ก่อนพุทธศาสนาอายุครบ ๒๖ ศตวรรษ

พระไพศาล วิสาโล 11 ตุลาคม 2008

พุทธศาสนากำลังได้รับความนิยมอย่างมากในซีกโลกตะวันตก  ในสหรัฐอเมริกาพุทธศาสนาจัดว่าเป็นศาสนาหนึ่งที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็วที่สุดในหมู่คนพื้นเมืองผิวขาว โดยเฉพาะผู้มีการศึกษาชั้นสูง (ผิดกับแต่ก่อนที่การขยายตัวของพุทธศาสนาเกิดจากการอพยพของคนเอเชีย)  สมาธิภาวนาแบบพุทธได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางไม่จำเพาะในหมู่ชาวพุทธ หากยังขยายไปสู่แวดวงอื่นๆ รวมทั้งแวดวงการแพทย์ และจิตเวช จนคำว่า “วิปัสสนา” กลายเป็นคำที่คุ้นปากผู้คน  ร้านหนังสือชั้นนำทุกแห่งทั่วประเทศต้องมีชั้นหนังสือเกี่ยวกับพุทธศาสนาวางขายโดยเฉพาะ และหลายเล่มเป็นหนังสือขายดี

ในเวลาเดียวกัน แนวคิดทางพุทธศาสนาหรือพุทธธรรมก็ได้รับความสนใจจากคนในวงการต่างๆ มากขึ้น ในฐานะที่อาจเป็นคำตอบให้แก่โลกทางด้านนิเวศวิทยาและสันติภาพ  ขณะเดียวกันก็ได้สร้างความรุ่มรวยลุ่มลึกให้แก่องค์ความรู้ในหลายสาขา ทั้งวิทยาศาสตร์ การแพทย์ จิตวิทยา และเศรษฐศาสตร์  ดังเห็นได้จากการเสวนาวิสาสะระหว่างชาวพุทธชั้นนำกับนักคิดในวงการและสาขาวิชาต่างๆ ซึ่งเกิดขึ้นอย่างคึกคักตลอดทศวรรษที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม มีความเป็นไปได้ว่าปรากฏการณ์ดังกล่าวแม้มีแนวโน้มขยายตัว แต่ในที่สุดก็อาจจำกัดอยู่เฉพาะแวดวงส่วนน้อยของชาวพุทธ อาทิ ในหมู่ชนชั้นนำหรือผู้มีการศึกษา จนกลายเป็นรูปแบบการใช้ชีวิต หรือ “ไลฟ์สไตล์” ของคนเฉพาะกลุ่ม (ดังโยคะซึ่งเป็นที่นิยมจนแทบจะกลายเป็น “แฟชั่น” ในหมู่ชนชั้นกลางหรือผู้มีอันจะกินที่มีการศึกษา) อย่างดีก็ทำให้พุทธศาสนาเป็นเรื่องของคนที่ต้องการหลุดพ้นเฉพาะตน  ในขณะเดียวกันก็เป็นไปได้เช่นกันว่าพุทธศาสนากระแสใหม่ซึ่งแพร่หลายในกลุ่มคนเหล่านี้จะหดแคบเรียวลง จนเป็นแค่เทคนิคจิตบำบัดหรือวิธีการผ่อนคลายจิตใจอีกชนิดหนึ่งเท่านั้น  ในกรณีเช่นนั้นปรากฏการณ์ดังกล่าวก็เป็นเพียงภาพสะท้อนการแปรเปลี่ยนพุทธศาสนาให้เป็นสินค้าเพื่อการบริโภคอีกชนิดหนึ่งเท่านั้น  มิพักต้องกล่าวว่าแนวคิดใหม่ๆ ที่พุทธศาสนาจะให้แก่โลกนั้น ในที่สุดก็อาจเป็นเพียงแค่ประเด็นสำหรับการถกเถียงทางวิชาการหรือกลายเป็นศาสตร์อีกแขนงหนึ่งที่จำเพาะผู้คนในแวดวงมหาวิทยาลัยเท่านั้นที่สนใจ

