ชำระใจให้หายแค้น

พระไพศาล วิสาโล 15 กุมภาพันธ์ 2009

การแก้แค้นเป็นพฤติกรรมที่ติดมากับมนุษย์ตั้งแต่ยุคดึกดำบรรพ์ก็ว่าได้  มันเป็นยิ่งกว่าปฏิกิริยา “สู้หรือหนี” อันเป็นสัญชาตญาณดั้งเดิมของสัตว์ทุกชนิดเมื่อเผชิญกับภัยคุกคาม  คนเราไม่ได้อยากแก้แค้นเพียงเพราะโกรธที่ถูกทำร้ายเท่านั้น หากยังเพราะมีความอาฆาตพยาบาทซึ่งหล่อเลี้ยงด้วยความทรงจำ  สัตว์บางชนิดอาจมีความอาฆาตพยาบาทเช่นเดียวกับมนุษย์ แต่นั่นเพราะมันหรือลูกของมันถูกทำร้าย  ส่วนมนุษย์นั้นเพียงแค่เสียหน้าหรือถูกดูหมิ่นศักดิ์ศรีก็เป็นเหตุผลมากพอแล้วที่จะลงมือล้างแค้นจนถึงตาย

อย่างไรก็ตามการแก้แค้นไม่ใช่เป็นเรื่องของอารมณ์ความรู้สึกล้วนๆ  มนุษย์ตั้งแต่ยุคบรรพกาลมีเหตุผลที่ต้องแก้แค้น ไม่ใช่เพื่อความสะใจเท่านั้น แต่เพื่อส่งสัญญาณให้คู่กรณีรวมทั้งคนอื่นๆ ได้รู้ว่าตนจะไม่ยอมถูกกระทำฝ่ายเดียว  ใครที่มาล่วงล้ำ กล้ำเกิน หรือทำร้ายตนย่อมถูกโต้ตอบกลับคืน  กล่าวอีกนัยหนึ่งนี้เป็นวิธีป้องปรามหรือกลไกป้องกันตัวอีกแบบหนึ่ง ซึ่งจำเป็นในยุคที่ผู้คนอยู่กันด้วย “กฎป่า” หรือใช้ความรุนแรงเป็นเครื่องมือ  การไม่แก้แค้นหมายถึงการแสดงความอ่อนแอ ซึ่งเท่ากับเชื้อเชิญให้ใครต่อใครมาเอาเปรียบเบียดเบียนไม่หยุดหย่อน

การป้องกันตนเองด้วยวิธีการดังกล่าว มิใช่เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับความอยู่รอดของปัจเจกบุคคลและครอบครัวเท่านั้น แต่ยังจำเป็นสำหรับกลุ่มชนหรือเผ่าพันธุ์ด้วย  เผ่าจะอยู่รอดไม่ได้หากคนอื่นนิ่งดูดายปล่อยให้เพื่อนพ้องในเผ่าถูกทำร้าย การแก้แค้นให้กับเพื่อนร่วมเผ่าเป็นทั้งการป้องปรามไม่ให้ใครมาทำเช่นนั้นอีก ขณะเดียวกันก็เป็นการส่งสัญญาณแสดงถึงความสามัคคีกลมเกลียวของเผ่าตน ด้วยวิธีนี้เผ่าจึงจะมีโอกาสอยู่รอดและปลอดพ้นจากภัยคุกคามได้

