ได้มากกว่าเสีย

คะทาวุธ แวงชัยภูมิ 4 มีนาคม 2012

“…บ้านพี่ก็ถูกน้ำท่วมเหมือนกัน  ที่ตลิ่งชันเหมือนกันไปทุกครอบครัว…”

นั่นเป็นท่อนหนึ่งของบทเพลงน้ำท่วมที่ประพันธ์ขึ้นโดย ครูไพบูลย์ บุตรขันธ์ ครูเพลงลูกทุ่งในอดีต และขับร้องโดยนักร้องลูกทุ่งทั้งเก่าและใหม่มาแล้วหลายต่อหลายรุ่น

ช่วงที่ผ่านมา หลายคนคงมีโอกาสได้ยินได้ฟังเพลงนี้กันบ่อยขึ้นเรื่อยๆ นอกจากจะได้ยินได้ฟังแล้ว เชื่อว่าหลายคนอาจจะมีความรู้สึกร่วมไปกับท่วงทำนองและเนื้อหาที่แสนจะกินใจ จนใครๆ พากันเอาเนื้อเพลงนี้มาดัดแปลงร้องใหม่ ให้เข้ากับยุคสมัยและสถานการณ์ปัจจุบัน

ส่วนเนื้อเพลงแปลงท่อนข้างต้นนั้น เป็นเสียงร้องที่ผมได้ยินจากปากและความรู้สึกของชายคนหนึ่ง ขณะที่เขากำลังสาละวนอยู่กับการจัดเรียงสิ่งของเก่าๆ ในโรงเล็กๆ ที่เขาเรียกมันว่า พิพิธภัณฑ์

ผู้ชายคนนี้ มีชื่อว่า สุรชัย รุณบุญรอด หรือลุงสุรชัย ที่คนรู้จักส่วนใหญ่มักจะเรียกขานกันติดปาก  ลุงสุรชัยคนนี้เป็นใคร? เขามีความสำคัญและน่าสนใจอย่างไร? ทำไมต้องพูดถึงเขา? หรือมีความเกี่ยวข้องอย่างไรกับน้ำท่วมคราวนี้ อาจกำลังเป็นข้อคำถามของท่านผู้อ่านหลายๆ ท่าน ซึ่งก่อนอื่นผมสัญญาว่าจะเล่าเรื่องราวของลุงสุรชัยคนนี้ให้ท่านฟัง ส่วนจะน่าสนใจหรือไม่อย่างไรนั้น ผมยังไม่ขอรับประกัน ผมเพียงแค่มีความมั่นใจเป็นอย่างยิ่งว่าความคิดและการใช้ชีวิตของชายคนนี้ จะตรงกับหัวข้อ “มองย้อนศร” ในคอลัมน์นี้อย่างแน่นอน

ลุงสุรชัย ผู้ชายร่างท้วม อายุห้าสิบปลายๆ ชายผู้หลงรักแม่น้ำลำคลองและการต่อเรือจำลองมาหลายสิบปี อาชีพหลักของลุงสุรชัย คือการสอนเด็กๆ ต่อเรือจำลอง ซึ่งจริงๆ แล้วการเรียกงานต่อเรือจำลองของลุงสุรชัยว่าเป็นอาชีพอาจจะไม่ถูกต้องนัก เพราะหลายๆ ครั้งเป็นการสอนที่ไม่ได้มีค่าตอบแทน มิหนำซ้ำบางครั้งลุงสุรชัยยังต้องควักกระเป๋าตัวเองในการซื้ออุปกรณ์ต่างๆ เพื่อให้เด็กๆได้เรียนรู้เรื่องประวัติศาสตร์ชุมชนท้องถิ่น ผ่านเรือจำลองชนิดต่างๆ อาทิเช่น เรือมาด เรือหมู เรือบด เรือสำปั้น เรืออีโปง ไปจนถึงเรือผีหลอก เรือกระแซง และอื่นๆ อีกสารพัดเรือ

นอกจากนี้ลุงสุรชัย ยังได้ลงทุนลงแรงสร้างพิพิธภัณฑ์เรือจำลองขึ้นมา เพื่อสื่อสารเรื่องราวในอดีตของชุมชน เชื่อมโยงถึงคุณค่าวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของคนริมน้ำให้กับผู้ที่มาเยือนตลาดน้ำคลองลัดมะยม แขวงบางระมาด เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ โดยใช้ชื่อพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ว่า พิพิธภัณฑ์เรือจำลองคลองลัดมะยม

