มรณสติเพื่ออยู่ดีและตายดี

พระไพศาล วิสาโล 13 ธันวาคม 2009

เราทุกคนปรารถนาชีวิตที่มีความสุข แต่ว่าความจริงอย่างหนึ่งที่เราต้องตระหนักและหนีไม่พ้นก็คือ เราทุกคนต้องตาย ไม่ว่าจะอยู่ดีมีสุขเพียงใด ประสบความสำเร็จในชีวิตหรือไม่  ในที่สุดเราทุกคนก็ต้องตาย

ส่วนใหญ่ เรามักจะคำนึงถึงแต่เรื่องการอยู่ดี แต่มองข้ามเรื่องการตายดีไป แท้ที่จริงแล้วอยู่ดีกับตายดีเป็นเรื่องเดียวกัน แต่ถ้าหากว่าเรามองไม่เห็นถึงความเชื่อมโยงดังกล่าว เราก็จะสนใจแต่เพียงการอยู่ดีเท่านั้น  ทั้งที่การตายดีนับเป็นสิ่งสำคัญที่เราต้องคำนึงถึงด้วย ไม่ใช่นึกถึงแต่เรื่องการอยู่ดีเพียงอย่างเดียว

เวลาพูดถึงความตาย คนส่วนใหญ่ก็จะรู้สึกเสียวสยองไปถึงหัวใจ ไม่อยากคิดหรือไม่อยากฟังแม้แต่คำว่าความตาย ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะว่าเรามองว่าความตายเป็นสิ่งที่น่ากลัวเสียเหลือเกิน แต่ความจริงแล้ว ความตายไม่ใช่เรื่องน่ากลัวเลย สิ่งที่น่ากลัวกว่าก็คือ ใจของเรานั่นเองที่วางไว้ไม่ถูกต้อง เช่น กลัวตาย หรือไม่เข้าใจความตายดีพอ  ถ้าหากว่าเรารู้จักวางใจอย่างถูกต้อง ความตายก็ไม่น่ากลัว และเมื่อถึงเวลาที่จะต้องตาย ก็สามารถตายอย่างสงบได้

การตายอย่างสงบ จะเรียกว่าเป็นการตายดีก็ได้ คือตายไม่ทุรนทุราย ตายเพราะใจพร้อมน้อมรับความจริงโดยดุษณี  ความจริงที่ว่านี้ก็คือความตายเป็นธรรมดาของทุกชีวิต ทุกชีวิตเมื่อเกิดแล้วก็ต้องแตกดับไป การตายดีนั้นเกิดขึ้นได้กับคนที่เตรียมพร้อมและยอมรับความจริงดังกล่าว ดังนั้น แม้ว่ายังไม่มีความปรารถนาที่จะตาย แต่เมื่อถึงเวลาตายก็สามารถจากไปอย่างสงบได้

ถึงแม้เราเลือกไม่ได้ว่าจะตายเพราะเหตุใด ที่จริงเรารู้ไม่ได้ด้วยซ้ำว่า เราจะตายที่ไหน ตายเมื่อไร อายุเท่าไร ดังที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ว่า สิ่งที่รู้ล่วงหน้าไม่ได้ ๕ อย่าง คือ ไม่รู้จะตายด้วยเหตุใด ที่ไหน อย่างไร ด้วยอายุเท่าไร และตายแล้วจะไปไหน  ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่เราไม่สามารถจะเลือกได้ แม้จะเป็นเอดส์หรือเป็นมะเร็ง ก็ไม่แน่ว่าจะตายด้วยโรคนั้นๆ เสมอไป

แต่เราเลือกได้ว่า เราจะตายด้วยอาการอย่างไร จะตายด้วยความทุรนทุรายหรือตายด้วยอาการสงบ เราเลือกได้ว่าจะวางใจอย่างไรเมื่อวาระสุดท้ายมาถึง  แต่ไม่ได้หมายความว่าอยู่ดีๆ เราจะเลือกได้ตามใจชอบ  เราเลือกได้เพราะเราเตรียมตัวไว้ก่อน เมื่อเรารู้ว่าควรจะตายด้วยอาการอย่างไร เราก็ฝึกฝนพัฒนาจิตใจเพื่อให้ตายอย่างนั้นได้ นี้คือสิ่งที่อยู่ในวิสัยของเราที่จะทำได้ แม้เรากำหนดไม่ได้ว่าจะตายเมื่อไรและที่ไหนด้วยสาเหตุใดก็ตาม

