ลัทธิพิธีในสังคมไทย โดยทั่วไปจะมีลักษณะร่วมกันอยู่ ๗ ประการ
ลักษณะที่ ๑ คือมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ อันนี้ขาดไม่ได้จนกระทั่งบางทีอิงไสยศาสตร์ สิ่งศักดิ์สิทธิ์นี่อาจจะเป็นบุคคลในตำนาน หรือว่าเป็นพระพุทธเจ้า หรือว่าเป็นเทพ หรือเป็นบุคคลในประวัติศาสตร์อย่างเช่น เสด็จพ่อ ร.๕ หรือพระนางสุพรรณกัลยาก็ได้ แต่ว่าต้องมีฤทธิ์ดลบันดาลได้
ลักษณะที่ ๒ ต้องมีเรื่องราวแบบตำนานหรือที่ภาษาฝรั่งเรียกว่า myth คือเรื่องราวเกี่ยวกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือเรื่องราวแวดล้อมสิ่งศักดิ์สิทธิ์นั้น ซึ่งมักจะเป็นเรื่องราวซึ่งมีความลี้ลับหรือมีอิทธิปาฏิหาริย์เข้ามาเกี่ยวข้องมาก เป็นเรื่องราวที่ไม่จำกัดสถานที่หรือเวลา แม้กระทั่งเสด็จพ่อ ร.๕ ก็มีเรื่องที่เป็นตำนานหลายเรื่องที่ไม่มีหลักฐานรองรับทางประวัติศาสตร์เลย หรือแม้กระทั่งพระนางสุพรรณกัลยาก็ตาม
ลักษณะที่ ๓ คือมีพิธีกรรมหรือกรรมวิธีของตนเอง อาตมาอยากจะเน้นว่ากรรมวิธีหรือพิธีกรรมในที่นี้เป็นพิธีกรรม ที่ทำในลักษณะรวมหมู่ จะเป็นสวดภาณยักษ์ก็ดี หรือว่าจะเป็นลัทธิพิธีของเจ้าแม่กวนอิม หรือว่าเสด็จพ่อ ร.๕ ก็ตาม ส่วนใหญ่จะเป็นพิธีกรรมรวมหมู่ และก็มักจะทำให้มีอำนาจดลบันดาลเกิดขึ้น
ลักษณะที่ ๔ คือมีข้อประพฤติปฏิบัติส่วนบุคคล อย่างที่อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ ได้พูดถึงเรื่องการไม่กินเนื้อวัว หรือว่าการสวดมนต์ หรือว่าการกินเจ หรือการเคร่งศีลบางข้อ อันนี้เป็นข้อประพฤติปฏิบัติส่วนบุคคล ซึ่งอาจจะมีลักษณะเป็นพิธีกรรมด้วยก็ได้
ทั้ง ๔ ประการนี่ อาตมาคิดว่ามักจะอิงความเชื่อทางศาสนา ไม่ใช่เป็นเรื่องของคำสอนที่จะเอามาเป็นแนวปฏิบัติในการดำเนินชีวิตได้
ลักษณะที่ ๕ คือลัทธิพิธีมักจะมีผู้นำ บางลัทธิพิธีไม่มีผู้นำ เช่น ลัทธิพิธีสุพรรณกัลยาหรือเสด็จพ่อ ร.๕ ตอนนี้ไม่มีเจ้าพิธีที่เป็นผู้นำ แต่ลัทธิพิธีส่วนใหญ่จะมีผู้นำ อาจจะเป็นเจ้าพ่อ เจ้าแม่ ตามตำหนักทรงทั้งหลาย ซึ่งตรงนี้เองนำทำให้เกิดเป็นชุมชน ซึ่งเป็นลักษณะที่ ๖ คือ มีชุมชนที่แวดล้อมผู้นำหรือเจ้าพิธีเหล่านั้น
ลักษณะที่ ๗ ซึ่งสำคัญมาก และน่าจะพิจารณากัน คือลัทธิพิธีส่วนใหญ่มักจะตอบสนองความต้องการ ๒-๓ อย่างของผู้ที่นับถือ
ประการที่ ๑ คือตอบสนองความสำเร็จทางโลก ลัทธิพิธีมักจะเน้นตรงนี้มาก เช่น ทำให้รอดตาย หายป่วย ร่ำรวย มีชื่อเสียง เป็นต้น
ประการที่ ๒ คือตอบสนองความสัมพันธ์ทางสังคม ทำให้ตัวเองได้มีชุมชน สังกัด มีความรู้สึกเป็นชุมชน หรือพูดง่ายๆ คือมีเพื่อน คนที่ไปร่วมชมรมสวดพระคาถาชินบัญชร มีหลายคนบอกว่า ไม่ได้คิดว่าการสวดมนต์จะทำให้ร่ำรวยอะไร แต่อยากมีเพื่อน
