สู่วัฒนธรรมความตายที่เกื้อกูลชีวิต

พระไพศาล วิสาโล 6 กรกฎาคม 2008

วันที่ ๘ กรกฎาคม เป็นวันครบรอบการมรณภาพของท่านอาจารย์พุทธทาสภิกขุ โดยก่อนหน้านั้นเดือนครึ่ง (ปี ๒๕๓๖) ท่านได้ล้มป่วยเนื่องจากเลือดออกในสมองจนถึงกับหมดความรู้สึกตัว  อาการดังกล่าวไม่ได้เป็นเรื่องที่เหนือความคาดหมายของท่าน เพราะท่านได้มีการเตรียมตัวในเรื่องนี้ไว้อยู่แล้ว ถึงกับสั่งศิษยานุศิษย์ว่า เมื่อท่านป่วยหนัก ไม่ให้ใช้เทคโนโลยีใดๆ เพื่อช่วยชีวิตท่านอย่างผิดธรรมชาติ  และเมื่อท่านใกล้จะมรณภาพ ก็ขออย่าให้มีเครื่องช่วยชีวิตใดๆ ติดตัวท่าน ขอให้ท่านมรณภาพอย่างธรรมชาติ ดังท่านเคยปรารภว่า “เราขอใช้แผ่นดินนี้เป็นโรงพยาบาล” และ “เราจะไม่หอบสังขารหนีความตาย”

อย่างไรก็ตาม ในที่สุดคณะศิษย์ที่สวนโมกข์ก็ต้องยอมจำนนต่อข้อเสนอของคณะแพทย์ที่ให้นำท่านไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลศิริราช โดยให้ความมั่นใจว่าอาการของท่านสามารถเยียวยาได้ด้วยยา โดยไม่ต้องใช้วิธีการผ่าตัด เจาะสมอง หรือเจาะคอ  แต่หลังจากท่านได้เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลศิริราชได้ประมาณ ๔๒ วัน ท่ามกลางเทคโนโลยีนานาชนิด ปรากฏว่าอาการทรุดลงเป็นลำดับ เกิดภาวะแทรกซ้อนลุกลามจนเกินกว่าที่จะควบคุมได้  ในวันที่ ๘ กรกฎาคม คณะแพทย์จึงตัดสินใจยุติการรักษาและนำท่านกลับสวนโมกข์เพื่อให้ท่านกลับไปมรณภาพที่นั่นตามปณิธานดั้งเดิมของท่าน  ชั่วโมงครึ่งหลังจากถึงสวนโมกข์ ท่านอาจารย์พุทธทาสก็ถึงแก่มรณภาพอย่างสงบ

ในช่วงเดือนครึ่งระหว่างที่ท่านล้มป่วย และถูกนำตัวเข้ารักษาในกรุงเทพฯ จนกลับมามรณภาพที่สวนโมกข์นั้น ได้เกิดข้อถกเถียงอย่างกว้างขวางเกี่ยวกับท่าทีต่อความตายในทัศนะของท่านอาจารย์พุทธทาสกับแนวคิดของแพทย์สมัยใหม่ ซึ่งแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด  กล่าวได้ว่าการอาพาธของท่านอาจารย์พุทธทาสครั้งนั้น ได้ทำให้สังคมไทยเห็นถึงความขัดแย้งระหว่างแนวคิดและแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับความตาย ๒ กระแสใหญ่ ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็นวัฒนธรรมความตาย ๒ กระแส

วัฒนธรรมความตายทั้ง ๒ กระแสได้แก่ วัฒนธรรมความตายที่เกื้อกูลชีวิต และวัฒนธรรมความตายที่เป็นปฏิปักษ์ต่อชีวิต  วัฒนธรรมอย่างแรกมองว่าความตายเป็นเรื่องธรรมดา และหากทำความเข้าใจอย่างถูกต้อง ไม่เพียงช่วยให้เราสามารถตายอย่างสงบ หรืออาจถึงขั้นที่หลุดพ้นจากความทุกข์ได้เท่านั้น หากยังช่วยให้เรารู้จักดำเนินชีวิตอย่างเป็นสุข เข้าถึงความสุขภายใน และน้อมนำให้เราเอื้อเฟื้อเกื้อกูลผู้อื่น ตลอดจนอ่อนโยนต่อธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  ท่านอาจารย์พุทธทาสเป็นบุคคลสำคัญที่พยายามส่งเสริมวัฒนธรรมความตายแบบนี้ ดังท่านได้ย้ำเสมอว่านาทีสุดท้ายของชีวิตเป็น “นาทีทองของชีวิต”  แต่ก่อนจะถึงตรงนั้นเราควรรู้จัก “ตายก่อนตาย” หรืออย่างน้อยก็ควรฝึกทำเช่นนั้นอยู่เสมอ

ท่านอาจารย์พุทธทาสไม่เพียงสอน แต่ยังพยายามปฏิบัติให้เราดู ด้วยการยอมรับความตายอย่างไม่ต่อสู้ขัดขืน  ดังท่านได้กำชับลูกศิษย์ว่าเมื่อวาระสุดท้ายของท่านมาถึง ขอให้ท่านได้สิ้นลมอย่างเป็นธรรมชาติ ไม่ต้องยื้อยุดชีวิตหรือต่อลมหายใจด้วยวิธีทางการแพทย์ใดๆ  แต่สุดท้ายความดำริดังกล่าวของท่านก็มิอาจเป็นจริงได้ เพราะถูกขัดขวางด้วยกระแสความเชื่อที่มีอิทธิพลมากกว่า ซึ่งเห็นว่าความตายเป็นสิ่งที่ต้องต่อต้านอย่างถึงที่สุด ความเชื่อดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมความตายประเภทที่สอง คือวัฒนธรรมความตายที่เป็นปฏิปักษ์ต่อชีวิต

