พุทธศาสนาเพื่อสันติภาพ

พระไพศาล วิสาโล 1 กรกฎาคม 2005

ปาฐกถาในการสัมมนาชาวพุทธนานาชาติหัวข้อ “Searching for a Bridge of Peace” ณ เมืองเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น วันที่ ๓ สิงหาคม ๒๕๔๘

สันติภาพเป็นความใฝ่ฝันของมนุษยชาติมาทุกยุคทุกสมัย แม้กระนั้นโลกแทบไม่เคยว่างเว้นจากสงคราม  เมื่อสงครามโลกครั้งที่ ๑ เสร็จสิ้น เชื่อกันว่า “สงครามที่ยุติสงครามทั้งหลาย” จะนำมาซึ่งสันติภาพได้  แต่แล้วผ่านไปเพียงแค่ ๒ ทศวรรษ สงครามโลกครั้งที่ ๒ ก็เกิดขึ้น  การพ่ายแพ้อย่างยับเยินของเยอรมนีและญี่ปุ่นเมื่อ ๖๐ ปีที่แล้ว และการเกิดองค์การสหประชาชาติ ได้สร้างความหวังไปทั่วทั้งโลกว่าสันติภาพจะสถาปนาตั้งมั่นในโลก  แต่แล้วหลังจากนั้นไม่กี่ปีโลกก็ต้องเผชิญกับสงครามเย็น ที่นำไปสู่สงครามและความรุนแรงน้อยใหญ่ไปทั่วโลก รวมทั้งสงครามเกาหลี สงครามเวียดนาม และสงครามในอาฟกานิสถาน  รวมไปถึงการสะสมกำลังทางอาวุธนิวเคลียร์ซึ่งสามารถทำลายล้างโลกได้หลายครั้ง  การล่มสลายของสหภาพโซเวียตและกำแพงเบอร์ลิน สร้างประกายแห่งความหวังขึ้นมาใหม่ทั้งในทางสันติภาพและประชาธิปไตย จนถึงกับมีผู้กล่าวว่า “จุดจบของประวัติศาสตร์” ใกล้เข้ามาแล้ว  แต่แล้วเพียง ๒ ปีให้หลังเท่านั้น สงครามก็อุบัติขึ้นในยูโกสลาเวีย ตามมาด้วยสงครามกลางเมืองในอีกหลายประเทศ  ใช่แต่เท่านั้นความรุนแรงในรูปแบบใหม่ได้เกิดขึ้น นั่นคือการก่อการร้ายอย่างไร้พรมแดน ซึ่งนำไปสู่สงครามต่อต้านการก่อการร้าย ซึ่งมีอาฟกานิสถานและอิรักเป็นสมรภูมิเต็มรูปแบบ ไม่นับความรุนแรงที่ก่อให้เกิดการสูญเสียล้มตายอีกมากมายในทั่วทุกมุมโลก

ศตวรรษที่ผ่านมาโลกได้ประจักษ์ถึงความสูญเสียอย่างมากมาย  คาดกันว่านับแต่ปี ๑๙๐๐-๑๙๘๙ อันเป็นปีที่สงครามเย็นยุตินั้น มีคนตายไปเพราะสงครามถึง ๘๖ ล้านคน  ถ้านับจำเพาะหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ (๑๙๔๕) มาจนถึงปี ๑๙๙๐ มีคนตายเพราะสงครามถึง ๒๒ ล้านคน  ทั้งนี้ยังไม่นับถึงคนที่ตายเพราะน้ำมือของรัฐบาลตนเองอีก ๔๘ ล้านคน (ดังที่เกิดในรัสเซียสมัยสตาลิน  จีนสมัยเหมา  และเขมรสมัยพอลพต)  ที่น่าวิตกก็คือร้อยปีที่ผ่านมามีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เกิดขึ้นมากมาย  การสังหารโหดชาวยิว และการล้างเผ่าพันธุ์ในรวันดา เป็นเพียงตัวอย่างน้อยนิดเท่านั้นของโศกนาฏกรรมในศตวรรษที่ ๒๐

แม้ขึ้นศตวรรษใหม่แล้ว สงครามก็ไม่ได้มีทีท่าว่าจะน้อยลง  ปัจจุบันมีประมาณ ๑ ใน ๘ ของประเทศทั่วโลกที่พัวพันกับสงคราม  น่าสังเกตว่าขณะที่สงครามเมื่อศตวรรษที่แล้วส่วนใหญ่เป็นสงครามระหว่างชาติ แต่สงครามในปัจจุบันแทบทั้งหมดเป็นสงครามกลางเมือง  นี้คือเหตุผลสำคัญส่วนหนึ่งว่าทำไมร้อยละ ๙๐ ของเหยื่อสงครามในปัจจุบันเป็นพลเรือน ขณะที่ผู้บาดเจ็บล้มตายในสงครามเมื่อศตวรรษที่แล้วร้อยละ ๙๐เป็นทหาร

นอกจากลักษณะของสงครามและเหยื่อของสงครามจะเปลี่ยนไปแล้ว  แบบแผนอย่างหนึ่งที่เห็นเด่นชัดในสงครามปัจจุบันก็คือ มีเรื่องของความขัดแย้งทางด้านชาติพันธุ์ ศาสนา ภาษา และสีผิวเข้ามาเกี่ยวข้องมากขึ้น (ในขณะที่ความขัดแย้งทางด้านอุดมการณ์มีอิทธิพลน้อยลง) ไม่ว่าที่รวันดา โซมาเลีย บอสเนีย เซอร์เบีย โครเอเชีย เชเชนยา ศรีลังกา แคชเมียร์ พม่า อินโดนีเซีย  ความขัดแย้งดังกล่าวมักจะนำไปสู่ความพยายามในการแยกประเทศ ซึ่งผลที่ตามมาคือการตอบโต้อย่างรุนแรงจากฝ่ายที่กุมอำนาจรัฐ