ประการที่ ๓ คือ ตอบสนองความต้องการทางจิตใจ หมายถึงทำให้เกิดความมั่นคงทางจิตใจ หรือพูดภาษาชาวบ้าน คือ สบายใจเพราะมีสิ่งยึดเหนี่ยว หรือว่ามีข้อปฏิบัติที่ทำให้ตัวเองมีความรู้สึกมั่นใจว่าฉันก็เป็นคนดีเหมือนกันนะ ฉันไม่กินเนื้อสัตว์ หรือว่าฉันก็ทำสมาธินะ แต่ไม่ถึงขั้นที่จะทำให้เกิดการพัฒนาตนตามหลักไตรสิกขาคือ ศีล สมาธิ ปัญญา อันจะนำไปสู่ภาวะที่เป็นอิสรภาพทางจิตใจ หรือการลดความยึดถือในตัวตน ตรงนี้ไม่ค่อยมีการเน้นเท่าไร อันนี้ทำให้ลัทธิพิธีมีลักษณะค่อนข้างจะผิวเผิน แต่ก็ช่วยตอบสนองความต้องการทางจิตใจได้ในระดับหนึ่ง
ถ้ามองลัทธิพิธีซึ่งมีองค์ประกอบ ๗ ประการ บางแห่งอาจจะมีแค่ ๕ หรือว่า ๖ แต่ว่าโดยรวมๆ แล้วก็หนีไม่พ้น ๗ ประการนี้ ก็คงจะเห็นได้ว่าลัทธิพิธีนี้มีทั้งอยู่ในวัดและนอกวัด
ทีนี้ถ้าถามให้ชัดไปเลยว่าท่าทีของชาวพุทธเถรวาทต่อลัทธิพิธีควรเป็นอย่างไร อาตมาคิดว่าท่าทีประการแรกคือต้องรู้จักแยกแยะระหว่างลัทธิพิธีที่เป็นคุณกับลัทธิพิธีที่เป็นโทษ อาตมาคิดว่ามีทั้ง ๒ แบบ ลัทธิพิธีที่เป็นคุณ หมายความว่าอย่างไร ก็หมายความว่าแม้จะอิงไสยศาสตร์และแม้จะสนองความสำเร็จทางโลกก็ตาม แต่ว่าก็ยังมีศีลธรรมกำกับ มีข้อปฏิบัติในการดำเนินชีวิตที่สอดคล้องกับหลักศีลธรรมในทางพระพุทธศาสนา มีข้อวัตรในการที่ช่วยฝึกฝนตน คือไม่ใช่แค่ซื้อเครื่องรางของขลังแล้วก็จะบรรลุความสำเร็จ ไม่ใช่เพียงแค่จ่ายเงินทำบุญแล้วก็จะบรรลุความสำเร็จทางโลก ไม่ใช่ ต้องประพฤติปฏิบัติด้วยเจ้าแม่กวนอิมถึงจะโปรดปราน หรือดลบันดาลความสำเร็จแก่เราตามที่ต้องการ เพราะฉะนั้นลัทธิพิธีที่เป็นคุณจึงต้องมีหลักธรรมประกอบ มีคำสอนที่แม้จะง่ายๆ แต่ก็ทำให้เกิดท่าทีต่อชีวิตที่เป็นกุศล หรือมีวิถีชีวิตที่ไม่ไปเบียดเบียนคนอื่น หรือเบียดเบียนน้อยลง อาจจะไม่ลึกซึ้งเท่าไหร่ แต่ก็ช่วยทำให้เกิดการพัฒนาตนในลักษณะที่ว่า
ลัทธิที่เป็นคุณยังมีอีกลักษณะหนึ่ง คือไม่ขัดกับหลักไตรสิกขา ไตรสิกขา คือ การพัฒนาตนทั้งในด้านศีล สมาธิ ปัญญา ไม่ใช่สิ้นสุดแค่ทำพิธีกรรมก็จบ แต่ว่ายังช่วยพัฒนาไปสู่ชีวิตที่งดงามหรือเจริญงอกงามยิ่งขึ้น จากขั้นพฤติกรรม สู่ขั้นเสริมสร้างคุณภาพจิต แล้วพัฒนาไปสู่การพัฒนาปัญญา ซึ่งส่งผลคือทำให้เกิดการพึ่งตน เกิดอิสรภาพทางจิตใจ บางช่วงในลัทธิพิธีอาจช่วยให้เกิดการพึ่งตนได้แม้ว่าจะอิงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ก็ตาม
ลักษณะอีกประการหนึ่งของลัทธิพิธีที่เป็นคุณก็คือ เจ้าลัทธิเป็นคนมีคุณธรรม ไม่ได้หวังกอบโกย ไม่ได้หวังร่ำรวย อาตมาคิดว่าร่างทรงหรือว่าเจ้าพ่อ เจ้าแม่ ในตำหนักทรงหลายตำหนักเป็นที่ยอมรับนับถือก็เพราะเป็นผู้ที่มีคุณธรรม สันโดษ ทั้งหมดนี้คือเกณฑ์วัดว่าลัทธิพิธีใดที่เป็นคุณ