เราไม่รู้หรอกว่า เราจะตายด้วยโรคร้าย ด้วยอุบัติเหตุ หรือเพราะถูกทำร้าย แต่เราสามารถที่จะสร้างหลักประกันได้ในระดับหนึ่งว่า เราจะตายดีได้หรือไม่ ความตายอย่างสงบเป็นสิทธิของทุกคนจริงๆ  ทุกคนในที่นี้ ไม่ได้หมายถึงพระสงฆ์องค์เจ้า หรือนักปฏิบัติธรรมเท่านั้น แม้เป็นคฤหัสถ์ อยู่ไกลวัด ไม่ว่าเด็ก หรือผู้สูงอายุ  แม้แต่คนที่ตายเพราะประสบอุบัติเหตุหรือตายเพราะโรคร้าย ก็มีสิทธิที่จะตายอย่างสงบได้ทุกคน

แต่สิทธินี้จะเกิดขึ้นได้อย่างไร สิทธินี้จะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อเราทำหน้าที่อย่างถูกต้อง สิทธิกับหน้าที่ต้องไปด้วยกัน ถ้าเราทำหน้าที่อย่างถูกต้อง ไม่บ่ายเบี่ยงหลีกเลี่ยง เราก็ได้สิทธิที่จะตายอย่างสงบ  สิทธินี้จะได้มาต่อเมื่อเราทำหน้าที่อย่างถูกต้อง นั่นคือหน้าที่ที่พร้อมจะตายเมื่อเหตุปัจจัยมาถึง

ความตายเป็นหน้าที่ของทุกชีวิต  สัตว์ทั่วไปไม่รู้จักหน้าที่นี้ แต่มนุษย์เราทุกคนต้องรู้จัก เมื่อรู้จักแล้วต้องทำหน้าที่นั้นให้ดี คือการเตรียมพร้อมที่จะตาย รวมทั้งการยอมรับความตายเมื่อถึงเวลา ไม่หลีกหนี ไม่คิดที่จะโกงความตาย ไม่คิดที่จะเอาชนะความตาย เพราะตระหนักดีว่ามันเป็นหน้าที่ที่จะต้องตาย  เราต้องพร้อมยอมรับเมื่อเวลานั้นมาถึง

แต่ก่อนที่เวลานั้นจะมาถึง เราก็ต้องเตรียมตัว  ไม่ว่าจะเป็นหน้าที่ของพ่อของแม่ หน้าที่ของข้าราชการ หน้าที่ของครู หน้าที่นั้นจะทำได้ดีเมื่อมีการฝึกฝน ฝึกปรือ  หน้าที่ที่จะตายก็เช่นกัน มันเรียกร้องให้เราต้องฝึกฝนเช่นเดียวกับหน้าที่อื่นๆ

ดังนั้นการพร้อมตายหรือการเตรียมตัวให้พร้อมที่จะตาย เป็นหน้าที่ของทุกคน โดยเฉพาะชาวพุทธที่ตระหนักดีว่าชีวิตนั้นไม่เที่ยง พร้อมตายหรือการเตรียมตัวให้พร้อมที่จะตายหมายความได้หลายประการ  ประการแรก หมายถึงการระลึกถึงความตายอยู่เสมอ ไม่ใช่ความตายของคนอื่น แต่เป็นความตายของเราเอง เมื่อระลึกถึงความตายแล้ว ก็เตรียมตัวตายอยู่เสมอ  การเตรียมตัวตายหมายถึงการทำหน้าที่ หรือ การใช้ชีวิตให้ดีที่สุด มีสิ่งสำคัญใดในชีวิตก็ควรเร่งรีบขวนขวายทำให้แล้วเสร็จ ไม่ให้คั่งค้าง  แต่นั้นเป็นเพียงงานภายนอก ที่สำคัญพอๆ กันก็คือ งานภายใน  คือการเปิดใจยอมรับความจริง และฝึกใจให้รู้จักปล่อยวางสิ่งต่างๆ ที่คิดว่าเป็นของเรา สิ่งที่เรามี สิ่งที่เราเป็นอยู่ในขณะนี้

ด้วยเหตุนี้ มรณสติจึงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับชาวพุทธ มรณสติจัดว่าเป็นกรรมฐานหนึ่งในสี่สิบ ที่พระอรรถกถาจารย์ได้รวบรวมเอาไว้ และเป็นสิ่งที่เราทุกคนควรจะน้อมนำมาประพฤติมาปฏิบัติ  ถ้าหากว่าเราละเลยมรณสติ พยายามหนีความตาย พยายามปฏิเสธความตาย เราก็จะต้องถูกความตายนั้นคุกคาม ไม่ใช่แค่คุกคามชีวิตแต่คุกคามถึงจิตใจ ความตายก็เลยกลายเป็นศัตรู  แต่ในทางตรงกันข้าม ถ้าเราระลึกถึงความตายอยู่เสมอ เจริญมรณสติอยู่เป็นประจำ จนกระทั่งคุ้นชินกับความตายที่จะเกิดขึ้นกับเราหรือกับคนที่เรารัก ความตายก็จะกลายเป็นมิตร กลายเป็นครู กลายเป็นอาจารย์ ที่จะเคี่ยวเข็ญเราให้ใช้เวลาทุกนาทีอย่างมีคุณค่า ซึ่งจะช่วยทำให้เราเข้าใกล้ธรรมะ หรือเข้าใกล้จุดหมายสูงสุดในฐานะชาวพุทธที่แท้

