พุทธศาสนา หรือ สันติภาพ?

พระไพศาล วิสาโล 20 พฤษภาคม 2007

ย้อนหลังไปเมื่อ ๓๐ กว่าปีก่อน  ขณะที่สงครามเวียดนามใกล้ถึงจุดแตกหัก  สหรัฐอเมริกาส่งกำลังเข้าไปหนุนรัฐบาลไซ่ง่อนเต็มอัตราศึก  แต่กองกำลังของเวียดกงก็ยังรุกคืบหน้าไม่หยุด เป็นสัญญาณบ่งชี้ว่าชัยชนะของคอมมิวนิสต์ใกล้เข้ามาทุกขณะ

ในช่วงนั้นมีผู้ตั้งคำถามกับท่านติช นัท ฮันห์ ผู้นำขบวนการชาวพุทธเวียดนามว่า หากเลือกได้ ท่านจะเลือกอะไรระหว่างพุทธศาสนากับสันติภาพ  ผู้ถามรู้ดีว่า “สันติภาพ” ในกรณีนี้หมายถึงการยุติสงครามเวียดนามพร้อมกับชัยชนะของคอมมิวนิสต์  และนั่นหมายถึงชะตากรรมของพุทธศาสนาที่ไม่อาจคาดทำนายได้

คำตอบของท่านนัท ฮันห์ ก็คือ “หากคุณต้องเลือกระหว่างพุทธศาสนากับสันติภาพ คุณต้องเลือกสันติภาพ  เพราะหากคุณเลือกพุทธศาสนา แล้วละทิ้งสันติภาพ  พุทธศาสนาย่อมรับไม่ได้  ยิ่งกว่านั้น พุทธศาสนามิใช่วัดหรือองค์กร  พุทธศาสนาอยู่ในใจคุณ  ถึงแม้คุณไม่มีวัดหรือพระสงฆ์ คุณก็ยังเป็นชาวพุทธในหัวใจและในชีวิตได้”

คำตอบดังกล่าวของท่านนัท ฮันห์ ย่อมขัดกับความรู้สึกของชาวพุทธเวียดนามจำนวนไม่น้อยในเวลานั้น ที่เห็นว่า หากเวียดนามตกเป็นของคอมมิวนิสต์ (หรือที่เรียกว่า “สิ้นชาติ”) ก็เท่ากับสิ้นพุทธศาสนาด้วย  เพราะรัฐบาลคอมมิวนิสต์ย่อมรังควานชาวพุทธและจ้องทำลายกิจกรรมทางพุทธศาสนาอย่างแน่นอน  ดังนั้นชาวพุทธเหล่านี้จึงทำทุกวิถีทางเพื่อต่อต้านคอมมิวนิสต์ รวมทั้งสนับสนุนการทำสงครามของสหรัฐและรัฐบาลเวียดนามใต้  แม้ว่านั่นจะหมายถึงชีวิตผู้คนอีกมากมายที่ต้องตายและพลัดที่นาคาที่อยู่

แต่สำหรับท่านนัท ฮันห์  สงครามคือสุดยอดแห่งความเลวร้ายทั้งมวล  มันไม่เพียงทำลายชีวิตผู้คนและสร้างความทุกข์ทรมานนานัปการแก่ผู้บริสุทธิ์เท่านั้น  หากยังดึงเอาส่วนที่เลวร้ายที่สุดออกมาจากจิตใจของผู้คน และกระทำย่ำยีต่อกันชนิดที่มนุษย์ธรรมดาไม่ทำกัน  คุณงามความดีและศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ เป็นอันไม่ต้องพูดถึง  กล่าวอีกนัยหนึ่งสงครามทำให้คนกลายเป็นสัตว์ หาไม่ก็ต้องตกนรกทั้งเป็น  ในสภาพเช่นนี้วัดวาอารามอันยิ่งใหญ่นับหมื่นและประเพณีพิธีกรรมทางศาสนาอันตระการตาจะมีความหมายอะไร  ก็พุทธศาสนามีขึ้นเพื่อสันติสุขแห่งมวลมนุษย์มิใช่หรือ  ดังนั้นหากต้องเลือกระหว่างสันติภาพกับพุทธศาสนา ชาวพุทธไม่มีทางเลือกใดนอกจากเลือกสันติภาพ  หากเลือกพุทธศาสนาแต่สนับสนุนสงคราม นั่นย่อมมิใช่หนทางของชาวพุทธ  เพราะพุทธศาสนาย่อมปฏิเสธการฆ่าในทุกกรณี