ความขัดแย้งทางด้านชาติพันธุ์ ศาสนา ภาษา และสีผิว ได้ทำให้สิ่งที่เรียกว่าการเมืองที่ชูประเด็นอัตลักษณ์ (politics of identity) กลายเป็นเรื่องโดดเด่นขึ้นมาในปัจจุบัน  แต่ที่เกิดขึ้นควบคู่กันไปก็คือ การทำให้ “วัฒนธรรมแห่งความเกลียดชัง” มีบทบาทมากขึ้นจนกำลังเป็นกระแสใหญ่ทั่วทั้งโลก  วัฒนธรรมดังกล่าวกำลังได้แพร่ระบาดในนานาประเทศ และมีอิทธิพลต่อประชาชนทุกระดับไม่เว้นแม้แต่ชนชั้นกลางและผู้ที่มีการศึกษา

วัฒนธรรมดังกล่าวนอกจากจะเอาความแตกต่างทางชาติพันธุ์ ศาสนา ภาษา และสีผิวมาเป็นเส้นแบ่งผู้คนในประเทศเดียวกันออกเป็น ๒ ฝ่าย (คือ “เรา” กับ “เขา”)  หากยังสร้างภาพให้คนที่อยู่อีกด้านของเส้นแบ่งนั้นเป็นตัวเลวร้าย เห็นแก่ตัว ไม่รักชาติ ต่ำทราม ล้าหลัง หรือมีความเป็นมนุษย์น้อยกว่า อีกทั้งมีพฤติกรรมที่เป็นภัยคุกคาม “พวกเรา”  บ่อยครั้งวัฒนธรรมดังกล่าวได้อาศัยลัทธิชาตินิยมมาเป็นเครื่องมือกระตุ้นเร้าให้เกิดการรวมกลุ่มเพื่อต่อต้านและต่อสู้กับอีกฝ่ายหนึ่ง  เมื่อทั้ง ๒ ฝ่ายต่างปลุกเร้าวัฒนธรรมแห่งความเกลียดชังให้เพิ่มมากขึ้น ผลก็คือต่างเป็นปฏิปักษ์ต่อกันมากขึ้น และตกอยู่ในวังวนแห่งความขัดแย้งซึ่งลุกลามเป็นความรุนแรงยิ่งขึ้นทุกที

 

วัฒนธรรมแห่งสันติ

สันติภาพไม่ว่าในระดับใดก็ตาม ไม่อาจเกิดขึ้นได้ หากวัฒนธรรมแห่งความเกลียดชังแพร่ระบาดอย่างกว้างขวาง และหยั่งลึกลงไปในจิตใจของผู้คน  พุทธศาสนาจะเป็นสะพานแห่งสันติภาพได้ก็ด้วยการต่อสู้ทัดทานกับวัฒนธรรมแห่งความเกลียดชัง  พุทธศาสนาไม่ว่านิกายใด (อันที่จริงต้องกล่าวว่าเป็นลักษณะร่วมของทุกศาสนาด้วย) ล้วนเน้นถึงความเมตตากรุณาอย่างไม่มีประมาณ ชนิดที่ไปพ้นเส้นแบ่งทางเชื้อชาติ ภาษา ศาสนา และสีผิว  ในทัศนะของพุทธศาสนา มนุษย์ทุกคนล้วนเป็นเพื่อนร่วมโลก เป็นเพื่อนร่วมเกิด แก่ เจ็บและตาย  ใช่แต่เท่านั้นในวัฏสงสารอันไม่มีสิ้นสุด เราทั้งหลายยังอาจเคยเป็นพ่อแม่ญาติพี่น้องกันไม่ชาติใดชาติหนึ่งมาแล้ว (จะว่าไปแล้วสายสัมพันธ์แห่งความเป็นเพื่อนและพี่น้องนี้ครอบคลุมไปถึงสรรพสัตว์ด้วย)

นอกจากเมตตากรุณาแล้ว พุทธศาสนายังเน้นถึงปัญญาเพื่อการเข้าถึงความจริง  ความจริงนั้นเป็นปฏิปักษ์กับความเกลียดชัง เพราะความเกลียดชังนั้นมีพื้นฐานอยู่การบิดเบือนความจริง  ถ้าอยากจะทำให้ผู้คนเกลียดชังใครสักคน ก็จำต้องสร้างภาพคนๆ นั้นให้เป็นตัวเลวร้ายประหนึ่งยักษ์มาร  และเมื่อเกิดความเกลียดชังแล้ว เราก็ไม่เห็นเขาเป็นมนุษย์อีกต่อไป  หรือไม่ก็เห็นแต่ความเลวร้ายของเขาเพียงส่วนเดียว  ที่สำคัญคือความเกลียดชังนั้นเกิดขึ้นได้เพราะมองเห็นแต่ความแตกต่างของกันและกัน ทั้งๆ ที่มนุษย์เรานั้นมีความเหมือนยิ่งกว่าความต่าง  ปัญญาช่วยให้เรามองพ้นอคติทางเชื้อชาติ ภาษา ศาสนา สีผิว ประจักษ์ถึงความจริงว่ามนุษย์เรานั้นเป็นหนึ่งเดียวกัน แม้แต่คู่กรณีหรือ “ปฏิปักษ์” ก็มีความเป็นมนุษย์เช่นเดียวกับเรา