ส่วนลัทธิพิธีที่เป็นโทษก็ตรงข้ามกับที่พูดมา ทีนี้เมื่อใช้เกณฑ์วัดดังกล่าวก็จะพบว่าลัทธิพิธีในวัดก็ดี ลัทธิพิธีนอกวัดก็ดี มีทั้งที่เป็นคุณและเป็นโทษ และจะพบว่าลัทธิพิธีในวัดที่เป็นโทษก็เยอะ ไม่เกื้อกูลต่อความเจริญก้าวหน้าในทางธรรม เช่นไปเน้นความสำเร็จทางโลกล้วนๆ ไม่ได้มุ่งให้เกิดการฝึกฝนพัฒนาตนตามไตรสิกขา กลับไปเน้นพิธีกรรม หรือกรรมวิธีที่จะให้ผลดลบันดาล เช่นเข้าทรง สวดภาณยักษ์ บูชาพระราหู บูชาไฟ ทั้งหมดนี้เป็นการเน้นเรื่องกรรมวิธีหรือพิธีกรรมหมดเลย ซึ่งไม่ได้ช่วยให้ทำให้เกิดความรู้ความเข้าใจในชีวิต หรือการพัฒนาตน ข้อปฏิบัติส่วนบุคคลก็ไม่ค่อยมี
ลัทธิพิธีในวัดจำนวนไม่น้อยไม่มีศีลธรรมที่จะกำกับให้ผู้คนประพฤติปฏิบัติในทางที่ไม่เบียดเบียนคน หรือว่าไม่ช่วยทำให้เกิดความรู้จักปล่อยวางมากขึ้น และที่อันตรายก็คือคลาดเคลื่อนจากหลักธรรมวินัย เราจะพบได้ว่า ลัทธิพิธีในวัดจำนวนไม่น้อยมีลักษณะนี้ ในความเห็นของอาตมา ลัทธิพิธีในวัดแบบนี้นี่น่ากลัวกว่าลัทธิพิธีนอกวัด แม้จะอิงไสยศาสตร์เหมือนกัน ทำไมมันถึงน่ากลัวกว่า ก็เพราะว่าลัทธิพิธีนอกวัด เจ้าลัทธิไม่มีผ้าเหลืองคุ้มหัว จะอยู่ได้ต้องอาศัยคุณธรรมระดับหนึ่งถึงจะเป็นที่ยอมรับนับถือของผู้คน ไม่เหมือนกับลัทธิพิธีในวัดที่มีผ้าเหลืองคุ้มหัว เพราะฉะนั้นก็เลยไม่มีความจำเป็นที่จะต้องปฏิบัติตัวให้มีคุณธรรมก็ได้ เพราะคิดว่าคนไทยก็ไหว้ผ้าเหลืองอยู่แล้ว ยิ่งกว่านั้นก็คือลัทธิพิธีในวัดที่เป็นโทษ ใครๆ เล่นงานเจ้าลัทธิยาก พูดภาษาชาวบ้าน คือเอาเข้าคุกยาก แม้จะต้มตุ๋นประชาชน แม้จะประพฤติผิดพระธรรมวินัย แม้จะโกหกหลอกลวงอย่างไร ก็เอาเข้าคุกยาก เพราะว่าผ้าเหลืองคุ้มหัว นอกจากนั้นยังมีเครือข่ายคณะสงฆ์ไม่ว่าจะในระดับอำเภอ จังหวัด หรือระดับมหาเถรสมาคมที่เข้ามาปกป้อง จึงดำเนินการยาก ขนาดภาวนาพุทธโธกว่าจะเอาเข้าคุกได้ก็ยากมาก แต่ถ้าเป็นเจ้าลัทธินอกวัดนี่เอาเข้าคุกง่าย เพราะไม่มีผ้าเหลืองคุ้มหัวและประชาชนก็สามารถจะเล่นงานได้ ฉะนั้นเจ้าลัทธิพิธีในวัดที่เป็นโทษนี่ อาตมาคิดว่าน่ากลัวมากกว่าลัทธิพิธีนอกวัด
เมื่อรู้จักแยกแยะระหว่างลัทธิพิธีที่เป็นคุณกับลัทธิพิธีที่เป็นโทษแล้ว ทีนี้มาดูต่อว่า เราควรมีท่าทีอย่างไรต่อลัทธิพิธีที่เป็นโทษ ประการแรก คือไม่ควรข้องแวะหรือสนับสนุนลัทธิพิธีเหล่านั้น แต่เท่านั้นไม่พอ อาตมาคิดว่าชาวพุทธเถรวาทจะต้องทำมากกว่านั้นคือ นอกจากไม่ข้องแวะ ไม่สนับสนุนแล้ว จะต้องจัดการด้วย กรณีที่เป็นลัทธิพิธีในวัดที่เป็นโทษ ที่โกหกหลอกลวงประชาชน วิปริตจากพระธรรมวินัย หรือทำพระธรรมวินัยให้วิปริต ชาวพุทธต้องจัดการ จะปล่อยให้ลอยนวล หรือปล่อยปะละเลยไม่ได้ แม้ลัทธิพิธีนอกวัดซึ่งเจ้าลัทธิพิธีเป็นฆราวาสก็ไม่ควรจะปล่อยด้วย ถ้าหลอกลวงต้มตุ๋นประชาชน ก็ต้องจัดการ อาตมาคิดว่านี่เป็นหน้าที่ของชาวพุทธ หรือของประชาชน คือต้องจัดการไม่ให้มีขบวนการที่ต้มตุ๋นประชาชนโดยอาศัยศาสนาบังหน้าหรือเป็นเครื่องมือ
