ไปพ้นจากวัตถุนิยม

พระไพศาล วิสาโล 24 พฤษภาคม 2009

ท่านอาจารย์พุทธทาสเคยกล่าวว่า ปณิธานแห่งชีวิตของท่านมีสามประการ หนึ่งในนั้นได้แก่การ “ดึงเพื่อนมนุษย์ให้ออกมาเสียจากวัตถุนิยม”  แม้ท่านอาจารย์จะละสังขารไปนานแล้ว แต่ปณิธานดังกล่าวก็ยังดังก้องผ่านงานเขียนและงานบรรยายของท่านเสมอมา เป็นทั้งเสียงกระตุ้นเตือนและนำทางแก่ผู้ปรารถนาอิสรภาพทางจิตวิญญาณทั้งในปัจจุบันและอนาคต

กล่าวได้ว่าไม่มีปณิธานใดที่มีความสำคัญต่อโลกทุกวันนี้มากเท่ากับปณิธานดังกล่าว ทั้งนี้เนื่องจากมนุษยชาติกำลังถูกวัตถุนิยมครอบงำอย่างหนาแน่นชนิดที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน  มันไม่เพียงยึดครองจิตใจของผู้คนเท่านั้น หากยังฝังรากลึกอยู่ในศาสตร์นานาชนิด จนวัตถุนิยมกลายเป็นความจริงและคุณค่าขั้นสูงสุดในทัศนะของคนทั้งโลก ไม่มีอะไรนอกจากวัตถุ  แม้แต่จิตใจก็เป็นเพียงปรากฏการณ์ทางเคมีฟิสิกส์ในสมองเท่านั้นเอง หามีอะไรนอกจากนั้นไม่  ทัศนะเช่นนี้ทำให้มนุษย์เป็นเพียงก้อนวัตถุที่ไม่มีเป้าหมายใดๆ ในชีวิต นอกจากการเสพและครอบครองวัตถุให้มากที่สุด โดยไม่ต้องสนใจเรื่องบุญหรือบาป หรือภูมิธรรมขั้นสูงอีกต่อไป

ใช่แต่เท่านั้น วัตถุนิยมยังครอบงำกำกับระบบต่างๆ ในสังคมทุกระดับ ไม่ว่าระบบเศรษฐกิจ การเมือง การศึกษา สื่อสารมวลชน ฯลฯ จนกลายเป็นจุดหมายสูงสุดของประเทศ  ความเจริญของประเทศไม่ได้วัดที่ความผาสุกของผู้คน แต่วัดจากอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นหลัก โดยไม่สนใจด้วยซ้ำว่าความเติบโตดังกล่าวได้มาจากการทำลายธรรมชาติและการสร้างความทุกข์ให้แก่ผู้คนเพียงใดบ้าง

ที่น่าวิตกก็คือปัจจุบันวัตถุนิยมได้สถาปนาตนเองจนกลายเป็นศาสนาอย่างหนึ่ง ซึ่งมีผู้นับถือทั่วทั้งโลก  มันไม่เพียงสัญญาว่าจะให้ความสุข ความสนุกสนาน และความสะดวกสบายแก่ผู้คนเท่านั้น แต่ยังให้คำมั่นว่าสามารถตอบสนองความต้องการทางจิตวิญญาณของคนทั้งโลกได้  กล่าวคือให้ความมั่นคงทางจิตใจ เพิ่มคุณค่าให้แก่ชีวิต รวมทั้งเติมเต็มชีวิตไม่ให้รู้สึกว่างเปล่า สามารถแปรเปลี่ยนให้กลายเป็นคนใหม่ได้โดยไม่ต้องทำอะไร นอกจากเป็นผู้บริโภคที่ทันยุคทันสมัยเท่านั้น

ท่ามกลางความหลงใหลในมนต์สะกดของวัตถุนิยม  ชีวิตและคำสอนของท่านอาจารย์พุทธทาสเป็นดังแสงสว่างที่นำทางผู้คนให้พ้นจากความมืดมนดังกล่าว  ท่านได้ชี้ให้เราเห็นว่าจุดหมายหรือประโยชน์สูงสุดของการเป็นมนุษย์นั้นมิได้อยู่ที่การครอบครองวัตถุให้มากที่สุด แต่อยู่ที่การยกระดับทางจิตวิญญาณจนเข้าถึงอิสรภาพขั้นสูงสุดชนิดที่อยู่เหนือโลกและความทุกข์ทั้งปวง  ความสุขที่แท้จริงอันได้แก่ความสงบเย็นนั้นเป็นสภาวะที่เราทุกคนสามารถเข้าถึงได้และควรเข้าถึง เมื่อใดก็ตามที่เราสามารถเข้าถึงความสุขอันประเสริฐดังกล่าว วัตถุนิยมก็จะมีเสน่ห์ต่อเราน้อยลง

