กำลังหิวหรือไม่มีกำลังทรัพย์ได้ทราบว่า สามารถมารับขนมปังไปกินฟรีได้ แม้วันนั้นจะไม่มีคนฝากเงินทำบุญค่าขนมปัง แต่ถ้ามีใครหิวมา แผงขายขนมปังเล็กๆ แห่งนี้ยินดีแบ่งปันเสมอ

ความสุขของคนขายขนมปัง

“เพื่อนเห็นผมมาขายขนมปังอย่างนี้ ก็ถามว่า ไม่เหนื่อย ไม่ป่วยบ้างเหรอ ผมบอกว่า แปลก สุขภาพตอนนี้แข็งแรงกว่าเมื่อตอนอายุ 40 กว่า ถ้าจะเป็นก็แค่หวัดคัดจมูก ปวดเมื่อยตามร่างกายบ้าง แต่พอถึงเวลาไปขายของก็มีแรง เวลาหิ้วขนมปังเราจะรู้ว่าขนมปังหนักไม่เท่ากัน ที่หนักไม่เท่ากันไม่ใช้น้ำหนักขนมปัง มันอยู่ที่ร่างกายเรา ถ้าวันไหนขนมปังเบา แสดงว่าสุขภาพเราดี ถ้าวันไหนขนมปังหนัก วันนั้นเราไม่สบาย”

ก่อนหน้านี้ร้านขนมปังของมงคล ปัง ปัน บุญ ตั้งขายแถวบ้านกลางเมือง ระหว่างลาดพร้าว ซอย 23 และ 25 ช่วงเช้าเวลา 7.00-9.00 น. และเย็นบริเวณทางขึ้นรถไฟฟ้า BTS หมอชิต ฝั่งจตุจักร เวลา 19.00 น.- 24.00 น. แต่ปัจจุบันเขาปรับช่วงเวลาการขายรวมถึงจุดขายตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป เพราะคนมาต่อรถแถวจตุจักรน้อยลง เนื่องจากการเพิ่มส่วนต่อเส้นทางรถไฟฟ้า ยอดขายขนมปังก็น้อยตาม เขาจึงมาขายแถว BTS หมอชิตเร็วขึ้น เพื่อดักรอคนเลิกงาน และไม่ได้ยืนขายอยู่แค่ฝั่งเดียว บางวันอาจยืนขายฝั่งหมอชิตเก่า แล้วค่อยเปลี่ยนมายืนขายฝั่งสวนจตุจักร และอาจขยับไปแถวทางลงรถไฟฟ้าใต้ดินบ้าง แต่ไม่ว่าจะขายจุดไหนทุกวันมงคลจะเอาขนมปังจำนวน 4 กล่อง ทั้งหมด 100 ชิ้น ผูกเชือกข้างละ 2 กล่อง หิ้วขึ้นรถเมล์มา ประมาณเที่ยงคืนครึ่งถึงเป็นเวลาเลิกงานของเขา

เพราะขายขนมปังในพื้นที่การสัญจร จุดต่อรถสาธารณะ  มีคนหลากหลายทั้งไทยและต่างชาติ บางคนเพิ่งมาจากต่างจังหวัดไม่รู้สายรถเมล์ ชาวต่างชาติหลายคนมองหาจุดขึ้นรถไปสนามบินดอนเมือง หากมงคลพอช่วยเหลือได้ เขาจะทำเสมอ

“เราไปขายขนมให้กับคนที่กลับจากทำงาน ไปขอของพื้นที่ยืนตรงนั้น ก็พยายามไม่ไปรบกวนใคร ทำอะไรให้ใครเดือดร้อน และถ้าสามารถตอบแทน ทำประโยชน์อะไรให้ตรงนั้นได้ เราก็ทำ อย่างสิ่งที่ผมทำได้คือช่วยดูสายรถเมล์ให้ ช่วยโบกรถเมล์ให้กับคนที่จะต่อรถ ให้ข้อมูลการเดินทางกับชาวต่างประเทศ แม้เป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ แต่ผมก็สุขใจที่ได้ทำ”

“ขนมปังอร่อยครับ มาใหม่ ๆ 20 บาททุกไส้ครับ แวะชมก่อนได้ครับ แวะซื้อขนมปังก่อนได้ครับ”

