ทุนนิยมกับพุทธศาสนา

พระไพศาล วิสาโล 13 พฤษภาคม 2006

ทุนนิยมมีหลักการสำคัญ ๕ ประการคือ

๑) การกระตุ้นความโลภและเน้นประโยชน์ส่วนตน 

ทุนนิยมมีทัศนะว่าความเห็นแก่ตัวเป็นสิ่งที่ต้องส่งเสริมให้มากๆ เพื่อจะได้เกิดความเจริญ  เมื่อจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ริเริ่มให้มีแผนพัฒนาเศรษฐกิจแบบทุนนิยมตามแนวคิดของอเมริกาเมื่อปี ๒๕๐๔  จอมพลสฤษดิ์ พบว่าคำสอนของพุทธศาสนาที่เน้นเรื่องการสันโดษ เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาเศรษฐกิจมาก  จอมพลสฤษดิ์จึงมีคำสั่ง “ขอร้อง” พระทั่วประเทศว่าอย่าสอนเรื่องสันโดษ เพราะจะขัดขวางการเจริญเติบโตของประเทศ

ความคิดเช่นนี้ต่างจากพุทธศาสนาอย่างชัดเจน เพราะพุทธศาสนาเชื่อว่าแม้มนุษย์เรามีความเห็นแก่ตัว แต่เราไม่ควรกระตุ้นความโลภหรือกระตุ้นการแสวงหากำไรอย่างไม่มีที่สิ้นสุด เพราะจะกลายเป็นโทษต่อสังคมในระยะยาว  พุทธศาสนาจึงมุ่งลดความเห็นแก่ตัวให้เหลือน้อยที่สุดหรือควบคุมให้อยู่ในขอบเขต

๒) การเน้นเรื่องตลาดและเอากำไรเป็นตัวตั้ง 

ทำให้แทบทุกอย่างถูกแปรเป็นสินค้า จนแม้แต่ประเพณี วัฒนธรรม ศาสนา มนุษย์ ก็กลายเป็นสินค้าที่ตีค่าเป็นตัวเงิน หรือเอามาซื้อขายได้

แต่พุทธศาสนาเห็นว่าเศรษฐกิจหรือเงินตรามิใช่เรื่องใหญ่ที่สุดของชีวิต และไม่มองว่าจำเพาะสิ่งที่ตีค่าเป็นตัวเงินได้เท่านั้นที่สำคัญ  มีหลายสิ่งในชีวิตที่ตีค่าเป็นตัวเงินไม่ได้ แต่มีความสำคัญมาก เช่น คุณธรรม ความศรัทธาในสิ่งดีงาม ความรัก ความเมตตา ความซื่อสัตย์

๓) การเน้นเรื่องการผลิตเพื่อการซื้อขาย 

ทุนนิยมไม่สนับสนุนการผลิตเพื่อเอื้อเฟื้อเกื้อกูล หรือการพึ่งตนเอง  ใครทำอะไรได้ ต้องเอาไปขาย  ไม่ควรทำให้คนอื่นฟรีๆ หรือพึ่งตนเองจนไม่ซื้อจากใครเลย

แต่พุทธศาสนาเห็นว่าการช่วยเหลือเกื้อกูลกันเป็นเรื่องสำคัญ รวมทั้งการให้ทานแก่กัน  ขณะเดียวกันก็เห็นว่าการพึ่งตนเองเป็นสิ่งสำคัญด้วยเช่นกัน พระพุทธเจ้าถึงกับตรัสว่าตนนั้นแลเป็นที่พึ่งแห่งตน  แม้ว่าการพึ่งตนในที่นี้จะไม่ได้เจาะจงในเรื่องเศรษฐกิจก็ตาม

๔) การเน้นเรื่องเสรีภาพทางเศรษฐกิจ 

ไม่ว่าเสรีภาพในการผลิต การจำหน่ายจ่ายแจก การบริโภคและการซื้อขาย รวมถึงเสรีภาพในทรัพย์สินส่วนบุคคล โดยถือว่าเป็นพื้นฐานสำคัญที่สุดของเสรีภาพมนุษย์

พุทธศาสนาเห็นต่างจากทุนนิยม เพราะเชื่อว่าเสรีภาพที่แท้จริงเป็นเสรีภาพภายใน เป็นเสรีภาพในทางจิตใจมากกว่า  ถ้าไร้เสรีภาพในทางจิตใจแล้วเราก็กลายเป็นทาสของเงิน และเป็นทุกข์เพราะวัตถุได้อย่างง่ายดาย

๕) การเน้นความสุขที่เกิดจากการบริโภคและครอบครองวัตถุ โดยมองข้ามความสุขทางจิตใจที่ไม่อิงวัตถุ 

