สุทธินันท์ สมสุวรรณ ทำปัจจุบันให้มีคุณค่าและงดงาม

นุดา 24 มกราคม 2024

“ผมเทิดทูนในหลวงรัชกาลที่ 9 เราเห็นตัวอย่างที่ท่านทรงงานมาตลอด ผมมีความรู้สึกว่า อยากทำอะไรตามรอยท่าน อยากทำอะไรเพื่อคนอื่น โดยไม่หวังผลตอบแทน”

ด้วยความรักและศรัทธาที่มีต่อในหลวงรัชกาลที่ 9 พี่หน่อย สุทธินันท์ สมสุวรรณ จึงตั้งปณิธาณว่า ชีวิตนี้จะเดินตามรอยพระองค์ เมื่อเกษียณจากงานประจำ จึงตั้งใจใช้เวลาและโอกาสที่มีในการทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ ช่วยเหลือเกื้อกูลผู้อื่น

ซึ่งช่วงเวลานั้นเอง เมืองไทยเผชิญกับไวรัสโควิด 19 ระบาด เจ้าหน้าที่ด้านสาธารณสุขต้องทำงานอย่างหนัก พี่หน่อยเห็นประกาศรับสมัครเจ้าหน้าที่อาสาคอยอำนวยความสะดวกให้กับคุณหมอ พยาบาล และคนไข้ ที่อยู่โรงพยาบาลสนาม เขาไม่รีรอที่จะสมัครเข้าไป แม้ครอบครัวจะไม่ค่อยเห็นด้วยก็ตาม

“ตอนนั้นหมอพยาบาลทำงานหนักมาก และยังมีกลุ่มคนที่ลุกขึ้นมาเป็นจิตอาสาคอยช่วยเหลือผู้อื่น อาสาหลายท่านที่ไปช่วยคนอื่นก็ติดโควิด และต้องมาอยู่โรงพยาบาลสนาม ผมมองว่า ถ้าไม่มีคนเหล่านี้เสียสละช่วยหมอพยาบาล เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ สถานการณ์จะยิ่งแย่ ประชาชนจะเดือดร้อนมากขึ้น ผมรู้สึกว่าเป็นโอกาสแล้วที่จะได้ทำงานเพื่อช่วยเหลือผู้อื่น ถ้าเราต้องติดโควิด ถ้าต้องเสียชีวิต เพราะได้ช่วยคนอื่นในช่วงวิกฤตของประเทศชาติบ้านเมือง เราทำเถอะ นี่คือการได้รับใช้ ได้ช่วยเหลือสังคมตรงๆ แต่ครอบครัวไม่ค่อยเห็นด้วย เขาบอกว่า ถ้าคิดจะไปทำ ก็ป้องกันตัวให้ดีนะ เพราะที่บ้านก็มีคุณแม่ที่เป็นผู้สูงอายุอยู่ด้วย”

ก่อนไปเป็นจิตอาสาในโรงพยาบาลสนาม ที่คลังสินค้าสนามบินดอนเมือง เขาได้ฝึกอบรมที่โรงพยาบาลสนาม ของโรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะก่อนเป็นเวลา 1 เดือน จากนั้นจึงไปปฏิบัติหน้าที่จริง สวมชุด PPE เข้าไปช่วยแจกอาหารตามเตียงคนไข้ ทำงานประสานกับคนไข้ เพื่อรายงานอาการให้คุณหมอ ตลอดเวลาการทำงานอาสาประจำโรงพยาบาลสนาม พี่หน่อยรอดพ้นโควิดจนกระทั่งทุกวันนี้เขาก็ไม่เคยติดโควิดเลย

