นิทานเรื่องนี้เริ่มต้นด้วยแม่เป็ดที่กำลังกกไข่ถูกหมาจิ้งจอกฆ่าตาย มันจากไปโดยทิ้งไข่เป็ดไว้ โชคเคราะห์ที่ไม่เลวร้ายเกินไปนักคือ ครอบครัวแม่ไก่ พ่อไก่ได้รู้เห็นเหตุการณ์ และด้วยความเมตตามันจึงได้กกไข่เลี้ยงดูลูกเป็ดเสมือนลูกของตัวเอง ความเป็นพ่อแม่คือ การทำหน้าที่เลี้ยงดูลูก ทั้งแม่และพ่อไก่ทำหน้าที่อย่างดีเลิศ แต่พวกมันก็ต้องทำงานหนัก เพราะบรรดาลูกเป็ดทั้งหลายมันหากินแบบไก่ไม่ได้เลย กระทั่งวันหนึ่งพวกมันเจอทะเลสาบ บรรดาลูกเป็ดต่างโผลงน้ำเล่นสนุก หากินตามประสา ท่ามกลางเสียงตะโกนโหวกเหวกของพ่อและแม่ไก่ด้วยความตกใจ กลัวและกังวล เมื่อลูกเป็ดเริ่มเล่นผาดโผนมากขึ้นเรื่อยๆ
เรื่องราวดูใหญ่โตเรื่อยๆ พ่อไก่ออกอาการที่จะใช้กำลังกับลูกเป็ด ขณะที่แม่ไก่ก็ใช้ท่าทีคร่ำครวญ จนลูกเป็ดตัวหนึ่งต้องมาบอกกับพ่อและแม่ไก่ของตนว่า “อย่าใช้ขีดจำกัดของตัวเองมาบังคับพวกเรานะ” จากนิทาน คงไม่ยากที่พวกเราจะมองเห็นว่าเรื่องนี้ไม่มีใครผิด ใครถูก ทั้งพ่อและแม่ไก่ รวมถึงบรรดาลูกเป็ดต่างมีมุมมองของตนเอง และมีวิธีรับมือกับเรื่องราวตรงหน้าที่แตกต่างกันไป แต่ละฝ่ายต่างมองเห็นความจริงจากมุมมองของตน
จากนิทานขยายภาพมาสู่ความสัมพันธ์เชิงครอบครัว ความขัดแย้งในครอบครัวที่มักเกิดขึ้น คือ ความไม่เข้าใจในกันและกัน และโดยความคาดหวัง ความต้องการที่ผลักดัน แต่ละสมาชิกในครอบครัวต่างใช้วิธีการในแบบของตนเองรับมือกับเรื่องราวตรงหน้า ซึ่งรวมถึงการใช้บทบาทหน้าที่บังคับอีกฝ่าย จนกลายเป็นความรุนแรงที่ทำร้ายอีกฝ่าย ประสานกับมุมองคำตัดสินที่เรายึดถือ เช่น “ทำแบบนี้ไม่ได้” “ฉันอาบน้ำร้อนมาก่อน” “ฉันถูก เธอผิด” ฯลฯ ก็ยิ่งทำให้น้ำหนักของการกระทบต่อกันกลายเป็นความรุนแรงทำร้ายจิตใจ และอาจรวมถึงร่างกายต่อกัน กลายเป็นบาดแผลและยิ่งทำให้เรื่องราวบาดหมางรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ยากที่จะประสานมากขึ้น
สมชาย (นามสมมุติ) เป็นหัวหน้าครอบครัวที่มีภรรยา ลูกสาววัยรุ่น และลูกชายตัวน้อย ความรักที่มีต่อครอบครัว ความเครียดที่มีต่อการงาน ก็ทำให้ครอบครัวนี้มีเรื่องกระทบกันบ้าง ดีต่อกันบ้าง เหมือนครอบครัวทั่วๆ ไป แต่เมื่อลูกสาวเข้าสู่วัยรุ่น เพื่อนเริ่มมีบทบาทความสำคัญในชีวิต รวมถึงการมีเพื่อนชาย กระทั่งพ่อมองว่าลูกสาวให้ความสำคัญกับเพื่อนมากกว่าตนเอง โทรศัพท์มือถือกลายเป็นเครื่องมือสื่อสารที่ทำให้ลูกสาวอยู่กับเพื่อนแทบ ๒๔ ชั่วโมง แม้ยามอยู่ในครอบครัว ลูกสาวก็พอใจกับการพูดคุยแลกเปลี่ยนกับเพื่อนผ่านโปรแกรมต่างๆ ในอุปกรณ์ตัวนี้ พ่อพยายามห้ามปราม ตักเตือนถึงเรื่องค่าใช้จ่าย การใช้เวลา ความรับผิดชอบต่อการเรียน เรื่องราวเริ่มบานปลายกลายเป็นการทะเลาะวิวาท ใช้กำลัง ริบมือถือ และทำลายข้าวของ กระนั้นลูกสาวก็มีหนทางเอาชนะพ่อด้วยการหาโทรศัพท์เครื่องใหม่