ท่าทีประการที่ ๓ คือ เราต้องถือว่าลัทธิพิธีทั้งหลาย ทั้งในวัดและนอกวัด ทั้งที่เป็นคุณและเป็นโทษ เราต้องมองว่ามันเป็นสัญญาณเตือนภัยให้เห็นถึงความบกพร่องและความอ่อนแอของพุทธศาสนากระแสหลัก คำว่าพุทธศาสนากระแสหลัก อาตมาหมายถึงพุทธศาสนาที่สอนเป็นมาตรฐาน หรือสถาบันหลักในบ้านเมือง จะเป็นคณะสงฆ์ หรือจะเป็นรัฐหรือโรงเรียนก็ตาม ทำตามที่สอนหรือไม่เป็นอีกเรื่อง นี่หมายถึงพุทธศาสนากระแสหลักที่เป็นมาตรฐาน เราต้องถือว่าลัทธิพิธีนอกวัดนี้เป็นสัญญาณเตือนภัย เป็นกระจกสะท้อนให้เห็นถึงความอ่อนแอและความบกพร่องของพุทธศาสนากระแสหลัก สะท้อนอะไรบ้าง ข้อแรก สะท้อนว่าคนไทยไม่เข้าใจพุทธศาสนา เห็นศาสนาเป็นเรื่องของลัทธิให้ผลดลบันดาล พอไปคิดเช่นนี้ ก็ไปนึกว่าเจ้าลัทธิในวัดนั้นท่านสอนตามหลักพุทธศาสนา ความจริงไม่ใช่ ถ้าเข้าใจพระพุทธศาสนาถูกต้อง ลัทธิพิธีเหล่านั้นนี่จะเฟื่องฟูไม่ได้
ข้อที่ ๒ มันสะท้อนว่าคนไทยทั่วไปไม่เข้าใจหน้าที่หรือธรรมวินัยของพระว่า พระจะต้องมีวินัยและต้องยึดถือธรรมอะไรบ้าง เลยไปเข้าใจว่าพระที่ทำไสยพาณิชย์นั้นเป็นพระที่น่าเชื่อถือ บางทีเข้าใจถึงขั้นว่าพระทุศีลดีกว่าฆราวาสที่มีศีล แบบนี้ก็มี เมื่อไปเข้าใจอย่างนั้นก็เลยไปสนับสนุนเจ้าลัทธิที่ทำกิจการไสยพาณิชย์ ทำให้ลัทธิพิธีเหล่านั้นเฟื่องฟูขึ้นได้
ข้อที่ ๓ มันสะท้อนให้เห็นว่าพุทธศาสนาที่ผ่านมาจัดการกับไสยศาสตร์ไม่ถูกต้องโดยเฉพาะในรอบร้อยปีที่ผ่านมา คือแทนที่จะเอาไสยศาสตร์เป็นเครื่องมือหรือเป็นสื่อพาคนเข้าสู่ธรรมะ การปฏิรูปคณะสงฆ์ตั้งแต่รัชกาลที่ ๕ เป็นต้นมาพยายามขจัดไสยศาสตร์ออกนอกวัด พยายามทำพุทธศาสนาให้เป็นวิทยาศาสตร์ อะไรที่เป็นอิทธิปาฏิหาริย์ก็ตัดออกไป เนื้อหาเกี่ยวกับนรก สวรรค์หรือเรื่องชาตินี้ชาติหน้าก็พยายามตัดออกไป เรื่องผีเรื่องสางก็ตัดออกไปจากวัด ไม่ให้พระเป่าน้ำมนต์ พ่นน้ำหมาก มีความพยายามที่จะสะสางพระพุทธศาสนาอยู่ช่วงหนึ่งของประวัติศาสตร์ แต่ไสยศาสตร์มันก็ไม่ไปไหน มันไปอยู่นอกวัด พอไปอยู่นอกวัดก็กลายเป็นเครื่องมือของพวกที่ต้องการฉกฉวยผลประโยชน์ สมัยนี้ก็เป็นพวกบริโภคนิยม ไสยศาสตร์เวลานี้ถูกยึดโดยบริโภคนิยม หรือพวกที่มุ่งผลประโยชน์ในทางธุรกิจ แทนที่จะเป็นสื่อนำคนเข้าสู่ธรรมะกลับเป็นเครื่องมือสนองกิเลส และเมื่อไสยศาสตร์ดิบๆ แบบนี้เฟื่องฟูนอกวัด ในที่สุดก็ขยายเข้าไปในวัด การที่ลัทธิพิธีในวัดมีไสยศาสตร์จำนวนมากเป็นภาพสะท้อนว่าชาวพุทธไม่รู้เท่าทันไสยศาสตร์ และไม่มีกุศโลบายในการที่จะจัดการกับไสยศาสตร์ ก็เลยทำให้ไสยศาสตร์กลับมาเฟื่องฟูใหม่ทั้งนอกวัดและในวัด และเป็นไสยศาสตร์ที่ไม่ได้มีศีลธรรมกำกับเลย
ข้อที่ ๔ มันสะท้อนถึงความล้มเหลวของพุทธศาสนาในการตอบสนองความต้องการของผู้คน เป็นเพราะว่า ประการแรก พุทธศาสนาไม่มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่จะให้คนยึดเหนี่ยวให้เกิดความมั่นคงทางจิตใจในทางเป็นกุศล เวลานี้เราไม่คิดว่าพระพุทธเจ้าจะเป็นที่ยึดเหนี่ยวได้แล้ว เพราะว่าพระพุทธเจ้านี่ถูกทำให้กลายเป็นบุคคลในประวัติศาสตร์ เป็นบุคคลในตำนาน ซึ่งแต่ก่อนไม่ใช่เช่นนั้น พระพุทธเจ้าก็เลยไม่สามารถที่จะเป็นสิ่งที่ยึดเหนี่ยวให้กับคนได้ ก็เลยไปเอาอย่างอื่นมาเป็นสิ่งยึดเหนี่ยวแทน