พุทธศาสนายอมรับความสุขจากการใช้ทรัพย์ รวมทั้งความสุขจากการไม่มีหนี้  แต่พุทธศาสนาเห็นว่ายังมีความสุขที่ลึกไปกว่านั้น เป็นความสุขที่นอกเหนือจากการมีทรัพย์หรืออาสมิส ได้แก่นิรามิสสุขคือสุขที่ไปพ้นจากวัตถุสิ่งเสพ

พุทธศาสนามองว่าความเจริญไม่ว่าของบุคคลและของประเทศมี ๔  มิติ  ได้แก่ความเจริญทางกายหรือทางวัตถุ ความเจริญในเรื่องของความสัมพันธ์หรือความประพฤติ ความเจริญในทางจิต และความเจริญในทางปัญญา  เมื่อเอากรอบนี้มาดูการพัฒนาในรอบหลายทศวรรษภายใต้ระบบทุนนิยม จะเห็นได้ว่ามีข้อบกพร่องมาก  มองในแง่วัตถุหรือทางกายภาพอย่างเดียว จะเห็นว่าช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนมีมากขึ้น ความยากจนไม่ได้ลดลงเลยแม้จะอยู่ในยุคโลกาภิวัตน์  ตรงข้ามช่องว่างกลับถ่างกว้างขึ้น ไม่เฉพาะคนรวยกับคนจนในประเทศเดียวกันเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงช่องว่างระหว่างประเทศที่ร่ำรวยกับประเทศที่ยากจน  ดังจะเห็นได้ว่า คนที่รวยที่สุดในโลก ๓ คนมีทรัพย์สินรวมกันแล้วมากกว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศหรือจีดีพีของประเทศที่ยากจนที่สุดในโลก ๔๘ ประเทศเสียอีก  และถ้าเอาสินทรัพย์ของคนรวยที่สุดในโลก ๓๒ คนมารวมกันจะมีจำนวนมากกว่าจีดีพีของประเทศในเอเชียใต้ทั้งหมดรวมกัน  จะเห็นได้ว่ายิ่งพัฒนามากขึ้น คนรวยก็รวยขึ้น คนจนก็จนลง และช่องว่างก็ถ่างกว้างขึ้น

ทั้งนี้ยังไม่ต้องพูดถึงปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ปัญหาอาชญากรรม ครอบครัวร้าวฉาน ชุมชนเสื่อมโทรม รวมทั้งปัญหาทางจิตใจ จนมีการฆ่าตัวตาย หรือการเป็นโรคจิตกันเป็นจำนวนมาก

ทุนนิยมนั้นเหมือนกับเงิน คือเป็นข้ารับใช้ที่ดี แต่เป็นนายที่เลว  ทุกวันนี้เราปล่อยให้ทุนนิยมขยายใหญ่โตจนกระทั่งมีอิทธิพลครอบงำทุกด้านของชีวิตและสังคม ไม่เว้นแม้แต่ความสัมพันธ์ในครอบครัว กับเพื่อนฝูง หรือกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เรายึดถือ  สิ่งที่เราต้องคิดกันก็คือ ทำอย่างไรถึงจะควบคุมทุนนิยมไม่ให้มีอำนาจมากเกินไป

ถ้าไร้เสรีภาพในทางจิตใจ เราก็กลายเป็นทาสของเงิน และเป็นทุกข์เพราะวัตถุได้อย่างง่ายดาย

สิ่งหนึ่งที่จะช่วยควบคุมทุนนิยมไม่ให้มีอำนาจมากเกินไปจนเห็นคนเป็นสินค้า หรือเกิดการเอารัดเอาเปรียบจนเกิดช่องว่างอย่างมากมายก็คือ การทำให้สังคมมีความเข้มแข็งจนสามารถทัดทานไม่ให้อำนาจทุนทำอะไรตามใจชอบได้  มีหลายวิธีที่ทำให้สังคมควบคุมทุนได้ เช่น การส่งเสริมคุณค่าทางสังคมให้สำคัญกว่าคุณค่าทางเศรษฐกิจ

คนสมัยนี้เวลาจะซื้ออะไร ก็จะสนใจแค่ว่ามันราคาเท่าไร ถูกหรือแพง นี่เป็นการคิดโดยคำนึงถึงมูลค่าทางเศรษฐกิจอย่างเดียว แต่ไม่ได้ถามต่อไปว่ามันทำลายสิ่งแวดล้อมหรือไม่ ผู้ผลิตเอาเปรียบคนงานหรือเอาเปรียบแรงงานเด็กหรือไม่  หากเราจะทัดทานทุนนิยม ก็ต้องไม่เอามูลค่าหรือคุณค่าทางเศรษฐกิจเป็นหลัก แต่เอาคุณค่าทางสังคมหรือสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก  คือถึงแม้ราคาจะแพง แต่ถ้าเป็นสินค้าซึ่งส่งเสริมชุมชน อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมตลอดจนวัฒนธรรมประเพณี ไม่ใช้วิธีโฆษณาที่ดูถูกผู้หญิงหรือกระตุ้นให้คนเห็นแก่ตัว เราควรสนับสนุนสินค้าอย่างนั้น เป็นต้น  ถ้าทุกคนมีเกณฑ์แบบนี้ ทุนนิยมจะไม่เลวร้ายเท่าปัจจุบัน

