ทุกๆ วันเสาร์ อาทิตย์ และวันสำคัญทางพุทธศาสนา ที่วัดญาณเวศกวัน จ.นครปฐม มีโครงการชื่อว่าเด็กวัดช่วยทำ ชวนเด็กๆ มาฝึกตนด้วยการช่วยวัดจัดกิจกรรม ทำสิ่งดีๆ โดยมีหลวงพี่และลุงป้าน้าอาเป็นผู้ฝึกหัด เด็กๆ สามารถเลือกกิจกรรมที่สนใจได้ เพื่อร่วมเป็นทีมเด็กวัด ทำให้วันหยุดนั้นเป็นวันสร้างสรรค์ที่เด็กๆ จะได้เล่น เรียนรู้ สร้างสรรค์ พัฒนาตน พัฒนาสังคมไปด้วยกัน
โครงการเด็กวัดช่วยทำ ดำเนินการโดยคณะสงฆ์วัดญาณเวศกวัน มีพระครูเมธังกร, พระมหาอมรวิทย์ นนฺทิโย และพระวสุ วสุตฺตโม ทีมทำงานด้านการศึกษาและพัฒนาเยาวชนเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญ และมีวิทยากรพิเศษอาสามาเป็นผู้นำกิจกรรม ซึ่งเป้าหมายสำคัญคือการทำให้เด็กมาวัดแล้วมีความสุข และได้รับประโยชน์จากการมาวัด โดยสอดแทรกธรรมะไปในกิจกรรมนั้นๆ
กิจกรรมสำหรับเด็กที่วัดญาณเวศกวัน เริ่มต้นจากการมอบทุนการศึกษาให้กับเด็กๆ ในละแวกตำบลบางกระทึก อำเภอสามพราน มีโยมมาถวายปัจจัยให้ทางวัด สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) ได้นำปัจจัยนั้นตั้งเป็นกองทุนเพื่อการศึกษา ในช่วงระยะต้นนั้น ทางวัดดำเนินการมอบทุนการศึกษาให้เด็กเพียงอย่างเดียว ยังไม่ได้มีกิจกรรมใดๆ ต่อมาได้เพิ่มกิจกรรมฟังธรรมเข้ามาในวันที่มอบทุนการศึกษา และได้เริ่มพัฒนากิจกรรมอื่นๆ สำหรับเด็กขึ้น เพื่อต้องการให้เด็กได้มาทำกิจกรรมต่อเนื่อง และได้รับประโยชน์จากการมาวัด มีการจัดกิจกรรมเพื่อพัฒนาทักษะคุณธรรมในแต่ละช่วงวัย ในช่วงแรกนั้นพระสงฆ์ในวัดเป็นวิทยากรผู้นำกิจกรรมเอง ต่อมาได้เปิดพื้นที่ให้โยมผู้สนใจในการจัดกิจกรรมสำหรับเด็กเข้ามาร่วมออกแบบและเป็นวิทยากร
“การที่เด็กมารับทุน เราก็ตั้งโจทย์ว่าวัดจะทำประโยชน์อะไรให้กับเด็กๆ ได้บ้าง เท่าที่พระมีกำลังทำ สมัยก่อนเรามีโอกาสเจอเด็กปีละครั้งตอนที่เด็กมารับทุน เราก็ค่อยๆ พยายามขยายพื้นที่ตรงนั้น แต่ถามว่ามีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน ก็ไม่มาก เพราะเด็กในชุมชนมาวัดก็ไม่ได้ง่าย เสาร์อาทิตย์จะให้มาวัด บางทีพ่อแม่ติดงาน ติดภาระบ้าง รวมทั้งบริบทของวัดญาณเวศกวันเอง เนื่องจากวัดญาณฯ ไม่ได้มีมาแต่เดิมในชุมชน เพิ่งเกิดขึ้นในยุคหลัง วิธีการแจกทุนในสมัยก่อนคือผู้สนับสนุนวัด ซึ่งเป็นคนจากในเมืองเอาเงินมาแจกลูกชาวบ้านที่อยู่รอบวัด เพราะฉะนั้นรูปแบบความสัมพันธ์นี้ไม่ได้เป็นลักษณะการหลอมรวมกันแต่ต้นอยู่แล้ว การจะมาสร้างกระบวนการนี้ก็คือสิ่งใหม่มาก พระเองก็ไม่ชำนาญ ชาวบ้านก็ไม่คุ้นเคย ลูกหลานก็ไม่ได้สนิทสนมวิ่งเข้าเดินออกวัดเป็นประจำ จึงเป็นโจทย์ยาก