เมื่อเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ที่ผ่านมา เขตตลิ่งชันเป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่ได้รับผลกระทบอย่างหนัก รวมไปถึงตลาดน้ำคลองลัดมะยมและพิพิธภัณฑ์ของลุงสุรชัย  พิพิธภัณฑ์ที่เพิ่งย้ายไปไว้ชายคลองและเพิ่งจะปรับปรุงเสร็จใหม่ๆ ตอนปลายเดือนกันยายน ก่อนหน้าที่น้ำจะมาถึงเพียงไม่กี่วันเท่านั้นเอง

น้ำได้พัดพาเอาเรือไม้เก่า เรือไม้จำลอง และของสะสมต่างๆ ในพิพิธภัณฑ์ไปหมดสิ้น

“เรือมันคงลอยออกไปช่วยคนที่เขากำลังเดือดร้อน”

ลุงสุรชัยมักจะพูดติดตลกและให้กำลังใจตัวเองอยู่เสมอ แต่หลายครั้งมักจะได้ยินแกพูดแกมบ่นกับคนที่เข้าไปคุยด้วยว่า

“ผมน่าจะทำเรือจริงๆ ขึ้นมาใช้สักลำตอนที่น้ำท่วม เพราะเห็นเรือที่เขาขายกันช่วงนั้น มันแพงกันเหลือเกิน มันน่าจะมีวิธีต่อเรือง่ายๆ ถูกๆ โดยใช้ความรู้จากการต่อเรือจำลองได้นะ”

นั่นเป็นเหมือนความคิดฝันของชายคนหนึ่งหลังจากที่น้ำเริ่มลดลงบ้างแล้ว

ก่อนหน้านั้นลุงสุรชัยเคยรู้สึกโศกเศร้าเสียใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น ถึงขนาดนั่งเหม่อมองสายน้ำอย่างไร้ความหวัง  แต่พอได้รับรู้และได้เห็นคนที่เสียหายมากกว่า เดือดร้อนมากกว่าตัวเองหลายร้อยหลายพันเท่า หรือการเสียหายที่ประเมินค่าไม่ได้อย่าง คุณสุชาติ สวัสดิ์ศรี (สิงห์สนามหลวง) อดีตบรรณาธิการนิตยสารวรรณกรรมช่อการะเกด ที่หนังสือเก่าของสะสมมาชั่วชีวิต ได้จมหายไปกับสายน้ำเป็นจำนวนมาก  หรือหัวอกเดียวกันอย่าง อาจารย์เอนก นาวิกมูล นักวิชาการ นักเขียนสารคดี นักสะสมของเก่า และเป็นผู้ดูแลบ้านพิพิธภัณฑ์ ก็ได้รับผลกระทบไปไม่ใช่น้อย

“ยังมีคนอื่นที่เสียหายมากกว่าเราอีกเยอะ ทำไมเราไม่มองคนที่เขาลำบากกว่า…”

ความคิดที่มองเห็นความทุกข์ยากของคนอื่นนั้น ช่วยฉุดให้ลุงสุรชัยลุกขึ้นมาจากความโศกเศร้าและมองพิพิธภัณฑ์ของตนเองอย่างมีความหวัง และพร้อมที่จะกอบกู้ความฝันนั้นขึ้นมาใหม่ โดยเริ่มต้นจากกองขยะและการออกตระเวนออกรับจ้างทำความสะอาดบ้าน เพื่อระดมทุนมาซ่อมแซมความฝันที่สลายไป

“ผมว่าของที่ลอยไปตามน้ำ สุดท้ายต้องไปรวมกันตามซอก ตามมุม หรือกองขยะที่ไหนสักแห่ง”

ความคิดที่มองเห็นความทุกข์ยากของคนอื่น ช่วยฉุดคุณลุงให้ลุกขึ้นมาจากความโศกเศร้านั้น

จากนั้นทุกเช้า ลุงสุรชัยจะขับรถมอเตอร์ไซค์คู่ชีพ ออกตระเวนไปตามกองขยะที่ต่างๆ เพื่อตามหาสิ่งของที่หายไปหรือสิ่งใหม่ที่จะนำกลับมาซ่อมแซมความฝันของตนเอง  ทุกวันแกจะได้ของติดไม้ติดมือมาวันละชิ้นสองชิ้นเสมอ อาทิ พวกโต๊ะ เก้าอี้ ขวดแก้วรูปทรงต่างๆ นาฬิกาปลุก นาฬิกาข้อมือ ไปจนถึงแบบติดผนัง วิทยุทรานซิสเตอร์ วิทยุเทป โทรทัศน์ กล้องถ่ายรูป อุปกรณ์ของใช้ในครัวและอื่นๆ อีกมากมาย  สิ่งของเหล่านี้ล้วนแต่ได้รับความเสียหายใช้การไม่ได้แล้วทั้งสิ้น นอกจากสิ่งของที่ได้มาจากกองขยะแล้ว จำนวนหนึ่งเป็นของที่มีคนอื่นยกให้ เช่น เจ้าของบ้านที่ลุงสุรชัยไปรับจ้างทำความสะอาด คนเหล่านั้นพอได้ฟังเรื่องราวความตั้งใจของลุงสุรชัยแล้ว ถึงกับรีบหาสิ่งของมามอบให้เพื่อเป็นกำลังใจและช่วยให้ความฝันแกเป็นจริง