จะข้ามพ้นจากกับดักดังกล่าวไปได้ การมีปฏิสัมพันธ์อย่างสร้างสรรค์กับโลกสมัยใหม่และวัฒนธรรมร่วมสมัยอย่างรู้เท่าทัน เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับชาวพุทธ  ขณะเดียวกันก็ไม่ควรพอใจกับการอ้าแขนต้อนรับของวงการต่างๆ โดยยอมให้มีการนำเอาบางแง่บางด้านไปใช้ประโยชน์ แต่ละทิ้งสิ่งที่เป็นหัวใจของพุทธศาสนา (ได้แก่การลดความเห็นแก่ตัวจนหลุดพ้นจากความยึดติดถือมั่นในตัวตน) เพราะนั่นอาจกลายเป็นการยอมตนให้ถูกกลืนอีกแบบหนึ่ง  แต่ชาวพุทธควรก้าวไปมากกว่านั้น นั่นคือพยายามผลักดันให้แนวโน้มด้านบวกต่างๆ ที่กล่าวมาขยายตัวในทุกปริมณฑลและผสานเข้ากับวิถีชีวิตของผู้คนจนกลายเป็น “วัฒนธรรม”  เราอาจเรียกวัฒนธรรมดังกล่าวว่า “วัฒนธรรมแห่งความตื่นรู้”  กล่าวคือเป็นไปเพื่อการตื่นจากความหลงในวัตถุนิยม และจากความยึดติดถือมั่นในเชื้อชาติ ศาสนา ภาษา สีผิว อันนำไปสู่การเบียดเบียนทำร้ายกัน

ในยามที่โลกกำลังเผชิญวิกฤตจนใกล้ลุกเป็นไฟ (ทั้งด้วยเพลิงสงครามและปรากฏการณ์โลกร้อน) อันเป็นผลจากวัฒนธรรมหลัก ๒ กระแส คือวัฒนธรรมแห่งความละโมบ และวัฒนธรรมแห่งความโกรธเกลียด  โดยมีกระแสโลกาภิวัตน์ เป็นทั้งปัจจัยสนับสนุนและกระตุ้นเร้า  วัฒนธรรมแห่งความตื่นรู้เป็นสิ่งสำคัญที่จะ “ช่วยโลก” ให้ปลอดพ้นจากวิกฤตการณ์ได้อย่างแท้จริง  ทั้งโดยการทัดทานถ่วงดุลวัฒนธรรม ๒ กระแสดังกล่าว และด้วยการเสนอทางเลือกของชีวิตและสังคมที่ดีกว่า

ไม่ใช่แต่อนาคตของโลกเท่านั้น แต่รวมถึงอนาคตของพุทธศาสนาด้วย ล้วนขึ้นอยู่กับว่าพุทธศาสนาจะสามารถขับเคลื่อนให้เกิดวัฒนธรรมแห่งความตื่นรู้ได้หรือไม่  เป็นที่ยอมรับกันว่าพุทธศาสนาเป็นระบบการปฏิบัติที่ช่วยให้บุคคลเกิดความตื่นรู้จนเป็นอิสระจากความทุกข์ แต่นั่นก็เป็นเพียงด้านหนึ่งของพุทธศาสนา  หากการนำพาบุคคลให้รู้จักมองตนจนประจักษ์แจ้งในสัจธรรม เป็นมิติด้านลึกของพุทธศาสนา  พุทธศาสนาก็ยังมีมิติหนึ่งคือมิติด้านกว้าง ซึ่งหมายถึงการช่วยเหลือมหาชนให้พ้นทุกข์และเกื้อกูลสังคมให้เกิดสันติสุข  คำสอนทางพุทธศาสนาไม่ได้มีจุดมุ่งหมายเพียงเพื่อชักนำผู้คนให้เข้าถึงปรมัตถธรรมเท่านั้น  หากยังมุ่งส่งเสริมให้ผู้คนมีสำนึกความรับผิดชอบต่อส่วนรวม และช่วยให้สังคมเกิดความสงบสุข  วัฒนธรรมแห่งความตื่นรู้ไม่อาจเกิดขึ้นได้หากชาวพุทธมุ่งแต่ความหลุดพ้นเฉพาะตน  หากจำต้องออกไปสร้างสรรค์สังคมเพื่อให้เกื้อกูลต่อความตื่นรู้ของผู้คนในวงกว้างด้วย  กล่าวอีกนัยหนึ่ง ลำพังจิตที่ตื่นรู้เฉพาะตนนั้นยังไม่เพียงพอ แต่ต้องขยายผลให้เกิดวัฒนธรรมแห่งความตื่นรู้ด้วย

