กรุงย่างกุ้งวันนี้ยังคงอบอวลด้วยบรรยากาศแห่งความเนิบช้า ผู้คนไม่เร่งรีบแข่งกับเวลาอย่างในเมืองหลวงอื่นๆ ยามเช้าผู้คนจะพากันมาออกกำลังกายกันขวักไขว่ โดยเฉพาะพื้นที่รอบเจดีย์ชเวดากองและทะเลสาบอินเล ส่วนในลานกว้างรอบมหาเจดีย์คู่บ้านคู่เมืองนั้นก็มีผู้คนมากมายผลัดกันมานั่งสวดมนต์หรือทำสมาธิภาวนาตั้งแต่เช้ามืดไปจนพลบค่ำ ถนนส่วนใหญ่ของเมืองนี้โปร่งโล่งเกือบทั้งวัน มีเพียงบางสายที่ผ่านย่านชุมชนเท่านั้นที่มีรถแน่นขนัดโดยเฉพาะในช่วงชั่วโมงเร่งด่วน
ยากจะหาเมืองหลวงใดในยุคโลกาภิวัตน์ที่ยังร่มรื่นอย่างย่างกุ้ง ริมถนนส่วนใหญ่มีต้นไม้ปลูกเรียงราย ทั้งที่อยู่บนทางเท้าและที่แผ่พ้นรั้วออกมา มองจากสายตาคนภายนอก ย่างกุ้งนับว่าเป็นเมืองที่สงบอย่างยิ่ง หนังสือพิมพ์แทบไม่มีข่าวอาชญากรรมสะเทือนขวัญ ตื่นเช้าขึ้นมาประชาชนไม่ต้องเครียดกับข่าวความขัดแย้งทางการเมืองของพรรคต่างๆ ไม่มีรายการข่าวยามเช้าที่เอาเรื่องหนักๆ มาเล่าให้ฟัง ไม่มีการทะเลาะเบาะแว้งระหว่างนักการเมือง ไม่มีนักวิชาการมาเตือนถึงอนาคตอันน่าหม่นมัวของประเทศ วิทยุโทรทัศน์มีแต่ข่าวความเจริญก้าวหน้าของประเทศ การประท้วงต่อต้านรัฐบาลแทบไม่มีเลยก็ว่าได้ จะไปไหนก็ไม่ต้องห่วงว่าจะมีการชุมนุมปิดถนน ผู้คนต่างทำมาหากิน ไม่ต้องเสียเวลามาวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลตามร้านกาแฟหรือตามเว็บไซต์ ใครที่ขยันทำมาหากินก็มีโอกาสร่ำรวย เพราะโอกาสเปิดกว้างขึ้นมากหลังจากมีการเปิดประเทศเมื่อเกือบสิบปีที่แล้ว
ในบรรยากาศอย่างนี้ชาวพม่าหรืออย่างน้อยชาวย่างกุ้งน่าจะมีความสุข ดูเผินๆ ก็น่าจะเป็นเช่นนั้น เพราะหลายคนมีชีวิตที่สะดวกสบายขึ้น สามารถออกรถคันใหม่ มีเงินเที่ยวห้างหรือกินอาหารหรูตามโรงแรมห้าดาว แต่คนที่มีโอกาสเช่นนั้นแท้จริงกลับกระจุกตัวอยู่ในคนกลุ่มเล็กๆ
ขณะที่คนส่วนใหญ่หาได้เป็นเช่นนั้นไม่ ทั้งๆ ที่ประเทศพม่ามีรายได้มหาศาลจากน้ำมันและทรัพยากรธรรมชาติอีกมากมาย แต่ผู้คนไม่ได้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นมากนัก เพราะรายได้ส่วนใหญ่ตกอยู่กับทหารระดับสูงซึ่งผลัดกันยึดครองประเทศมากว่า ๕๐ ปี ทหารเหล่านี้ใช้กองทัพซึ่งมีขนาดใหญ่เกือบ ๒ เท่าของประเทศไทย (กำลังพล ๕ แสนคน) สยบประชาชนมิให้มีปากมีเสียงใดๆ สถาบันประชาธิปไตยถูกรื้อถอนในนามความมั่นคงของประเทศ และนั่นคือสิ่งเดียวที่คณะทหารทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ ที่เหลือนอกนั้นล้วนล้มเหลว