นอกจากการให้คุณค่าทางสังคมเป็นใหญ่เหนือคุณค่าทางเศรษฐกิจแล้ว ก็ควรสนับสนุนเครือข่ายชุมชนหรือประชาสังคมให้เข้มแข็ง เพื่อมีกำลังในการทัดทานอำนาจทุน  ไม่ใช่ปล่อยให้มีการสร้างเขื่อนหรือโครงการใหญ่ๆ ตามใจชอบ โดยไม่สนใจว่าจะเกิดผลกระทบต่อสังคมและชุมชนอย่างไร  การปล่อยให้นักการเมืองมาทำหน้าที่ทัดทานทุนนิยม เป็นเรื่องที่หวังได้ยาก  จำเป็นที่เราจะต้องส่งเสริมกลุ่มต่างๆ ทางสังคมขึ้นมาให้เข้มแข็ง สนับสนุนกฎหมายกระจายอำนาจให้แก่ชุมชน เพื่อสามารถจัดการทรัพยากรท้องถิ่น ตลอดจนจัดการศึกษาที่สอดคล้องกับท้องถิ่นได้  ขบวนการประชาสังคมปัจจุบันเริ่มจะก่อตัวขึ้น แต่ยังต้องการการสนับสนุนอย่างจริงจัง

ที่สำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ พุทธศาสนาจะต้องเป็นอิสระจากทุนนิยมให้ได้ ขณะเดียวกันก็ต้องเป็นคำตอบทางจิตวิญญาณเพื่อเป็นทางเลือกให้ผู้คนสามารถเป็นอิสระจากบริโภคนิยมได้  สาเหตุสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้คนปัจจุบันเข้าหาบริโภคนิยม ไม่ใช่เพราะมันให้ความสะดวกสบายทางกายหรือความสนุกสนานเท่านั้น แต่เพราะมันตอบสนองความต้องการทางจิตใจ เช่นให้ความหมายแก่ชีวิต ทำให้ชีวิตไม่ว่างเปล่า

คนสมัยก่อนรู้สึกว่าชีวิตมีคุณค่าหากได้ทำความดี เสียสละเพื่อศาสนาหรือประเทศชาติ แต่สมัยนี้ชีวิตจะมีคุณค่าหากได้สะพายกระเป๋าหลุยส์วิตตอง หรือสวมรองเท้าไนกี้  ในอเมริกาวัยรุ่นถึงกับฆ่าคนตายเพื่อจะได้ขโมยรองเท้าไนกี้ของเขามาใส่ จะเห็นได้ว่าชีวิตของผู้คนเดี๋ยวนี้ฝากไว้กับสินค้ามียี่ห้อพวกนี้  คำถามก็คือพุทธศาสนาจะช่วยให้ชีวิตเขามีคุณค่าได้หรือไม่ ถ้าพุทธศาสนาไม่สามารถทำได้ ผู้คนก็ต้องแห่ไปหาบริโภคนิยม  นี้เป็นเรื่องท้าทายศาสนามาก

ต้องไม่ลืมว่าบริโภคนิยมตอนนี้เป็นศาสนาที่มีคนนับถือมากที่สุดในโลก ไม่ว่าจะไปขั้วโลกเหนือ ไปป่าอเมซอน อยู่บนยอดเขาหิมาลัย บริโภคนิยมไปถึงหมดโดยผ่านดาวเทียม ทุกหนแห่งมีโค้กไปถึงหมด ไม่เว้นแม้แต่เชิงเขาเอเวอเรสต์ ขณะที่ศาสนาหลายศาสนายังไปไม่ถึง  นี้คือสิ่งท้าทายพุทธศาสนา และควรที่ชาวพุทธทั้งหลายจะต้องช่วยกันนำพาพุทธศาสนาให้เป็นอิสระทางทุนนิยม รวมทั้งสามารถเป็นทางเลือกให้แก่ผู้คนเพื่อออกจากบริโภคนิยมได้อย่างแท้จริง


ภาพประกอบ

พระไพศาล วิสาโล

ผู้เขียน: พระไพศาล วิสาโล

เจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต และประธานมูลนิธิเครือข่ายพุทธิกา