ทุกวันนี้พุทธศาสนาถูกตีความให้แคบจนเหลือแต่ด้านเดียวคือมิติด้านลึก (หรือยิ่งกว่านั้นคือเหลือแต่เพียงประเพณีพิธีกรรม ซึ่งเป็นความตื้นอย่างยิ่ง)  การตีความเช่นนั้นเป็นการตีกรอบพุทธศาสนาให้มีบทบาทแคบลง คือไม่สนใจชะตากรรมของสังคม  การจำกัดตัวเช่นนี้นอกจากจะทำให้วัฒนธรรมแห่งความละโมบและความโกรธเกลียดเฟื่องฟูและซึมลึกแล้ว ยังเป็นผลเสียต่อพุทธศาสนาเอง  เพราะสังคมที่ถูกครอบงำด้วยวัฒนธรรมแห่งความละโมบและความโกรธเกลียดนั้น ย่อมบั่นทอนพลังของพุทธศาสนาเอง  และทำให้พื้นที่ในการปฏิบัติธรรมของชาวพุทธแคบลง จนแม้แต่การรักษาตนให้มีคุณธรรมก็จะเป็นไปได้ยากขึ้น  ดังทุกวันนี้ผู้คนพบว่าตนยากที่จะครองตนให้มีความซื่อสัตย์สุจริตได้ในเวลาทำงาน เพียงแค่อยู่บนท้องถนนก็ยากจะมีน้ำใจเอื้อเฟื้อต่อผู้อื่นได้ แต่ต้องเห็นแก่ตัวจึงจะอยู่รอดได้  กลายเป็นว่าจะเป็นคนดีได้ก็เฉพาะเวลาอยู่ในบ้านเท่านั้น  และนับวันการทำความดีหรือมีน้ำใจแม้แต่ในบ้านก็เป็นเรื่องยาก เพราะต่างแสวงหาประโยชน์จากกันและกัน  การเอาเปรียบและใช้ความรุนแรงในบ้านจึงมีแนวโน้มมากขึ้น  สิ่งที่พระพรหมคุณาภรณ์  (ป.อ.ปยุตโต) เตือนไว้เกือบ ๓ ทศวรรษมาแล้วจึงใกล้จะเป็นความจริงขึ้นทุกที  กล่าวคือ ชาวพุทธกำลังอยู่ในสภาพเป็นฝ่ายตั้งรับและถอยร่นไปเรื่อยๆ “เหมือนหนีไปรวมกันอยู่บนเกาะที่ถูกน้ำล้อมรอบ ขาดจากชาวมนุษย์อื่น” และต่อไปอาจถึงขั้นว่า “การปฏิบัติตามหลักการของพระพุทธศาสนาไม่อาจเป็นไปได้เลย”

การเสริมสร้างวัฒนธรรมแห่งความตื่นรู้จนกลายเป็นวิถีชีวิตของมหาชน จะทำให้พุทธศาสนาพ้นจากการเป็นวิถีปฏิบัติของคนเฉพาะกลุ่มที่มุ่งความหลุดพ้นเฉพาะตน (โดยกระจุกตัวอยู่ในวัดป่าหรือสำนักปฏิบัติต่างๆ) และมีความหมายต่อผู้คนทุกหมู่เหล่า เปรียบเสมือนสระน้ำอันกว้างใหญ่ที่คนทุกประเภทได้ใช้สอย ไม่จำเพาะนักปฏิบัติธรรมหรือคนบางกลุ่มเท่านั้น  อย่างไรก็ตามวัฒนธรรมแห่งความตื่นรู้จะเกิดขึ้นได้ ไม่อาจเกิดขึ้นได้จากลำพังของพุทธคาสนาเอง แต่จำเป็นต้องร่วมมือกับขบวนการอื่นๆ ที่มุ่งสร้างสรรค์สังคมให้เกิดสันติสุขในด้านต่างๆ  เช่น ขบวนการสิ่งแวดล้อม ขบวนการสันติภาพ ขบวนการพัฒนา ตลอดจนองค์กรศาสนาอื่นๆ ที่มีจุดร่วมคล้ายกันโดยเฉพาะที่เห็นโทษภัยของบริโภคนิยม และอุดมการณ์ที่ปลุกให้เกิดความโกรธเกลียด ไม่ว่าด้วยสาเหตุทางด้านเชื้อชาติ ศาสนา ภาษา สีผิว

อนาคตของพุทธศาสนา ขึ้นอยู่กับว่าพุทธศาสนาจะสามารถขับเคลื่อนให้เกิด “วัฒนธรรมแห่งความตื่นรู้” ได้หรือไม่