จากเดิมที่พระทำกันเอง จัดกิจกรรมเอง ต่อมาจึงคิดว่า เปิดพื้นที่ให้โยมมาร่วมกิจกรรมกับทางวัดมากขึ้น ข้อดีของวัดญาณฯ คือรู้จักเครือข่ายเยอะ เลยไปชักชวนประชาสัมพันธ์โยมที่เป็นอาจารี ซึ่งมีฐานข้อมูลบางส่วนอยู่ในเว็บไซต์วัดอยู่แล้ว โยมสนใจ ก็คุยกันว่าพระอยากได้แบบนี้ โยมพอจะช่วยอะไรได้บ้าง โยมก็มาช่วยกัน เลยได้ออกมาเป็นกิจกรรม ใช้ชื่อปีแรกว่า เด็กวัดชวนธรรม มีญาติโยมมาชวนเด็กทำกิจกรรม ชวนให้เกิดธรรมะ ได้เรียนรู้ และปีนี้ใช้ชื่อว่าเด็กวัดช่วยทำ”
พระครูเมธังกร เล่าให้ฟังว่า สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) มีหลักการคือให้วัดเป็นที่เจริญกุศล ได้พัฒนาชีวิต พัฒนาตนเอง ฝั่งญาติโยมเจริญบุญกิริยาวัตถุ ซึ่งไม่หยุดอยู่เพียงแค่การให้ทาน ส่วนฝั่งพระก็เจริญไตรสิกขา หลักการสำคัญระหว่างพระกับโยมคือพึ่งพาอาศัยกัน โยมให้วัตถุทาน พระให้ธรรมะ แต่จะทำอย่างไรให้โยมได้รับธรรมะ เนื่องจากส่วนใหญ่ญาติโยมที่มาวัด ถวายทานเสร็จก็กลับ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์จึงวางหลักว่า ต้องฉวยโอกาส เมื่อโยมมาถวายทาน พระต้องฉวยโอกาสเทศน์
ญาติโยมที่มาทำบุญที่วัดญาณเวศกวัน จึงมีโอกาสได้ฟังธรรมะสั้นๆ จากพระสงฆ์เป็นประจำทุกวัน ในช่วงถวายภัตตาหารเช้าและเพล และมีการเทศน์เป็นรอบๆ หลังจากญาติโยมถวายสังฆทาน นอกจากการให้ธรรมะแก่ญาติโยมแล้ว สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ยังให้หลักการเพิ่มอีกว่า ต้องเน้นเด็กและเยาวชนด้วย ทำอย่างไรให้วัดเป็นที่รื่นรมย์ เด็กมาแล้วมีความสุข มาวัดแล้วเห็นประโยชน์
ด้วยหลักการเช่นนี้ ทางวัดจึงเริ่มต้นจากการปรับปรุงพื้นที่บางส่วน ให้เด็กๆ มาวิ่งเล่นได้ มีชิงช้าใต้ร่มไม้ มีลานกว้างสำหรับจัดกิจกรรม เป็นการสร้างพื้นที่ทางกายภาพ ทำให้เด็กๆ รู้สึกว่าวัดไม่ใช่สถานที่เคร่งเครียด น่ากลัว แต่เป็นสถานที่ที่เข้ามาแล้วมีความสุข ทำให้อยากกลับมาอีก
หลังจากสร้างพื้นที่ให้เด็กๆ แล้ว ต่อมาคือการสร้างกิจกรรมสำหรับเด็ก ซึ่งก็มีญาติโยมที่มีประสบการณ์ทำงานกับเด็กมาช่วยออกแบบกิจกรรมและเป็นวิทยากร
โครงการเด็กวัดช่วยทำ จุดประสงค์หลักที่ทางวัดวางไว้คือ การให้เด็กได้พัฒนาตนเอง ขณะเดียวกันก็เป็นการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างชุมชนกับวัด ชวนให้เด็กมาเป็นผู้ร่วมจัด ได้ทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ร่วมกัน ซึ่งทางวัดได้วางบทบาทของตัวเองใหม่ ให้วัดเป็นแพลตฟอร์ม เป็นพื้นที่ให้เด็กมาทำกิจกรรม ชวนพุทธบริษัทที่มีความรู้ความสามารถ มีเวลาและมีใจอาสาเข้ามา พระสงฆ์มีหน้าที่ประสานงาน และสร้างระบบฐานข้อมูล