ปัญญาและกรุณาควรเป็นพื้นฐานของวัฒนธรรมแห่งสันติที่ชาวพุทธทั่วโลกควรร่วมมือกันสร้างสรรค์ให้เกิดขึ้น โดยไม่เพียงทำกันในระดับละแวกบ้านหรือชุมชนดังที่มักเป็นมาในอดีตเท่านั้น หากควรให้ขยายไปในระดับประเทศและระดับโลก  ที่แล้วมาชาวพุทธส่วนใหญ่มักพอใจที่จะสร้างสันติในระดับบุคคล ครอบครัว หรือละแวกบ้านเท่านั้น  การกระทำดังกล่าวอาจใช้ได้ในบริบทของสังคมดั้งเดิมเมื่อศตวรรษที่แล้ว  แต่ในยุคโลกาภิวัตน์ ที่ทุกอย่างส่งผลกระทบต่อกันไม่ว่าอยู่จุดใดของโลก ชาวพุทธจะต้องขยายบริบทแห่งงานสันติภาพให้กว้างขวางขึ้นจนถึงระดับประเทศและระดับโลก

ในการสร้างวัฒนธรรมแห่งสันตินั้น  สิ่งที่ชาวพุทธทั่วโลกควรให้ความสนใจและพยายามริเริ่มได้แก่

๑. เสริมสร้างความไว้วางใจและความร่วมมือระหว่างผู้คนในโลก

วัฒนธรรมแห่งความเกลียดชังนั้นผลักผู้คนให้เหินห่างจากกัน สิ่งที่ต้องเข้ามาแทนที่ คือพลังที่จะดึงคนเข้ามาใกล้ชิดกัน ไว้วางใจ และร่วมมือกันที่จะทำสิ่งสร้างสรรค์  อย่างแรกที่น่าทำคือการสร้างความไว้วางใจและร่วมมือระหว่างศาสนา  ปฏิเสธไม่ได้ว่าในอดีตและปัจจุบันศาสนานั้นมีบทบาทอย่างมากในการก่อความเป็นปฏิปักษ์อันนำไปสู่ความรุนแรงและสงคราม  แต่ในเวลาเดียวกันศาสนาก็มีศักยภาพอย่างมากในการสร้างความรัก ความอดกลั้นและการให้อภัย อันเป็นสิ่งสำคัญของสันติภาพ  สันติภาพในโลกจะมีความหวังได้ต่อเมื่อศาสนาทั้งหลายหันหน้าเข้าหากัน หรือทำยิ่งกว่านั้นคือการร่วมมือกันเพื่อให้ความรักมาแทนที่ความเกลียดชัง การให้อภัยมาแทนที่ความพยาบาท

สิ่งที่ชาวพุทธสามารถทำได้เลยก็คือ การจัดเสวนาวิสาสะระหว่างศาสนา ทั้งในระดับประเทศและระดับนานาประเทศ เบื้องต้นก็เพื่อให้เกิดความคุ้นเคยและไว้วางใจกัน  ศาสนาทั้งหลายควรรู้จักกันมากขึ้นว่ามีความเชื่อและหลักปฏิบัติอย่างไร มีแนวทางอย่างไรในการเข้าถึงสันติภาพทั้งในระดับบุคคลและสังคม  ขั้นต่อมาก็คือการร่วมมือกันเพื่อเป็นพลังในทางสันติ เช่นการส่งเสริมสันติศึกษา การใช้สันติวิธี การต่อต้านสงคราม ฯลฯ ดังจะได้กล่าวต่อไป

นอกจากความร่วมมือระหว่างศาสนาแล้ว  ความไว้วางใจและความร่วมมือระหว่างคนต่างเชื้อชาติ ภาษา และสีผิวก็สำคัญเช่นกัน  ความขัดแย้งทางด้านชาติพันธุ์ในหลายประเทศเกิดขึ้นเพราะการหันหลังให้กันจนเกิดความระแวงและการเป็นปฏิปักษ์ต่อกัน  สิ่งที่จำเป็นต้องมีเพื่อช่วยลดความเป็นปฏิปักษ์ต่อกัน ก็คือการมีเวทีที่นำคนเหล่านี้มาพบปะกัน พูดคุยกัน และใช้ชีวิตร่วมกัน ซึ่งอาจนำไปสู่การเปิดเผยอย่างตรงไปตรงมาถึงความระแวงและหวาดกลัวที่มีต่อกัน  กิจกรรมเหล่านี้อาจช่วยให้แต่ละคนแต่ละกลุ่มพบว่าอีกฝ่ายหนึ่งไม่ได้น่ากลัวหรือเลวร้ายอย่างที่ตนเองวาดภาพไว้  กิจกรรมดังกล่าวเป็นสิ่งที่องค์กรชาวพุทธน่าส่งเสริมให้เกิดมีขึ้นมากๆ ทั้งในประเทศของตน และในประเทศอื่นๆ ที่มีชาวพุทธเข้าไปเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งด้วย  หรืออาจทำร่วมกันศาสนาอื่นก็ได้โดยเฉพาะในกรณีที่ศาสนานั้นเข้าไปมีส่วนพัวพันกับความขัดแย้งทางด้านชาติพันธุ์ด้วย  ประสบการณ์มากมายในนานาประเทศยืนยันว่า การสร้างความสัมพันธ์แบบตัดผ่านระหว่างกลุ่มคนที่หลากหลายนั้น นอกจากจะช่วยบรรเทาความระแวงและความรุนแรงแล้ว ยังช่วยป้องกันความขัดแย้งมิให้ลุกลามไปเป็นความรุนแรงด้วย

