มีเรื่องเล่าอยู่ในหนังสือ “เกร็ดธรรมะจากเกร็ดชีวิตของพุทธทาสภิกขุ” ว่ามีภริยาของผู้มีอำนาจวาสนาในสมัยที่ท่านอาจารย์พุทธทาสยังมีชีวิตอยู่คนหนึ่ง ไปสวนโมกข์พร้อมผู้ติดตาม และเข้าไปกราบท่านอาจารย์พร้อมกับถามว่า จำเธอได้หรือไม่ ท่านอาจารย์ตอบตามตรงแบบสั้นๆ เรียบๆ แล้วก็นิ่งเฉยตามปกติของท่านว่า “จำไม่ได้” ผลคือสตรีผู้นั้นโกรธ ลุกกลับออกมา พร้อมพูดกับผู้ติดตามว่า เธอได้ถวายเงินทำบุญบำรุงวัดไปเป็นจำนวนมากเมื่อคราวพบกันครั้งแรก (ควรจะจำเธอได้นี่นา) แถมทิ้งท้ายเสียงดังพอที่คนอยู่ละแวกหน้ากุฏิจะได้ยินว่า ในเมื่อจำไม่ได้ คราวนี้จะไม่ถวายแล้ว โดยนัยคือ การจำความสำคัญของเธอไม่ได้ ทำให้ท่านอาจารย์อดได้เงินทำบุญจากเธอผู้นั้น
แม้เรื่องที่เกิดขึ้นนี้จะชวนให้ “ขำกลิ้ง” ในวิธีคิดของสตรีผู้นั้น แก่ผู้ฟังที่รู้จักธรรมะและวัตรปฏิบัติของท่านอาจารย์พุทธทาส แต่เรื่องนี้ก็สะท้อนให้เราเห็นว่า คนในสังคมปัจจุบันมักคิดและเชื่อมั่นว่า “เงิน” เป็นอำนาจซึ่งทำให้คนทั่วไปต้องสยบยอมเอาใจอย่างปราศจากจากข้อแม้ ไม่เข้าใจว่าแท้ที่จริงนั้น เงินมีอำนาจอยู่บนฐานความคิดความเชื่อบางอย่าง ดังนั้นผู้ที่ปฏิเสธหรือมิได้สมาทานความเชื่อดังกล่าว เงินจึงมีความหมายน้อยและมีอย่างจำกัดขอบเขตด้วย
ในกรณีของท่านอาจารย์พุทธทาสที่เล่ามานั้น อำนาจเงินมีความหมายน้อยอย่างยิ่ง เพราะความสุขของท่านไม่ต้องใช้เงินซื้อ และมีความหมายอันกว้างขวางหลายมิติ มิได้ผูกติดอยู่กับเงื่อนไขทางวัตถุแต่เพียงอย่างเดียว คือ เมื่อมีปัจจัยสี่เพียงพอแก่การยังชีวิต มิให้ลำบากขาดแคลนแล้ว ท่านก็แสวงหา-สร้างและมีความสุขอันละเอียดประณีตจากการพัฒนาจิตวิญญาณ ด้วยการอยู่ท่ามกลางธรรมชาติ ศึกษาเรียนรู้กฎแห่งธรรมชาติ เพื่อจะมีความสุขอย่างอิสระ โดยอาศัยปัจจัยภายนอกไม่ว่าเงินหรือวัตถุอื่นให้น้อยที่สุด ตามคติของชาวพุทธ แล้วปันส่วนที่เกินให้แก่ผู้อื่น อีกทั้งกิจการภายในวัดเอง ก็มิได้ตั้งอยู่บนฐานคิดของการใช้เงินเป็นหลัก หากขยายตัวไปตามปัจจัยที่มีอยู่ จึงไม่มีการเรี่ยไร ตั้งกล่องบริจาค ฯลฯ การไม่ให้ความสำคัญกับการหาเงินหรือเติบโตบนเงื่อนไขพึ่งพาเงินใครนี้ ทำให้ไม่มีผู้ใดมีอำนาจพิเศษ ไม่ว่าเศรษฐี ตาสีตาสา นักศึกษา พระลูกชาวบ้าน ฯลฯ มาพบท่านอาจารย์ได้ตลอดเวลาหน้ากุฏิ
ในกรณีของท่านอาจารย์พุทธทาสนั้น อำนาจเงินมีความหมายน้อยอย่างยิ่ง เพราะความสุขของท่านไม่ต้องใช้เงินซื้อ
อำนาจเงินนั้น ทำงานและมีพลังบนฐานความเชื่อเกี่ยวกับ “ความสุข” ของบุคคล คือมีอิทธิพลต่อผู้ที่เชื่อว่า เงินเป็น “คำตอบสุดท้าย” หรือเป็นคำตอบเดียวของ “ความสุข” หมายความว่าต้องมีเงินจึงมีความสุข ถ้าไม่มีเงินก็ไม่มีความสุข เมื่อ “ความสุข” ถูกสรุปด้านเดียวแบบหยาบๆ จากคนในสังคมสมัยใหม่โดยไม่ต้องถามไม่ต้องคิดดังนี้ เงินจึงมีอำนาจมหาศาลเหนือผู้คนทุกวงการในปัจจุบัน เพราะมนุษย์ล้วนปรารถนา “ความสุข” และแสวงหาความสุขตามความเชื่อนั้น และดูว่าจะมีพลังมากกว่าอำนาจอาวุธ-เผด็จการทหาร ซึ่งใช้ความกลัวเป็นตัวบังคับข่มขู่ให้คนทำตามด้วย การต่อต้านอำนาจอย่างหลังนี้เกิดขึ้นได้ง่าย แต่อำนาจเงินใช้ “ความสุข” เป็นตัวล่อ ตัวหลอก การสยบยอมต่ออำนาจเงินและอำนาจอื่นที่พ่วงตามมากับเงิน จึงมักเป็นไปด้วยความสมัครใจ เต็มใจ อำนาจเงินจึงสามารถกวาดซื้อทุกอย่างที่ขวางทางได้โดยไม่ยากในทุกวงการ แม้ในวงการที่มีหลักการยุติธรรม ความดีงามเป็นหัวใจ ไม่ว่าตุลาการ ตำรวจ แพทย์ ครู ผู้บวช รวมไปถึงการซื้ออุดมการณ์ใส่ลิ้นชัก