“พระไม่ได้เก่งเรื่องกิจกรรมเด็ก ก็ไปเจอโยมคนหนึ่งคือ คุณน้ำมนต์ เคยทำชุมชนที่นางเลิ้ง เขาใช้กิจกรรมศิลปะ พาเด็กในชุมชนมาทำกิจกรรมกัน เขาให้ไอเดียว่า การจะทำให้วัดกับชุมชนเชื่อมกันคงทำในระยะเวลาสั้นไม่ได้ ต้องใช้เวลาหลายปี ก็เริ่มจากพาเด็กๆ มาชวนกันเล่น ชวนกันทำก่อน โดยอาจเริ่มจากวันสำคัญของวัดที่มีอยู่แล้ว เป็นตัวยึดโยงว่า ทำยังไงให้เด็กๆ มาช่วยกันที่วัด จากนั้นเราก็ไปพูดคุยกับญาติโยมที่มีประสบการณ์ทำงานกับเด็ก เช่น โยมข้าวปั้นมีประสบการณ์กิจกรรมกับธรรมชาติ โยมต้นหลิวเก่งเรื่องร้องเพลง อีกคนหนึ่งเก่งเรื่องงานศิลปะ แทนที่พระจะเป็นคนสอน ซึ่งเราไม่เก่ง เราจึงทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงาน แล้วก็สร้างเป็นแพลตฟอร์ม สร้างระบบฐานข้อมูล แล้วก็ชวนเด็กเข้ามา เริ่มจากเด็กที่ได้ทุนการศึกษาก่อน ก็บอกว่าภายใน 1 ปีนะ คุณต้องทำกิจกรรมกับวัด แต่เด็กไม่ชอบถูกบังคับ จึงเกิดเป็นกิจกรรม open house ให้เขาเลือกตามความสนใจ คุณจะเลือกกิจกรรมไหนก็ได้ แต่ต้องเก็บเครดิตให้ครบ จะกี่กิจกรรมก็ว่าไป”
จากกลุ่มเป้าหมายเริ่มต้นคือเด็กที่ได้รับทุนการศึกษาจากทางวัด ต่อมาโครงการได้ขยายกลุ่มไปยังเด็กอื่นๆ ด้วย อาทิเด็กๆ ที่พ่อแม่พามาทำบุญที่วัด โดยประชาสัมพันธ์รับสมัครทางเพจเฟซบุ๊คและเว็บไซต์ของวัดญาณเวศกวัน ซึ่งช่วงสถานการณ์โควิดก็ได้ปรับเปลี่ยนเป็นออนไลน์ มีกิจกรรมต่างๆ ให้เลือกสมัคร
ทอผ้าสมาธิ, ลายเส้นภาวนา, ปรุงดิน ปรุงปุ๋ย, สวดร้องทำนองธรรม, Reconnect with nature, TikTok ตัดต่อเบื้องต้น, animation ประกอบบทสวด ฯลฯ คือบางส่วนของกิจกรรมในโครงการเด็กวัดช่วยทำ ที่มีพุทธบริษัทอาสาเป็นวิทยากร แต่ละกิจกรรมมีการออกแบบผ่านการทำงานร่วมกันระหว่างพระสงฆ์และโยมอาสา เพื่อให้เข้าใจแนวคิดหลัก ซึ่งกิจกรรมแต่ละอย่างจะเชื่อมโยงกับธรรมะ แบ่งเป็นฐานจิต ฐานกาย ฐานปัญญา
ตัวอย่างกิจกรรมหนึ่งที่ทีมงานคณะสงฆ์โครงการเด็กวัดช่วยทำเล่าให้ฟังว่า เชื่อมโยงกับธรรมะอย่างไร คือ กิจกรรม TikTok ตัดต่อเบื้องต้น ซึ่งเป็นกิจกรรมร่วมสมัยที่เด็กสนใจ มีวิทยากรมาสอนการถ่ายวิดีโอ ตัดต่อวิดีโอเพื่อลง TikTok ให้เด็กสามารถสร้างสื่อออนไลน์ได้ โดยมีโจทย์ให้ในการนำเสนอคลิป ขณะเดียวกันก็สร้างแรงจูงใจในการศึกษาธรรมะออนไลน์ เป็นกิจกรรมที่อยู่ในฐานปัญญา