มรณสติ ไม่ใช่เป็นเพียงแค่การนึกถึงความตายที่เกิดขึ้นกับตัวเราเท่านั้น  นั่นเป็นส่วนแรกของมรณสติ มรณสติมีสองส่วน ส่วนแรก คือ การระลึกถึงความจริงว่า เราต้องตายอย่างแน่นอน  แต่เท่านั้นยังไม่พอ ต้องระลึกต่อไปด้วยว่า เราสามารถจะตายได้ทุกโอกาส สามารถจะตายได้ทุกเมื่อ แม้ยังเป็นหนุ่มเป็นสาวอยู่ก็ตาม  สำหรับคนส่วนใหญ่ความตายเป็นสิ่งที่แย่ แต่ที่แย่กว่านั้นก็คือเราไม่รู้ว่าเราจะตายเมื่อไร อาจจะคืนนี้ อาจจะพรุ่งนี้ก็ได้

ทีนี้ก็ต้องพิจารณาต่อไปว่า ถ้าเราตายในวันนี้หรือวันพรุ่งนี้จริงๆ เราเตรียมใจพร้อมหรือยัง นี้คือส่วนที่สองของมรณสติ คือการถามใจตัวเองว่า ถ้าจะต้องตายในวันนี้หรือวันพรุ่งนี้ เราทำความดีมาพอหรือยัง สิ่งสำคัญที่ควรทำ เราได้ทำหรือยัง รวมไปถึงว่า เราพร้อมที่จะปล่อยวางสิ่งที่เรามี เราเป็น หรือเปล่า

หากระลึกถึงความตายอยู่เสมอ เจริญมรณสติอยู่เป็นประจำ ความตายก็จะกลายเป็นมิตร เป็นครู เป็นอาจารย์

มรณสติหากทำอย่างถูกต้องจะได้ประโยชน์อย่างน้อย สามประการ

๑) ทำให้เราขวยขวายในสิ่งที่เราชอบผัดผ่อน

ในชีวิตเรามีสิ่งสำคัญมากมายที่ควรทำ แต่เราไม่ได้ทำ เพราะเราเอาแต่ผัดผ่อน  ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น ก็เพราะมันไม่มีเส้นตาย  ชีวิตทุกวันนี้เป็นชีวิตที่วุ่นกับการแข่งให้ทันเส้นตาย เรามัวแต่ทำโน่นทำนี่เพราะมันมีเส้นตาย ส่วนใหญ่มักได้แก่อาชีพการงาน แต่บางทีก็เป็นงานสังคม หรือความสนุกสนานเพลิดเพลิน เช่น ต้องรีบไปห้างเพราะเทศกาลลดราคากำลังจะหมดเขตคืนนี้ หรือต้องรีบกลับไปดูละครยอดฮิตตอนสุดท้าย

ในทางตรงข้ามสิ่งที่ควรทำ เช่น การปฏิบัติธรรม การฝึกฝนจิตใจ การให้เวลากับครอบครัว การดูแลพ่อแม่ เรามักจะผัดผ่อนเพราะมันไม่มีเส้นตาย ทำเมื่อไรก็ได้ เพราะเราคิดว่ายังมีเวลาอยู่ นั่นคือความประมาท  แต่ถ้าเราระลึกถึงความตายอยู่เสมอว่าจะเกิดขึ้นกับเราหรือคนรักของเราเมื่อไรก็ได้ เราก็จะไม่ปล่อยเวลาให้ผ่านเลยไป หรือผัดผ่อนว่าเรื่องอย่างนี้เอาไว้ทีหลัง  ตรงข้ามเราจะเร่งทำสิ่งเหล่านี้ทันทีที่มีโอกาส ความขวนขวายไม่ผัดผ่อน พุทธศาสนาเรียกว่า ความไม่ประมาท