คงเพราะเหตุนี้จึงมีการส่งเสริมค่านิยมการล้างแค้นในหมู่เผ่าพันธุ์และกลุ่มชนต่างๆ จนกลายเป็นวัฒนธรรมไปทั่วโลก และในบางแห่งก็ถึงกับกลายเป็นข้อบัญญัติหรือเป็นที่รับรองของศาสนาด้วยซ้ำ  มองในแง่นี้ก็เหมือนกับจะยืนยันว่าการล้างแค้นเป็นสัญชาตญาณของมนุษย์ที่ติดมาในยีนเลยก็ว่าได้  แต่มองอีกมุมหนึ่ง การที่หลายชุมชนหลายเผ่าพันธุ์พยายามตอกย้ำเหตุการณ์อันน่าขมขื่นเจ็บปวดในอดีต (ผ่านบทเพลง บันทึกประวัติศาสตร์ และเรื่องเล่าปากต่อปาก ฯลฯ) เพื่อกระตุ้นให้เกิดความอาฆาตพยาบาทและอยากแก้แค้นนั้น  ทำให้เกิดคำถามขึ้นมาว่า ถ้าการแก้แค้นเป็นสัญชาตญาณของมนุษย์จริง ทำไมจึงต้องตอกย้ำและปลุกเร้าให้เกิดความโกรธเกลียดและอาฆาตพยาบาทไม่หยุดหย่อน ราวกับกลัวว่าผู้คนจะลืมเหตุการณ์เหล่านั้นหรือไม่อาฆาตพยาบาทมากพอ

มีผู้คนเป็นอันมากที่พยายามหล่อเลี้ยงความอาฆาตพยาบาท ด้วยการเตือนตนให้ระลึกถึงความเจ็บแค้นในอดีต เช่น นึกถึงมันบ่อยๆ หรือบันทึกเอาไว้  บ้างก็ถึงกับทำรายชื่อศัตรูเหมือนกับจดรายการจ่ายตลาด ทั้งนี้ก็เพราะเขากลัวลืม แต่ยิ่งนึกย้ำซ้ำทวนก็ยิ่งถูกไฟโทสะเผาลนจิตใจ  การพยายามปกป้องตนเองด้วยการแก้แค้นกลับกลายเป็นการบั่นทอนทำร้ายตนเองตั้งแต่เริ่มคิดแก้แค้นด้วยซ้ำ

แต่การแก้แค้นก่อผลเสียยิ่งกว่านั้น มันสามารถชักนำครอบครัวและกลุ่มชนของตนให้ตกอยู่ในวังวนแห่งความรุนแรง ติดกับดักแห่งการแก้แค้นไม่รู้จบ  เพราะอีกฝ่ายย่อมไม่อยู่นิ่งเฉยหากพยายามแก้แค้นเอาคืน  การแก้แค้นให้กับคนๆ หนึ่งที่ถูกฆ่าตายอาจตามมาด้วยการสังหารผู้คนอีกเกือบ ๓๐ คน (ดังที่เกิดกับ ๒ ชนเผ่าในนิวกีนีเมื่อหลายปีก่อน) หรือมีการจองล้างจองผลาญติดต่อกันนานถึง ๒๗๐ ปี (ดังกรณีที่เกิดในอัลเบเนีย)  แต่นั่นก็ยังเทียบไม่ได้กับการแก้แค้นระหว่างเซิร์บกับเติร์กซึ่งยืดเยื้อมา ๖๐๐ ปี หรือระหว่างยิวกับอาหรับซึ่งสาวไปได้ถึงพันปีที่แล้ว

เรื่องราวการแก้แค้นซึ่งปรากฏในวรรณกรรมเรื่อง ‘แฮมเล็ต’ โดยเริ่มจากการที่พ่อของแฮมเล็ตถูกฆ่าตายโดยลุงผู้หวังชิงราชบัลลังก์ จากนั้นวิญญาณของกษัตริย์ผู้นี้จึงมาสั่งให้แฮมเล็ตทำการล้างแค้นให้เขา ส่งผลให้เกิดโศกนาฏกรรมหลายอย่างตามมา