ประการที่ ๒ ที่ผ่านมาพุทธศาสนากระแสหลักพยายามเน้นการสอนหลักธรรมแบบตำราหรือแบบปริยัติล้วนๆ เช่น สอนว่าศีล ๕ พรหมวิหาร ๔ มีอะไรบ้าง ความมีศีลธรรมวัดกันตรงนี้ว่าตอบได้หรือเปล่าว่าศีล ๕ มีกี่ข้อ แต่ไม่ได้เน้นเรื่องการประพฤติปฏิบัตหรือการพัฒนาจิตใจ แม้กระทั่งคำสอนให้คนมีธรรมะ ก็มองข้ามเรื่องราวที่ให้คติธรรมหรือแรงบันดาลใจ เช่น นิทานชาดก สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส ตั้งข้อสังเกตตั้งแต่ต้นรัชกาลที่ ๖ ว่า ชาดกในคัมภีร์อรรถกถาธรรมบทถูกตัดทิ้งไป พระไม่ค่อยเอามาสอน สอนแต่ตัวคาถาธรรมบทซึ่งเป็นข้อธรรมล้วนๆ ที่ไม่เอาชาดกมาสอนคงเพราะเห็นว่ามีเรื่องอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์เยอะ สู้สอนด้วยหลักธรรมล้วนๆ ไม่ได้ ตรงนี้เองที่ทำให้คำสอนพุทธศาสนาในระยะหลังขาดเสน่ห์ไป ไม่สามารถที่จะสื่อธรรมไปสู่ชาวบ้านหรือคนทั่วไปได้ เพราะมีความพยายามที่จะทำให้พระพุทธศาสนาเป็นวิทยาศาสตร์ หรือเป็นเรื่องของหลักธรรมแบบปริยัติล้วนๆ
ประการที่ ๓ พุทธศาสนาในปัจจุบันไม่สามารถตอบสนองความต้องการของผู้คนได้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะอย่างที่กล่าวไปแล้วคือไปเน้นเรื่องความรู้ทางปริยัติ ไม่เน้นเรื่องการปฏิบัติหรือการฝึกฝนจิตใจ เมื่อพระท่านไม่ฝึกฝนปฏิบัติเรื่องสมาธิภาวนา การที่จะเข้าถึงความรู้เรื่องในจิตใจและสอนให้จับจิตจับใจคนก็เป็นเรื่องยาก และยิ่งเป็นการยากที่จะสอนให้คนสามารถแก้ปัญหาชีวิตโดยมีการวางท่าทีต่อชีวิตอย่างถูกต้อง เมื่อไม่ได้ปฏิบัติธรรม เมื่อไม่ได้ทำสมาธิภาวนามากพอ คำสอนทางด้านปริยัติก็เลยเป็นคำสอนนามธรรมที่ไม่สอดคล้องกับชีวิตของผู้คน อีกทั้งไม่สามารถที่จะช่วยทำให้ผู้คนเข้าใจจิตใจของตนหรือรู้วิธีจัดการกับจิตใจของตนเวลาเกิดความทุกข์ คำสอนของพุทธศาสนาตามกระแสหลักจึงเป็นคำสอนที่แห้งๆ และเป็นนามธรรมไม่ลุ่มลึกเพียงพอ เลยไม่สามารถช่วยแก้ปัญหาชีวิตจิตใจของคนได้
อีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้พุทธศาสนาในปัจจุบันไม่สามารถตอบสนองความต้องการของผู้คนได้ ก็คือว่าไม่ยอมปรับตัวเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลง ความปรับตัวเปลี่ยนแปลงนี้มีมาตลอดในทุกวงการ แต่ว่าวงการพุทธศาสนาโดยเฉพาะฝ่ายคณะสงฆ์ไม่พยายามปรับตัว เพราะไม่มีความพยายามที่จะเรียนรู้ความเปลี่ยนแปลงในโลก เนื่องจากท่านถนัดอยู่แต่ในวัด สมัยก่อนคนต้องเข้าวัด แต่พอมีการพัฒนา มีการทำประเทศให้ทันสมัย คนเริ่มไม่เข้าวัด ท่านก็ไม่ได้เข้าไปรับรู้ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนอกวัด เฝ้าแต่รอให้คนเข้ามาที่วัด แต่เมื่อคนไม่ค่อยเข้ามา ท่านก็เลยไม่รู้ว่าโลกเขาไปถึงไหนแล้วเลยไม่สามารถปรับตัวหรือปรับคำสอนให้สมสมัย ให้สัมพันธ์กับชีวิตประจำวันและโลกสมัยใหม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นคำสอนทางสังคมหรือเป็นคำสอนในทางจิตใจ พระจำนวนไม่น้อยไม่สามารถจะเข้าใจได้ว่าทำไมคนรวยๆ ถึงอยากจะฆ่าตัวตาย เมื่อไม่เข้าใจก็ไม่สามารถสอนเขาได้
จุดอ่อนของพุทธศาสนาในเวลานี้อีกประการหนึ่งอยู่ตรงที่ว่า พุทธศาสนาของเราเป็นแบบเถรวาทซึ่งรวมศูนย์ที่พระสงฆ์ ทีนี้เมื่อพระท่านอยู่แต่ในวัด ไม่รับรู้ความเปลี่ยนแปลงของโลกนี่ ก็ทำให้พุทธศาสนาไม่สามารถที่จะสัมพันธ์กับชีวิตของฆราวาสได้ มองในแง่หนึ่งลัทธิพิธีที่เกิดขึ้นนอกวัดจำนวนไม่น้อยมันเป็นส่วนหนึ่งของกระแสใหญ่ คือกระแสพุทธศาสนาแบบฆราวาสที่เป็นสะท้อนถึงความไม่พอใจในพุทธศาสนาที่รวมศูนย์อยู่ที่พระ ในสมัยก่อนพุทธศาสนาที่รวมศูนย์ที่พระมีบทบาทสำคัญในการเอื้อประโยชน์ต่อชุมชนและชาวบ้าน เพราะพระท่านเป็นผู้นำทางสติปัญญา แต่พอความไม่เป็นผู้นำทางสติปัญญาของท่านหายไป แต่ท่านยังผูกขาดกิจการของวัดและการพระศาสนาอยู่ มันก็ทำให้พุทธศาสนาแข็งตึงตายตัวไม่ตอบสนองความต้องการของชาวบ้านที่กำลังเปลี่ยนแปลงไป ยิ่งกว่านั้นความเสื่อมศรัทธาต่อพระระยะหลังมีมากขึ้น ไม่ว่าต่อพระที่เป็นอลัชชี หรือพระที่เป็นผู้ปกครองสงฆ์ที่ทำการโอบอุ้มพระอลัชชี อย่างกรณีธรรมกายจะเห็นชัดว่าได้ทำลายศรัทธาของผู้คนอย่างไรบ้าง ทำให้คนเริ่มจะเบือนหน้าหนีออกจากพุทธศาสนาที่รวมศูนย์ที่พระมากขึ้นทุกที
สาเหตุประการสุดท้ายที่ทำให้พระพุทธศาสนาไม่ตอบสนองความต้องการของผู้คนได้ คือการปกครองของคณะสงฆ์ที่ไม่มีประสิทธิภาพ คือไม่เข้มแข็งพอที่จะจัดการกับลัทธิพิธีในวัดที่เป็นโทษ ไม่มีความสามารถเลย มิหนำซ้ำยังไม่ซื่อสัตย์สุจริตเสียอีก เพราะว่าเห็นแก่อามิสสินจ้าง หรือเห็นแก่พวกพ้อง ช่วยโอบอุ้มกัน จึงทำให้พุทธศาสนากระแสหลักไม่ตอบสนองผู้คนเท่าที่ควร และเป็นที่เสื่อมศรัทธาของประชาชนมาก
ด้วยเหตุนี้อาตมาคิดว่าท่าทีในเรื่องนี้ของชาวพุทธก็คือ ต้องผลักดันให้มีการปฏิรูปฟื้นฟูพุทธศาสนาโดยเฉพาะคณะสงฆ์ให้ได้
ท่าทีประการที่ ๕ คือ เราไม่ควรมองลัทธิพิธีแต่ในแง่ลบ เราควรมองในแง่บวกด้วย คือว่าเรียนรู้ความสำเร็จของลัทธิพิธีต่างๆ ลัทธิพิธีจำนวนไม่น้อยประสบความสำเร็จซึ่งน่าเป็นแบบอย่างให้พุทธศาสนาแบบเถรวาทนำไปศึกษา ไม่ใช่ว่าปฏิเสธ โจมตีมุ่งทำลายอย่างเดียว หรือว่ามองแต่ในแง่ลบอย่างเดียว ลัทธิพิธีจำนวนไม่น้อยตอบสนองความต้องการที่หลากหลายของผู้คนอย่างน้อย ๓ อย่างที่ได้กล่าวมา คือ ๑) ความสำเร็จทางโลก โดยเฉพาะเรื่องวัตถุหรือเรื่องทางกายภาพ ๒) ตอบสนองความต้องการทางสังคม คือการมีชุมชนการมีเพื่อน การไม่โดดเดี่ยว ๓) ตอบสนองความต้องการทางจิตใจ เช่น ทำให้จิตใจมั่นคง