๒. ส่งเสริมการศึกษาเพื่อสันติภาพ

การศึกษาเพื่อสันติภาพเป็นสิ่งที่ขาดหายไปจากการศึกษาทั่วโลก นี้คือบทบาทที่ชาวพุทธสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมได้มาก ทั้งโดยการนำเสนอในโรงเรียนต่างๆ และการฝึกฝนอบรมนอกโรงเรียน  การศึกษาเพื่อสันติที่ควรส่งเสริมให้มีมากขึ้นนั้น ไม่เพียงเน้นย้ำถึงความสำคัญของสันติภาพเท่านั้น  หากยังควรส่งเสริมให้เกิดทัศนคติที่เอื้อต่อสันติภาพ เช่น ความใจกว้าง การเคารพและยอมรับความหลากหลาย การรู้จักให้อภัย  และที่สำคัญก็คือทัศนคติที่ว่าความรุนแรงนั้นไม่อาจแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืน หากต้องแก้ด้วยสันติวิธี เพราะสันติวิธีเท่านั้นที่เป็นหนทางสู่สันติภาพได้  สิ่งที่ควรควบคู่กับทัศนคติดังกล่าวก็คือทักษะการจัดการความขัดแย้งโดยสันติวิธี  ไม่ว่าความขัดแย้งในโรงเรียน ในที่ทำงาน ในครอบครัว ในชุมชน และในประเทศ สามารถแก้ไข้ได้โดยสันติวิธี หากผู้คนได้เรียนรู้ทักษะดังกล่าว หากเริ่มต้นตั้งแต่ในระดับโรงเรียนได้ยิ่งดี  ดังที่ในสหรัฐอเมริกามีโรงเรียนประถมและมัธยมหลายพันแห่งได้สอนเด็กให้รู้จักทักษะการแก้ไขความขัดแย้งที่มีกับเพื่อน รวมทั้งวิธีจัดการกับความโกรธ จนสามารถเป็นอาสาสมัครไปช่วยระงับความขัดแย้งของเพื่อนในโรงเรียนได้

การศึกษาเพื่อสันติภาพที่ชาวพุทธได้จัดทำ น่าจะขยายไปถึงการฝึกอบรมปฏิบัติการสันติวิธี เพื่อให้ประชาชนมีทางเลือกมากขึ้นในการต่อสู้เพื่อป้องกันสิทธิและเรียกร้องความเป็นธรรม  การที่ประชาชนไม่รู้จักปฏิบัติการสันติวิธีที่มีประสิทธิภาพ บ่อยครั้งทำให้เขาเหล่านั้นหันไปหาความรุนแรงเป็นทางออก  ขณะเดียวกันตำรวจและเจ้าหน้าที่รัฐก็ควรรู้จักสันติวิธีเมื่อเผชิญกับผู้ประท้วงเพื่อจะได้รักษาความสงบได้  บ่อยครั้งที่พบว่าเมื่อตำรวจและเจ้าหน้าที่รัฐไม่รู้วิธีที่จะจัดการกับผู้ประท้วงโดยสันติวิธี จึงหันไปหาความรุนแรงเช่นกัน

๓. จัดทำสื่อเพื่อสันติภาพ          

สื่อมวลชนนั้นมีอิทธิพลอย่างมากต่อทัศนคติของผู้คน  ปัจจุบันสื่อมีบทบาทไม่น้อยในการสร้างความเกลียดชังและความระแวงต่อกันและกัน นอกเหนือจากการสั่งสมนิสัยก้าวร้าวและนิยมความรุนแรงในการแก้ไขปัญหา  ชาวพุทธทั่วโลกควรให้ความสำคัญกับการพัฒนาสื่อเพื่อสันติภาพ เพื่อสร้างทัศนคติที่ใฝ่สันติภาพและสันติวิธี  สื่อดังกล่าวนอกจากจะทำหน้าที่เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาเพื่อสันติโดยมีเนื้อหาตามที่ได้กล่าวข้างต้นแล้ว ควรจะมีบทบาทในการลดทอนอคติทางชาติพันธุ์ ศาสนา และสีผิว  โดยนำเสนอภาพความเป็นมนุษย์ของคนกลุ่มต่างๆ เพื่อให้เห็นว่าแท้จริงเขาก็มีความเป็นมนุษย์เช่นเดียวกับเรา  สื่อดังกล่าวควรช่วยให้เห็นวิถีชีวิต ประเพณี ความเชื่อ รวมทั้งความสุขและความทุกข์ของคนกลุ่มต่างๆ โดยเฉพาะชนกลุ่มน้อยทางชาติพันธุ์ เพื่อที่คนกลุ่มอื่นจะได้มีความเข้าใจชีวิตและความใฝ่ฝันของคนเหล่านั้นด้วย

ขณะเดียวกันสื่อดังกล่าวควรมีบทบาทในการนำเสนอข่าวสารที่ส่งเสริมสันติวิธี  เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าข่าวที่นำเสนอส่วนใหญ่มักเน้นเรื่องที่หวือหวาดึงดูดใจ ดังนั้นจึงมักหนีไม่พ้นที่จะนำเสนอข่าวเกี่ยวกับความรุนแรง อาชญากรรม และการทะเลาะวิวาทกัน  ขณะที่ข่าวเกี่ยวกับกิจกรรมสร้างสรรค์ การร่วมมือกัน รวมทั้งการแก้ปัญหาโดยสันติวิธี กลับถูกมองข้าม  ข่าวประเภทหลังเป็นสิ่งที่ชาวพุทธควรพัฒนาสื่อขึ้นมารองรับ ไม่ว่าในรูปของหนังสือพิมพ์ วารสาร วิทยุ และโทรทัศน์  และหากเป็นไปได้แม้กระทั่งรายการภาคบันเทิง หรือเกมต่างๆ ในวิทยุโทรทัศน์ ก็ควรพัฒนาให้เป็นเครื่องมือในการส่งเสริมความร่วมมือยิ่งกว่าการแข่งขัน ความเสียสละยิ่งกว่าความเห็นแก่ตัว รวมทั้งการใช้สันติวิธียิ่งกว่าความรุนแรง

 