“ในแง่เทคนิค คือเราสอนเด็กทำสื่อออนไลน์ ถ่าย TikTok ได้ ตัดต่อวิดีโอได้ และสร้างแรงจูงใจในการศึกษาธรรมะออนไลน์ สนใจในการศึกษาธรรม เพราะฉะนั้นก่อนที่จะออกไปสู่ TikTok ได้ก็แสดงว่าเด็กคนนั้นต้องทำความเข้าใจกับหัวข้อธรรมะ ประเด็นธรรมะอะไรสักอย่าง เช่น เราบอกหัวข้อว่าทำคลิปอะไรก็ได้ให้แม่เรามีความสุข ซึ่งการทำให้แม่มีความสุขคืออะไร คือโจทย์เรื่องความรัก เรื่องกตัญญูนั่นแหละ แต่แทนที่เราจะมาสอนเรื่องความรัก ความกตัญญูตรงๆ เราก็สอนจากตัวกิจกรรมและเอาการที่แม่มีความสุขมาชวนคุยว่า อะไรที่หนูคิดว่าทำแล้วแม่จะมีความสุข ก่อนที่จะออกเป็น TikTok สิ่งที่เราได้คืออะไร คือได้ประเด็นโจทย์ธรรมะตรงนี้ล่ะ ที่เขาจะเกิดความเข้าใจว่า การที่ความสุขของพ่อแม่จะเกิดขึ้นได้ เขาต้องทำยังไง ตัวความเข้าใจตรงนี้แล้วแต่ว่า เขาจะหยิบหัวข้อธรรมะอะไรเป็นโจทย์ในแต่ละสัปดาห์ กิจกรรมนี้จัดเป็นฐานปัญญา โดยใช้เทคโนโลยีที่เขาสนใจอยู่แล้วเป็นเครื่องมือ”
หรือกิจกรรมปรุงดิน ปรุงปุ๋ย เป็นกิจกรรมรักสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เกิดรมณียสถานและรักษ์โลก กิจกรรมนี้พระอาจารย์ผู้ดูแลกิจกรรมเล่าให้ฟังว่า นอกจากเด็กๆ ได้ลงมือทำ ยังทำให้พวกเขาได้เห็นคุณค่าแท้ คุณค่าเทียม เห็นคุณค่าของอาหารที่กินและที่ทิ้งไป ซึ่งก็คือหมวดกายภาวนาในพุทธศาสนา ให้รู้จักทักษะในการใช้กาย รู้จักกินสิ่งที่เป็นประโยชน์ ไม่ใช่กินเพื่อความอร่อยเพียงอย่างเดียว คำว่าประโยชน์ไม่ใช่แค่ว่าร่างกายเราได้ประโยชน์ แต่ยังมีประโยชน์กับโลก กินอะไรแล้วไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ไม่ทำให้เกิดขยะพลาสติก
เมื่อเด็กๆ มาร่วมกิจกรรม ทุกคนจะได้รับหนังสือเดินธรรม สมุดเล่มเล็กที่มีลักษณะคล้ายกับหนังสือเดินทาง ซึ่งได้แนวความคิดมาจากการสะสมตราประทับตามสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ เมื่อทำกิจกรรมแต่ละครั้งเด็กๆ จะได้รับสติ๊กเกอร์ ติดสะสมในสมุดเล่มเล็กนั้น และยังมีส่วนบันทึกของคุณครู / กระบวนกร / พี่เลี้ยง และบันทึกของผู้เข้าร่วมกิจกรรม ให้เด็กๆ ได้วัดระดับความสุข และระดับความตั้งใจของตัวเอง ด้วยการให้คะแนนตัวเลขตามระดับจาก 1-5 จุดประสงค์ก็เพื่อให้ได้สำรวจความรู้สึกภายในของตัวเองว่ามีความสุขแค่ไหน
ซึ่งหนังสือเดินธรรมเล่มนี้จะเป็นความภูมิใจของเด็กๆ เป็นสิ่งที่เปิดดูทีไร เขาจะได้พบคุณค่าของตัวเองจากกิจกรรมที่ลงมือทำ กิจกรรมที่ได้พัฒนาตนเอง และมีส่วนช่วยพัฒนาสังคมด้วย