คือประโยคประจำที่มงคลส่งเสียงเรียกลูกค้าที่เดินผ่านไปผ่านมา ลูกค้าแวะมาดูไม่ซื้อก็ไม่เป็นไร หรือวันไหนขายไม่ดี เขาก็รู้สึกไม่เป็นไร เขาบอกเราว่า การขายขนมปังคือการเจริญสติอย่างหนึ่งของเขา

“เวลาไปขายของเราไม่ได้ขายแต่ของ ไม่ได้คิดแต่ว่าต้องขายได้ๆ แต่คิดว่า วันนี้จิตใจเราเป็นยังไง เหมือนมาเจริญสติ เพราะอยู่ตรงนั้นเราขายของคนเดียว อยู่คนเดียว อยู่กับความคิดเราตลอดเวลา พอรู้สึกว่าจิตตก แล้วจะจิตตกทำไมล่ะ ตอนนี้มันทุกข์ ทุกข์ทำไมล่ะ รู้สึกตัวก็อย่าทุกข์  คือรู้ตัวซื่อๆ รู้ตัวทุกขณะ ถามว่ามีหลุดบ้างไหม มี มีจิตตกไหม มี ขายไม่ดี คนไม่ซื้อก็มีจิตตกบ้าง แต่พอรู้ตัวปุ๊บ จิตไม่ตก และมันก็ผ่านมาได้ตลอด”

“คนเราอย่ามองแต่ตัวเอง ถ้ามีน้ำใจช่วยเหลือกัน คนที่มีความทุกข์ก็จะทุกข์เบาบางลง ในเมื่อเราขายอาหาร สิ่งที่เราช่วยได้คือแจกอาหาร”

แม้การขายขนมปังชิ้นละ 20 บาท รายได้อาจไม่เท่ากับเมื่อครั้งทำธุรกิจร้านขายของชำ แต่ก็พอเพียงกับการใช้จ่ายในครอบครัว มงคลบอกว่า แม้จะไม่มีเงินเยอะ แต่ช่วงเวลา 2 ปีที่เขากลายมาเป็นคนขายขนมปังนั้น นับเป็นช่วงเวลาที่มีความสุขที่สุด

“ผมพูดกับพ่อค้าด้วยกันว่าตั้งแต่เกิดมา 50 กว่าปี ปีนี้เป็นปีที่เหนื่อยที่สุด ยากที่สุด แต่เป็นปีที่มีความสุขที่สุด มีความภูมิใจในตัวเองที่สุด เพราะเราหารายได้ด้วยตัวเอง ไม่ต้องอาศัยกงสี ไม่ต้องอาศัยธุรกิจครอบครัว นี่เป็นสิ่งที่เราทำเองทุกอย่าง สามารถเอามาเป็นค่าใช้จ่ายในบ้าน ให้เงินลูกไปเรียน ซื้ออาหาร เลี้ยงคนในครอบครัว ทำแล้วเราก็รักการขายขนมปัง เรามีความสุข ไม่ใช่ว่าทำเพราะความจำเป็น เพราะไม่มีทางเลือก แต่ทำเพราะมีความสุขกับมัน และเรายังสามารถต่อยอด สร้างแรงบันดาลใจ หาทุนช่วยเหลือโครงการต่างๆ ได้ อีก จากการที่เราได้เจอผู้คนจำนวนมากขณะยืนขายขนมปัง”

** สามารถสั่งซื้อขนมปังปันบุญได้ที่โทร 099-924-6012

สนใจร่วมเป็นส่วนหนึ่งของโครงการปันกันอิ่ม ติดต่อสอบถามได้ที่ เพจเฟซบุ๊ก : พุทธิกา ฉลาดทําบุญด้วยจิตอาสา


เรื่องโดย : นุดา

นุดา

ผู้เขียน: นุดา

เกิดและเติบโตที่จังหวัดนครปฐม ชอบอ่านหนังสือตั้งแต่เด็ก ตอบตัวเองได้ว่า อยากทำงานเกี่ยวกับการเขียนตอนเรียนมัธยม จึงเลือกเดินในเส้นทางสายนี้ และยึดเป็นอาชีพหลักกว่า 20 ปี แม้รูปแบบของสื่อจะไปเปลี่ยนไปตามยุคสมัย แต่เชื่อว่าการเขียนยังเป็นพลังสำคัญในการสื่อสาร