อย่างไรก็ตาม ท่านนัท ฮันห์ได้ย้ำเตือนเราว่า พุทธศาสนาที่แท้จริงนั้นมิได้อยู่ที่วัดวาอารามหรือพระสงฆ์ แต่อยู่ที่จิตใจของผู้คน  ใจที่เป็นกุศล เปี่ยมด้วยเมตตา โอบอ้อมอารีต่อกัน ไม่ถูกครอบงำด้วยโลภะ โทสะ และโมหะ คือที่สถิตของพุทธศาสนาที่แท้ต่างหาก  คุณภาพจิตดังกล่าวคือหลักประกันแห่งความยั่งยืนของพุทธศาสนาที่แท้จริง  ใช่หรือไม่ว่าคุณภาพจิตเช่นนี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต้องอาศัยบรรยากาศแห่งความเอื้อเฟื้อเกื้อกูลกัน ผู้คนปลอดพ้นจากความหวาดระแวงหรือเกลียดชังกัน  บรรยากาศเช่นนี้จะเกิดขึ้นได้ก็ในภาวะที่มีสันติภาพเท่านั้น  ดังนั้นหากเลือกสันติภาพ ก็ไม่ต้องห่วงว่าพุทธศาสนาจะถูกทำลาย เพราะสันติภาพคือเนื้อนาที่เกื้อกูลต่อการเจริญเติบโตของพุทธศาสนา

ด้วยเหตุนี้ท่านนัท ฮันห์ จึงอุทิศตนเพื่อสันติภาพในเวียดนามมาโดยตลอด โดยไม่ถือหางสนับสนุนทั้งรัฐบาลเวียดนามใต้หรือคอมมิวนิสต์ หากเรียกร้องให้ทั้งสองฝ่ายหยุดยิง  แม้ว่าการทำเช่นนั้นจะเป็นเหตุให้ท่าน (และขบวนการของท่าน) ถูกระแวงจากทั้งสองฝ่าย จนเพื่อนและลูกศิษย์ของท่านต้องถูกสังหารขณะทำงานช่วยเหลือผู้ประสบภัยสงคราม  กระนั้นท่านก็ไม่เคยเรียกร้องการแก้แค้น แต่ให้อภัยฆาตกร  เพราะท่านเห็นว่าความโกรธเกลียดต่างหากที่เป็นศัตรูของท่าน หาใช่มนุษย์หรือใครคนใดคนหนึ่งไม่

“พุทธศาสนามิใช่วัดหรือองค์กร พุทธศาสนาอยู่ในใจคุณ  ถึงแม้คุณไม่มีวัดหรือพระสงฆ์ คุณก็ยังเป็นชาวพุทธในหัวใจและในชีวิตได้”

จุดยืนของท่านนัท ฮันห์กับขบวนการชาวพุทธเพื่อสันติภาพในเวียดนามนั้น นับว่าแตกต่างอย่างชัดเจนเมื่อเปรียบกับจุดยืนของขบวนการพระสงฆ์และชาวพุทธในลังกาตลอดสามทศวรรษที่ผ่านมา  เพราะฝ่ายหลังนั้นเลือกพุทธศาสนา แม้จะต้องละทิ้งสันติภาพก็ตาม ซึ่งเป็นแรงผลักดันสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้สงครามกลางเมืองระหว่างชาวสิงหลกับชาวทมิฬยืดเยื้อมาร่วม ๒๕ ปีแล้ว โดยมีคนตายไม่น้อยกว่า ๘๐,๐๐๐ คน อีกนับล้านกลายเป็นผู้อพยพ

แม้ว่าความขัดแย้งระหว่างชาวสิงหล (ซึ่งมีประชากร ๓ ใน ๔ ของประเทศ) กับชาวทมิฬ (ซึ่งนับถือศาสนาฮินดู) จะยืดเยื้อยาวนานกว่าพันปี แต่ได้ปะทุอย่างรุนแรงในช่วง ๕๐ ปีที่ผ่านมาหลังจากได้รับเอกราชจากอังกฤษ  จุดเริ่มต้นเกิดขึ้นเมื่อชาวสิงหลต้องการฟื้นฟูสถานะที่เคยตกต่ำในสมัยอาณานิคมให้กลับคืนมา  ประเด็นสำคัญที่เรียกร้องคือ ให้ภาษาสิงหลเป็นภาษาราชการภาษาเดียว (แทนที่จะใช้ภาษาอังกฤษ) ซึ่งเท่ากับเปิดโอกาสให้คนสิงหลสามารถเข้ามหาวิทยาลัยได้มากขึ้น รับราชการได้มากขึ้น หรือมีงานทำในภาคเอกชนได้มากกว่าแต่ก่อน  แต่ข้อเรียกร้องดังกล่าวไม่สำคัญเท่ากับการผลักดันให้ยุติการใช้ภาษาอังกฤษหรือภาษาทมิฬในการสอบเข้ามหาวิทยาลัยและรับราชการ ซึ่งเท่ากับปิดโอกาสทางการศึกษาและเศรษฐกิจของของคนทมิฬ (ซึ่งส่วนใหญ่เขียนภาษาสิงหลไม่ได้)