“จุดประสงค์หลัก คือ การสร้างความสัมพันธ์ระหว่างชุมชนกับวัด โดยวัดมีบทบาทเป็นแพลตฟอร์ม เป็นพื้นที่ให้เด็กมาทำกิจกรรม รวมทั้งชวนพุทธบริษัทที่มีใจอาสาเข้ามา ส่วนพระสงฆ์มีหน้าที่ประสานงาน และสร้างระบบฐานข้อมูล”
ปัจจุบันกิจกรรมต่างๆ ของวัดญาณเวศกวัน สื่อสารผ่านการบอกกล่าวให้กับญาติโยมที่มาที่วัด และช่องทางออนไลน์ของทางวัดเป็นหลัก แต่ในอนาคต คณะสงฆ์ที่ทำกิจกรรมวางแผนไว้ว่า อยากจะให้เกิดระบบการสื่อสารซึ่งไม่จำกัดเพียงแค่วัดใดวัดหนึ่ง องค์กรใดองค์กรหนึ่ง แต่เป็นการทำงานร่วมกันของผู้มีเป้าหมายเดียวกัน เพื่ออำนวยประโยชน์ให้กับสังคม
“เรามีไอเดียเชิงวิสัยทัศน์ข้างหน้าว่า ต่อไปอาจไม่สื่อสารเฉพาะวัดใดวัดหนึ่ง ปัจจุบันกิจกรรมที่ทำคือต่างคนต่างทำ สวนโมกข์ก็ทำกิจกรรมกลุ่มหนึ่ง วัดญาณฯ ก็ทำกิจกรรมกลุ่มหนึ่ง แล้วคนเราจะเข้าถึงกิจกรรมหรือสื่อธรรมต่างๆ ได้ยังไง ก็ต้องไปที่วัดนั้นก่อน แล้วค่อยถามว่าวัดมีกิจกรรมอะไร แต่ถ้าดูจากการที่เวลาคนจะไปเที่ยวแล้วหาที่พัก เราไม่ได้หาจากชื่อโรงแรมก่อน แต่เราคิดว่าจะไปเมืองนี้แล้วค่อยหาโรงแรมว่ามีที่ไหนให้เลือกบ้าง จึงคิดว่าจริงๆ ควรมีแพลตฟอร์มขึ้นมาให้เกิดการเชื่อมโยงกัน เมื่อเราต้องการหากิจกรรมทางธรรมสำหรับเด็ก ก็จะมีแพลตฟอร์มหนึ่งที่รวมกิจกรรมทุกอย่างของทุกเครือข่ายไว้
ปัจจุบันเราไปทำโปรเจกต์ชื่อ Pagoda เลียนแบบ Agoda เริ่มจากรวมสื่อธรรมของหลวงปู่พุทธทาส หลวงพ่อสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ หลวงปู่ชา ฯลฯ เข้ามา การที่คนจะเริ่มค้นจากไปวัดไหนก่อน หลวงพ่อไหนก่อน ก็เริ่มจากคำถามก่อน สมมติอยากรู้เรื่องกรรม เราจะรู้อย่างไรว่าเรื่องกรรมต้องไปวัดไหน แต่ต้องมีเซนเตอร์สักที่ สวนโมกข์กรุงเทพจึงรับเป็นแพลตฟอร์ม สร้างเว็บไซต์ Pagoda ไว้เป็นส่วนกลางรวบรวมสื่อธรรม จากศูนย์กลางฐานข้อมูลธรรมะ ต่อไปเราน่าจะมีศูนย์กลางกิจกรรมด้วยได้ไหม ต่อไปเด็กรับทุนของวัดญาณฯ ไม่ใช่จะต้องทำกิจกรรมวัดญาณฯ เท่านั้น ถ้าเขาสนใจกิจกรรมโยคะภาวนาที่สวนโมกข์ ก็สามารถไปได้ กิจกรรมทุกเครือข่ายจะถึงกัน นอกจากกิจกรรมเด็ก เราก็หวังว่าจะขยายไปสู่กิจกรรมสำหรับเยาวชนและผู้ใหญ่ด้วย”
แม้จะจัดโครงการกิจกรรมธรรมะสำหรับเด็กเป็นเวลาระยะหนึ่ง และได้รับการตอบรับอย่างดี กิจกรรมแต่ละครั้งมีผู้เข้าร่วมเต็มจำนวนตลอด แต่คณะสงฆ์ผู้ดำเนินงานกล่าวว่า ยังไม่ถือว่าวัดญาณเวศกวันประสบความสำเร็จในการทำกิจกรรมสำหรับเด็ก ยังไม่อาจเป็นแบบอย่างให้วัดอื่นได้ ต้องเรียนรู้ปรับปรุงกระบวนการต่อไป แต่ก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญในการทำให้เด็กรู้สึกอยากมาที่วัด และมีความสุขที่ได้มา