ทุกวัฒนธรรมที่ส่งเสริมการแก้แค้นย่อมรู้ดีว่า การแก้แค้นที่ปล่อยให้เกิดขึ้นตามอำเภอใจย่อมนำมาซึ่งความโกลาหลวุ่นวาย ทำลายความสามัคคีและบั่นทอนเสถียรภาพของสังคม  จึงพยายามสร้างกติกาหรือข้อกำหนดขึ้นมาเพื่อให้การแก้แค้นอยู่ในขอบเขต (เช่น อนุญาตให้แก้แค้นได้ภายใน ๒๔ ชั่วโมง หรือกันเด็ก ผู้หญิง ชายชราจากหน้าที่แก้แค้น หรืออนุญาตให้ดวลปืนยิงกันด้วยกระสุนนัดเดียว) แต่นั่นก็ไม่ใช่วิธีแก้ปัญหาที่ดีที่สุด  หลายชุมชนจึงหันมาส่งเสริมการปรับหรือเรียกค่าสินไหมแทนการแก้แค้น หรือไม่ก็มอบหมายให้รัฐหรือผู้ปกครองทำการแก้แค้นแทน  โดยมีมาตรการต่างๆ ตั้งแต่ปรับ จำคุก ไปจนถึงประหารชีวิต (ในอดีตอนุญาตให้รัฐใช้วิธีทรมานได้ด้วย)

แต่ความรุนแรงควรยุติด้วยการแก้แค้นเท่านั้นหรือ? หากเราไม่ลงมือแก้แค้นเอง เราควรพอใจที่รัฐแก้แค้นแทนเราเท่านั้นหรือ? มีวิธีอื่นที่ดีกว่านี้หรือไม่ที่เราสามารถทำได้?  คำตอบคือมี ได้แก่ “การล้างแค้นอย่างสร้างสรรค์” คือ การล้างแค้นด้วยการยกระดับตัวเองแทนที่จะไปเหยียบย่ำคนอื่นให้ตกต่ำลง  เมื่อเราโกรธหรือเกลียดใครสักคน เราอยากทำกับเขาเหมือนกับที่เขาทำกับเรา  หากเขาด่าว่าเรา เราก็ต้องด่าเขากลับคืน  หากเขาทำร้ายเรา เราก็ต้องเล่นงานเขาให้สาสม  วิธีนี้ก็คือการทำตัวเองให้ต่ำลงเหมือนเขา  แต่ผู้ที่มีปัญญาย่อมรู้ดีว่าการทำให้เขาเจ็บปวดที่ดีกว่านั้นก็คือการทำตนให้ดีกว่าเขา เก่งกว่าเขา ประสบความสำเร็จมากกว่าเขา หรือเป็นสุขเบิกบานใจยิ่งกว่าเขา

อย่างไรก็ตาม การล้างแค้นแบบสร้างสรรค์สามารถนำความทุกข์มาให้แก่เราได้ ตราบเท่าที่เรายังไม่เก่งกว่าเขาหรือประสบความสำเร็จมากกว่าเขา  เบื้องหลังการล้างแค้นดังกล่าวคือความโกรธเกลียดซึ่งสามารถเผาลนจิตใจเราได้ตลอดเวลา  ด้วยเหตุนี้จึงมีวิธีที่ดีกว่านั้นอีก นั่นคือ การให้อภัย  การให้อภัยมิได้หมายถึงยอมรับการกระทำไม่ดีของเขา แต่หมายถึงการปลดเปลื้องความโกรธเกลียดและอาฆาตพยาบาทออกไปจากจิตใจของเรา  แม้เราจะยอมรับการกระทำของเขาไม่ได้ แต่เราสามารถยอมรับเขาในฐานะมนุษย์ได้  การฆ่า การหลอกลวง หรือการดูหมิ่นเหยียดยาม เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องวันยังค่ำ  แต่คนเราอาจทำสิ่งนั้นเพราะความพลั้งเผลอ เพราะความไม่รู้ เพราะความเข้าใจผิด หรือเพราะอารมณ์ชั่ววูบ  เขาอาจทำเพราะแรงบีบคั้นจากความเจ็บปวดในอดีต หรือเพราะเคยถูกกระทำย่ำยีมาก่อนก็ได้  ในฐานะที่เป็นเพื่อนทุกข์ เขาควรได้รับการให้อภัยจากเรา ในฐานะที่เรามีหน้าที่ทำตนให้เป็นสุข เราควรปลดเปลื้องความอาฆาตพยาบาทไปจากจิตใจ

