สุขแบบพุทธ เติมสุขให้ใจ

เครือข่ายพุทธิกา 8 กรกฎาคม 2024

พุทธศาสนามีหลักธรรมคำสอนที่กว้างขวางและลึกซึ้ง โดยรวมแล้วอาจจะแบ่งแบบกว้างที่สุดได้เป็นสองส่วน ที่เรียกว่า ธรรม และ วินัย ซึ่งเป็นคำที่ใช้กันในสมัยพุทธกาล “ธรรม” คือ ความจริงที่พระองค์ค้นพบ และทรงนำมาแจกแจงแสดงเป็นคำสอน วินัย คือ สิ่งที่พระองค์ทรงบัญญัติขึ้นเพื่อนำมาเป็นข้อประพฤติปฏิบัติ การจะเข้าถึง “ธรรม” นั้นต้องควบคู่ไปกับการปฏิบัติที่เรียกว่า “วินัย” ไปพร้อมกัน ในส่วนของการเชื่อมโยงกันระหว่างสองส่วนนี้ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ( ป.อ. ปยุตโต) ที่สรุปไว้ว่า เรื่องอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา หรือหลักไตรลักษณ์ พระพุทธเจ้าทรงสอนเพื่อประโยชน์สองอย่างคือ 1. เพื่อจะให้เราทำใจให้เป็นอิสระ หลุดพ้น ไม่ยึดติด ถือมั่นในสิ่งทั้งหลาย เพราะความยึดติด ถือมั่นในสิ่งต่างๆ นั้นเป็นเหตุให้เรามีความทุกข์ 2. เพราะเหตุที่ว่าสรรพสิ่งทั้งหลายในโลกนี้ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ทุกอย่างจะเป็นไปตามเหตุปัจจัย ไม่เป็นไปตามความปรารถนาของเรา

คำสอนของพระพุทธองค์จึงสอนคนทั้งหลายให้มีความไม่ประมาทในการทำสองสิ่ง คือ การทำจิต และ ทำกิจ จะเห็นได้ว่าส่วนของ “ธรรม” หากเข้าใจหรือเข้าถึงแล้วจะโยงไปสู่ความมีอิสรภาพของบุคคล ส่วน “วินัย” หรือแนวทางการปฏิบัติต่อตนเอง ผู้อื่น สิ่งของหรือเรื่องราวต่างๆ จึงเป็นแนวปฏิบัติต่อคนอื่นสิ่งอื่นอย่างสอดคล้องต่อความเป็นจริงตามหลักธรรม

พระไพศาล วิสาโล ได้ขยายความเพิ่มเติมว่า “ทำกิจ หมายถึง การทำหน้าที่หรือความประพฤติที่เกี่ยวข้องกับผู้อื่นรวมทั้งวัตถุสิ่งของ และสิ่งแวดล้อม ที่แสดงออกผ่านทางกายและวาจา ส่วน ‘ทำจิต’ หมายถึงการฝึกฝนพัฒนาจิต การวางจิตวางใจ จะเรียกว่าเป็น การกระทำภายในก็ได้”

เพราะทัศนะของพุทธศาสนาเห็นว่าการดำรงชีวิตอยู่ในสังคมแบบหมกมุ่นลุ่มหลง ปล่อยกายปล่อยใจไปตามแรงผลักดันของกิเลส หรือการหลีกเร้นปลีกตัวเองออกไปจากสังคม ไม่ยุ่งเกี่ยวหรือรับผิดชอบใดๆ ต่อสังคม อยู่อย่างกดข่มตัวเอง เป็นการปฏิบัติที่สุดโต่งทั้งสองด้าน ไม่ได้ทำให้มนุษย์ใช้ชีวิตอย่างมีความหมายอย่างแท้จริง