พุทธศาสนาแม้จะมีจุดเด่นในด้านวิถีแห่งการปฏิบัติเพื่อความตื่นรู้เฉพาะตน ซึ่งใช้ได้กับผู้คนทุกยุคทุกสมัยเพราะธรรมชาติของคนนั้นเป็นสากล  แต่ในด้านการสร้างสรรค์สังคมนั้น พุทธศาสนามีข้อจำกัดตรงที่มีเพียงหลักการกว้างๆ สำหรับการจัดวางสังคมที่ดีงาม แต่ไม่มีคำตอบหรือวิถีทางที่ชัดเจนเป็นรูปธรรมสำหรับการแก้ปัญหาของสังคมยุคปัจจุบัน (หรือยุคใดก็ตาม)  เนื่องจากสังคมมีความเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ดังนั้นในการขับเคลื่อนผลักดันให้เกิดวัฒนธรรมแห่งความตื่นรู้ไปทั่วทั้งสังคมนั้น จึงต้องร่วมมือขบวนการทางสังคมเหล่านี้ซึ่งมีจุดเด่นตรงที่มียุทธศาสตร์ทางสังคมและการเมืองที่ชัดเจนและสอดคล้องกับบริบททางสังคมมากกว่า  อย่างไรก็ตามสิ่งสำคัญที่พุทธศาสนาจะช่วยได้ก็คือ การเสริมสร้างมิติทางจิตวิญญาณให้แก่ขบวนการเหล่านี้  เพื่อให้เป็นขบวนการที่ไม่เพียงมุ่งเปลี่ยนแปลงสังคมเท่านั้น หากมุ่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงภายในด้วย  นอกจากการมุ่งช่วยให้ผู้คนเป็นอิสระจากการเอารัดเอาเปรียบและการบีบคั้นทางสังคมแล้ว ยังมุ่งให้ผู้คนเป็นอิสระจากความบีบคั้นของกิเลส ซึ่งเป็นรากเหง้าแห่งความทุกข์ทั้งปวง  หาไม่แล้วการเปลี่ยนแปลงทางสังคมอาจลงเอยด้วยการเปลี่ยนกลุ่มคนและรูปแบบการเอารัดเอาเปรียบกันเท่านั้น

ในยุคที่ผู้คนให้ความสำคัญกับเสรีภาพจากความบีบคั้นทางสังคม (รวมทั้งจากการเอาเปรียบผ่านกลไกทางเศรษฐกิจและการเมือง)  พุทธศาสนาจะมีความหมายได้ก็ต่อเมื่อนำเอาจุดเน้นดังกล่าวมาเป็นส่วนหนึ่งของพุทธศาสนาควบคู่กับเสรีภาพจากความทุกข์ภายใน  การเน้นเสรีภาพทั้งสองมิติ คือเสรีภาพทางจิตวิญญาณและเสรีภาพทางสังคม จะทำให้พุทธศาสนากลับมามีพลังและเป็นความหวังของโลกได้

จะทำเช่นนั้นได้ พุทธศาสนาต้องมีการปรับตัวครั้งใหญ่ เพื่อฟื้นฟูมิติทางจิตวิญญาณที่เลือนหายไปให้กลับมามีพลัง โดยไม่ติดยึดกับประเพณีหรือค่านิยมที่เป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงปรมัตถธรรม  ขณะเดียวกันก็ต้องออกมาสัมพันธ์กับโลกให้มากขึ้น เปิดมิติทางสังคมให้กว้าง เพื่อลดทอนความทุกข์ของผู้คน  นอกจากการฟื้นฟูในทางหลักธรรมแล้ว การปฏิรูปสถาบันก็เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้  ในสภาพที่คณะสงฆ์นับวันจะเสื่อมถอยและปฏิเสธการเปลี่ยนแปลงตัวเอง  การผลักดันจากภายนอกเป็นสิ่งที่ไม่อาจมองข้ามความสำคัญได้  ขณะเดียวกันก็จำต้องคิดถึงการสร้างชุมชนแห่งความตื่นรู้ชนิดอื่นๆ ที่นอกเหนือจากคณะสงฆ์หรือวัดด้วย  ความตื่นตัวของชาวพุทธที่อยู่นอกวัดหรือไม่อิงกับวัด และเชื่อมโยงสัมพันธ์กันเป็นเครือข่าย  อาจเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนวัฒนธรรมแห่งความตื่นรู้ให้เกิดขึ้นได้ในสังคมไทยก็ได้

ปี ๒๕๕๕ พุทธศาสนาจะมีอายุครบ ๒๖ ศตวรรษ (หากเริ่มนับตั้งแต่ปฐมเทศนาหรือ ๔๕ ปีก่อนพุทธปรินิพพาน)  พุทธศาสนาจะยังมีชีวิตชีวาและพลังในการปลุกความตื่นรู้ให้แก่สังคมไทยได้หรือไม่ ขึ้นอยู่ว่าสามารถปรับตัวไปในทิศทางที่กล่าวข้างต้นได้มากน้อยเพียงใด  หากการปรับตัวดังกล่าวมิอาจเกิดขึ้นได้ ก็น่าเป็นห่วงว่าพุทธศาสนาไทยในศตวรรษที่ ๒๗ จะเป็นได้อย่างมากเพียงแค่ร่างทรงของบริโภคนิยมและวัตถุนิยมเท่านั้น


ภาพประกอบ

พระไพศาล วิสาโล

ผู้เขียน: พระไพศาล วิสาโล

เจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต และประธานมูลนิธิเครือข่ายพุทธิกา