วิธีที่ดีกว่าการแก้แค้น คือ การให้อภัย ซึ่งหมายถึงการปลดเปลื้องความโกรธเกลียดและอาฆาตพยาบาทออกไปจากใจของเรา

มิใช่แต่การล้างแค้นเท่านั้นที่อยู่คู่กับมนุษย์ การให้อภัยและการสมานไมตรีก็เป็นส่วนหนึ่งของมนุษยชาติมาช้านาน  อย่าว่าแต่คนเลย แม้แต่สัตว์ก็รู้จักคืนดี  นักสัตววิทยาที่สังเกตพฤติกรรมของลิงในสวนสัตว์และป่าธรรมชาติพบว่า เมื่อลิงทะเลาะเบาะแว้งกัน  จะมีความพยายามคืนดีกันเสมอ  หากไม่ “วาน” ตัวกลางให้ช่วยไกล่เกลี่ย คู่กรณีตัวใดตัวหนึ่งก็จะเป็นฝ่ายริเริ่มเข้าหา งอนง้อ หรือทำดีด้วย  ไม่ว่าอีกฝ่ายจะเคยกราดเกรี้ยวคู่กรณีเพียงใด แต่ในที่สุดก็จะคืนดีด้วยการเกาหลังให้กันและกัน

มนุษย์ไม่ได้มีแต่ความโกรธเกลียดเท่านั้น เรายังมีเมตตา กรุณา และความเข้าใจด้วย  ความสามารถในการให้อภัยจึงอยู่ในใจของเราทุกคน  จะว่าไปการให้อภัยเป็นกลไกอย่างหนึ่งในการปกป้องตนเอง  มิใช่ปกป้องจากศัตรูภายนอก แต่ปกป้องจากศัตรูภายใน ได้แก่ความโกรธเกลียดและอาฆาตพยาบาทนั่นเอง  หากความโกรธเกลียดและอาฆาตพยาบาทคือมีดกรีดใจ การให้อภัยก็คือยาสมานใจนั่นเอง  ใจที่ไร้ยาสมานย่อมมีแผลเรื้อรัง ชีวิตที่ให้อภัยไม่เป็นย่อมหาความสุขได้ยาก

เราจะสุขหรือทุกข์มิใช่เพราะมีใครมาทำให้  หากอยู่ที่ใจของเราเอง  ไม่มีใครทำลายศักดิ์ศรีของเราได้นอกจากตัวเราเอง  ถึงที่สุดแล้วเราต้องเลือกว่าเราจะมีชีวิตอยู่อย่างไร ระหว่างการหล่อเลี้ยงความโกรธเกลียดเอาไว้ หรือการบ่มเพาะเมตตาและกรุณา  ผู้คนเป็นอันมากเลือกอย่างแรกจึงจมปลักอยู่ในความทุกข์ ส่วนผู้มีปัญญาเลือกอย่างหลังจึงเป็นสุขอยู่เสมอ

ความอาฆาตพยาบาทนั้นมีความทรงจำเป็นตัวหล่อเลี้ยง แต่ก็มิได้หมายความว่าเราต้องลืมก่อนถึงจะให้อภัยได้  การให้อภัยมิได้เกิดจากการหลงลืมแต่เกิดจากความตระหนักรู้ถึงโทษของความโกรธ  ที่สำคัญก็คือเกิดจากความเข้าใจในคู่กรณี โดยเฉพาะเมื่อเห็นถึงความเป็นมนุษย์ของเขาซึ่งไม่ต่างจากเรา  อีกทั้งเห็นถึงความทุกข์ของเขาด้วย เราสามารถจะให้อภัยโดยไม่ลืมได้