การเรียกร้องดังกล่าว มีพระสงฆ์เป็นแกนนำ และใช้การรณรงค์ทุกรูปแบบ (รวมทั้งการอดอาหารในรัฐสภา เดินขบวน และหาเสียงให้พรรคการเมืองที่เห็นด้วยกับตน)  เมื่อบรรลุผลสำเร็จ ก็ขยายไปสู่มาตรการอื่นๆ ต่อไป  รวมทั้งการยึดโรงเรียนส่วนใหญ่ให้เป็นของรัฐ โดยใช้ภาษาสิงหลเป็นสื่อกลางอย่างเดียวเท่านั้น  ทำให้ชาวทมิฬเกิดความไม่พอใจ รู้สึกถูกบีบคั้นเสมือนพลเมืองชั้นสอง  หลังจากประสบความล้มเหลวในการต่อต้านซึ่งมักจบลงด้วยความรุนแรง จึงพากันเรียกร้องให้มีการปกครองตนเอง (แบบสหพันธรัฐ) ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งมีคนทมิฬอาศัยเป็นส่วนใหญ่  แต่ในสายตาของคนสิงหลนี้คือสัญญาณของการแยกดินแดน

ลำพังลัทธิชาตินิยมอย่างเดียวก็ทำให้คนสิงหลรับไม่ได้กับข้อเสนอดังกล่าว เพราะถือว่าเกาะลังกาทั้งเกาะเป็นของชาวสิงหล  แต่คนสิงหลยังมีความเชื่อมากกว่านั้นว่า ความเป็นสิงหลกับความเป็นพุทธนั้นแยกจากกันไม่ออก  ความเจริญรุ่งเรืองของสิงหลคือความเจริญรุ่งเรืองของพุทธศาสนา  ภาษา วัฒนธรรม และดินแดนของสิงหลเป็นหนื่งเดียวกับพุทธศาสนา ดังนั้นหากดินแดนของสิงหลต้องถูกแยกออกไปก็มีผลต่อความเสื่อมถอยของพุทธศาสนาด้วย

พระสงฆ์ซึ่งถือว่าตนมีภารกิจปกป้องพุทธศาสนา จึงทำทุกวิถีทางเพื่อต่อต้านการปกครองตนเองของชาวทมิฬ (โดยที่ก่อนหน้านั้นก็ได้ประสบความสำเร็จมาแล้วในการเรียกร้องให้รัฐธรรมนูญบรรจุข้อความยกย่องพุทธศาสนาให้เป็นศาสนาที่มีความสำคัญเป็นอันดับหนึ่งของชาติ)  แต่ยิ่งต่อต้าน ความขัดแย้งก็ลุกลามมากขึ้น จนชาวทมิฬจำนวนหนึ่งหมดความหวังกับสันติวิธี จึงจับอาวุธขึ้นสู้  ซึ่งก็ยิ่งปลุกเร้าความเกลียดชังระหว่างคนสองเชื้อชาติมากขึ้น จนในที่สุดก็เกิดจลาจลในปี ๒๕๒๖ ซึ่งขยายไปหลายเมืองและมีคนตายร่วม ๒,๐๐๐ คน ส่วนใหญ่เป็นชาวทมิฬ

นับแต่นั้นสงครามกลางเมืองระหว่างสิงหลกับทมิฬก็เกิดขึ้น ทั้งสองฝ่ายใช้วิธีการทุกรูปแบบในการสังหารกัน รวมทั้งการทิ้งระเบิดปูพรม และการใช้ระเบิดพลีชีพ โดยผู้รับเคราะห์ส่วนใหญ่เป็นผู้บริสุทธิ์  ตลอดสองทศวรรษที่เกิดสงคราม มีหลายกลุ่มเรียกร้องสันติภาพ โดยเสนอให้มีการกระจายอำนาจให้ชาวทมิฬ  แต่ก็มักถูกต่อต้านโดยกลุ่มพระสงฆ์จำนวนมาก ซึ่งเห็นว่าความรุ่งเรืองของสิงหลและพุทธศาสนา เป็นสิ่งที่ประนีประนอมไม่ได้  หลายรูปถึงกับเข้าร่วมกับกองกำลังติดอาวุธสิงหล (JVP) เพื่อต่อต้านรัฐบาลที่มีแนวโน้มประนีประนอมกับฝ่ายทมิฬ  ในขณะที่นับพันเข้าร่วมการประท้วงทุกครั้งที่เห็นว่ารัฐบาลกำลังโอนอ่อนให้ฝ่ายทมิฬ