๒) ทำให้เราปล่อยวางในสิ่งที่เราชอบยึดติด 

เราชอบยึดติดอะไรบ้าง เราชอบยึดติดคนรัก เงินทอง ชื่อเสียง การระลึกถึงความตายเตือนใจให้เราเห็นความสำคัญของการปล่อยวาง เพราะในที่สุดเราต้องจากสิ่งเหล่านี้ไปหมด  ยิ่งระลึกถึงความตายบ่อยเท่าไร ก็ปล่อยวางได้ง่ายเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เราควรปล่อยวาง ไม่ได้มีแค่สิ่งที่เรารักหรือให้ความสุขแก่เรา  แม้แต่สิ่งที่เราไม่รัก เช่น ความโกรธ ความเกลียด ความรู้สึกผิด ก็เป็นสิ่งที่เราควรปล่อยวางด้วย เพราะถ้าเราไม่ปล่อยวาง เวลาจะตาย มันก็จะทำให้เราทุรนทุราย เจ็บปวด อาจถึงกับนอนตายตามไม่หลับ  บางคนทำความดีมามาก แต่เวลาจะตาย ไปนึกถึงความไม่ดีที่เคยทำ อาจจะเป็นเรื่องเล็กน้อย  อกุศลที่เกิดขึ้นในใจแม้เพียงขณะเดียวสามารถพาไปสู่ทุคติได้ ความรู้สึกผิดว่าเราเคยทำความไม่ดีบางอย่างเอาไว้ หรือความโกรธแค้นพยาบาทใครบางคน มันสามารถรบกวนจิตใจในยามใกล้ตายได้ ทำให้เราตายไม่ดี  ดังนั้นเราต้องรู้จักปล่อยวางสิ่งเหล่านี้ และต้องฝึกปล่อยวางเสียแต่วันนี้

๓) ทำให้เห็นคุณค่าของสิ่งที่เรามีอยู่ในปัจจุบัน

เราไม่ค่อยเห็นคุณค่าของวันนี้หรือวันพรุ่งนี้ เพราะเราคิดว่าเรายังจะมีเวลาอยู่ได้อีกหลายปี  แต่ถ้าเรารู้ว่าเราต้องตายคืนนี้ แต่ละนาทีที่ยังมีชีวิตอยู่จะกลายเป็นสิ่งมีค่าทันที เราจะไม่ปล่อยให้ผ่านเลยไปโดยเปล่าประโยชน์หรือไร้สาระ คนที่เป็นมะเร็งแล้วรู้ว่าจะมีเวลาอยู่ในโลกนี้ได้อีกไม่กี่เดือน จะรู้สึกเลยว่าแต่ละวันมีความหมายมาก

ในทำนองเดียวกัน หากเราเตือนใจตัวเองว่าลูกหลาน คนรัก และพ่อแม่ของเรา เขาอาจจะตายวันนี้หรือวันพรุ่งนี้ก็ได้ เราจะรู้สึกเลยว่าการที่เขายังมีชีวิตอยู่กับเรานั้นเป็นสิ่งที่มีค่ามาก แต่ละวันแต่ละชั่วโมงที่เขายังอยู่กับเรา จะมีความหมายมาก  เราจะไม่ปล่อยให้ผ่านไปโดยเปล่าประโยชน์ เราจะให้เวลากับเขาอย่างเต็มที่  เราจะทำดีกับเขา อ่อนโยนนุ่มนวลกับเขา ไม่กระด้างหมางเมินเขา  ขณะเดียวกันเราจะรู้สึกว่าการที่เขายังมีชีวิตอยู่กับเรา แค่นี้ก็มีความสุขแล้ว ไม่ต้องมีชื่อเสียง ไม่ต้องมีเงินทองมาก ไม่ต้องมีบริษัทบริวารมากก็ได้  เพียงแค่คนที่เรารักยังอยู่กับเรา ยังไม่ตายไปจากเรา แค่นี้ก็นับว่าเป็นโชคดีแล้ว

ถ้าหมั่นเจริญมรณสติในแง่นี้ เราจะมีความสุขได้ง่ายขึ้น เราจะพบว่าเรามีของดีอยู่กับตัวหรือรอบตัวแล้ว ไม่ต้องแสวงหาหรือดิ้นรนมากไปกว่านี้ก็ยังได้ มันจะช่วยให้เราใช้ชีวิตอย่างโปร่งเบาได้จริงๆ ขณะเดียวกันก็กระตุ้นให้เราหมั่นทำความดี  มรณสติจึงไม่ได้ช่วยให้เราตายอย่างสงบเท่านั้น แต่ยังช่วยกระตุ้นเตือนให้เราดำเนินชีวิตได้อย่างมีคุณค่า อย่างถูกต้อง ไม่ปล่อยเวลาให้เปล่าประโยชน์ หรือดำเนินชีวิตไปในทางที่เสียหาย


ภาพประกอบ

พระไพศาล วิสาโล

ผู้เขียน: พระไพศาล วิสาโล

เจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต และประธานมูลนิธิเครือข่ายพุทธิกา