ด้วยมุมมองต่อเรื่องการใช้โทรศัพท์ การใช้ชีวิตของลูกวัยรุ่นทำให้พ่อมีพฤติกรรมบางอย่างที่ลูกไม่เห็นด้วยและไม่ยอมรับ และด้วยมุมมอง ระบบคุณค่าบางอย่างต่อชีวิตของตน ต่อการตัดสินใจของตน ก็ทำให้ลูกสาวเลือกกระทำในสิ่งที่ขัดแย้งกับมุมมองของพ่อ ประสานกับพลังที่มาหนุนเสริมเรื่องราวด้วยความรัก ความเป็นห่วงของพ่อ กับคุณค่าเรื่องมิตรภาพ เรื่องอิสรภาพที่ลูกสาวยึดถือ รวมถึงความคิดเรื่องถูก ผิด ที่ต่างฝ่ายต่างให้กับตนเอง ก็ยิ่งเป็นแรงผลักให้ ๒ ฝ่ายต่างใช้วิธีการในแบบของตนเองเอาชนะอีกฝ่ายให้ได้ และยิ่งพยายาม รอยร้าวความบาดหมางก็ยิ่งมากขึ้น และมากขึ้น
สิ่งที่น่าสนใจและประหลาดใจ คือ ภายใต้ความพยายามที่จะทำสิ่งถูกต้อง ทำสิ่งที่ใช่ สิ่งที่ชอบธรรมของแต่ละฝ่าย ผลของความพยายามกลับทำให้สายสัมพันธ์ของสมาชิกในครอบครัวแตกร้าวมากขึ้นเรื่อยๆ
การกระทำสิ่งที่ถูกต้อง สิ่งที่ใช่ สิ่งที่ชอบธรรม ไม่ใช่ตัวประเด็นปัญหา แต่วิธีรับมือตอบโต้กับสิ่งที่เป็นประเด็นปัญหา กลับกลายเป็นตัวปัญหาเสียเอง เนื่องเพราะการยึดมั่นในมุมมอง ในความเชื่อของตน จนไม่เปิดรับมุมมองของอีกฝ่าย ไม่ได้ตระหนักรู้ว่าสิ่งสำคัญมากกว่าที่จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหา หรือสร้างสรรค์สิ่งถูกต้องดีงามและชอบธรรม คือ การมีสายสัมพันธ์ที่ดีต่อกันซึ่งต้องวางอยู่บนพื้นฐานความรัก ความไว้วางใจ ความเชื่อมั่นในความปลอดภัย และจากคุณภาพสายสัมพันธ์เช่นนี้เองที่จะนำไปสู่ความร่วมมือร่วมใจ การรับฟังสื่อสารต่อกันได้
การที่พ่อจะฟังลูก หมอจะฟังคนไข้ ครูอาจารย์ฟังนักเรียนก็เป็นเรื่องท้าทาย ไม่ใช่เรื่องง่ายนัก ยิ่งหากว่ามีเรื่องของหน้าตา ศักดิ์ศรี ผลประโยชน์ และตัวตนเข้ามาเกี่ยวข้อง พร้อมกับความกลัว กังวลต่อการยอมรับ ต่อความปลอดภัยมั่นคง ก็ยิ่งทำให้แต่ละฝ่ายอยู่ในภาวะปกป้องตนเอง อีกทั้งความเครียดกังวลต่อความอยู่รอด ก็ยิ่งขัดขวางการเชื่อมโยงสัมพันธ์ต่อกัน เดิมพันคือ ภาวะนี้แต่ละฝ่ายเอาชนะได้ด้วยความตระหนักรู้ตัว แต่หากเราพ่ายแพ้ ไม่ตระหนักรู้ ภาวะปกป้องตนเองก็ทำให้เราแต่ละฝ่ายไม่สามารถก้าวข้ามไปสู่การเข้าใจต่อกันได้
ในระดับสังคมประเทศ ความขัดแย้งที่กำลังบานปลายสู่ความรุนแรง ระหว่างฝ่ายประท้วง กปปส. และฝ่ายรัฐบาลรักษาการ จนนำไปสู่การสูญเสียชีวิตเด็กน้อยร่วม ๔ รายสร้างความโศกสลด เจ็บปวดกับพ่อแม่ ผู้สูญเสีย และผู้คนในสังคม กระตุ้นให้เกิดการเรียกร้องยุติการใช้ความรุนแรง ท่ามกลางข้อถกเถียงที่แต่ละฝ่ายต่างมีคำอธิบายความชอบธรรมให้กับตนเอง รวมไปถึงการมีผลประโยชน์เดิมพันในแง่ชีวิตและคดีความ กระนั้นเราก็ไม่อาจใช้วิธีการทำลายอีกฝ่ายด้วยมุมมองว่าอีกฝ่ายคือ ซาตานชั่วร้าย เพราะเมื่อเราเริ่มใช้วิธีชั่วร้าย เราก็จะกลายเป็นสิ่งชั่วร้ายใหม่ไปด้วยทันที ขณะที่สิ่งสำคัญคือ การต้องอยู่ร่วมกัน
พระอาจารย์ไพสาล วิสาโล ประธานเครือข่ายพุทธิกา ให้แง่มุมคำถามที่สำคัญว่า การได้มาซึ่งความถูกต้องในวันนี้โดยแลกกับการสูญเสียชีวิต เลือดเนื้อมากมาย กับการได้มาซึ่งความถูกต้องในวันพรุ่งนี้หรือวันข้างหน้าโดยสูญเสียชีวิต เลือดเนื้อน้อยกว่านั้น
ทางเลือกไหนที่เราพึงให้โอกาสเกิดขึ้นมากกว่า