ขจัดเงื่อนไขแห่งความรุนแรง

พร้อมๆ กับการสร้างวัฒนธรรมแห่งสันติ  สิ่งที่ละเลยไม่ได้ก็คือการลดเงื่อนไขแห่งความรุนแรง  ความรุนแรงทั้งหลายล้วนมีสาเหตุที่หลากหลาย  นอกจากอคติหรือทัศนคติที่เป็นลบแล้ว สาเหตุที่สำคัญอีกประการหนึ่งก็คือปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม อาทิ ความขาดแคลนทางด้านทรัพยากร ช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจน การละเมิดสิทธิมนุษยชนและความอยุติธรรม  สิ่งเหล่านี้ได้นำไปสู่ความขัดแย้งและบีบคั้นให้ผู้คนเป็นอันมากต้องใช้ความรุนแรงเป็นทางออก โดยอาจใช้ศาสนา ชาตินิยม เผ่านิยม เป็นเครื่องมือหรือข้ออ้างในการต่อสู้เพื่อบรรลุเป้าหมายของตน  ดังเราจะพบว่าความขัดแย้งทางด้านชาติพันธุ์ทั้งหลายนั้น มักมีเบื้องหลังที่เกี่ยวข้องกับการแย่งชิงทรัพยากรหรือความคับข้องใจทางด้านเศรษฐกิจ แม้แต่ในการล้างเผ่าพันธุ์ในรวันดาซึ่งเกี่ยวข้องกับความเกลียดชังระหว่างเผ่า ๒ เผ่า  แต่สาเหตุที่ลึกไปกว่านั้นก็คือ ปัญหาการขาดแคลนที่ทำกินอันเนื่องจากความหนาแน่นสูงของประชากร ซึ่งผลักดันให้มีการใช้ความรุนแรงเพื่อแย่งชิงที่ดินและแก้ปัญหาการวิวาทเกี่ยวกับที่ดิน  ดังจะพบว่าแม้ในชุมชนที่มีแต่คนเผ่าเดียวกัน ก็ยังมีการฆ่ากันอย่างมากมาย โดยที่คนตายมักจะเป็นเจ้าของที่ดิน

ดังนั้นหากชาวพุทธจะเป็นพลังในการสร้างสันติภาพ  จำเป็นต้องให้ความสำคัญกับบทบาทต่อไปนี้ด้วย

๑. ลดทอนความยากจน

ความจริงประการหนึ่งที่ต้องยอมรับก็คือ ๔ ใน ๕ ของสงครามกลางเมืองปัจจุบันเกิดขึ้นในประเทศที่ยากจนค้นแข้น จนอาจกล่าวได้ว่า ตัวทำนายความขัดแย้งที่ดีที่สุดก็คือ ความยากจน การมีรายได้น้อย และการเติบโตในอัตราที่ต่ำ  ดังนั้นการแก้ปัญหาความยากจนเป็นวิธีสำคัญวิธีหนึ่งที่จะป้องกันสงครามและความรุนแรง  การแก้ปัญหาความยากจนนั้นทำได้หลายระดับ อาทิ การส่งเสริมอาชีพ การสงเคราะห์ทางด้านสุขภาพอนามัย การส่งเสริมการศึกษา การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ การจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์ การจัดหาแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ ฯลฯ  เหนือขึ้นไปกว่านั้นก็คือ การมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดการทรัพยากรสาธารณะ  วิถีชีวิตของชาวบ้านนั้นแยกไม่ออกจากการเข้าถึงทรัพยากรสาธารณะ  ความยากจนในชนบทส่วนใหญ่เกิดขึ้นหรือเลวร้ายลงก็เพราะชาวบ้านสูญเสียอำนาจในการจัดการและเข้าถึงทรัพยากรสาธารณะ เช่น ป่า แหล่งน้ำ  ดังนั้นการกระจายอำนาจให้ชาวบ้านสามารถจัดการทรัพยากรสาธารณะได้เป็นขั้นตอนสำคัญในการแก้ปัญหาความยากจน

ชาวพุทธจึงไม่ควรทำงานแค่สังคมสงเคราะห์ หรือการพัฒนาชุมชนอย่างทั่วๆ ไปเท่านั้น หากควรเรียกร้องให้มีการกระจายอำนาจในการจัดการทรัพยากรไปสู่ชาวบ้าน หรือส่งเสริมให้มีการเข้าถึงทรัพยากรอย่างเป็นธรรม  โดยเฉพาะในกรณีที่ชาวบ้านเหล่านั้นเป็นชนกลุ่มน้อยทางชาติพันธุ์ ยิ่งควรได้รับความช่วยเหลืออย่างยิ่งเพราะมักเป็นฝ่ายเสียเปรียบยิ่งกว่าคนกลุ่มอื่น

๒. ขจัดความรุนแรงเชิงโครงสร้าง

ความยากจนนั้นเมื่อพิจารณาให้ลึกแล้วมักมาจากโครงสร้างทางเศรษฐกิจการเมืองและสังคมที่ไม่ยุติธรรม  การที่ชาวบ้านสูญเสียอำนาจในการจัดการทรัพยากรชุมชนนั้นเป็นส่วนหนึ่งของการสูญเสียอำนาจในการกำหนดชะตากรรมของตนเองในทุกด้าน อาทิ เศรษฐกิจ การศึกษา สาธารณสุข วัฒนธรรม  อำนาจการตัดสินใจที่ถูกผูกขาดโดยส่วนกลางทำให้เกิดนโยบายที่ไม่เป็นธรรมต่อคนส่วนใหญ่ที่ยากจน อาทิ การแย่งชิงทรัพยากรของชาวบ้านเพื่อสนองประโยชน์ของคนส่วนน้อย การพัฒนาอุตสาหกรรมโดยสร้างภาระแก่ภาคเกษตรกรรม นโยบายที่ดินที่ทำให้ชาวบ้านสูญเสียที่ดินมากขึ้น ฯลฯ

