จาดเดือน ๑๐ พุทธศิลป์ถิ่นใต้

วีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง 6 ตุลาคม 2013

บุญเดือน ๑๐ เป็นเทศกาลงานบุญของแดนปักษ์ใต้  แต่ประเพณีแห่จาดมีอยู่ที่กระบี่เท่านั้น

ครั้นพอถึงช่วงกลางๆ เดือน ๙ แต่เดิมมาช่างจาดของชุมชนก็เริ่มหาวัสดุมาขึ้นโครงจาด เล่ากันว่ายุคแรกสุดจะใช้ทางระกำ ด้วยมีน้ำหนักเบาสะดวกตอนหามแห่  ต่อมาแม้เปลี่ยนมาใช้ไม้ก็ยังคงนิยมใช้ไม้เนื้ออ่อนที่มีน้ำหนักเบาอย่าง ไม้ฉำฉา ไม้ตีนเป็ด  ขึ้นโครงได้สมส่วนดังใจก็ติดทับประดับลายกนกที่แกะจากกระดาษหลากสี สอดสีหลายชั้นเพื่อให้ลวดลายแพรวพราวแจ่มตา  ซึ่งต้องอาศัยการร่วมแรงร่วมใจของคนทั้งชุมชนมาช่วยกันลงแรง  เสร็จจากการส่วนตัวยามกลางวัน ตกค่ำก็มารวมตัวกันที่บ้านที่ตั้งจาด เรียกกันว่ามา “คุมจาด”  คนทำจาดก็ทำไป บางคนที่ถนัดทางร้องรำทำเพลง ก็ออกร้องเพลงบอก เดินเร่บอกบุญไปตามบ้านระดมรวบรวมเงินเข้าวัดในวันแห่จาด

ในช่วงหลังประเพณีโบราณเริ่มห่างหาย จนแม้คนในท้องถิ่นที่เป็นรุ่นใหม่ๆ ก็แทบไม่รู้จักจาดกันแล้ว  กระทั่งทางจังหวัดหันมาฟื้นฟูพุทธศิลป์คู่ถิ่นใต้นี้ด้วยการจัดให้มีการประกวดจาดเมื่อราว ๑๐ ปีที่ผ่าน งานแห่จาดเดือน ๑๐ ที่กระบี่จึงเริ่มตื่นฟื้นคืนมาอีกครั้ง มีจาดจากทั่วทุกถิ่นในพื้นที่เข้าร่วมประกวดปีละหลายสิบจาดไปจนถึงเกือบร้อยจาด

ในวันงาน ถนนเส้นกลางเมืองจะคลาคร่ำไปด้วยกองจาดจากหลากหลายถิ่นที่ เคลื่อนขบวนตามกันเป็นแถวยาวหลายกิโลเมตร มุ่งหน้าสู่วัดแก้วโกวาราม จุดชุมนุมจาดของจังหวัด

จาดมีรูปทรงคล้ายกับเจดีย์ รูปร่างและลวดลายละม้าย “เรือพระ” ที่ชาวพุทธทางฝั่งตะวันออกใช้ในงานชักพระ  เพียงแต่เรือพระใช้ล่องทางน้ำ หรือใส่ล้อเลื่อนเพื่อลากเดินบก  แต่จาดใช้คนหามแห่

ยามเคลื่อนแห่จาดไปตามเส้นทาง หากมองดูในมุมเงยก็จะเห็นจาดลอยเลื่อนทาบฟ้า เหมือนว่ากำลังจะล่องลอยสู่สรวงสวรรค์…

และโดยนัยทางพิธีกรรมการแห่จาดก็มีจุดหมายในทำนองนั้น คือการบุญทำอุทิศส่วนกุศลถึงบรรพชนที่ล่วงลับไปอยู่ในต่างภพภูมิ ไม่ว่าจะในอเวจีที่ยากหรือบนสรวงสวรรค์ชั้นฟ้า

ข้าวของขนมที่ใส่มาในจาดจึงล้วนต้องมีส่วนโยงอยู่ตามความเชื่อนี้ ที่ขาดไม่ได้ก็ได้แก่ ขนมพอง ขนมลา ที่เป็นแพเป็นเส้นตามความเชื่อว่าเพื่อให้บรรพบุรุษที่ไปใช้กรรมเป็นเปรตปากเล็กมือใหญ่ สามารถเอาเข้าปากที่เล็กเท่ารูเข็มได้

สำรับที่ใส่ขนมพอง ขนมลา ขนมบ้า ทอดมัน ฯลฯ ถือเป็นส่วนสำคัญของจาด ที่อยู่ช่วงกลางระหว่างฐานกับยอด

บางข้อสมมติฐานจึงเชื่อว่าจาดน่าจะมาจาก กระจาด ของภาคกลาง แล้วถูกกร่อนเสียงให้สั้นลงตามการพูดจาแบบคนใต้