อย่างไรก็ตาม พลังอำนาจของเงินในสังคมสมัยใหม่ ก็มิได้ครอบครองเหนือบุคคลและกลุ่มคนทั้งหมดอย่างสิ้นเชิง จนไร้ความหวังที่จะไปพ้นจากสังคมที่อำนาจเงินเป็นใหญ่ หากเข้าใจว่าสังคมที่ว่านี้ เกิดและเติบโตได้มากภายใต้อุดมการณ์เศรษฐกิจแบบ “จำเริญเติบโต” (growth) คือมุ่งการเพิ่มและขยายรายได้ (เงิน) ไม่ว่าในระดับปัจเจกบุคคลหรือของรัฐ การพัฒนาของรัฐที่ผ่านมากว่า 40 ปี ได้สร้างมายาคติทำให้การมีชีวิตรอด ไม่ว่าในเมืองหรือชนบทมีอยู่ทางเดียว คือปัจเจกบุคคลจะต้องหาเงินให้มากๆ แล้วเอาเงินไปบันดาล “สุข” อันหมายถึง ความสุขทางวัตถุ ด้วยสูตร “งานคือเงิน เงินคืองาน บันดาลสุข” (ซึ่งเวลาต่อมาเปลี่ยนไปเป็นว่า งานไม่ต้องทำก็มีเงินได้ หรือทำอย่างไรก็ได้ให้ได้เงิน)
ความสุขในรูปแบบอื่นๆ ที่เคยมีอยู่ในสังคมไทย เช่น ความสุขจากการมีน้ำใจ เอื้อเฟื้อแบ่งปันให้กัน ความอบอุ่นในครอบครัว-ชุมชน การสร้างสรรค์งานศิลปะ ฯลฯ ได้ถูกทำลายราบด้วยสูตร “ความสุข” ของรัฐ ซึ่งเป็นนายหน้าให้แก่ทุนนิยมโลกและวัฒนธรรมบริโภคนิยม-วัตถุนิยม สร้างตลาดซื้อขาย “ความสุข” ที่ต้องใช้เงินซื้อทั้งสิ้น คนเป็นอันมากเชื่อและวิ่งล่าหาความรวยเพื่อมาสร้างความสุขตามสูตรของรัฐ จนกระทั่งสูญสิ้นไร่นา ป่าเขาถูกทำลาย ครอบครัวแตกแยกเพราะพ่อแม่เอาแต่หาเงิน อบายมุข ยาเสพติด คอร์รัปชั่น ฯลฯ ล้วนขยายตัวบนพื้นฐานความแร้นแค้นและความโลภอยากรวย ความอยุติธรรมทางเศรษฐกิจ ปัญหาสังคม และความทุกข์ในชีวิตปัจจุบัน จึงผูกโยงอยู่กับโลกทัศน์และค่านิยมเกี่ยวกับชีวิตและความสุขของบุคคลในสังคมด้วย
การจะลดทอนอำนาจเงินและอำนาจรัฐในสังคมไทย ทางหนึ่งคือการส่งเสริมและเปิดทางให้ชุมชนได้นิยามและสร้าง “ความสุข-ความเจริญ” ตามแบบของตนเอง ซึ่งไม่จำเป็นต้องเหมือนรัฐ เพราะตราบใดที่ยังต้องวิ่งไล่ตามสูตรการพัฒนาของรัฐ (การตลาด) ก็จะยิ่งจนและอำนาจเงินก็จะยิ่งแผ่อิทธิพลมากยิ่งขึ้นบนความยากจนนั้น ในส่วนของปัจเจกบุคคล การต่อสู้กับอำนาจเงินแท้จริงก็คือ การต่อสู้กับความโลภภายในใจของเราเอง ซึ่งจุดติดง่ายท่ามกลางแรงโฆษณา “ความสุข” ที่ชี้นำแต่ความสุขแบบหยาบๆ จะสู้ชนะหรือแพ้ ขึ้นอยู่กับการฝึกฝนตนเองที่จะใช้เงินบันดาลสุขแต่เพียงพอดี ที่สำคัญที่สุดคือ รู้จักการสร้างและมีความสุขในมิติอื่นด้วย การดูวิถีชีวิตและความสุขของกัลยาณมิตรเช่นท่านอาจารย์พุทธทาส ก็เป็นทางหนึ่งของการสร้างกำลังใจ และความรู้เท่าทันในการต่อสู้กับอำนาจเงิน
แน่นอนว่า ผู้มีชีวิตครองเรือนคงทำเหมือนบรรพชิตมิได้ทั้งหมด แต่คฤหัสถ์ก็สามารถมีความสุขจากวิถีชีวิตที่ “ไม่รวย” ได้เช่นกัน ดูดังชีวิตของ อ.ป๋วย และอีกหลายๆ ท่านเป็นตัวอย่าง หรือให้ใกล้เข้ามาอีก ก็ดูความสุขของเด็กๆ เมื่อเขาจับกลุ่มเล่นกัน หัวเราะเอิ๊กอ๊ากโดยไม่ต้องใช้เงินสักบาท