นโยบายเหล่านี้ได้ก่อให้เกิดโครงสร้างที่ทำให้ชาวบ้านยากจนลง และเข้าสู่วังวนแห่งความโง่ เจ็บ และจน นำไปสู่การตายก่อนวัยอันสมควร หรือตายตั้งแต่ยังเด็ก จัดว่าเป็นความรุนแรงที่เกิดจากโครงสร้างที่อยุติธรรม  ดังนั้นการสร้างสันติภาพจึงควรครอบคลุมไปถึงการขจัดความรุนแรงเชิงโครงสร้าง ด้วยการสนับสนุนให้เกิดโครงสร้างทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมที่เอื้อต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตและการเคารพศักดิ์ศรีของมนุษย์อย่างเท่าเทียมกัน  อาทิ การส่งเสริมเรียกร้องให้มีการกระจายอำนาจทางการเมือง การพัฒนาเศรษฐกิจอย่างสมดุล การสร้างหลักประกันทางสุขภาพอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม และการเข้าถึงและจัดการทรัพยากรสาธารณะอย่างเป็นธรรม

แน่นอนว่าการขจัดความรุนแรงเชิงโครงสร้าง หมายถึงการกระทบผลประโยชน์ของผู้มีอำนาจ  การทำงานดังกล่าวจึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องถูกตอบโต้คัดค้าน  สิ่งที่ชาวพุทธจะต้องยืนหยัดคือการใช้สันติวิธีแม้ถูกตอบโต้ขัดขวางด้วยความรุนแรง  ขณะเดียวกันก็ต้องตระหนักว่าการขจัดความรุนแรงเชิงโครงสร้างนั้น เป็นงานใหญ่ที่ไม่อาจทำได้ด้วยการพูดคุยเท่านั้น หากต้องขับเคลื่อนด้วยปฏิบัติการสันติวิธีที่ทรงพลัง  ดังนั้นการเรียนรู้และพัฒนาทักษะทางด้านสันติวิธีจึงมีความสำคัญสำหรับการทำกิจกรรมดังกล่าว  ในแง่นี้ชาวพุทธสามารถเรียนรู้ได้อย่างมากมายจากประสบการณ์ของคานธี  มาร์ติน ลูเธอร์ คิง  รวมทั้งนักสันติวิธีที่ประสบความสำเร็จในลาตินอเมริกา อาฟริกา หรือแม้แต่ในยุโรปตะวันออก

๓. ต่อต้านสงครามและการสนับสนุนพลังสันติวิธี

ถึงที่สุดแล้วในการสร้างสันติภาพ หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ผู้ใฝ่สันติจะต้องพร้อมที่จะคัดค้านการทำสงครามที่กำลังดำเนินอยู่หรือกำลังจะเกิดขึ้น  การคัดค้านสหรัฐอเมริกาในการทำสงครามในอิรักเป็นกรณีล่าสุดของการร่วมมือกันผู้คนทั่วทั้งโลกเพื่อสันติภาพ  นี้เป็นตัวอย่างการคัดค้านสงครามที่ชาวพุทธควรมีบทบาทสำคัญในโอกาสต่อไป โดยอาจร่วมกับชาวพุทธในทุกหนแห่งหรือร่วมมือกับศาสนาอื่น

นอกจากการแสดงจุดยืนเด่นชัดคัดค้านสงครามด้วยการประท้วงหรือการแสดงออกผ่านสื่อสาธารณะแล้ว  ชาวพุทธควรเข้าไปเป็น “ประจักษ์พยาน” ในที่ที่มีสงคราม ในฐานะฝ่ายที่สามเพื่อเตือนสติให้ทั้ง ๒ ฝ่าย (โดยเฉพาะฝ่ายที่มีอำนาจ) ได้ตระหนักว่าโลกกำลังจับจ้องการกระทำของเขาอยู่ ขณะเดียวกันก็เป็นการให้กำลังใจแก่ฝ่ายที่สนับสนุนแนวทางสันติวิธี  ในทุกหนแห่งที่มีความขัดแย้ง ฝ่ายสันติวิธีมักจะเป็นชนกลุ่มน้อยที่ถูกระแวงและตกเป็นเป้าของทั้ง ๒ ฝ่ายที่ใช้กำลังอาวุธ  การเข้าไปเป็นกำลังใจและให้ความสนับสนุนอย่างเหมาะสมแก่ฝ่ายสันติวิธี จะช่วยเพิ่มโอกาสให้สันติภาพในประเทศเหล่านั้นได้ฟื้นกลับมาในเร็ววัน  จากประสบการณ์ในหลายประเทศ ได้พบว่าการมีผู้คนไปเป็นประจักษ์พยานความขัดแย้งที่กำลังเกิดขึ้น ช่วยให้ความรุนแรงลดลง  ขณะเดียวกันการเข้าไปร่วมเป็นประจักษ์พยานสำหรับการทำงานด้านสันติวิธี ได้ช่วยป้องกันนักสันติวิธีในท้องถิ่นให้ปลอดพ้นจากภัยคุกคามได้มากขึ้น

 

เตรียมตัวเพื่อสันติภาพ

ข้อเสนอดังกล่าวแม้เป็นเรื่องใหม่สำหรับชาวพุทธจำนวนไม่น้อย แต่ก็ไม่ได้แปลกแยกไปจากหลักการของพุทธศาสนา ซึ่งเน้นประโยชน์ของมหาชนเป็นสำคัญควบคู่ไปกับการบำเพ็ญประโยชน์ตน  อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอดังกล่าวจะเป็นไปได้ จำต้องมีการปรับเปลี่ยนในฝ่ายชาวพุทธเองหลายประการด้วยกัน อาทิ

