ตั้งใจมั่นช่วงเข้าพรรษา

พระไพศาล วิสาโล 26 กรกฎาคม 2023

เทศกาลเข้าพรรษาไม่ควรจะให้มีความหมายเฉพาะพระภิกษุสงฆ์ หรือว่าแม่ชี หรือว่านักบวช แต่ควรจะให้มีความหมายรวมไปถึงฆราวาสด้วย เพราะเป็นช่วงเวลาที่เหมาะ เป็นช่วงเวลาที่ประเสริฐ เนื่องจากว่ามีปัจจัยสนับสนุนใจที่ใฝ่ธรรมมีกำลังขึ้นมา เพราะถ้าเป็นช่วงเวลาอื่นอาจจะไม่มีปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมที่มาสนับสนุนให้เราเกิดความตั้งใจที่จะฝึกฝนตนเพื่อขัดเกลาลดละกิเลส

เพราะฉะนั้นเป็นช่วงเวลาที่ญาติโยมควรจะตั้งใจทำสิ่งดีๆ ไม่ว่าจะเป็นการลดละสิ่งที่ไม่ดีบางอย่าง หรือเสริมสร้างสิ่งดีๆ บางอย่างขึ้นมาในชีวิตอย่างน้อยก็ในช่วง 3 เดือนนี้

มีโยมคนตัวหนึ่งตั้งใจว่าในพรรษานี้จะบำเพ็ญทาน รักษาศีล เจริญภาวนา ทานก็ไม่ใช่แค่บริจาคทรัพย์ แต่รวมถึงการสละ หรือบริจาคกำลังกาย และกำลังความคิดด้วย ก็คือจะไปเป็นจิตอาสาช่วยงานส่วนรวม ศีลก็ไม่ใช่แค่ศีล 5 ตั้งใจทำสมาทานศีล 8 เลย ซึ่งก็หมายความว่างดข้าวเย็น งดการประดับประดาตกแต่งร่างกาย รวมทั้งการละเล่นขับร้อง หรือว่าดูมหรสพ ดูหนังฟังเพลง เป็นต้น นอกจากงดอาหารเย็นทุกวันแล้ว วันพระก็จะกินอาหารมังสวิรัติ ซึ่งก็เป็นทั้งลดการเบียดเบียนผู้อื่น และลดการเบียดเบียนตนด้วย เพราะอาหารมังสวิรัติก็มีประโยชน์ต่อสุขภาพมากกว่าอาหารที่เป็นเนื้อ

ภาวนาก็ตั้งใจว่าจะเจริญสติสมาธิในรูปแบบ อย่างน้อยอาทิตย์ละ 14 ชั่วโมง หมายความว่าวันละ 2 ชั่วโมงอย่างน้อย แต่ก็ไม่ได้ทำแค่นั้น ตั้งใจว่าจะเจริญสติในชีวิตประจำวันด้วย ตั้งแต่ตื่นนอนขึ้นมา ทำกิจใดก็ตามแม้จะเล็กน้อย อาบน้ำ ถูฟัน กินข้าว ก็เจริญสติ ทำความรู้สึกตัวไปด้วย อันนี้เรียกว่าไม่ได้เจริญสติหรือบำเพ็ญทานศีลภาวนาตามรูปแบบอย่างเดียว แต่ขยายให้มีความจริงจังมากขึ้นด้วย

แล้วก็ยังทำมากกว่านั้น เช่น ตั้งใจจะออกกำลังกายอย่างน้อยอาทิตย์ละ 4 ชั่วโมง ก็ประมาณวันละครึ่งชั่วโมงเป็นอย่างน้อย แล้วก็บอกว่าตั้งใจจะใส่ใจดูแลแม่ให้มากขึ้น ฟังแม่ด้วยความใส่ใจมากขึ้น อันนี้ก็เป็นเรื่องที่น่าอนุโมทนา เพราะว่าลูกกับแม่อยู่บ้านเดียวกันบางทีก็อาจจะมีเรื่องกระทบกระทั่งกันบ้าง

หรือบางทีแม่ก็อาจจะชอบบ่นหรือเรียกร้องลูกอย่างนั้นอย่างนี้ หรือบางทีก็มีเรื่องที่อยากจะเล่าซ้ำแล้วซ้ำเล่า ก็ไม่ใช่ง่ายที่ลูกจะอยู่กับแม่ แล้วก็รับฟังใส่ใจสิ่งที่แม่เล่าได้ แต่การทำอย่างนี้ นับเป็นการปฏิบัติธรรมอย่างหนึ่ง นอกจากบำเพ็ญกตัญญูกตเวทีแล้ว ยังเป็นการฝึกขันติธรรมและฝึกสติด้วย

