ยุคนี้เป็นยุคที่การตลาดมีพลังอย่างยิ่งในการกำหนดให้สังคมหนึ่งๆ เปลี่ยนแปลงความคิดความเชื่อและค่านิยมที่เคยยึดถือ โดยใช้เครื่องมือสำคัญคือการโฆษณา เช่น ขณะที่คนรุ่นพ่อแม่ของเราได้รับการสั่งสอนมาว่า “มีสลึงพึงบรรจบให้ครบบาท” เดี๋ยวนี้โฆษณาต่างๆ ชี้นำให้คนรุ่นนี้เห็นว่าการซื้อของเงินผ่อนเป็นเรื่องธรรมดา และการซื้อสินค้าเงินผ่อนอัตราดอกเบี้ยศูนย์เปอร์เซ็นต์เป็นเรื่องชาญฉลาด
ดังนั้นคำว่า “ลูกค้าคือพระเจ้า” จึงเป็นเพียงยาหอมที่เคลือบเป้าหมายของการทำธุรกิจคือการทำกำไรสูงสุด และผู้บริโภคส่วนใหญ่มักตกเป็นฝ่ายรับและเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมอย่างไม่รู้ตัว หรือไม่ก็ไม่อาจฝืนกระแสสังคมได้
อย่างไรก็ตาม มนุษย์มีความสามารถในการเรียนรู้จากความผิดพลาดของตัวเอง เมื่อตกเป็นเครื่องมือของภาคธุรกิจบ่อยขึ้น เราก็ฉลาดขึ้นและตระหนักว่าแท้จริงแล้วในฐานะผู้บริโภค เราคือผู้มีพลังอำนาจอย่างแท้จริง หากรู้จักใช้อำนาจที่มีอยู่ในมือ เราจะสามารถกำหนดทิศทางและบอกกล่าวความต้องการของตัวเองแก่ภาคธุรกิจได้ และเมื่อรวมตัวกันอย่างเป็นระบบแล้ว ภาคธุรกิจจะต้องรับฟัง และนำมาสู่การเปลี่ยนแปลง
เมื่อเร็วๆ ประธานบริษัทสวนสนุกซีเวิลด์ ที่เมืองซานดิเอโก้ สหรัฐอเมริกา ซึ่งมีชื่อเสียงเรื่องการแสดงโชว์วาฬเพชรฆาตหรือออร์ก้าประกาศในการประชุมผู้ถือหุ้นว่า จะยกเลิกการแสดงวาฬเพชรฆาตแบบผาดโผนที่ซีเวิลด์สาขาซานดิเอโก้ภายในปี พ.ศ. 2559 โดยจะหันไปจัดการแสดงแบบเป็นธรรมชาติมากขึ้น และจะมุ่งเรื่องการอนุรักษ์สัตว์มากกว่าเรื่องความบันเทิง เหตุที่ตัดสินใจยุติการแสดงก็เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า
วิกฤติของซีเวิลด์เริ่มต้นขึ้น เมื่อภาพยนตร์อิสระที่ใช้ทุนต่ำแค่ไม่ถึง 7.5 หมื่นเหรียญสหรัฐและฉายในโรงหนัง 5 แห่ง เรื่อง Blackfish ออกฉายเมื่อปี 2556 หนังเรื่องนี้พูดถึงการตายของครูฝึกวาฬเพชรฆาต ที่ถูกวาฬลากลงไปใต้น้ำและจมน้ำตายขณะทำการแสดงที่ซีเวิลด์ คนทำหนังเผยให้เห็นว่าไม่ใช่ความผิดของวาฬเพชรฆาต หากแต่เป็นเพราะมนุษย์นี้เองที่นำวาฬมาผสมพันธุ์และกักขังไว้ในตู้กระจกแคบๆ ยาวนานถึง 35 ปี และจะอยู่ต่อไปตราบจนชั่วชีวิต ทั้งๆ ที่พฤติกรรมตามธรรมชาติของวาฬเพชรฆาต คือการล่าและการดำผุดดำว่ายในมหาสมุทรอันกว้างใหญ่นับร้อยไมล์และลึกกว่า 300 ฟุต
สารคดีเรื่องนี้ทำให้เด็กนักเรียนชั้นประถมไม่ยอมไปเที่ยวซีเวิลด์ ส่วนดารานักร้องและนักการเมืองก็ออกมาต่อต้านการกักขังวาฬเพชรฆาต เช่น วิลลี่ เนลสัน และวงบีชบอยส์ยกเลิกการแสดงที่ซีเวิลด์ ล่าสุดเมื่อกันยายนปีนี้ แฮรี่ สไตล์ นักร้องนำวง One Direction ประกาศกลางเวทีคอนเสิร์ตที่จัดขึ้นในเมืองซานดิเอโก้ ที่ตั้งของซีเวิลด์ เรียกร้องแฟนเพลงไม่ให้ไปเที่ยวสวนสนุกซีเวิลด์ซึ่งกักขังวาฬเพชรฆาตไว้เพื่อการแสดงโชว์ และเมื่อซีเวิลด์ออกแคมเปญรณรงค์ทางทวิตเตอร์ชื่อ AskSeaWorld เพื่อกู้ชื่อเสียงของตัวเอง ก็มีคำถามลักษณะว่าเมื่อไหร่จะยกเลิกการแสดงออร์ก้าหรือปิดตัวเสียที
แท้จริงแล้วในฐานะผู้บริโภค เราคือผู้มีพลังอำนาจที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลง
ด้านนักการเมืองก็ออกมากดดัน จนล่าสุดเมื่อเดือนที่แล้วทางการรัฐแคลิฟอร์เนียสั่งห้ามไม่ให้มีการผสมพันธุ์วาฬเพชรฆาต และเตรียมผลักดันกฎหมายไม่ให้มีการกักขังวาฬเพชรฆาต ซึ่งเป็นเหมือนฟางเส้นสุดท้ายที่ทำให้ประธานบริษัทออกมาประกาศเปลี่ยนนโยบายต่อหน้านักลงทุน ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้ปฏิเสธมาโดยตลอดว่าการกักขังวาฬไม่ใช่การทารุณสัตว์ ตรงกันข้ามวาฬยังมีอาหารดีๆ กิน และน้ำใสๆ อยู่ดีกว่าอยู่ในมหาสมุทรเสียอีก และสารคดีเรื่อง Blackfish เป็นแค่การโฆษณาชวนเชื่อ
ท่ามกลางตามแรงกดดันจนทำให้อยู่ในภาวะหลังพิงฝา สิ่งที่ทำให้ซีเวิลด์ไม่อาจนิ่งเฉยได้ต่อไปคือราคาหุ้นและจำนวนลูกค้าที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง มีรายงานว่าภายหลังการฉายหนัง Blackfish ราคาหุ้นของซีเวิลด์ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์และมีมูลค่าประมาณ 1.65 พันล้านเหรียญสหรัฐตกวูบลงไปถึงครึ่งหนึ่ง เมื่อปีที่แล้วยอดผู้เข้าชมของซีเวิลด์ 11 สาขาในสหรัฐอเมริกาลดลง 17 % และมีรายงานว่าในไตรมาส 2 ของปีนี้รายได้ของซีเวิลด์ลดลงถึง 84 % เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว และผู้เข้าชมลดลงอีก 2 % และคาดว่าผลกำไรจะลดลงกว่า 350 ล้านบาท (10 ล้านเหรียญสหรัฐ)
แม้จะเป็นการนำร่องยกเลิกการแสดงโชว์เพียงสาขาเดียว แต่ก็ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นในการยกเครื่องการแสดงสัตว์เพื่อความบันเทิงของซีเวิลด์สาขาที่เหลือและสวนสนุกเจ้าอื่นๆ
กรณีนี้ถือเป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นถึงพลังของผู้บริโภค ที่เมื่อมีเรื่องกระทบต่อคุณค่าของความเป็นมนุษย์ที่ตัวเองยึดถือ คือความเมตตากรุณาต่อสัตว์โลก ก็ร่วมกันส่งสัญญาณแสดงความไม่พอใจให้เจ้าของธุรกิจรับรู้อย่างเอาจริงเอาจังแบบ “กัดไม่ปล่อย” และกรณีนี้ยังเป็นบทพิสูจน์ว่าในโลกยุคทุนนิยมและสังคมโซเชียลมีเดีย ไม่มีพลังอันใดที่ยิ่งใหญ่ไปกว่าพลังของผู้บริโภคที่รวมตัวกันเพื่อเรียกร้องความถูกต้อง และผู้บริโภคจะมีพลัง ตราบเท่าที่พวกเขาตระหนักถึงพลังที่มีอยู่ในมือและไม่เมินเฉย
ในบ้านเราขณะนี้ก็เริ่มมีกระแสการรวมตัวของผู้บริโภคลักษณะนี้เกิดขึ้น เมื่อเร็วๆ นี้มีการรณรงค์ใน www.change.org เรียกร้องให้ซาฟารีเวิลด์หยุดการแสดงโชว์ที่บังคับให้ลิงอุรังอุตังขึ้นชกมวยทำร้ายกันเองเพื่อสร้างความบันเทิงให้มนุษย์ โดยให้เหตุผลว่าลิงเหล่านี้ถูกพรากจากอกแม่มาถูกกักขังอยู่ในกรง และการเตะต่อยกันเองยังเป็นอันตรายต่อลิงอีกด้วย
การรณรงค์นี้จะส่งผลสะเทือนเหมือนกรณีวาฬเพชรฆาตกับซีเวิลด์หรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับว่าผู้บริโภคในบ้านเราจะมองเห็นประเด็นปัญหา และร่วมกันส่งเสียงถึงผู้ประกอบการมากน้อยเพียงใด
อดีตนักข่าว นักเขียน บรรณาธิการนิตยสารสิ่งแวดล้อม และนักรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อม ปัจจุบันเป็นนักเขียนอิสระที่สนใจประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และการศึกษา ขณะเดียวกันก็รักการเดินทางและการออกกำลังกาย นิยมการเดินป่า เล่นโยคะ ปั่นจักรยาน และทำสวน ปัจจุบันอาศัยอยู่ที่บ้านเกิดอำเภอวิเศษชัยชาญ จังหวัดอ่างทอง