เป็นผู้ให้ ด้วยหัวใจเปี่ยมกรุณา

พูลฉวี เรืองวิชาธร 12 มกราคม 2007

การให้ หากเป็นคำพูดนั้นดูจะง่ายมาก แต่หากเป็นการกระทำนั้น สำหรับผู้เขียนเองแล้วเพิ่งจะรู้สึกว่าการให้ด้วยหัวใจ ด้วยความกรุณาที่เต็มเปี่ยมนั้นยากมาก  นับแต่จำความได้จนถึงปัจจุบัน เคยคิดว่าตัวเองเป็นผู้ให้ เป็นผู้เสียสละในหลายสิ่งหลายอย่าง แต่พอมาใคร่ครวญแล้ว ค้นพบว่าที่ผ่านมาหลายครั้งเราไม่ได้ให้อย่างแท้จริงเลย หลายครั้งที่เราคิดด้วยหัวสมองว่าเราให้ด้วยความบริสุทธิ์ใจ แต่พอเฝ้ามองอย่างลึกซึ้งถึงเบื้องหลังของการกระทำ ผู้เขียนค้นพบว่ามีหลายครั้งที่มีเจตจำนงอื่นๆ ซ่อนแฝงอยู่พร้อมกับการให้ในแต่ละครั้ง โดยที่เราเองก็ยากที่จะรู้เท่าทัน

ลองทบทวนดูว่าหากเรามีสิ่งของต่างๆ มากมายในครอบครอง บางสิ่งบางอย่างที่ไม่ต้องการที่จะใช้แล้ว หรือไม่เป็นที่พึงพอใจในเวลานั้นๆ ง่ายมากที่เราจะแบ่งปันสิ่งของเหล่านี้ให้กับผู้อื่นโดยไม่ต้องมีใครมาขอ  แต่หากสิ่งของเหล่านั้นยังเป็นสิ่งที่เรายังพึงพอใจอยู่ถึงแม้จะไม่ได้ใช้ประโยชน์แล้วก็ตาม ก็จะเป็นการยากขึ้นมาอีกนิดถ้าจะต้องแบ่งปันให้ใคร  และยิ่งเป็นสิ่งของที่ยังรัก ยังหวงแหนและยังคงใช้ประโยชน์อยู่เราคงไม่คิดแบ่งปันให้ใคร ซึ่งถ้ามีใครมาขอแบ่งปันเราอาจจะปฏิเสธที่จะให้ได้ง่ายๆ หรือตัดสินใจยากมากว่าจะให้ดีหรือไม่ ทำให้หวนคิดถึงพระเวสสันดรท่านมีจิตแห่งการแบ่งปันให้ทานอย่างเต็มเปี่ยม ท่านจึงให้ทุกอย่างที่รัก ที่หวงได้ และให้กับใครก็ได้

สำหรับวัน เวลา ยิ่งเป็นสิ่งที่ผู้เขียนเองหวงแหน มีความรู้สึกอยู่เสมอว่าไม่ต้องการใช้เวลาที่มีค่ายิ่งเพื่อทำกิจสิ่งใดที่ตัวเองไม่อยากทำ ดังนั้นหากเวลาอันมีค่ามีอยู่อย่างจำกัดก็จะรู้สึกไม่ค่อยจะพอใจหรือเต็มใจเท่าใดนักหากต้องทำสิ่งอื่นๆ ที่ตัวเองไม่ต้องการทำ รวมถึงมีคนอื่นมาคอยขัดจังหวะให้เราต้องทำโน่นทำนี่อาจจะด้วยความหวังดี หรือด้วยภาระหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบก็ตาม  บางครั้งเราวางแผนไว้ว่าจะทำโน่นทำนี่ตามความต้องการของเรา แต่พอมีอะไรมาเป็นอุปสรรคให้เราต้องปันเวลาไปทำอย่างอื่น โดยเฉพาะสิ่งที่ไม่ค่อยชอบ เราก็มักจะไม่พอใจ หงุดหงิด อารมณ์เสียทั้งที่แสดงออกมาตรงๆ หรือไม่ได้แสดงออกให้ผู้อื่นรับรู้ก็ตาม ยิ่งทำให้เห็นตัวเองมากขึ้นว่าเรายังไม่ใช่ผู้ให้ที่แท้จริง