วัฒนธรรมนี้มองว่าความตายเป็นสิ่งที่น่ากลัวและอยู่ตรงข้ามกับชีวิต  วัฒนธรรมดังกล่าวทำให้ผู้คนพยายามหลีกหนีความตายให้ไกลที่สุด และนึกถึงความตายให้น้อยที่สุด  การพูดถึงความตายจึงถูกมองว่าเป็นอัปมงคล จนแม้คำว่า “ตาย” ก็พูดไม่ได้ กลายเป็นคำอุจาด ต้องเลี่ยงไปใช้คำอื่นแทน  ในวัฒนธรรมเช่นนี้ผู้คนจึงอยู่อย่างลืมตาย พยายามเสพแสวงความสุขอย่างเต็มที่ จึงมุ่งกอบโกยตักตวงใส่ตัวให้มากที่สุด ละเลยที่จะทำความดี สร้างบุญกุศล หรือฝึกฝนจิตใจเพื่อพร้อมรับความตาย

วัฒนธรรมดังกล่าวนอกจากจะทำให้ผู้คนอยู่อย่างประมาท คลาดโอกาสที่จะเข้าถึงความสุขและความดีงามอันลึกซึ้ง จนแปลกแยกกับตัวเองและจิตใจเต็มไปด้วยความทุกข์แล้ว ยังนำไปสู่การแก่งแย่งเบียดเบียนกัน และการทำลายธรรมชาติแวดล้อมเพื่อสนองประโยชน์ส่วนตัว  วัฒนธรรมเช่นนี้จึงเป็นตัวขัดขวางความเจริญงอกงามของชีวิต ไม่เอื้อต่อการพัฒนาตนให้เข้าถึงประโยชน์สูงสุดที่มนุษย์ควรจะได้จากชีวิตนี้ จึงนับเป็นตัวบั่นทอนศักยภาพและโอกาสของชีวิตอย่างร้ายแรง  จึงไม่น่าแปลกใจที่เมื่อความตายใกล้จะมาถึง ผู้คนจึงเกิดความตื่นตระหนก ทุรนทุราย  ไม่เพียงเพราะกลัวตายเท่านั้น หากยังเป็นเพราะมีความยึดติดสิ่งต่างๆ อย่างเหนียวแน่น ทั้งทรัพย์สมบัติ ตลอดจนความรู้สึกติดค้างใจที่ยังปล่อยวางไม่ได้  ผลก็คือต้องยืดชีวิตด้วยเทคโนโลยีนานาชนิด แต่กลับกลายเป็นการยืดยื้อความเจ็บปวดทรมานให้ยาวนานขึ้น จึงยากที่จะตายอย่างสงบได้

หากทำความเข้าใจความตายอย่างถูกต้อง ไม่เพียงช่วยให้เราสามารถตายอย่างสงบ แต่ยังช่วยให้เรารู้จักดำเนินชีวิตอย่างเป็นสุข

แม้ว่าวาระสุดท้ายของท่านอาจารย์พุทธทาส สะท้อนให้เห็นถึงความพ่ายแพ้ของวัฒนธรรมความตายที่เกื้อกูลชีวิต แต่ก็ได้สร้างผลสะเทือนทางความคิดทั้งในเวลานั้นและในเวลาต่อมา จนทำให้ผู้คนเป็นอันมากได้ฉุกคิดและหันมาตั้งคำถามกับวัฒนธรรมความตายกระแสหลัก คือวัฒนธรรมความตายที่เป็นปฏิปักษ์ต่อชีวิต  การตั้งคำถามดังกล่าวได้นำไปสู่การพยายามทำความเข้าใจความตายในอีกแง่มุมหนึ่ง โดยอาศัยภูมิปัญญาที่สืบทอดมาแต่โบราณ โดยเฉพาะภูมิปัญญาทางพุทธศาสนา  ทำให้มองเห็นความตายในฐานะที่เป็น “โอกาส” มิใช่แค่ “วิกฤต”เท่านั้น  สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาก็คือความพยายามที่จะฟื้นฟูวัฒนธรรมความตายที่เกื้อกูลต่อชีวิตขึ้นมาให้สมสมัย  โดยมีหลายคนได้ทดลองกับตัวเองและเป็นแบบอย่างให้แก่ผู้อื่น นั่นคือยอมรับความตายด้วยอาการสงบ โดยไม่พยายามยื้อชีวิต แต่มุ่งทำใจให้สงบและปล่อยวางทุกสิ่ง  หลายคนได้พบว่า การมองความตายด้วยท่าทีที่เป็นมิตรมากขึ้น ทำให้ความตายเปลี่ยนมาเป็นมิตรกับตนเองด้วยเช่นกัน  ความตายมิใช่สิ่งที่น่ากลัวอีกต่อไป หากเป็นเสมือนครูที่สอนให้เห็นคุณค่าของชีวิต และอยู่อย่างไม่ประมาท ด้วยใจที่พร้อมจะปล่อยวางทุกเวลา

มองในแง่นี้ การมรณภาพของท่านอาจารย์พุทธทาส อาจไม่ใช่ความพ่ายแพ้ของวัฒนธรรมความตายที่เกื้อกูลชีวิต แต่เป็นจุดเริ่มต้นของการหวนคืนของวัฒนธรรมดังกล่าว ซึ่งเราทุกคนอาจกำลังมีส่วนร่วมในการฟื้นฟูขึ้นมาไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง


ภาพประกอบ

พระไพศาล วิสาโล

ผู้เขียน: พระไพศาล วิสาโล

เจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต และประธานมูลนิธิเครือข่ายพุทธิกา