เมื่อมองกลับมายังสังคมในปัจจุบันที่สถาบันต่างๆ และกลุ่มคนในสังคมเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เหตุปัจจัยต่างๆ ไม่เชื่อมโยงกันทั้งสัมพันธ์กันอย่างซับซ้อนเข้าใจได้ยาก ชีวิตถูกผลักดันด้วยความเร็วในทุกมิติ ผู้คนจำนวนมากคาดหวังความสำเร็จในชีวิตอย่างรวดเร็วและวัดค่าความสำเร็จด้วยสิ่งที่เป็นวัตถุรูปธรรม หรือการมีตัวตนที่จะได้รับการยอมรับจากคนอื่นหรือสังคมตามกระแสสังคม ส่งผลต่อความเครียดความวิตกกังวลของผู้คน สะท้อนผ่านอัตราการป่วยทางจิตใจเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก ความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนในสังคมก็มีความเหินห่าง มีรอยร้าวระหว่างกัน แบ่งแยกเป็นกลุ่มเฉพาะมากยิ่งขึ้น ขาดความไว้วางใจระหว่างกัน ทำให้ทางมูลนิธิเครือข่ายพุทธิกาเห็นว่าหลักการของพุทธศาสนาที่มีอยู่เดิม โดยเฉพาะในเรื่องทำจิตและทำกิจสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการบรรเทาปัญหาดังที่กล่าวมาได้ไม่มาก็น้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำมาเป็นแนวทางเพื่อเรียนรู้และเข้าใจธรรมชาติของจิตใจซึ่งอยู่ภายในตัวบุคคลและการวางท่าทีต่อความเปลี่ยนแปลงหรือการปฏิบัติต่อคนอื่นสิ่งอื่น การทำกิจหรือการขวนขวายทำการต่างๆ อย่างไม่ประมาท อาจเป็นสิ่งที่แนวคิดอื่นนอกเหนือไปจากพุทธศาสนาก็ส่งเสริมกันอยู่แล้ว แต่สิ่งที่เพิ่มมาในมุมมองของพุทธศาสนาคือการทำจิต ด้วยการรู้จักปล่อยวางต่อสิ่งต่างๆ ที่เราเข้าไปสัมพันธ์หรือกระทำการต่างๆ อย่างมองให้เห็นความจริงว่าด้วยความเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาของสรรพสิ่งต่างๆ ที่เป็นไปตามเหตุปัจจัยยากจะไปบังคับให้เป็นไปตามใจเราได้

 

ความสุขในมุมมองของพุทธศาสนา

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตโต) เสนอไว้ว่า พุทธศาสนาคือระบบพัฒนาความสุข ในคัมภีร์ทางพุทธศาสนาต่างได้มีการกล่าวถึงความสุขไว้อย่างหลากหลายมากมายและมีการจัดแบ่งไว้เป็นระดับชั้นและประเภท มีการจัดกลุ่มเป็นคู่ เป็นหมวด ไต่ระดับไปจนถึงความสุขที่สูงที่สุดแต่ละประเภทแต่ละระดับก็มีข้อดีข้อด้วยในตนเอง การให้ความหมายของความสุขไว้หลากหลายเป็นระดับ การแบ่งเช่นนั้นเป็นการสื่อสารไปด้วยว่าความสุขเองพัฒนาขึ้นไปตามลำดับได้ และสมควรที่ต้องพัฒนาด้วย เพื่อให้ไปสู่ความสุขที่ดีเลิศที่สุด

ในด้านหนึ่งความสุขคือการได้สนองความต้องการ หรือได้สิ่งต่างๆ สมความอยากหรือสมปรารถนา คู่ของการแบ่งคู่หนึ่งคือ

1. ความสุขที่ต้องอาศัยวัตถุ (อามิสสุข, สามิสสุข) เป็นความสุขที่คนในยุคปัจจุบันแสวงหากัน โดยเฉพาะในสังคมที่เน้นการบริโภคหรือการมีวัตถุสิ่งของต่างๆ เป็นความสุขที่เกิดจากการได้เสพรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส เป็นความสุขที่ต้องอาศัยปัจจัยภายนอก ถ้าอยากจะสุขต้องมีวัตถุสิ่งของต่างๆ เพิ่มมากขึ้น

2. ความสุขที่ไม่ต้องอิงอาศัยวัตถุ (นิรามิสสุข) เป็นความสุขที่ไม่ต้องอิงอาศัยสิ่งภายนอก หรือวัตถุภายนอก ไม่ขึ้นกับวัตถุหรือสิ่งที่นำมาเสพนำมาบริโภค เป็นความสุขที่เกิดขึ้นภายในตัวบุคคล เป็นความสุขที่เกิดจากการเรียนรู้ฝึกฝนและทำงานกับตัวเอง เพื่อให้ตระหนักและรับรู้ถึงความสุขที่เกิดขึ้นได้ในตนเองโดยไม่ต้องอาศัยสิ่งอื่นใดที่ภายนอกมาประกอบสร้าง และถึงที่สุดเป็นความสุขที่เกิดจากอิสรภาพจากความเข้าใจสรรพสิ่งตามความเป็นจริง เป็นอิสระจากแรงผลักดันของความอยากมี อยากได้ อยากเป็น (ตัณหา) ตัวอย่างที่เป็นรูปธรรม อาทิ ความสุขจากการทำดี ความสุขจากการให้ทาน ความสุขจากการบำเพ็ญภาวนา และความสุขจากการทำสิ่งต่าง ๆ ด้วยความเพียรของตัวเอง