สิบกว่าปีที่หันเหชีวิตจากพนักงานบริษัทมาเดินทางในงานที่เรียกกันว่างานพัฒนาเพื่อสังคม เคยรู้สึกภูมิใจตัวเองคิดว่าเรานี่เสียสละนะ เราเป็นผู้ให้นะ แต่พอมาพิจารณาดูจริงๆ เราก็ไม่ได้ให้อย่างแท้จริงหรือไร้เงื่อนไขอีกนั่นแหละ เนื่องจากการทำงานพัฒนาของเรานั้นแลกมาด้วยความพึงพอใจกับการเติบโตในหลายด้านของชีวิต ไม่ว่าจะเป็นทางด้านจิตสำนึกรับผิดชอบต่อผู้อื่น ชุมชน สังคมหรือแม้กระทั่งสิ่งแวดล้อม บางขณะก็แลกกับการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมบางอย่างที่เราคุ้นชิน ซึ่งเป็นจุดเปราะบางของชีวิตเราที่ทำให้ผู้อื่นเป็นทุกข์ทั้งที่เรารู้ตัวและไม่รู้ตัว ที่สำคัญยังได้มาซึ่งการเพิ่มพูนของทัศนคติ ความคิด ความรู้ มุมมองใหม่ๆ ประสบการณ์ต่างๆ ทั้งในแง่ชีวิตและสังคม ซึ่งหากเรายังคงเป็นพนักงานบริษัทเราอาจจะได้เพียงเม็ดเงิน กับการดำเนินชีวิตที่ไม่แตกต่างอะไรไปจากหุ่นยนต์

ปรากฏการณ์ต่างๆ เหล่านี้ที่มันทำให้เราเป็นผู้ให้ที่แท้จริงได้ยาก แม้ว่าสิ่งที่แลกเปลี่ยนมาจากการให้จะเป็นเรื่องดีๆ ก็ตามนั้น ผู้เขียนเข้าใจว่ามาจากความรู้สึกยึดติดว่ามีของของเรา สิ่งต่างๆ เป็นของเรา โดยลืมคิดถึงคำของท่านอาจารย์พุทธทาสที่พยายามจะบอกเราว่าสิ่งต่างๆ ล้วนธรรมชาติให้ยืมมา แม้แต่ชีวิตเราเองธรรมชาติก็ให้ยืมมา เมื่อถึงเวลาก็ต้องคืนกลับสู่ธรรมชาติ

ทำอย่างไรหนอเราจึงจะเป็นผู้ให้ด้วยหัวใจที่เปี่ยมด้วยความรัก ความเมตตาอย่างแท้จริง  ผู้เขียนขอเชิญชวนมาร่วมทดลองความจริงผ่านการฝึกฝนการเป็นผู้ให้อย่างไม่มีเงื่อนไข โดยเราอาจจะเริ่มฝึกฝนจากบทเรียนที่ใกล้ตัวและทำได้ง่ายๆ ก่อน  เช่น เริ่มด้วยการแบ่งปัน บริจาคสิ่งของที่เรามีอยู่แต่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ ให้กับใครก็ได้ที่เขาจะได้ใช้ประโยชน์จากสิ่งของเหล่านั้น ซึ่งอาจจะเป็นคนที่กำลังประสบภัยธรรมชาติต่างๆ ในขณะนี้ หรืออาจจะเป็นคนรับซื้อของเก่าที่ผ่านมาถึงหน้าบ้านเราก็ยังได้  หากต้องการฝึกฝนมากขึ้นอีกนิดก็ทดลองแบ่งปันของที่ยังรักยังมีประโยชน์ให้กับผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นคนที่ใกล้ชิด คนที่เรารัก รวมถึงคนที่เราไม่รู้จักหรือคนที่เราโกรธเกลียดก็ยิ่งจะได้ฝึกฝนการให้ขึ้นไปอีก