วัตถุนิยมสามารถดึงดูดจิตใจผู้คนทั่วทั้งโลกก็เพราะมันให้ความสุขแก่เราได้ในเวลาอันรวดเร็ว แม้ความสุขดังกล่าวจะเจือไปด้วยทุกข์ แต่ก็ยากที่เราจะหนีพ้นจากอำนาจของมันได้ จนกว่าเราจะค้นพบความสุขที่ดีกว่า ได้แก่นิรามิสสุขหรือเนกขัมมสุข (สุขที่ปลอดโปร่งจากกาม)  วิถีแห่งการเข้าถึงความสุขดังกล่าวมีอยู่แล้วในคำสอนของพระพุทธองค์ ซึ่งท่านอาจารย์พุทธทาสได้นำมาถ่ายทอดอย่างสมสมัย โดยท่านได้ย้ำให้เห็นถึงคุณค่าของการบำเพ็ญจิตภาวนา ซึ่งไม่เพียงช่วยให้เรามีสติและสมาธิเป็นเครื่องรักษาใจเท่านั้น หากยังนำไปสู่การพัฒนาปัญญาจนเห็นแจ้งในมายาภาพของตัวตน สามารถปล่อยวางความยึดติดถือมั่นใน “ตัวกู ของกู” ได้  เมื่อนั้นจิตใจก็จะเป็นอิสระจากวัตถุนิยมอย่างสิ้นเชิง วัตถุจะไม่เป็นนายของเราอีกต่อไป ตรงกันข้ามเรากลับเป็นนายของวัตถุ และสามารถใช้มันให้เกิดประโยชน์แก่เพื่อนมนุษย์อย่างแท้จริง

เมื่อใดที่เราสามารถเข้าถึงความสงบเย็น วัตถุนิยมจะมีเสน่ห์ต่อเราน้อยลง

อย่างไรก็ตาม พึงเข้าใจว่าการบำเพ็ญจิตภาวนาเพื่อเป็นอิสระจากวัตถุนิยม ไม่ได้หมายความว่าจะต้องนั่งหลับตาทำสมาธิหลีกเร้นแต่ผู้เดียวเท่านั้น หากยังสามารถทำได้ในชีวิตประจำวันท่ามกลางผู้คน หรือแม้แต่ในระหว่างทำงานได้  ดังท่านอาจารย์พุทธทาสได้ย้ำเสมอตลอดอายุขัยของท่านว่า “การทำงานคือการปฏิบัติธรรม” นั่นคือ ทำงานอย่างมีสติ ด้วยความไม่เห็นแก่ตัว มุ่งความถูกต้องมากกว่าความถูกใจ  และที่สำคัญคือ “ทำงานทุกชนิดด้วยจิตว่าง” คือว่างจากความยึดมั่นในตัวตน (เช่น ยึดมั่นว่านี้เป็น “งานของกู” ใครทำดีสู้ “กู”ไม่ได้)  รวมทั้งว่างจากความยึดมั่นในผลสำเร็จ (เช่น ยึดมั่นว่าจะต้องสำเร็จให้ได้ดังใจ หรือยึดมั่นว่านี้เป็น “ความสำเร็จของกู”)  ท่านอาจารย์พุทธทาสแนะว่าให้เรา ยกผลงานทั้งหมดให้แก่ “ความว่าง” คือไม่ยึดว่าเป็นผลงานของเราแม้แต่อย่างเดียว

เพียงแค่เห็นว่าการทำงานคือการปฏิบัติธรรม เท่านี้ก็ทวนกระแสวัตถุนิยมแล้ว เพราะทุกวันนี้ผู้คนมองการทำงานเป็นแค่อาชีพหรือเป็นบันไดไต่เต้าสู่สถานภาพที่สูงขึ้น โดยมองไม่เห็นคุณประโยชน์ที่สูงกว่านั้นเลย  จะว่าไปการที่ท่านอาจารย์พุทธทาสชูประเด็นนี้ขึ้นมาเมื่อเกือบ ๕๐ ปีที่แล้ว ถือได้ว่าเป็นเรื่องที่ท้าทายยุคสมัยมาก เพราะเวลานั้นคำขวัญของรัฐบาลทหารภายใต้การนำของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ คือ “งานคือเงิน เงินคืองาน บันดาลสุข”  ขณะที่คนไทยถูกกระตุ้นให้ทำงานเพื่อเงิน และเงินเท่านั้นที่จะนำความสุขมาให้ ท่านอาจารย์พุทธทาสกลับชี้ในทางตรงข้ามว่า พึงทำงานเพื่อธรรม และธรรมเท่านั้นที่นำความสุขมาให้อย่างแท้จริง

สุขที่ประเสริฐที่สุดคือนิรามิสสุข หรือสุขที่ไม่อิงอามิส  เมื่อใดที่ได้สัมผัสกับความสุขชนิดนี้ ก็จะพบว่าอามิสสุขหรือกามสุขนั้นมีความเย้ายวนน้อยลง เป็นสุขที่เจือไปด้วยความเร่าร้อน หากยึดมั่นไม่ยอมปล่อยก็ย่อมเป็นทุกข์ไม่ต่างจากผู้ถือคบไฟที่ทำด้วยหญ้า ย่อมต้องถูกไฟลามไหม้มือ  ใช่หรือไม่ว่านี้คือสาเหตุที่ผู้คนทั่วทั้งโลกกำลังเป็นทุกข์อยู่ทุกวันนี้ ทั้งๆ ที่พรั่งพร้อมด้วยทรัพย์สินเงินทองและมีชีวิตที่สะดวกสบายแล้วก็ตาม

การเกิดมาเป็นมนุษย์นั้นเป็นโชคอย่างยิ่ง แต่จะมีประโยชน์อะไรหากเราต้องตกเป็นทาสของวัตถุนิยม โดยไม่มีโอกาสสัมผัสความสุขอันประเสริฐที่เกิดจากอิสรภาพทางจิตวิญญาณเลยแม้แต่น้อย


ภาพประกอบ

พระไพศาล วิสาโล

ผู้เขียน: พระไพศาล วิสาโล

เจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต และประธานมูลนิธิเครือข่ายพุทธิกา