แต่อาจารย์กลิ่น คงเหมือนเพชร  นักวิชาการท้องถิ่นอาวุโสของเมืองกระบี่ สันนิษฐานว่าอาจมาจาก สำรับ หรือหฺมรับ ของทางเมืองนคร  เพราะคนที่มาบุกเบิกตั้งเมืองกระบี่ยุคแรกก็มาจากนครศรีธรรมราช เมื่อร้อยกว่าปีก่อน

ประเพณีงานบุญเดือน ๑๐ ของพุทธศาสนิกชนชาวนครศรีฯ จะแห่หฺมรับไปวัด ซึ่งยังคงทำกันต่อมาจนทุกวันนี้  อาจารย์กลิ่นเห็นว่ากลุ่มชาวนครที่มาตั้งถิ่นฐานใหม่ที่กระบี่ก็คงนำเอาประเพณีนี้ติดมาด้วย เพียงแต่ในช่วงบุกเบิกนั้นคนที่มาคงมีแต่ผู้ชายเป็นหลัก  ขณะที่งานละเอียดละอออย่างการจัดหฺมรับนั้นเป็นงานฝีมือของผู้หญิง  ถึงคราต้องยกกองบุญไปวัดในเดือน ๑๐ พวกผู้ชายจึงอาศัยฝีมือทางงานไม้ และงานแกะกนกลวดลายประดับโลง หรือลวดลายการแกะรูปหนังตะลุง ในการปรับแปลงสำรับใส่ของไปวัดจากหฺมรับมาเป็นจาด  จาดเดือน ๑๐ จึงมีอยู่แต่ที่กระบี่และพื้นที่ใกล้เคียงโดยรอบเท่านั้น

ถือเป็นอัตลักษณ์ทางพุทธศิลป์ของท้องถิ่นโดยแท้ ซึ่งไม่ควรจะถูกปล่อยให้สูญหายไปกับกาล

นับแต่การทำจาดและงานแห่จาดได้รับการฟื้นฟูขึ้นมาใหม่ จาดเมืองกระบี่ก็มีพัฒนาการมาเรื่อยทุกปี  ช่วงหลังกลางเดือน ๙ ไปแล้ว ตามหมู่บ้านในทั่วทุกอำเภอต่างก็มีจาดของชุมชน ทำเตรียมเข้าแข่งขันที่จังหวัด  หรือบางชุมชนก็เพียงแต่ทำเพื่อแห่ไปวัดในวันแรม ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๐  ซึ่งการจัดประกวดที่ตัวจังหวัดจะมีขึ้นก่อน เพื่อว่าเมื่อถึงวันงานบุญ จาดทุกจาดจะได้กลับไปร่วมงานบุญในชุมชน

จาดชนะเลิศอันดับ ๑ ของแต่ละปีมีเงินก้อนใหญ่ พร้อมถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นรางวัล  ซึ่งถือเป็นงานท้องถิ่นที่รางวัลใหญ่ระดับประเทศ

ในแต่ละปีช่างจาดท้องถิ่นจึงทุ่มเทคิดสร้างสรรค์ พัฒนาต่อยอดลวดลายรายละเอียดในการวางโครงและการประดับประดากันอย่างคึกคัก ให้เป็นที่ตื่นตาตื่นใจของใครๆ ที่ได้มาเห็นในวันแห่แหน  โดยเฉพาะกรรมการที่ลงคะแนนตัดสินการประกวด  แล้วรอลุ้นระทึกกันในนาทีประกาศผลประจำปี

แน่นอนว่าผู้พลาดหวังย่อมมีมากกว่าคนสมหวัง เพราะรางวัลชนะเลิศมีเพียงหนึ่งเดียวในแต่ละปี  แต่ที่ทุกคนคว้าเอาได้เหมือนๆ กันคือความคึกครื้นรื่นเริงจากเทศกาลงานบุญใหญ่  ความอิ่มใจจากการได้อุทิศกุศลระลึกถึงบรรพบุรุษ  และเป็นโอกาสในการได้ชำระใจตนให้บริสุทธิ์อีกครา

เพราะนี้แหละคือแก่นแท้ที่เป็นหัวใจของความเป็นพุทธบริษัท

วีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง

ผู้เขียน: วีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง

เกิดในครอบครัวชาวสวนยางจังหวัดกระบี่ ทำงานเขียนสารคดีมา ๒๐ กว่าปี มีผลงานกว่า ๓๐ เล่ม เคยได้รับรางวัลชนะเลิศ "ลูกโลกสีเขียว" (ปี ๒๕๕๑) รางวัลชนะเลิศ "เซเว่นบุ๊ค อวอร์ด" (ปี ๒๕๔๙ และ ๒๕๕๔) ปัจจุบันเป็นผู้ช่วยบรรณาธิการนิตยสาร "สารคดี" โดยยังคงเขียนสารคดีอยู่เป็นประจำ