มาติเยอ ริการ์ ภิกษุชาวฝรั่งเศสในนิกายวัชรยาน กล่าวไว้ว่า

“ไม่มีใครปฏิเสธว่าสิ่งที่พึงปรารถนาที่สุดคือ การมีอายุยืน สุขภาพดี อยู่อย่างอิสระในประเทศที่สงบสุขซึ่งกฎหมายได้รับความเคารพ การได้รักและเป็นที่รัก มีโอกาสได้รับการศึกษาและได้รับข้อมูลข่าวสาร มีสิ่งยังชีพที่เพียงพอ สามารถเดินทางไปได้ทั่วโลก สามารถทำสิ่งดีๆ ให้แก่ผู้อื่นมากเท่าที่ทำได้และการได้พิทักษ์รักษาสิ่งแวดล้อม ผลการศึกษาด้านสังคมวิทยาในประชากรทุกกลุ่มระบุอย่างชัดเจนว่า มนุษย์มีความสุขมากกว่าเมื่ออยู่ในสภาพดังที่กล่าวมา ใครละที่ต้องการนอกเหนือไปจากนี้ แต่การเอาความหวังไปฝากไว้กับโลกภายนอก สุดท้ายเราก็จะผิดหวัง”

สภาวะที่ท่านอ้างถึงเป็นสภาวะที่มนุษยชาติในสังคมสมัยใหม่ต้องการ สภาพสังคมที่ทำให้ผู้คนมีโอกาสอย่างเท่าเทียมกัน ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและคาดเดาไม่ได้ในปัจจุบัน แต่ขณะเดียวกันท่านได้เน้นในท้ายที่สุดว่า เราก็อาจจะผิดหวังได้หากเรายึดมั่นกับสภาพสังคมแห่งอุดมคตินี้

“การเอาความหวังไปฝากไว้กับโลกภายนอก สุดท้ายเราก็จะผิดหวัง”

การกล่าวเช่นนี้มาจากฐานการมองชีวิตและโลกที่ตั้งอยู่บนหลักไตรลักษณ์ (หรือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา) เพราะแม้เราจะสร้างเงื่อนไขปัจจัยให้เกิดสภาพแวดล้อมภายนอกที่ดีและเกื้อกูลต่อการมีคุณภาพชีวิตที่ดีแล้ว แต่ไม่ใช่ว่าสิ่งเหล่านั้นจะนำพาความสุขมาให้เราได้อย่างถาวรและยั่งยืน สรรพสิ่งย่อมเปลี่ยนแปลงไปตามกฏของไตรลักษณ์ ถึงที่สุดแล้วมุมมองต่อความสุขของพุทธศาสนาจึงเชื่อมโยงกับเรื่องอิสรภาพ มีสภาวะจิตที่ปลอดโปร่งผ่องใส ไม่มีความอยากความต้องการที่จะสนองความสุขที่ต้องอิงอาศัยสิ่งภายนอกอย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นสภาวะที่เกิดอิสรภาพภายใน พ้นจากบีบคั้นของตัวตนอันเป็นสิ่งที่ถูกปรุงแต่งขึ้นมาเอง และอิสรภาพภายนอก คือพ้นจากบีบคั้นทางสังคมหรือการเอาเปรียบจากผู้คน

มูลนิธิเครือข่ายพุทธิกาจึงประยุกต์แนวคิดเหล่านี้ออกมาเป็นกิจกรรมหรือกระบวนการ “เติมสุข” ที่มีหลักการพื้นฐานอยู่ 3 ข้อ คือ การฝึกที่จะรับรู้สิ่งที่เกิดขึ้นกับกายและใจของเรา การเปลี่ยนมุมมองหรือการมีทัศนคติต่อปัญหาหรือสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิต ด้วยมุมมองที่ต่างออกไปจากความเคยชินเดิมที่เรามี และการใส่ใจที่จะช่วยเหลือคนอื่นหรือสิงอื่น เมื่อรับรู้ปัญหาของคนหรือสิ่งอื่นนั้น


นภนาท อนุพงศ์พัฒน์ เรื่อง