หลายครั้งเราคิดด้วยหัวสมองว่าเราให้ด้วยความบริสุทธิ์ใจ แต่พอเฝ้ามองอย่างลึกซึ้งถึงเบื้องหลังการกระทำ ก็พบว่ามีเจตจำนงอื่นแฝงอยู่ โดยที่เราเองก็ยากจะรู้เท่าทัน

บทฝึกฝนต่อไปอาจจะให้แรงกาย ให้เวลา ด้วยการเป็นอาสาสมัครลงมือกระทำบางอย่างที่มีประโยชน์ต่อผู้อื่น เช่น เป็นอาสาสมัครไปย่ำดินเพื่อสร้างอาคารดินสาธารณะประโยชน์ (ศาลาปฏิบัติธรรม ห้องสมุดประชาชนฯลฯ) การให้ปัญญา ความคิด ความสามารถต่างๆ ที่เรามีเพื่อเกื้อกูลให้ผู้อื่นได้ประโยชน์ พร้อมทั้งให้ความรัก ความปรารถนาดีกับคนในครอบครัว เพื่อนร่วมงาน เพื่อนร่วมเดินทาง คนที่เดินผ่านไปผ่านมาที่เราไม่รู้จัก สำหรับผู้เขียนเองแล้วคิดว่าเราเพียงแค่ส่งยิ้มไปให้ ก็เป็นจุดเริ่มต้นของการให้ความรักแล้ว เราลองกลับมามองดูตัวเราเองซิว่าที่ผ่านมาในวันหนึ่งๆ ตั้งแต่ตื่นนอนจนเข้านอน เราส่งยิ้มให้ใครบ้าง และหากทุกวัน ทุกคนฝึกส่งยิ้มให้กัน สังคมนี้จะมีความสุข น่าอยู่เพียงใด

การให้อภัยก็เป็นบทฝึกฝนหนึ่งที่ทำได้ยากมากแต่ก็ไม่ควรละเลย ฝึกที่จะให้อภัยกับสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ไปจนถึงเรื่องใหญ่ๆ ในชีวิต หากเราคิดใคร่ครวญถึงความตายว่า “ไม่รู้ว่าเมื่อไรหนอ ธรรมชาติจะมารับชีวิตเรา หรือคนที่เรากำลังโกรธแค้นกลับคืนไป อาจจะเป็นวันนี้ พรุ่งนี้ ปีนี้ หรือปีหน้า มิอาจรู้ได้” จะทำให้เราให้อภัยได้ง่ายขึ้น อยู่ด้วยกันอย่างสันติ ทำดีต่อกันเอาไว้เถิด ยิ่งคนใกล้ชิดเรายิ่งต้องอภัยกันไว้บ่อยๆ เพราะคนใกล้ชิดนี่แหละที่มีโอกาสในการทำให้เราโกรธได้ง่ายกว่าคนไกลตัว

หากได้มีโอกาสทดลองฝึกที่จะให้ด้วยใจที่เปี่ยมด้วยความกรุณาแล้ว จะรู้สึกเคารพตัวเองได้มากขึ้น  ขอให้ทุกท่านมีกำลังใจที่จะเผื่อแผ่แบ่งปันอย่างไม่มีประมาณ


ภาพประกอบ

พูลฉวี เรืองวิชาธร

ผู้เขียน: พูลฉวี เรืองวิชาธร

ผู้ประสานงานองค์กรและกระบวนกรของเสมสิกขาลัย ทำหน้าที่จัดอบรมให้กับองค์กรพัฒนาเอกชน หน่วยงานราชการ ตลอดจนบริษัทธุรกิจ