๑. เข้าไปมีบทบาทในสังคมวงกว้างมากขึ้น  

ที่แล้วมาชาวพุทธมักสนใจกับการประพฤติปฏิบัติส่วนบุคคล มุ่งความรอดพ้นหรือความบริสุทธิ์เฉพาะตน โดยเชื่อว่าหากทำตนให้ดีแล้วสังคมจะดีไปด้วย จึงมักละเลยปัญหาสังคม  แต่ละเลยความจริงอีกด้านหนึ่งว่า คนจะดีได้ก็ต่อเมื่อสังคมดีด้วย  พระพุทธเจ้าทรงให้ความสำคัญอย่างมากกับสิ่งแวดล้อม ในฐานะปัจจัยที่กำหนดพฤติกรรมและคุณธรรมของบุคคล นอกจากนั้นยังมีคำสอนของพุทธศาสนามากมายที่พูดถึงความรับผิดชอบต่อสังคมและความทุกข์ยากของเพื่อนมนุษย์  อย่างไรก็ตามมิติทางสังคมของพุทธศาสนาได้ถูกมองข้ามไป จนพุทธศาสนากลายเป็นคำสอนว่าด้วยการประพฤติปฏิบัติส่วนบุคคลเท่านั้น  จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องฟื้นฟูมิติทางสังคมของพุทธศาสนาให้กลับคืนมา เพื่อเป็นพื้นฐานสำหรับการทำงานเพื่อสังคม  ซึ่งนอกจากงานสร้างสันติภาพและการคัดค้านสงครามแล้ว ยังมีงานอีกหลายด้านที่ควบทำควบคู่ไป ได้แก่การแก้ปัญหาความยากจน การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม การสร้างสรรค์ความยุติธรรมทางสังคม การต่อต้านความรุนแรงในครอบครัว การพัฒนาชุมชน เป็นต้น

๒. เป็นแบบอย่างทางด้านความกรุณา ขันติธรรม อหิงสา และการให้อภัย  

งานด้านสันติภาพนั้นจะมีพลังได้ก็ต่อเมื่อมีคุณธรรมดังกล่าวเป็นพื้นฐาน  ไม่มีอะไรที่สามารถเอาชนะความโกรธ เกลียด และพยาบาท ได้ดีเท่ากับความกรุณา ขันติธรรม อหิงสา และการให้อภัย  พุทธศาสนาเป็นศาสนาที่เน้นคุณธรรมดังกล่าวมาก  ในชาดกมีเรื่องราวมากมายเกี่ยวกับอดีตชาติของพระพุทธเจ้าที่เน้นถึงคุณธรรมดังกล่าว อาทิ เรื่องของขันติวาทีดาบสซึ่งถูกพระราชากลั่นแกล้ง ตัดมือ เท้า จมูก และหู แต่ดาบสหาได้โกรธไม่ อีกทั้งยังแสดงเมตตาจิต อวยพรให้พระราชาได้มีพระชนมายุยิ่งยืนนาน

จะทรงไว้ซึ่งคุณธรรมดังกล่าวได้ ประการแรก ชาวพุทธต้องไม่ถูกครอบงำด้วยอุปาทานในศาสนาของตัว  การหลงใหลติดยึดในความเชื่อหรือทิฏฐุปาทานนั้นสามารถนำไปสู่ความรุนแรงได้ง่าย เพราะทำให้จิตใจคับแคบ และก่อให้เกิดความโกรธเกลียดได้ง่ายเพียงเพราะมีความเห็นที่ต่างกัน  การทะเลาะเบาะแว้งในระหว่างนิกายหรือระหว่างศาสนา จนถึงขั้นทำร้ายกันนั้นเกิดจากความติดยึดในศาสนาหรือความเชื่อของตนจนไม่สามารถอดทนต่อความแตกต่างได้

ทิฏฐุปาทานอีกอย่างหนึ่งได้แก่ ความติดยึดในลัทธิชาตินิยมหรือเชื้อชาตินิยม  บ่อยครั้งชาวพุทธก็ติดยึดกับลัทธิดังกล่าวอย่างฝังหัว จนรู้สึกเป็นปฏิปักษ์กับชาติหรือเชื้อชาติที่ต่างจากตัว และดังนั้นอาจพลัดเข้าไปในวงจรแห่งความรุนแรงได้   มีความรุนแรงมากมายในอดีตและปัจจุบันที่ลุกลามขยายวงเนื่องจากศาสนาได้ตกเป็นเครื่องมือของลัทธิชาตินิยมและเชื้อชาตินิยม

ขณะเดียวกันก็มีบ่อยครั้งที่ศาสนาได้กลายเป็นชนวนให้เกิดความขัดแย้งเสียเองจนลุกลามไปเป็นสงคราม นั่นเป็นเพราะศาสนิกชนขาดเมตตาธรรม ขันติธรรม และการให้อภัย

เพียงแค่ศาสนาไม่เป็นตัวการให้เกิดความรุนแรงเสียเอง ก็ช่วยสร้างสันติภาพให้แก่โลกได้มากแล้ว  นั่นหมายความว่าชาวพุทธจะก่อคุณูปการแก่โลกมากหากสามารถสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้นระหว่างชาวพุทธด้วยกัน มีความสมานฉันท์และกลมเกลียวระหว่างนิกายต่างๆ มีความอดทนอดกลั้นกับความแตกต่าง  ความกลมเกลียวดังกล่าวจะเป็นแบบอย่างให้แก่ศาสนาอื่นและแก่ผู้คนทั่วทั้งโลก