เศรษฐกิจคือเครื่องฟ้องถึงความล้มเหลวของรัฐบาลทหารพม่าอย่างเด่นชัด ทุกวันนี้ประชาชนส่วนใหญ่กำลังอยู่ในภาวะที่ย่ำแย่ แม้แต่เงินเดือนของหมอในโรงพยาบาลของรัฐก็ไม่เกิน ๑,๐๐๐ บาทต่อเดือน ส่วนเงินเดือนของครูก็แค่ ๕๐๐ บาท (ขณะที่อาหารตามท้องตลาดราคาจานละ ๑๕ บาท) แต่ที่น่าวิตกพอๆ กันก็คือการศึกษา เป็นที่รู้กันในหมู่ชาวพม่าว่าแม้จะเรียนจบมหาวิทยาลัยของรัฐมาก็หามีความรู้ไม่ เพราะแทบไม่มีการสอนนักศึกษาอย่างจริงจังเลย มิจำต้องพูดถึงการสั่งปิดมหาวิทยาลัยนานเป็นปีๆ เพราะกลัวนักศึกษามาสุมหัวต่อต้านรัฐบาล
ในขณะที่คนชั้นกลางแทบไม่ได้ประโยชน์จากระบบอุดมศึกษาของรัฐเลย คนยากจนกลับย่ำแย่กว่านั้นเพราะรัฐบาลไม่สามารถช่วยให้เข้าเรียนในระดับประถมศึกษาได้อย่างทั่วถึง เด็กที่ไร้การศึกษาขั้นพื้นฐานจำนวนมากได้กลายมาเป็นภาระที่ประชาชนต้องช่วยโอบอุ้มกันเอง กลไกหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญในเรื่องนี้คือวัด ในย่างกุ้งมีวัดเกือบ ๑๗๐ แห่งที่จัดตั้งโรงเรียนสอนเด็กยากจน แต่ละโรงมีนักเรียน ๓๐๐-๕๐๐ คน ซึ่งจำนวนไม่น้อยเป็นเด็กกำพร้าที่พ่อแม่ตายจากสงครามหรือหนีภัยรัฐบาล โรงเรียนเหล่านี้เป็นภาระที่หนักอึ้งสำหรับวัดซึ่งส่วนใหญ่มีเงินทุนจำกัด ต้องอาศัยกำลังสนับสนุนจากญาติโยม แต่ก็ไม่มากพอที่จะช่วยจัดการศึกษาอย่างมีคุณภาพได้ โรงเรียนวัดส่วนใหญ่จึงมีห้องเรียนที่แออัด นักเรียนชั้นต่างๆ ต้องมาเรียนอยู่ในห้องเดียวกันโดยไม่มีฝากั้น ส่วนอุปกรณ์การศึกษาก็ขาดแคลนมาก
สวัสดิการสำหรับประชาชนที่ทุกข์ยาก เป็นความล้มเหลวอีกอย่างหนึ่งของรัฐบาลที่กลายมาเป็นภาระของวัด วัดจึงกลายเป็นที่พึ่งอันสำคัญทั้งทางกายและจิตใจของประชาชนพม่าไปแล้ว แต่มาถึงวันนี้วัดต่างๆ กำลังกำลังตกที่นั่งลำบาก เพราะพระจำนวนมากหากไม่ถูกจับก็ต้องลบลี้หนีภัยหลังจากที่รัฐบาลทหารใช้กำลังสลายการประท้วงที่นำโดยพระสงฆ์ หลายวัดถูกปิด กิจกรรมของพระสงฆ์ถูกจับตาเฝ้ามอง ขณะที่ความไม่ไว้วางใจในหมู่พระเพิ่มสูงขึ้น เพราะไม่แน่ใจว่าใครเป็นสายของรัฐบาลบ้าง ไม่มีใครบอกได้ว่าสถานการณ์เช่นนี้จะคงอยู่ไปนานแค่ไหน การพระศาสนาของพม่าจึงอยู่ในสภาพที่น่าเป็นห่วงภายใต้รัฐบาลปัจจุบัน