อันนี้ก็เป็นธรรมะที่ลูกสมัยนี้ควรจะบำเพ็ญให้มากๆ เพราะเดี๋ยวนี้พ่อหรือแม่ บางทีก็อยู่กับลูกเท่านั้นแหละ ไม่มีเพื่อนไม่มีสังคม เพราะว่าอยู่ทาวน์เฮาส์ คอนโด บางทีก็เหงา ไม่รู้จะคุยกับใคร ก็คุยกับลูก จนบางทีลูกหลายคนรำคาญ แต่ถ้าตั้งใจฟัง ก็ช่วยผู้เป็นพ่อเป็นแม่ได้มาก

แล้วยิ่งกว่านั้นโยมคนนี้ยังตั้งใจไว้ว่าของที่สะสมมาซื้อแล้วไม่ได้ใช้ บางทีลดราคามิดไนท์เซลก็ไปซื้อมา เพราะราคาถูก แต่เอาเข้าจริงไม่ได้ใช้ ก็ตั้งใจว่าจะทยอยบริจาค ก็เป็นการบำเพ็ญทานอย่างหนึ่งที่เหมาะกับยุคสมัยมาก เพราะเดี๋ยวนี้ข้าวของเครื่องใช้ของคนในเมืองมีเยอะ ที่คิดว่าซื้อมาแล้วจะได้ใช้ เอาเข้าจริงก็ไม่ได้ใช้ บางทีกิเลสมันหลอกว่า ซื้อมาเถอะ วันหน้าจะได้ใช้แน่ ก็เชื่อเพราะว่าราคาถูก และสวยงาม แต่พอได้มาแล้ว เหตุผลที่จะใช้ก็มีน้อย

และที่น่าสนใจอีกข้อหนึ่งก็คือ ลดการใช้โซเชียลมีเดีย ไม่ว่าจะเป็น Line, Facebook, Instagram หรือว่า Tiktok เดี๋ยวนี้ใช้เวลา กินเวลาคนไปเยอะเลย ก็จะลดการใช้ลง พูดง่ายๆ ลดการเสพ ที่จริงศีล 8 ก็เป็นไปเพื่อลดการเสพ ทั้งทางตา ทางหู ทางปาก แต่เดี๋ยวนี้มันไม่พอแล้ว เพราะคนสมัยนี้เสพข้อมูลข่าวสารทางโทรศัพท์มือถือผ่านโซเชียลมีเดียจนติดงอมแงม เพราะฉะนั้นเวลาพูดถึงลดการเสพก็ควรจะครอบคลุมไปลดพวกนี้ด้วย แต่ไม่ใช่ง่ายเพราะคนติดงอมแงม อ้างว่าจำเป็นต่อการงานบ้าง หรือว่ามันสะดวกบ้างล่ะ แต่ว่าบางทีมันกลายเป็นการสร้างภาระ ทำให้เสียเวลามาก และเกิดความเครียดด้วย

เข้าพรรษา เป็นช่วงเวลาที่ญาติโยมควรจะตั้งใจทำสิ่งดีๆ ไม่ว่าจะเป็นการลดละสิ่งที่ไม่ดีบางอย่าง หรือเสริมสร้างสิ่งดีๆ บางอย่างขึ้นมาในชีวิต อย่างน้อยก็ในช่วง 3 เดือนนี้

อันนี้ก็เป็นความตั้งใจ ซึ่งที่จริงไม่ใช่เป็นแค่ความตั้งใจเฉยๆ แต่อธิษฐานด้วย อธิษฐานไม่ได้แปลว่าขอ ภาษาบาลีแปลว่าตั้งใจที่จะทำสิ่งดีๆให้สำเร็จ เดี๋ยวนี้คนไทยไปเข้าใจว่าอธิษฐานคือ ตั้งใจขอ เพื่อจะได้เพื่อจะเอา มันก็เลยไม่ได้เกิดการกระตุ้นความเพียร

แต่ถ้าหากว่าเราตั้งใจทำอะไรแล้วไม่ใช่แค่ตั้งใจเฉยๆ อธิษฐานด้วย จะมีความหนักแน่นมากกว่า ตั้งใจอย่างเดียวไม่พอต้องอธิษฐาน เพราะว่าอธิษฐานแปลว่า ความตั้งใจมั่น ความตั้งใจแน่วแน่ ความตั้งใจเด็ดเดี่ยว