๓. เข้าถึงจิตวิญญาณแห่งพุทธศาสนา

เมตตากรุณา ขันติธรรม อหิงสา และการให้อภัยจะเกิดขึ้นได้กับชาวพุทธได้ ก็ต่อเมื่อปฏิบัติจนเข้าถึงจิตวิญญาณของพุทธศาสนา  สามารถลดละความเห็นแก่ตัว จนเกิดกรุณาและความใจกว้าง  มีสติและปัญญารู้เท่าทันความติดยึดหรืออุปาทานต่างๆ  ในการปฏิบัติดังกล่าว สมาธิภาวนาเป็นสิ่งสำคัญไม่น้อยไปกว่าการฝึกตนด้านศีล  อย่างไรก็ตามสมาธิภาวนาหรือการปฏิบัติเพื่อเข้าถึงมิติด้านจิตวิญญาณดังกล่าวได้ถูกมองข้ามไป การปฏิบัติของชาวพุทธไปเน้นที่พิธีกรรมและการทำบุญทำทานเท่านั้น  จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องรื้อฟื้นสมาธิภาวนาเพื่อล้วงลึกไปถึงตัวตนอันเป็นมายา และก้าวพ้นจากมายาดังกล่าวได้ เพื่อให้เกิดสันติภาพภายใน  อย่างไรก็ตาม สมาธิภาวนาดังกล่าวจะต้องไม่เป็นไปเพื่อหลีกหนีโลกหรือปฏิเสธการเกี่ยวข้องกับสังคม  สมาธิภาวนาควรเป็นพื้นฐานสำหรับการเข้าไปเกี่ยวข้องกับโลกด้วยเมตตา กรุณา และอหิงสา  กล่าวอีกนัยหนึ่ง การทำงานเพื่อสร้างสันติภาพในโลกควรมีสันติสุขภายในเป็นพลังขับเคลื่อน

๔. ก้าวพ้นจากความคิดแบบทวิภาวะ

ผู้คนทั่วไปมักมองโลกแบบทวิภาวะ โดยแยกสิ่งต่างๆ ออกเป็นขั้วตรงข้าม เช่น ดีกับชั่ว สุขกับทุกข์ สำเร็จกับล้มเหลว แต่ละขั้วล้วนแยกเป็นอิสระจากกัน  ความคิดแบบนี้เป็นพื้นฐานของการมองผู้คนโดยแบ่งแยกออกเป็น “เรา” กับ “เขา” ซึ่งในที่สุดย่อมนำไปสู่ความเป็นปฏิปักษ์ต่อกัน

ความคิดดังกล่าวสวนทางกับพุทธศาสนา เพราะพุทธศาสนามองโลกอย่างเป็นอิทัปัจจัยตา เห็นสรรพสิ่งเชื่อมโยงสัมพันธ์กัน ไม่อาจแยกขาดจากกันได้ ต่างพึ่งพิงอาศัยกัน  เงามืดจะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อมีแสงแดด ในทำนองเดียวกันความดีก็ไม่แยกขาดจากความชั่วได้ เพราะความดีนั้นจะเป็นที่รับรู้ได้ต่อเมื่อมีความชั่วมาเทียบเคียง  ขณะเดียวกันในความดีนั้นก็มีปัจจัยที่นำไปสู่ความชั่วได้ คนดีจึงไม่ได้ดีไปเสียหมด หากมีเมล็ดพันธุ์แห่งความชั่วแฝงอยู่ด้วย  การตระหนักถึงความจริงดังกล่าว ช่วยให้เราไม่มองคนดีกับคนชั่วแยกออกจากกัน เพราะแท้ที่จริงเส้นแบ่งแห่งความดีและความชั่วนั้นอยู่ในใจเรา หาได้อยู่นอกตัวไม่  การมองเช่นนี้ทำให้เราไม่หลงตนว่าเป็นคนดีพร้อม แต่พยายามรู้เท่าทันกิเลสภายใน และขณะเดียวกันก็ไม่เห็นคนอื่นเลวหมด แต่ยอมรับในความดีที่มีอยู่ในจิตใจเขาด้วย

ความคิดที่ว่า “ถ้าไม่เป็นพวกเรา ก็เป็นศัตรูของเรา” สะท้อนถึงความคิดแบบทวิภาวะ ความคิดเช่นนี้แหละที่ทำให้คนทั้งโลกแบ่งกันเป็น ๒ ฝ่ายและประหัตประหารกัน  จะเอาชนะวัฒนธรรมแห่งความเกลียดชังได้ ต้องเอาชนะที่รากฐานความคิดคือความคิดแบบทวิภาวะ  การหลุดพ้นจากความคิดแบบทวิภาวะ สู่โลกทัศน์แบบอทวิภาวะ จึงเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งในการสร้างสันติภาพในโลก  ด้วยการมองโลกแบบอทวิภาวะเท่านั้นจะช่วยให้เรามองโลกอย่างไม่แบ่งแยก และเห็นมนุษย์ทุกคนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

 

สู่ครอบครัวเดียวกัน

เป็นนิมิตหมายอันดีที่ชาวพุทธชั้นนำทั่วเอเชียได้มาประชุมพร้อมกันในวันนี้ เพื่อร่วมมือกันแสวงหาหนทางในการเป็นสะพานแห่งสันติภาพของโลก  ไม่มีอะไรที่จะเป็นจุดเริ่มต้นสำหรับการร่วมมือดังกล่าวดีไปกว่าการหันหน้ามาเสวนากัน เพราะการเสวนาวิสาสาะกันนั้นย่อมนำมาสู่ความไว้วางใจกันและเชื่อมโยงให้เป็นหนึ่งเดียวกัน  ดังมีพุทธพจน์ว่า “วิสาสาปรมาญาติ”  ขอให้การสัมมนาครั้งนี้เป็นเสมือนการมาพบปะของญาติพี่น้องในครอบครัวเดียวกัน  แม้จะเพิ่งรู้จักและมาจากภูมิลำเนาที่ต่างกัน แต่ก็ขอให้การพบปะครั้งนี้นำไปสู่ความไว้วางใจและความมั่นใจที่จะทำภารกิจอันสำคัญสำหรับโลก  นั่นคือการช่วยให้มนุษย์ทุกชาติทุกภาษาและทุกสีผิวได้ละเลิกจากการเป็นปฏิปักษ์ต่อกัน วางมือจากความรุนแรง และกลับคืนสู่ครอบครัวที่แท้ของตน นั่นคือครอบครัวที่ชื่อว่า “มนุษยชาติ”


ภาพประกอบ

พระไพศาล วิสาโล

ผู้เขียน: พระไพศาล วิสาโล

เจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต และประธานมูลนิธิเครือข่ายพุทธิกา