ทั้งหมดนี้คือส่วนเสี้ยวของความจริงอันเจ็บปวดที่อยู่เบื้องหลัง “ความสงบ” ในพม่า จะเรียกว่านี้คือ “ราคา” ของความสงบก็ไม่ผิด เป็นความสงบที่เกิดจากการเผด็จการทหารซึ่งพ่วงมาพร้อมกับความไร้ประสิทธิภาพในการบริหารประเทศ สำหรับผู้ที่เรียกหาความสงบที่ไร้ความขัดแย้ง ไม่อยากเห็นการโต้เถียง รำคาญการวิพากษ์วิจารณ์ ทนไม่ได้กับการชุมนุมประท้วงหรือปิดถนน ควรอย่างยิ่งที่จะหันมามองประเทศพม่าว่าเราต้องเสียอะไรบ้างเพื่อแลกกับความสงบแบบราบคาบดังกล่าว
คนไทยจำนวนมากไม่พอใจกับสภาพปัจจุบันที่มีความขัดแย้งทางความคิดกันมาก ไปที่ไหนก็เห็นคนโต้เถียงกันในเรื่องการบ้านการเมือง ไม่ว่าจะอ่านหนังสือพิมพ์หรือดูโทรทัศน์ก็เต็มไปด้วยข่าวนักการเมืองทะเลาะกัน วันดีคืนดีก็มีการประท้วงโครงการต่างๆ ของรัฐ จนดูวุ่นวายไปหมด มองไปข้างหน้าแล้วก็ยังไม่เห็นว่าบรรยากาศแบบนี้จะหมดไปเมื่อไรแม้เลือกตั้งผ่านพ้นไปแล้ว หลายคนจึงรำคาญกับระบอบประชาธิปไตยและการเปิดเสรีทางการเมือง แต่สิ่งหนึ่งที่เราไม่ควรลืมไปก็คือ เสรีภาพและการยอมให้มีความแตกต่างทางความคิดคือปัจจัยสำคัญที่ทำให้บ้านเมืองเราไม่ทรุดต่ำอย่างพม่าเวลานี้ การที่ทุกฝ่ายมีสิทธิมีเสียงในทางการเมืองแม้จะยังไม่มากเท่าที่ควร ช่วยให้การบริหารบ้านเมืองมีความโปร่งใสมากขึ้น และลดความไม่เป็นธรรมในการจัดสรรทรัพยากรให้น้อยลง ขณะที่ระบบต่างๆ มีประสิทธิภาพมากขึ้นกว่าเดิม
เราอาจลืมไปแล้วว่าชีวิตความเป็นอยู่ของเราดีขึ้นไปมากเพียงใดในภาพรวม เรามีความเป็นอยู่ที่สะดวกสบายขึ้น มีโอกาสทางการศึกษามากขึ้น มีสวัสดิการรองรับมากขึ้น และมีหลักประกันทางกฎหมายมากขึ้น ทั้งหมดนี้เป็นเพราะกติกาที่ให้ทุกคนมีสิทธิมีเสียงเท่ากัน (แม้จะไม่ทุกเรื่อง) ซึ่งหมายถึงการเปิดกว้างให้มีความหลากหลายทางความคิด รวมทั้งความขัดแย้งต่างๆ อย่างที่เห็นในปัจจุบัน
การที่ทุกฝ่ายมีสิทธิมีเสียงในทางการเมืองแม้จะยังไม่มากเท่าที่ควร ช่วยให้การบริหารบ้านเมืองมีความโปร่งใสมากขึ้น และลดความไม่เป็นธรรมในการจัดสรรทรัพยากรให้น้อยลง ขณะที่ระบบต่างๆ มีประสิทธิภาพมากขึ้นกว่าเดิม