บางคนเพื่อให้เกิดความแน่วแน่ที่จะทำ ก็อธิษฐานต่อหน้าพระพุทธรูป หรือไม่ก็อธิษฐานต่อหน้าหมู่สงฆ์อย่างที่พระสงฆ์อธิษฐานเข้าพรรษาก็อธิษฐานต่อหน้าพระพุทธรูปและหมู่สงฆ์ด้วย อันนี้เป็นการตอกย้ำสำทับความตั้งใจ

ซึ่งถ้าจะให้ดี ต้องมีการแสดงความตั้งใจที่จะให้เป็นรูปธรรม ไม่ใช่แค่บอกว่า ฉันจะทำให้ดีที่สุด โดยกำหนดเป้าหมาย เช่นออกกำลังกายอย่างน้อยอาทิตย์ละ 4 ชั่วโมง จะทำสมาธิอย่างน้อยอาทิตย์ละ 14 ชั่วโมง อย่างนี้ดีกว่า จริงอยู่คนเราทำให้ดีที่สุดอาจจะทำได้มากกว่านั้น แต่ว่าเดี๋ยวนี้พอเราบอกว่าทำให้ดีที่สุดโดยที่ไม่กำหนดเป้า ส่วนใหญ่ก็จะลงเอยตรงที่ว่าไม่ได้ทำเลย หรือทำนิดทำหน่อย แล้วก็อ้างว่าฉันทำดีที่สุดแล้วได้แค่นี้ ออกกำลังกายได้แค่ครึ่งชั่วโมงในหนึ่งอาทิตย์ หรือว่าทำสมาธิภาวนาได้แค่ 15 นาทีในหนึ่งอาทิตย์ แล้วก็บอกว่าทำดีที่สุดแล้ว สบายใจแล้วว่า ฉันทำดีที่สุดแล้วทั้งที่ทำได้มากกว่านั้น

เพราะฉะนั้นถ้าจะเอาชนะกิเลส ต้องกำหนดเป้าหมายชัดเลยว่าจะเจริญสติทำสมาธิวันละกี่ชั่วโมง อาทิตย์ละกี่ชั่วโมงเป็นอย่างน้อย จะออกกำลังกายวันละกี่นาที อาทิตย์ละกี่ชั่วโมง อันนี้จะช่วยทำให้ความตั้งใจที่จะลดละขัดเกลาเอาชนะกิเลสมีความเป็นไปได้ เพราะว่ามีเป้าหมายที่ชัดเจน

ถ้าเกิดวันใดทำไม่ถึงเป้า เราก็รู้ว่าจะต้องทำให้ดีกว่านี้ ไม่ใช่พูดว่าทำให้ดีที่สุด แล้วก็ไม่มีเป้าที่ชัดเจน เสร็จแล้วก็โดนกิเลสเล่นงาน ปล่อยปละละเลย โดยที่ไม่ได้ทำอย่างที่ตั้งใจ

พวกเราไม่ใช่ว่าจะต้องทำตามโยมคนนี้ไปหมด ก็ต้องดูว่าอะไรเหมาะกับเรา โยมคนนี้ทำได้ 7- 8- 9 ข้อ แต่ถ้าเป็นผู้ฝึกใหม่อาจจะเริ่มต้นทำอย่างสองอย่าง แต่ทำให้จริงจัง แล้วก็ทำให้ได้ทุกวัน ก็จะเป็นการสร้างบารมี

อธิษฐานเป็นบารมีอย่างหนึ่ง เราสร้างบารมีได้ด้วยการทำสิ่งดีๆ ด้วยความตั้งใจแน่วแน่ แล้วก็ทำต่อเนื่อง เบื่อก็ทำ ง่วงก็ทำ เพราะตั้งใจไว้แล้ว อธิษฐานไว้แล้ว เวลาจะขี้เกียจก็จะทำ หรือว่าวันไหนทำไม่ได้ก็ยกยอดไปทำวันรุ่งขึ้น เช่น ตั้งใจว่าจะออกกำลังกายวันละครึ่งชั่วโมง ทำสมาธิ 1 ชั่วโมง แต่วันนี้ไม่ได้ทำ ก็ยกยอดไป สมทบทำในวันพรุ่งนี้ที่จะทำมากขึ้น อย่างนี้ก็ได้

อันนี้แหละถึงจะเรียกว่าเป็นความตั้งใจที่ยกระดับถึงขั้นอธิษฐานซึ่งจะเกิดผลดีกับเราเองในพรรษานี้

พระไพศาล วิสาโล

ผู้เขียน: พระไพศาล วิสาโล

เจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต และประธานมูลนิธิเครือข่ายพุทธิกา