ลุงสุรชัยนำสิ่งของเหล่านั้นมาทำความสะอาด เช็ดถู ปรับปรุง ซ่อมแซมเสียใหม่ จากของไร้ค่าถูกพัฒนาให้มีเรื่องราว เป็นสิ่งบอกเล่าประวัติศาสตร์ของอุกภัยครั้งใหญ่ ที่ถาโถมทำร้ายร่างกาย จิตใจ ทรัพย์สิน และที่อยู่อาศัยของผู้คนให้เสียหายเป็นจำนวนมหาศาล  แต่ขณะเดียวกัน น้ำยังนำพาข้อคิดและบทเรียนหลายๆ อย่างมาสู่ผู้คนด้วยเช่นกัน เช่น เรื่องการช่วยเหลือกันเกื้อกูลในยามเดือดร้อน บทเรียนการอยู่ร่วมกันระหว่างคนกับธรรมชาติ

“…เราจะพากันโทษแต่แม่ (แม่น้ำ) ก็คงไม่ได้ ต้องโทษที่ลูกคือพวกเราด้วยที่ไม่หยุดทำร้ายธรรมชาติ  ผมหวังจะให้สิ่งของเหล่านี้คอยเตือนสติ เตือนใจตนเองและทุกคน ว่าน้ำท่วมทำให้เราได้บทเรียนอะไรบ้าง ซึ่งถ้าน้ำไม่ท่วม เราจะไม่ได้คิดอะไรเลย  ผมได้อะไรมากเลยนะ ผมได้กลับมาสนใจเรื่องภูมิปัญญา การสร้างบ้านเรือนของคนโบราณ ที่ท่านสร้างใต้ถุนสูง พอน้ำมามันก็ไป ไม่เสียหายอะไรมาก แต่ปัจจุบันคนก็ไม่ได้สร้างแบบนั้นแล้ว  หรือ เรื่องการปรับตัว การเพิ่มทักษะบางอย่าง อย่างเรื่องการพายเรือ เด็กๆ ในเมืองก็ควรที่จะฝึกจะเรียนพายเรือเอาไว้ เมื่อยามมีภัยอย่างนี้จะได้ช่วยตัวเองและคนอื่นได้  และที่สำคัญตอนนี้ผมมีสิ่งยืนยันเรื่องที่จะพูด ที่จะสื่อสารกับคนอื่น คือ การดูแลแม่น้ำลำคลอง การรักษาธรรมชาติ เพราะที่ผ่านมา เวลาเราพูดแล้วคนอื่นไม่เข้าใจ ไม่สนใจ ไม่เห็นภาพ แต่วันนี้เรามีประสบการณ์ร่วมกันแล้วว่า สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นจริงๆ …..”

เหตุการณ์น้ำท่วมได้ผ่านพ้นไปเกือบสองเดือนแล้ว พิพิธภัณฑ์เล็กๆ กลับมีชีวิตชีวาขึ้นมาอีกครั้ง ภายใต้ชื่อใหม่ว่า พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นตลาดน้ำคลองลัดมะยม และกำลังเปิดรอรับทุกๆ คนให้เข้ามาดูมาชม ถ้าใครไปถึงที่นั่นแล้วเจอผู้ชายร่างท้วม ใส่เสื้อม่อฮ่อมเก่าๆ ผมหงอกขาวเต็มหัวและกำลังนั่งฮัมเพลงน้ำท่วม….

“…บ้านพี่ก็ถูกน้ำท่วมเหมือนกัน ที่ตลิ่งชันเหมือนกันไปทุกครอบครัว…”

นั่นล่ะครับ สุรชัย รุณบุญรอด ชายชราผู้มีความหวังและความฝันในวันน้ำท่วม…


ภาพประกอบ

คะทาวุธ แวงชัยภูมิ

ผู้เขียน: คะทาวุธ แวงชัยภูมิ

การเขียนหนังสือทำให้ผมอยากอ่านหนังสือ แต่ในที่สุดผมก็ได้อ่านมากกว่าได้เขียน อ่านเพื่อจะเขียนให้ได้มากกว่านี้