ความขัดแย้งมิใช่เป็นธรรมดาของระบอบประชาธิปไตยเท่านั้น หากยังเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเราทุกคนด้วย แม้อยู่คนเดียวก็เรายังขัดแย้งหรือทะเลาะกับตัวเองเลย นับประสาอะไรกับความขัดแย้งกับผู้อื่น หากปรารถนาชีวิตที่เป็นสุข เราจึงควรเรียนรู้ที่จะอยู่กับความขัดแย้งให้ได้ คือยอมรับความแตกต่างทางความคิด และอยู่กับคนที่มีความคิดขัดแย้งกับเราได้ ดียิ่งกว่านั้นก็คือการรู้จักใช้ประโยชน์จากความขัดแย้งนั้น อาทิ นำเอาความคิดที่แตกต่างมาเป็นเครื่องตรวจสอบความคิด การทำงาน และพฤติกรรมของเรา เพื่อให้มีความรอบด้านมากขึ้น หรือแก้ไขปรับปรุงให้ดีขึ้น หาไม่ก็ใช้ความเห็นแย้งเหล่านั้นมาเป็นเครื่องฝึกฝนอัตตาให้บางเบา ไม่ยึดติดถือมั่นกับความเห็นของตนจนทนไม่ได้กับความเห็นต่าง แม้ถูกวิจารณ์ก็ไม่รู้สึกฝ่อ ห่อเหี่ยวหรือโกรธเคือง
ไม่พึงมองคนที่เห็นต่างจากเราเป็นศัตรู เพราะเขาอาจเป็นสามี ภรรยา เพื่อน หรือญาติของเรานี่เอง หรือถึงจะเป็นคนไกลตัว เขาก็ยังเป็นเพื่อนร่วมชาติของเรา เหนืออื่นใดเขาเป็นเพื่อนร่วมโลกและเพื่อนร่วมทุกข์ของเรา แม้ความเห็นของเขาจะต่างกับเรา แต่เรากับเขาก็มีอะไรที่เหมือนกันมากมาย รวมทั้งมีความเห็นที่สอดคล้องกันในอีกหลายเรื่อง วันนี้แม้จะเห็นต่างในเรื่องนี้ แต่พรุ่งนี้ก็อาจจะเห็นเหมือนกันในเรื่องอื่น ใช่หรือไม่ว่าแม้แต่ตัวเราเองยังมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเดียวกันเมื่อกาลเวลาผ่านไป ถ้าเราทนไม่ได้กับคนที่คิดต่าง แล้วเราจะทนอยู่กับตัวเองได้อย่างไร
เราทุกคนสามารถอยู่ร่วมกันได้แม้คิดต่าง แต่อัตตานั้นทนไม่ได้กับอะไรที่ต่างจากมัน ถ้าเราปล่อยให้อัตตาเป็นใหญ่ เราก็จะต้องทะเลาะกับคนทั้งโลก และหาความสุขไม่ได้เลย ดังนั้นเราจึงจำเป็นต้องรู้เท่าทันอัตตา ไม่ยึดติดถือมั่นความคิดใดๆ ว่าเป็นตัวกูของกู หาไม่แล้วอัตตาจะกลายมาเป็นใหญ่เหนือชีวิตเรา และความคิดนั้นๆ จะกลายมาเป็นนายของเรา หาใช่เครื่องมือรับใช้เราไม่
ไม่ว่าวันนี้หรือวันหน้าจะมีความขัดแย้งกันมากเพียงใด หากรู้จักอยู่กับความขัดแย้ง และใช้ประโยชน์จากความขัดแย้งเหล่านั้น ชีวิตย่อมมั่นคงและเป็นสุขอยู่ได้ บ้านเมืองย่อมเจริญก้าวหน้าและนำพาผู้คนสู่ความผาสุกที่ยั่งยืน เป็นความสงบสุขที่มิใช่ความสงบราบคาบอย่างที่เห็นในรัฐเผด็จการข้างบ้านอย่างแน่นอน