หลังสถานการณ์โควิดเบาบางลง กลุ่มจิตอาสาโรงพยาบาลสนามยังคงรวมกลุ่มกันเพื่อช่วยเหลือสังคม เช่น รวบรวมเงินเพื่อหาซื้อโลงศพ ผ้าห่อศพ น้ำมัน ให้กับวัดที่เผาศพให้ผู้เสียชีวิตจากโควิดฟรี ไปช่วยซ่อมแซมโรงเรียน ช่วยทำความสะอาดวัดตามต่างจังหวัด หลังจากนั้นพี่หน่อยได้เข้าร่วมกับกลุ่ม Street Art King Bhumibol จิตอาสาวาดภาพพระบรมสาทิสลักษณ์ ในหลวงรัชกาลที่9 ควบคู่กับการเผยแพร่พระราชดำรัส เพื่อมอบให้คนไทยและทั่วโลกได้รำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ และน้อมนำคำสอนของพระองค์ท่านไปใช้สานต่อในชีวิตตนเองและส่วนรวม ให้ครบทั้ง 77 จังหวัด

เป็นอาสากับกลุ่ม Street Art King Bhumibol

นอกจากนี้พี่หน่อยยังสมัครเป็นอาสาอำนวยความสะดวกผู้ป่วยในโรงพยาบาล ปฏิบัติงานที่โรงพยาบาลราชวิถี ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2566 จนถึงปัจจุบัน หากไม่ติดธุระอะไร เขาจะเข้ามาทำงานอาสาเป็นประจำ เป็นอีกแรงสำคัญของทีมงานอาสาอำนวยความสะดวกผู้ป่วยในโรงพยาบาล

“ที่เลือกสมัครเป็นอาสาโรงพยาบาลราชวิถี เพราะคิดว่าถ้าจะมีส่วนช่วยเหลือคนอื่น เราน่าจะเลือกโรงพยาบาลรัฐที่คนมาใช้บริการเยอะในแต่ละวัน และรองรับผู้ป่วยหลายโรค ถ้าเราไปช่วยเหลืออำนวยความสะดวกให้คนไข้ ช่วยแบ่งเบาเจ้าหน้าที่ ตรงนี้น่าจะดี ซึ่งพอเข้าไปทำแล้ว ผมก็ได้รู้ว่าผู้เจ็บป่วยในบ้านเราที่มีฐานะยากจน ต้องตื่นแต่มืดมาเข้าคิวโรงพยาบาลนั้นมากมาย การได้ช่วยเหลือและแบ่งเบางานของคุณหมอ พยาบาล เจ้าหน้าที่บ้าง เกิดเป็นความสุข ความปีติของตัวเราเอง”

พี่หน่อยกับทีมจิตอาสาที่โรงพยาบาลราชวิถี

ตลอดเวลาที่พี่หน่อยมาเป็นจิตอาสาที่โรงพยาบาลราชวิถี เขาได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่มาแล้วแทบจะทุกชั้น ทุกแผนก ตั้งแต่จุดคัดกรอง เวชระเบียน ช่วยกดคิว วัดความดัน ประสานงานกับเจ้าหน้าที่ งานอาสาเหล่านี้เขาต้องมาถึงโรงพยาบาลตั้งแต่ก่อน 7 โมงเช้า ทำเรื่อยไปจนถึง 11 โมง และเข้าร่วมถอดบทเรียน แบ่งปันประสบการณ์การทำงานกับเพื่อนๆ อาสาหลากหลายวัยต่อทุกครั้ง

“ตอนวันอบรมปฐมนิเทศอาสา ทักษะหนึ่งที่เราได้เรียนรู้คือการอ่านภาษากาย พอมาทำงานจริงๆ ทักษะนี้สำคัญและได้นำมาใช้ คนไข้บางทีไม่กล้าถามเราหรอก แต่ภาษากายจะบอกว่าเขามึนงง ไปทางไหนดี พอเราเข้าไปหา เขาก็จะรู้สึกขอบคุณ ไม่ว่าจะเป็นคนแก่กว่า หรือคนอายุน้อยกว่า เขายกมือไหว้เราหมด ซึ่งผมบอกไม่เป็นไรครับ ผมมีความสุขที่ได้ช่วยทุกท่าน คีย์เวิร์ดอีกอันในการทำงานอาสาที่เราต้องมี คือ ท่าทีที่อ่อนน้อม เราอยู่ในยูนิฟอร์มของอาสา ไม่ใช่เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ จะไปสั่งคนไข้ให้ทำอย่างนั้นอย่างนี้ไม่ได้ ผมก็เห็นน้องๆ เพื่อนๆ จิตอาสาคนอื่น ใช้ตรงนี้และทำได้ดีด้วย เข้าไปแนะนำอย่างอ่อนน้อมถ่อมตน”