คิม ฟุค ถูกไฟจากระเบิดนาปาล์มของอเมริกาเผาลวกทั้งตัวจนเกือบเอาชีวิตไม่รอด อีกทั้งยังสูญเสียลูกพี่ลูกน้อง ๒ คนจากเหตูการณ์  แม้แผลจะหายหลังจากผ่าตัดถึง ๑๗ ครั้ง แต่ความแค้นฝังใจเธอร่วม ๒๐ ปี  แต่ในที่สุดเธอก็ให้อภัยทหารอเมริกันเมื่อเธอประจักษ์แก่ใจว่า “การบ่มเพาะความเกลียดเอาไว้สามารถฆ่าฉันได้”  เธอพบว่าสิ่งที่ทำร้ายเธอจริงๆ มิใช่ใครที่ไหน หากได้แก่ความเกลียดที่ฝังแน่นในใจเธอนั่นเอง

คิม ฟุค (Phan Thi Kim Phuc) ในวัย 9 ขวบวิ่งเปลือยไปตามถนน ระหว่างหนีการโจมตีจากเครื่องบินทิ้งระเบิดเมื่อปี ค.ศ. 1972 โดยพี่น้องของเธอ 2 คนเสียชีวิตในเวลาต่อมา ขณะที่เธอเองก็ต้องเข้ารับการผ่าตัดเพื่อรักษาบาดแผลนับสิบครั้ง

อาซิม กามิซา สูญเสียทาริก ลูกชายคนเดียววัย ๑๔ ปีเพราะความคิดชั่วแล่นของวัยรุ่นอีกคนหนึ่งที่ต้องการอวดความเก่งกล้าสามารถของตนให้เพื่อนร่วมแก๊งได้เห็น  แม้จะเจ็บปวดแต่เขาก็ให้อภัยวัยรุ่นคนนั้น เพราะเห็นว่า “การแก้แค้นไม่อาจช่วยอะไรได้  เอาชีวิตทาริคกลับมาได้ไหม การแก้แค้นมีแต่จะทำให้ความรุนแรงที่คร่าชีวิตทาริคยืดยาวต่อไป”  เขาพบว่าตัวการที่ฆ่าลูกเขาไม่ใช่ใครอื่น หากคือวัฒนธรรมแห่งความรุนแรงในหมู่วัยรุ่นต่างหาก  เขาจึงต้องต่อสู้กับความรุนแรงนี้ด้วยการตั้งมูลนิธิในนามลูกของตน เพื่อส่งเสริมให้คนหนุ่มสาวเห็นโทษของความรุนแรงในการแก้ปัญหา

ในทำนองเดียวกันเมื่อแม่ของสิบเอกสามารถ กาบกลางดอน ต้องสูญเสียลูกชายในเหตุการณ์นองเลือดที่ปัตตานี (ซึ่งโยงกับกรณีกรือเซะ) เมื่อวันที่ ๒๘ เมษายน ๒๕๔๗  แทนที่จะเรียกร้องการล้างแค้น เธอกลับให้อภัยฝ่ายตรงข้าม เพราะไม่ต้องการให้คนอื่นต้องเจ็บปวดเช่นเดียวกับเธอ  “ฉันไม่อยากเห็นสิ่งอย่างนี้เกิดขึ้นอีกต่อไป ไม่ว่ากับใครอีกเราควรจะหยุดฆ่ากันได้แล้ว นี่เป็นความสูญเสียของทุกฝ่าย ฉันก็เสียลูกชายเหมือนแม่คนอื่นๆ อีกหลายคน”

“เวรย่อมไม่ระงับด้วยการจองเวร แต่ระงับด้วยการไม่จองเวร” นี้มิใช่เป็นแค่คำสอนทางพุทธศาสนา หากเป็นความจริงที่อยู่เหนือกาลเวลาและเป็นสากล  การแก้แค้นไม่เคยชำระปัญหาให้จบสิ้น อีกทั้งไม่สามารถนำความสุขมาสู่ชีวิต  การให้อภัยต่างหากที่ทำให้ปัญหายุติได้  ต่อเมื่อชำระใจให้ปลอดจากความแค้น เมื่อนั้นชีวิตจึงจะพบความสงบเย็นอย่างแท้จริง


ภาพประกอบ

พระไพศาล วิสาโล

ผู้เขียน: พระไพศาล วิสาโล

เจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต และประธานมูลนิธิเครือข่ายพุทธิกา