สบายใจ มีสิ่งยึดเหนี่ยว สิ่งเหล่านี้นี่พุทธศาสนากระแสหลักเวลานี้ไม่สามารถตอบสนองได้เท่าที่ควร โดยเฉพาะเมื่อมองไปที่บทบาทของวัด วัดเวลานี้นี่ตอบสนอง ๓ ข้อนี้น้อยมาก แต่ถ้าเราดูลัทธิพิธีจำนวนไม่น้อยจะมีการตอบสนอง ๓ อย่าง มากบ้างน้อยบ้าง ยิ่งถ้าเป็นลัทธิพิธีที่เป็นอภิมหาสำนัก อภิมหาสำนักหมายถึงสำนักที่มีคนนับถือมาก อย่างวัดพระธรรมกายก็ดีมีความพยายามที่จะตอบสนอง ๓ อย่างนี้ครบถ้วน เริ่มจากเรื่องของวัตถุ ใครอยากรวยก็มาที่วัดนี้ เพราะมีพระดูดทรัพย์ที่ให้หลักประกันว่าจะประสบความสำเร็จทางโลกได้ อยากมีชุมชนสังกัดหรือ ก็มีกลุ่มผู้นำบุญ กัลยาณมิตรที่จะช่วยได้ ทำให้เกิดความรู้สึกอบอุ่นมีมิตร หรือว่าถ้าต้องการความมั่นคงทางจิตใจ สำนักนี้ก็มีให้
อภิมหาสำนักในยุโรปและอเมริกา ก็มีลักษณะนี้ คือมุ่งตอบสนองความต้องการทั้ง ๓ ประการ เวลานี้โบสถ์หรือว่าสำนักใหม่ๆ ในอเมริกาเป็นอันมาก กำลังแย่งชิงบทบาทที่เคยสูญไปให้แก่รัฐกลับมาใหม่ สำนักเหล่านี้บริการสมาชิกทุกอย่าง เช่น สร้างสนามฟุตบอลหรือสนามเด็กเล่นเพื่อให้ความบันเทิงแก่ลูกหลานของคนที่มาวัด มีการแข่งกีฬา มีการจัดกลุ่มศึกษา จัดกลุ่มย่อยๆ ช่วยเหลือกัน ใครมีรถเสีย ก็มีกลุ่มเพื่อนช่วยซ่อมรถให้ สำนักเหล่านี้ตอบสนองความต้องการครบถ้วนทั้ง ๓ ประการ จึงทำให้คนหันมาเข้าวัดใหม่
อาตมาคิดว่าตรงนี้น่าจะเป็นบทเรียนประการหนึ่งที่พุทธศาสนาแบบเถรวาทน่าจะเรียนรู้โดยเฉพาะวัด แต่ก่อนเราก็เป็นอย่างนี้ วัดตอบสนองไม่ใช่แค่ ๓ แต่ตอบสนองถึง ๔ ประการ คือตอบสนองประโยชน์ทางโลกด้วย วัดเป็นโรงเรียน วัดเป็นโรงพยาบาล วัดเป็นที่สงเคราะห์ชาวบ้าน อันนี้ก็เป็นการสนองประโยชน์ทางโลก ขณะเดียวกันก็ตอบสนองความต้องการทางสังคม คือการมีชุมชนสังกัด สมัยก่อนมีวัดเป็นศูนย์กลางของชุมชน คนมาที่วัดกันทุกเพศ ทุกวัย ผู้คนรู้สึกอบอุ่น จะมาหาแฟนก็มาหาในวัด อย่างพลายแก้วกับพิมพิลาไลย เป็นต้น วัดสมัยก่อนเป็นที่ตอบสนองทำให้คนมีชุมชน คนมีเพื่อน สำหรับการตอบสนองความต้องการทางด้านจิตใจ สมัยก่อนมีการฝึกกรรมฐาน หรืออย่างน้อยก็มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้เป็นสิ่งยึดเหนี่ยว นับถือพระพุทธเจ้าให้เป็น นี่เป็นเรื่องสำคัญมากนะ เพราะพระพุทธเจ้าสมัยก่อนไม่ได้เป็นบุคคลทางประวัติศาสตร์ แต่เป็นบุคคลในอีกมิติหนึ่ง ซึ่งอาตมาคิดว่ามีผลในทางทำให้คนมีความมั่งคงในจิตใจ และประการที่ ๔ ก็คือเรื่องของปัญญา พุทธศาสนาสมัยก่อน พระเป็นผู้นำทางปัญญา มีบทบาทอย่างมากในการช่วยให้ผู้คนเกิดความรู้เท่าทันในชีวิตและมีความเข้าใจโลก
