รถติดคือโอกาสอยู่กับตัวเอง

เครือข่ายพุทธิกา 26 สิงหาคม 2024

หนึ่งในประเด็นปัญหาร่วมของคนทำงานในเมืองใหญ่คือรถติด โดยเฉพาะเมื่อเดินทางไปและกลับจากการทำงาน หากเครียดและหงุดหงิดกับปัญหารถติดทุกวัน วันละ 2 ครั้ง ย่อมเสียพลังงานไปไม่น้อยเมื่อรู้สึกอึดอัดกับการเดินทาง ให้ลองทำตามวิธีใดวิธีหนึ่งต่อไปนี้

“อยู่กับตัวเอง”

เตือนตัวเองว่า นาทีนี้ ไม่มีที่ใดให้เราไปแล้ว แค่เพียงอยู่กับปัจจุบันขณะ แล้วใช้เวลาใคร่ครวญว่าคุณสังเกตเห็นอะไรบ้างระหว่าง “หยุด” ที่ไฟแดง

ปรับมุมมองใหม่

ลองคิดว่าไฟแดงหรือรถติดเป็นโอกาสที่จะกลับมาอยู่กับตัวเอง เมื่อละวางความคาดหวัง คุณอาจเห็นสิ่งที่น่าสนใจและมีความเป็นไปได้ไม่มีที่สิ้นสุด เช่น เห็นชีวิตคนร่วมทาง ใช้เวลารถติดฟังพอดแคสต์รายการโปรด หรือคุยกับคนในครอบครัวทางออนไลน์

สำรวจโลกภายใน

เมื่อรถติดหรือไฟแดง ลองหันไปสำรวจประสบการณ์ภายในว่ามีความคิดใดเกิดขึ้น และมองว่ามันเป็นแค่ความคิด… จากนั้นให้รับรู้ถึงอารมณ์ที่เกิดขึ้น บางทีอาจตั้งชื่อความคิดและอารมณ์เหล่านั้นตามใจตัวเอง เช่น “ความโกรธอยู่ที่นี่” หากคุณสังเกตเห็นการตัดสินเกิดขึ้น เช่น “เราน่าจะออกจากบ้านเร็วกว่านี้สักนิด” ก็เพียงสังเกตเห็นว่านี่คือ “การตัดสิน”

สังเกตเห็นความรู้สึกที่เกิดขึ้นในร่างกาย และเลือกที่จะตอบสนองกับร่างกายอย่างไร

มือ ไหล่ คอ ของคุณเป็นอย่างไรบ้าง มีความรู้สึกตึง หดตัว หรือขยายออกที่จุดใดของร่างกายบ้าง

จำไว้ว่า  เราเพียงแค่สังเกตว่ามีอะไรเกิดขึ้นใน “แต่ละช่วงเวลา” ความรู้สึกบางอย่างละเอียดมาก ไม่เห็นก็ไม่เป็นไร  เราเลือกได้ว่าจะตอบสนองต่อปรากฎการณ์ทางกายอย่างไร อาจให้ความสนใจกับบริเวณที่ตึงเครียดแล้วสำรวจเพิ่มเติมได้ หรือมุ่งความสนใจไปที่ลมหายใจและใช้ลมหายใจเป็นเครื่องยึดเหนี่ยว โดยยึดตามความยาวของลมหายใจเข้าและลมหายใจออกแต่ละครั้ง หรือกำหนดทิศทางลมหายใจไปยังส่วนของร่างกายที่รู้สึกตึงเครียด โดยหายใจเข้าออกผ่านบริเวณนั้นโดยเฉพาะ

เมื่อใดที่ใจลอยเพราะถูกความคิดดึงออกไป ก็เพียงแต่กลับมาอยู่กับลมหายใจและความรู้สึกทางกาย

อาจเป็นหน้าท้องหรืออกที่เคลื่อนขึ้นลงตามลมหายใจเข้าออก มือที่ถือพวงมาลัย  หรือท่านั่งของตัวเอง  ก้นที่สัมผัสกับเบาะนุ่มๆ

อย่าให้เวลากดดันเรามากเกินไป

หากคิดว่าจะต้องเข้าออฟฟิศภายในเวลาที่กำหนด และการจราจรไม่เป็นใจ เราอาจเลือกวิธีที่นำไปสู่ “หายนะ” เช่น ขับรถเร็วจนเกิดอุบัติเหตุ บางทีการรอคอยอาจทำให้ถึงช้ากว่ากำหนด แต่อยู่ในสภาพที่สงบกว่ามาก ซึ่งน่าจะเป็นการเริ่มต้นการทำงานที่ดีไปกว่านี้


เรียบเรียงจาก:

Get started with mindfulness, Volume 7, Your guide to mindful living, Mindful magazine Mindful.org.