พี่หน่อยดูมีความสุขที่ได้เล่าถึงงานอาสาอำนวยความสะดวกผู้ป่วยในโรงพยาบาล เล่าถึงทักษะที่เขาได้เรียนรู้และนำมาใช้ เขายังบอกต่ออีกว่า ได้นำวิธีถอดบทเรียนไปแบ่งปันในกลุ่มจิตอาสาอื่นๆ ที่เขาเข้าร่วมด้วย เผื่อเกิดประโยชน์แก่กลุ่มจิตอาสาเหล่านั้น

“ผู้ป่วยในบ้านเราที่มีฐานะยากจน ต้องตื่นแต่มืดมาเข้าคิวโรงพยาบาลนั้นมีมากมาย การได้ช่วยเหลือ แบ่งเบางานของคุณหมอ พยาบาล เจ้าหน้าที่ ทำให้เกิดเป็นความสุข ความปีติของตัวเราเอง”

จัดสรรเวลามาเป็นอาสาเสมอ

เมื่อถามเขาว่า เคยรู้สึกเหนื่อยบ้างไหมกับการทำงานจิตอาสาต่าง ๆ เช่น งานอาสาอำนวยความสะดวกผู้ป่วยในโรงพยาบาล ที่ต้องเดินทางออกจากบ้านมาตั้งแต่เช้า ยืนทำงานหลายชั่วโมงท่ามกลางผู้คนมากมาย และความต้องการหลากหลาย และนี่คือคำตอบของพี่หน่อย

“สำหรับผมความเหนื่อยมันวัดไม่ได้ เพราะมีความปีติ ทำให้เราหายเหนื่อย ผมเลยเติมเต็มชีวิตผมด้วยแบบนี้ ภรรยาผมยังบอกเลยว่า ไปทำเถอะ ไม่ต้องเป็นห่วงเขา เพราะเขาเห็นผมมีความสุข ก็มองดูเราห่างๆ อย่างห่วงๆ แต่ไม่ได้คัดค้านอะไร เพราะผมมาแชร์กับเขากับลูกหลานว่าเราไปทำอะไร อย่างน้อยผมพยายามหยิบยื่นความคิด หรือแนวทางที่ทำให้สังคมน่าอยู่กับลูกหลานที่อยู่ในครอบครัว ได้รับมากน้อยก็แล้วแต่เขา พอถึงวันหนึ่งสุดท้ายแล้วชีวิตเราก็ต้องจากโลกนี้ไป เป็นธรรมชาติของมนุษย์ ย่อมมีวาระแห่งการ เกิด แก่ เจ็บและตาย เราไม่มีทางรู้เลยว่าอนาคตที่จะมาถึงนั้นเมื่อไร… แต่เราสามารถทำปัจจุบันให้มีคุณค่าและงดงาม ตอนที่เรายังพอมีกำลังเรี่ยวแรงอยู่ สิ่งที่เราจะทำได้ก็คือการทำอะไรดีๆ ไว้ให้กับสังคม ผมก็รู้สึกภูมิใจ ดีใจที่ได้ทำ”

นุดา

ผู้เขียน: นุดา

เกิดและเติบโตที่จังหวัดนครปฐม ชอบอ่านหนังสือตั้งแต่เด็ก ตอบตัวเองได้ว่า อยากทำงานเกี่ยวกับการเขียนตอนเรียนมัธยม จึงเลือกเดินในเส้นทางสายนี้ และยึดเป็นอาชีพหลักกว่า 20 ปี แม้รูปแบบของสื่อจะไปเปลี่ยนไปตามยุคสมัย แต่เชื่อว่าการเขียนยังเป็นพลังสำคัญในการสื่อสาร