แม้ปัจจุบันประชาชนทั้งสองฝ่ายจะเหนื่อยหน่ายกับสงคราม แต่สงครามไม่มีทีท่าว่าจะยุติ  ทั้งๆ ที่มีการตกลงหยุดยิงมาได้ ๕ ปีแล้ว แต่การฆ่าฟันกันก็ยังดำเนินต่อไป  ส่วนหนึ่งเพราะรัฐบาลและฝ่ายกบฏ (พยัคฆ์ทมิฬอีแลม) ระแวงซึ่งกันและกัน  แต่อีกสาเหตุหนึ่งก็เพราะพระสงฆ์และชาวพุทธจำนวนไม่น้อยยังต่อต้านสันติภาพทุกชนิดที่จะทำให้ความยิ่งใหญ่ของสิงหลและพุทธศาสนาต้องลดน้อยถอยลง  ภิกษุรูปหนึ่งซึ่งเป็นแกนนำของพรรคการเมืองซีกรัฐบาล ประกาศเมื่อเร็วๆ นี้ว่า “เราต้องทำลาย (ผู้ก่อการร้ายทมิฬ) ก่อน แล้วจึงค่อยเจรจา”

ทุกวันนี้พุทธศาสนาได้รับการยกย่องว่าเป็นศาสนาประจำชาติของศรีลังกา  แต่มีความหมายอะไรหากทั้งแผ่นดินนองไปด้วยเลือด  ผู้คนเต็มไปด้วยความโกรธแค้นชิงชัง  ทุกวันนี้ความรุนแรงระบาดไปถึงครอบครัว มีการทำร้ายทุบตีกันมากขึ้นภายในบ้าน  การฆ่าตัวตายโดยเฉพาะในหมู่คนหนุ่มสาวพุ่งสูงเป็นอันดับต้นๆ ในเอเชีย  ใช่หรือไม่ว่าการชูธงพุทธศาสนาโดยปฏิเสธสันติภาพ ในที่สุดก็ต้องลงเอยด้วยการบั่นทอนพุทธศาสนาเสียเอง

เป็นเวลา ๓๒ ปีแล้วที่สันติภาพกลับคืนเวียดนาม  แม้ชาวพุทธจะถูกกดขี่บีฑาโดยรัฐบาลคอมมิวนิสต์ปีแล้วปีเล่า  แต่วันนี้เสรีภาพทางศาสนาเริ่มกลับคืนมา พุทธศาสนากำลังเบ่งบานอีกครั้งหนึ่ง  สองปีที่แล้วท่านนัท ฮันห์ได้กลับไปเยือนบ้านเกิด หลังจากถูกห้ามเข้าประเทศมาเกือบ ๔๐ ปี ท่านได้รับการต้อนรับเยี่ยงปูชนียบุคคล  ผู้คนนับพันพร้อมใจมาฟังธรรมเทศนาและร่วมปฏิบัติกับท่านในทุกเมืองที่ท่านเยี่ยมเยือน  สังฆะของท่านขยายตัวอย่างรวดเร็ว เช่นเดียวกับอุบาสกและอุบาสิกาบริษัทผู้ศรัทธาในแนวทางของท่าน จนท่านต้องกลับไปเยือนเวียดนามเพื่อโปรดเขาเหล่านั้นอีกครั้งในปีนี้ (ก่อนที่จะแวะมาเมืองไทยในช่วงเทศกาลวิสาขบูชา)  วันนี้รัฐบาลคอมมิวนิสต์มิอาจขัดขวางท่านและชาวพุทธผู้ศรัทธาท่านอีกต่อไป  วิถีพุทธกำลังกลับมาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตชาวพุทธเวียดนามอีกครั้งหนึ่ง

ท่านนัทฮันห์ได้พิสูจน์ว่า หากเลือกสันติภาพก่อนพุทธศาสนา ในที่สุดพุทธศาสนาก็จะกลับมาตั้งมั่นในแผ่นดินอีกครั้งหนึ่ง ตราบใดที่ยังมีพุทธศาสนาสถิตอยู่กลางใจ

สำหรับชาวพุทธไทยที่เห็นว่าความรุนแรงเป็นคำตอบสำหรับการรักษาพุทธศาสนาในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้  เหตุการณ์ในเวียดนามและศรีลังกาในปัจจุบันคือบทเรียนที่มิอาจมองข้ามได้


ภาพประกอบ

พระไพศาล วิสาโล

ผู้เขียน: พระไพศาล วิสาโล

เจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต และประธานมูลนิธิเครือข่ายพุทธิกา