คือการรับรู้สิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นรับรู้ร่างกาย หรือจิตใจ ซึ่งประกอบด้วยอารมณ์ ความรู้สึก ความคิด
“ความรู้สึกตัว” ในที่นี้มีความหมายเทียบเคียงกับคำว่า “สติ” ซึ่งคนจำนวนมากมักคิดเชื่อมโยงกับศาสนาพุทธอย่างอัตโนมัติ ขณะที่คณะผู้จัดทำต้องการสื่อให้ผู้รับสารเห็นว่า การฝึกความรู้สึกตัวเป็นเครื่องมือสากล ในหนังสือเล่มนี้จึงใช้คำว่า ”ความรู้สึกตัว”
การฝึกความรู้สึกตัวเชื่อมโยงกับความสุข โดยการรับรู้กาย ใจ และความคิด จะช่วยให้เราตามทันสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้ ทั้งภายนอกและภายในใจของตัวเอง โดยเมื่อมีความรู้สึกตัว ประกอบเข้ากับมีทัศนคติหรือมุมมองที่เอื้อต่อการมีความสุข เช่น การเห็นและยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริง การไม่พึ่งพิงความสุขทางวัตถุอย่างเดียว การเชื่อมั่นในความเพียร การรู้จักคิดอย่างมีเหตุผลและเป็นประโยชน์เกื้อกูล และการคิดถึงผู้อื่นมากกว่าตนเอง ก็จะทำให้คนๆ นั้นพบกับความสุขที่แท้จริงได้
ทั้งนี้การศึกษาและวิจัยสมัยใหม่ และศาสตร์พัฒนาตัวเองแบบดั้งเดิมในรูปแบบศาสนาและคำสอนต่างๆ ล้วนสอดคล้องกันว่า ความรู้สึกตัว เป็น “ประตู” หรือ “เสาหลัก” สู่การดูแลร่างกาย จิตใจ และจิตใจวิญญาณ หรือ “สุขภาวะ” ซึ่งในที่นี้เรียกง่ายๆ ว่า “ความสุข”
งานวิจัยพบว่าการฝึกความรู้สึกตัวมีประโยชน์มากมาย เช่น มีความตระหนักรู้ในตนเองมากยิ่งขึ้น, การทำงานของสมองมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น, มีวุฒิภาวะทางอารมณ์เหมาะสมกับวัย, มีการยืดหยุ่นทางอารมณ์มากขึ้น, มีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่นมากขึ้น, มีการตัดสินใจที่เหมาะสมมากขึ้น และไม่หวั่นไหวต่อสิ่งเร้าทางลบ เป็นต้น
เอ็กฮาร์ต โทลเล ผู้เขียนหนังสือ The Power of Now หรือ “พลังแห่งปัจจุบันขณะ: คู่มือการตรัสรู้ทางจิตวิญญาณ” เขียนไว้ในหนังสือที่มีชื่อเสียงทั่วโลกเล่มนี้ ว่าการใช้ชีวิตในช่วงเวลาปัจจุบันคือกุญแจสู่ความสุขและความสงบภายใน เนื่องจากการอยู่กับปัจจุบันช่วยให้เราหลีกหนีจากการพูดคุยและความกังวลที่มักจะรบกวนชีวิตของเรา เขาบอกให้ลดอิทธิพลของอัตตา ฝึกความรู้สึกตัวและความเงียบสงบ ฝึกการยอมรับและความกตัญญู และเชื่อมโยงกับธรรมชาติ ด้วยหลักการเหล่านี้ เราสามารถเปลี่ยนชีวิตและสัมผัสกับความสุข ความสงบ และการเติมเต็มชีวิตมากขึ้น
เพื่อรับมือกับสภาพสังคมที่เต็มไปด้วยแรงบีบคั้นทางสังคม เศรษฐกิจ การเมือง และสิ่งแวดล้อม จนทำให้คนในสังคมไทยเผชิญกับปัญหาทางร่างกายและจิตใจ กลายเป็น “สังคมไร้สุข” หรือ “สังคมแห่งความทุกข์” ทางคณะทำงานจึงจัดทำหนังสือ “เติมสุข 365” ขึ้น โดยรวบรวมวิธีการเติมความสุขในชีวิตประจำวัน เพื่อการฝึก “รู้เนื้อรู้ตัว” “รู้กายรู้ใจ” แบบง่ายๆ ที่สามารถทำได้ทุกที่ทุกเวลา และสามารถเลือกวิธีการที่เหมาะสมกับกาลเทศะและความชอบเฉพาะบุคคล รวมทั้งวิธีสร้างทัศนคติหรือมุมมองที่เป็นมิตรกับตัวเองและผู้อื่น ซึ่งจะก่อให้เกิดสุขแก่ผู้ปฏิบัติได้แบบ “ทันทีทันใด” ในห้วงขณะนั้น
เพื่อให้การฝึกความรู้สึกตัวเป็นกิจวัตร “เป็นเนื้อเป็นตัว” อยู่ในตัวเรา จนสามารถนำไปใช้ได้ในชีวิตประจำวันได้ทันสถานการณ์หรือเหตุการณ์ท้าทายที่เกิดขึ้น คณะผู้จัดทำขอเชื้อเชิญให้ผู้อ่านตั้งใจตั้งมั่นว่าจะฝึกความรู้สึกทุกวัน เช่น ฝึกทุกเช้าหลังตื่นนอน หรือฝึกทุกคืนก่อนนอน หรือฝึกทุกวันก่อนเริ่มต้นชั่วโมงทำงาน หรือฝึกเมื่อใดก็ตามที่ต้องการ