บทบาททั้ง ๔ ประการนี้ พระสงฆ์ระยะหลังไม่ค่อยทำ วัดก็ไม่ค่อยตอบสนอง เพราะพระไม่เข้าหาชาวบ้าน ไม่รู้ความเปลี่ยนแปลงของโลก สอนธรรมะไม่สัมพันธ์กับชีวิต ไม่เชื่อมโยงกับความเป็นจริง อาตมาคิดว่าพุทธศาสนาเถรวาทสามารถเรียนรู้จากลัทธิพิธีตรงนี้ได้ แต่ขณะเดียวกันสิ่งหนึ่งที่ลัทธิพิธีขาดไปก็คือขาดมิติทางโลกุตตรธรรม ขาดมิติด้านจิตวิญญาณที่ลุ่มลึก ลัทธิพิธีแค่ทำให้จิตใจมีสิ่งยึดเหนี่ยว และเป็นสิ่งยึดเหนี่ยวจากภายนอก แต่พุทธศาสนามีมากกว่านั้น คือสามารถทำให้ผู้คนมีสิ่งยึดเหนี่ยวจากภายใน ทำให้จิตเป็นอิสระด้วยอำนาจของปัญญา คือ ทำให้มีท่าทีต่อชีวิตที่ถูกต้อง มีท่าทีต่อโลกอย่างเป็นกุศล
ท่าทีประการที่ ๖ ของชาวพุทธก็คือ ควรมีกุศโลบายในการจัดการกับลัทธิพิธีที่เป็นโทษ วิธีที่ดีที่สุดคือ ปฏิรูปและฟื้นฟูพระพุทธศาสนาอย่างที่อาตมาได้กล่าวก่อนหน้านี้ ทั้งนี้จะต้องทำให้ฆราวาสเข้ามามีบทบาทในการปฏิรูปมากขึ้น มากกว่าที่จะให้ถูกรวมศูนย์ที่พระ อาตมาคิดว่าคงจะไม่เป็นประโยชน์ถ้าเราจะเอาแต่ไล่ปราบลัทธิพิธีที่เป็นโทษไม่ว่าจะในวัดนอกวัด สิ่งที่น่าจะทำก็คือต้องจัดการกับตัวเราเอง ด้วยการมาปรับปรุงพุทธศาสนากระแสหลักเพื่อให้มีความเข้มแข็ง หากพุทธศาสนากระแสหลักเข้มแข็งแล้วลัทธิพิธีที่เป็นโทษย่อมจะมีคนเข้าหาน้อยลง เพราะเมื่อผู้คนเข้าใจว่าพุทธศาสนาที่ถูกต้องเป็นอย่างไร หลักธรรมที่ถูกต้องเป็นอย่างไร และช่วยเขาได้อย่างไร เขาย่อมไม่ไปไปเข้าหาลัทธิพิธีที่เป็นโทษ ขณะเดียวกันสังคมหรือผู้คนเมื่อรู้ว่าพุทธศาสนาหรือธรรมะที่ถูกต้องเป็นอย่างไรก็จะเข้าไปตรวจสอบควบคุมลัทธิพิธีที่เป็นโทษเหล่านั้นเอง โดยเฉพาะลัทธิพิธีในวัด สังคมจะเข้าไปตรวจสอบเองและจัดการกับลัทธิพิธีที่โกหกหลอกลวงประชาชน ขณะเดียวกันในอีกแง่หนึ่ง ลัทธิพิธีต่างๆ ก็จะเป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่พุทธศาสนากระแสหลัก เมื่อมีแบบอย่างที่ดีแล้วก็อาจช่วยให้พุทธศาสนากระแสหลักปรับปรุงตัวเองได้
แต่ไม่ว่าเราจะจัดการกับลัทธิพิธีอย่างไรก็ตาม เราต้องยอมรับความจริงข้อหนึ่งคือว่าลัทธิพิธีจะมีมากขึ้นเรื่อยๆ มันเป็นกระแสสมัยใหม่ซึ่งเราปฏิเสธไม่ได้ และอาตมาคิดว่าชาวพุทธเถรวาทต้องเรียนรู้ที่จะอยู่ท่ามกลางลัทธิพิธีเหล่านี้ ต้องใจกว้าง มีขันติธรรม และรู้จักเรียนรู้ข้อดีจากลัทธิพิธีต่างๆ ด้วย นี่คือท่าทีประการสุดท้ายของชาวพุทธ
มาถึงตรงนี้คำถามที่น่าคิดก็คือ ทำอย่างไรพุทธศาสนากระแสหลักถึงจะไม่เป็นลัทธิพิธีอีกอันหนึ่งอย่างที่อาจารย์นิธิได้พูดไปแล้ว อาตมาคิดว่าการปฏิรูปพระพุทธศาสนาเป็นสิ่งจำเป็นมาก การฟื้นฟูพระพุทธศาสนาเป็นสิ่งจำเป็นมาก เพราะถ้าไม่ทำ พุทธศาสนาจะกลายเป็นลัทธิพิธีอีกอันหนึ่ง หาไม่ก็จะถูกลัทธิพิธีอื่นกลืนหรือแทรกซึมจนผิดเพี้ยนไป ถึงตอนนั้นเราก็จะไม่รู้ว่าความเป็นพุทธอยู่ที่ไหน เวลานี้นิยามความเป็นพุทธคลุมเครือมากขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งเราไม่รู้ว่าพุทธที่แท้คืออะไร เพราะฉะนั้นเรื่องการปฏิรูปคณะสงฆ์และการปฏิรูปพุทธศาสนาโดยรวมจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก