พุทธศาสนากับวัฒนธรรมแห่งความตื่นรู้

พระไพศาล วิสาโล 19 ตุลาคม 2008

ปัจจุบันในสังคมไทยได้เกิดวัฒนธรรมสองกระแสใหญ่ๆ ที่ขอเรียกว่าวัฒนธรรมแห่งความละโมบ และวัฒนธรรมแห่งความเกลียดชัง  วัฒนธรรมแห่งความละโมบกำลังไหลบ่าอย่างรุนแรงอันเนื่องมาจากการเติบใหญ่ของบริโภคนิยม  ส่วนวัฒนธรรมแห่งความเกลียดชังเกิดจากความยึดติดคลั่งไคล้ในอุดมการณ์ทางการเมือง เชื้อชาติ และศาสนา ทำให้เห็นคนที่ต่างจากตนเป็นศัตรู เกิดความรุนแรงถึงขั้นทำร้ายกันจนสูญเสียชีวิตและเลือดเนื้อ

เวลานี้ขันติธรรมในทางการเมืองมีน้อยมาก มีความโกรธเกลียดกันอย่างรุนแรง มีการใส่ร้ายป้ายสี ตีตรากันอย่างสาดเสียเทเสีย ในสถานการณ์เช่นนี้ สิ่งสำคัญที่จะต้องมีคือ การเสริมสร้างวัฒนธรรมแห่งความตื่นรู้เพื่อมาทัดทานวัฒนธรรมสองกระแสนี้  พุทธศาสนามีความสำคัญในสภาพเช่นนี้เพราะพุทธศาสนายังมีพลังในการส่งเสริมให้เกิดวัฒนธรรมแห่งความตื่นรู้ได้อยู่

วัฒนธรรมแห่งความตื่นรู้จะเกิดขึ้นได้ต้องอาศัยคุณธรรมพื้นฐาน  คุณธรรมพื้นฐานได้แก่ การคิดถึงผู้อื่นมากกว่าตัวเอง การเชื่อมั่นในความเพียรของตน ไม่หวังลาภลอย คอยโชค หรือรวยทางลัด ซึ่งนำไปสู่การเล่นหวย การพนัน การคอร์รัปชั่น หรืออาชญากรรม ทั้งหมดนี้คือวิธีรวยลัดของคนจำนวนไม่น้อย

คุณธรรมพื้นฐานยังหมายถึง การไม่ยึดติดกับความสุขทางวัตถุ สามารถเข้าถึงความสุขจากแหล่งอื่นที่ประเสริฐกว่า เช่น ความสุขจากการทำดี ความสุขจากการให้ทาน ความสุขจากการบำเพ็ญภาวนา และความสุขจากการทำสิ่งต่างๆ ด้วยความเพียรของตัว  สามประการนี้เป็นคุณธรรมขั้นพื้นฐาน ซึ่งสังคมไทยกำลังต้องการเป็นอย่างยิ่ง และเป็นสิ่งจำเป็นต่อการสร้างวัฒนธรรมแห่งความตื่นรู้ เพราะเป็นบันไดไปสู่ความลุ่มลึกทางจิตวิญญาณจนถึงขั้นปรมัตถธรรมได้

ในสภาพเช่นนี้ วัฒนธรรมแห่งความตื่นรู้จะเกิดขึ้นได้ พุทธศาสนาจะต้องมีบทบาทสองประการคือ ๑. ทำให้ผู้คนกลับมามีความลุ่มลึกในทางจิตวิญญาณ  ๒. ส่งเสริมให้ผู้คนพร้อมที่จะออกไปสร้างสรรค์สังคม เพื่อฟื้นฟูคุณธรรมพื้นฐานให้กลับมา  ทุกวันนี้มีผู้คนจำนวนมากหันมาปฏิบัติธรรมและบำเพ็ญภาวนามากขึ้น แต่การออกไปสร้างสรรค์สังคมยังมีน้อยอยู่  ปฏิเสธไม่ได้ว่าการปฏิบัติธรรมที่จะนำไปสู่วัฒนธรรมแห่งความตื่นรู้ จะต้องก่อให้เกิดความลุ่มลึกทางจิตใจ นั่นคือรู้เท่าทันตนเองจนถึงขั้นเห็นมายาภาพของตัวตน ลดละความเห็นแก่ตัว ไม่ยึดติดหลงใหลในวัตถุ เพราะสามารถเข้าถึงความสุขที่ประณีต  นี่เป็นบทบาทในเชิงลึก  แต่เท่านั้นยังไม่พอ ชาวพุทธต้องมีบทบาทในเชิงกว้าง นั่นคือช่วยทำให้สังคมนี้ดีขึ้น เกิดสันติสุข และเกื้อกูลต่อการสร้างสรรค์ชีวิตที่ดีงาม ส่งเสริมคุณธรรมของผู้คน

พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ วัฒนธรรมแห่งความตื่นรู้จะเกิดขึ้นได้เมื่อพุทธศาสนามีบทบาทสองประการคือ ๑. ส่งเสริมให้เกิดอิสรภาพภายใน พ้นจากการบีบคั้นของตัวตนอันเป็นสิ่งที่ถูกปรุงแต่งขึ้นมาเอง  ๒. ส่งเสริมให้เกิดอิสรภาพภายนอก คือพ้นจากการบีบคั้นทางสังคม หรือการเอาเปรียบจากผู้คน

อันที่จริงพุทธศาสนาจะมีอิทธิพลต่อโลกยุคใหม่ไม่ได้เลยหากขาดบทบาทส่วนใดส่วนหนึ่ง เนื่องจากปัจจุบันผู้คนมีความทุกข์และความเครียดมาก แม้จะมีวัตถุมีเงินทองมากมาย  ขณะเดียวกันจำนวนไม่น้อยก็ถูกบีบคั้นจากกลไกทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง มีการเอารัดเอาเปรียบ การเลือกปฏิบัติด้วยเหตุผลทางเชื้อชาติ ศาสนา วัฒนธรรม และการเมือง

ศาสนาใดก็ตามจะมีความหมายต่อโลกยุคใหม่ได้ต้องส่งเสริมให้เกิดอิสรภาพทั้งสองประการ จะเน้นอันใดอันหนึ่งไปไม่ได้ ในด้านหนึ่งก็ต้องส่งเสริมคนให้เข้าถึงอิสรภาพภายใน ขณะเดียวกันก็ทำให้สังคมมีหลักประกันทางด้านสิทธิเสรีภาพ ความยุติธรรม มีประชาธิปไตย หรือมีสำนึกต่อระบบนิเวศน์และสิ่งแวดล้อม เพราะเวลานี้สิ่งแวดล้อมกำลังจะแปรปรวนและกลายเป็นปัจจัยที่บีบคั้นผู้คนอย่างรุนแรง ดังภัยธรรมชาติที่เกิดกับพม่าและจีนจนคนตายเป็นแสน ภัยธรรมชาติแบบนี้สามารถเกิดขึ้นได้ทุกหนทุกแห่ง

ดังนั้น พุทธศาสนาจะต้องส่งเสริมให้เกิดการปฏิบัติ เพื่อให้เกิดความงอกงามทางจิต และความงอกงามทางสังคมไปในเวลาเดียวกัน ต้องทำให้ชีวิตภายในลุ่มลึกและทำให้ชีวิตสาธารณะเกื้อกูลต่อสังคม นี้คือการทำให้มิติพุทธศาสนาในทางสังคมเป็นจริงขึ้นมา ไม่ใช่เป็นแค่ความคิด หรือว่าความปรารถนาเท่านั้น

จะทำเช่นนั้นได้ กระบวนการทางด้านสังคมเป็นเรื่องสำคัญ  เวลาพูดว่าต้องทำให้คนมีศีลธรรม เรามักจะเน้นว่าต้องชวนคนเข้าวัดฟังเทศน์มากขึ้น รวมทั้งเพิ่มวิชาศีลธรรม แต่เท่านี้คงไม่พอ  ทุกวันนี้น่าสังเกตว่ากระบวนการเพื่อส่งเสริมความตื่นรู้ในทางจิตใจ ยังไม่ได้รับการพัฒนาหรือใส่ใจเท่าที่ควร ขณะที่การสอนศีลธรรมแบบเดิมๆ ก็ไม่ประสบความสำเร็จ จึงยากที่จะทำให้เกิดอิสรภาพและความตื่นรู้ทั้งสองระดับ

ปัจจัยประการหนึ่งซึ่งขาดไม่ได้สำหรับกระบวนการเรียนรู้เพื่อเสริมสร้างจิตสำนึกทางคุณธรรมและสังคมได้แก่ชุมชน  ชุมชนมีความสำคัญอย่างน้อยสองประการ ได้แก่ ๑. ช่วยบ่มเพาะความเจริญส่วนบุคคล อันนี้คือบทบาทของสังฆะหรือคณะสงฆ์โดยตรง  อารามหรือวัดเป็นชุมชนที่พระพุทธองค์ทรงจัดตั้งขึ้น เพื่อให้พระในฐานะปัจเจกบุคคลเกิดความเจริญงอกงามในธรรมวินัยจนกระทั่งถึงขั้นบรรลุธรรมได้  ๒. ชุมชนยังทำให้เกิดดุลยภาพระหว่างการทำงานภายในกับการทำงานภายนอกได้ด้วย ทำให้อิสรภาพทางใจกับอิสรภาพทางสังคมไม่แยกจากกัน

พุทธศาสนาจะต้องส่งเสริมให้เกิดการปฏิบัติ เพื่อให้เกิดความงอกงามทางจิต และความงอกงามทางสังคมไปในเวลาเดียวกัน

บทบาทสองประการที่พุทธศาสนาน่าจะมี อันได้แก่ การส่งเสริมอิสรภาพภายในแ ละการส่งเสริมอิสรภาพภายนอก ไม่ได้มีความสำคัญในแง่ของการส่งเสริมวัฒนธรรมแห่งความตื่นรู้ เพื่อทำให้สังคมปลอดภัยจากวัฒนธรรมแห่งความละโมบและวัฒนธรรมแห่งความโกรธเกลียดเท่านั้น  แต่ยังเป็นผลดีต่อพุทธศาสนาเองด้วย คือช่วยให้พุทธศาสนายังมีความหมายต่อโลกปัจจุบัน  หากพุทธศาสนาละเลยการเข้าไปมีบทบาทในการสร้างสรรค์สังคมเพื่อส่งเสริมอิสรภาพภายนอก แม้จะยังทำงานส่งเสริมอิสรภาพภายในอยู่ ก็อาจมีปัญหาต่อพุทธศาสนาเองได้

ในเรื่องนี้พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตโต) ได้เตือนชาวพุทธไทยมา ๒๐ กว่าปีแล้ว แต่ก็ยังแก่การสดับตรับฟังและนำไปปฏิบัติให้เกิดผล

“หากชาวพุทธปล่อยให้สภาพแวดล้อมต่างๆ โดยเฉพาะสภาพสังคมเปลี่ยนแปลงไปตามอำนาจปรุงแต่งและแรงกระทบจากปัจจัยภายนอกอย่างอื่นๆ โดยที่พุทธศาสนาแทบไม่มีส่วนร่วมสร้างสรรค์ควบคุมด้วยเลย  และเมื่อสภาพแวดล้อมเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ไม่เกื้อกูลต่อการปฏิบัติตามหลักการของพระพุทธศาสนา สภาพเช่นนั้นก็จะมีผลกระทบต่อพระพุทธศาสนา ซึ่งอาจเป็นไปถึงขั้นที่การปฏิบัติตามหลักการของพุทธศาสนาไม่อาจเป็นไปได้เลย”

แม้จะไม่ถึงขั้นนั้น แต่อย่างต่ำๆ ก็อาจเกิดสภาพต่อไปนี้คือ “เขตแดนแห่งการปฏิบัติตามหลักการของพุทธศาสนาหรือวงการดำเนินชีวิตแบบพุทธจะรัดตัวแคบเข้า และจะเป็นแต่ฝ่ายรับ ไม่ได้เป็นฝ่ายรุกเลย ทำให้ชุมชนชาวพุทธถอยร่นห่างออกไปจากสังคมมนุษย์ยิ่งขึ้นเรื่อยๆ เหมือนหนีไปรวมกันอยู่บนเกาะที่ถูกน้ำล้อมรอบ ขาดจากชุมชนอื่น”


ภาพประกอบ

พระไพศาล วิสาโล

ผู้เขียน: พระไพศาล วิสาโล

เจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต และประธานมูลนิธิเครือข่ายพุทธิกา