รมัยนวล อินถาม: เกษียณสุข สุขจากการช่วยเหลือผู้อื่น

นุดา 20 พฤษภาคม 2024

หนึ่งในคนวัยเกษียณที่รู้สึกว่าตัวเองมีความสุขมากในช่วงวัยนี้ คือ พี่เบบี้ รมัยนวล อินถาม วัย 58 ปี ที่เกษียณจากการทำงานมาได้ 3 ปีแล้ว และเธอก็จัดสรรเวลาที่มี มาเป็นอาสาอำนวยความสะดวกผู้ป่วยในโรงพยาบาล ตามความตั้งใจตั้งแต่ก่อนเกษียณว่า “อยากทำงานช่วยเหลือผู้อื่น”

 

ใช้ความโชคดีช่วยเหลือคนอื่น

ตอนทำงานประจำที่บริษัท พี่เบบี้ได้รับมอบหมายให้ทำงาน CSR เป็นงานที่ออกไปให้ความช่วยเหลือชุมชน ตั้งแต่ตอนนั้นแล้วที่เธอรู้สึกโชคดีที่ได้มีโอกาสช่วยเหลือคนอื่นจากการงานที่ทำ ประกอบกับเป็นคนที่ตั้งคำถามกับตัวเองตลอดเวลาว่า เราเกิดมาทำไม และรู้สึกว่าตัวเองโชคดีที่เกิดมามีร่างกายครบ 32 มีสมองที่สามารถเรียนรู้อะไรได้ มีครอบครัวที่ดี มีหน้าที่การงานที่ดี จึงคิดว่าน่าจะใช้ความโชคดีของตัวเองไปช่วยเหลือคนที่ด้อยโอกาส คนที่ต้องการได้รับความช่วยเหลือ ซึ่งในใจของเธอนั้น อยากจะทำงานอะไรก็ได้ที่ได้ช่วยเหลือผู้คนที่มาโรงพยาบาล

“คุณแม่พี่เป็นคนไข้ประจำที่โรงพยาบาลศิริราช โชคดีที่คุณแม่สุขภาพแข็งแรง ช่วยเหลือตัวเองได้หมด ก็พาคุณแม่ไปโรงพยาบาลปีละ 2 ครั้ง คือไปตรวจสุขภาพประจำปี และตรวจตา พอถึงโรงพยาบาล ก็รู้สึกว่าทำไมเราทำอะไรไม่เป็นเลย คือเราเป็นคนที่สุขภาพแข็งแรง ไม่ค่อยได้ไปโรงพยาบาล เวลาไปทีก็ไปไปโรงพยาบาลเอกชน ซึ่งไม่ต้องทำอะไรเลย มีคนพาไปทุกจุดทุกที่ แต่พอมาเป็นโรงพยาบาลรัฐบาลแล้ว มีความงงมาก คนก็เยอะมาก ฉันจะต้องไปเคาน์เตอร์ไหน จ่ายเงินตรงไหน รับยาตรงไหน ไปเอาใบนัดตรงไหน สับสนพอสมควร แล้วเราก็เห็นคนที่ไปหาหมอ เป็นผู้สูงอายุ บางคนไม่มีลูกหลานไปด้วย เขาก็ยืนงงๆ ไม่รู้จะไปไหนต่อ เลยมีความรู้สึกว่า ถ้าได้ทำงานอาสาที่โรงพยาบาลน่าจะตอบโจทย์เราในหลายเรื่อง พอเห็นประกาศรับอาสานี้เด้งมา เจอปุ๊บสมัครปั๊บ แต่ขออนุญาตคุณแม่ก่อน เพราะแม่เราก็เป็นผู้ต้องได้รับความช่วยเหลือคนหนึ่ง ก็ต้องบอกแม่ว่า เราอยากออกไปทำอาสาตรงนี้ เพราะว่าแม่ยังแข็งแรง ท่านอายุ 86 แล้ว แต่ช่วยตัวเองได้ เราออกไปแค่ครึ่งวัน ก็ไม่น่าจะมีผลกระทบอะไร แม่ก็ยินดีมากที่จะเราออกไปทำงานช่วยเหลือคนอื่น เลยเป็นเรื่องที่ค่อนข้างลงตัวมาก”

เข้าร่วมอบรมปฐมนิเทศ

ฝึกใจจากการเป็นอาสา

ตั้งแต่การทำงาน CSR ของบริษัทที่ออกไปช่วยเหลือคนในชุมชน จนถึงงานอาสาอำนวยความสะดวกผู้ป่วยในโรงพยาบาล ที่สถาบันประสาทวิทยา พี่เบบี้บอกว่าจากเดิมที่คิดว่าตัวเองคือผู้ให้ แต่แท้จริงแล้วเธอได้รับกลับมา ได้เติมเต็มในทุกมิติของตัวเอง ทั้งการฝึกความอดทนอดกลั้น การปรับอารมณ์ การมองโลกตามความเป็นจริง เห็นความทุกข์ เห็นสัจธรรม

“การที่เราออกไปทำ CSR ต้องไปคุยกับคนในชุมชน ไปหาว่าสิ่งที่เขาต้องการให้บริษัทช่วยคืออะไร บางทีมันก็ทำได้บ้าง ไม่ได้บ้าง ถ้าเขาผิดหวัง เขาก็มีฟีดแบ็คแบบโยนก้อนหินใส่เรา ถ้าเขาสมหวังก็ยื่นดอกไม้ให้เรา ก็เป็นการฝึกจิตเราให้ละเอียดขึ้น และพอมาทำอาสาอำนวยความสะดวกที่โรงพยาบาล อย่างแรกเราต้องอดทนในการตื่นเช้า ต้องตื่นตี 4 เนื่องจากบ้านอยู่รามอินทรา กิโล 2 และต้องมาถึงสถาบันประสาท ฯ ตอน 6.45 น. ไม่ได้ขับรถไป เพราะไม่อยากไปรบกวนพื้นที่จอดรถในโรงพยาบาล ซึ่งมีจำนวนน้อยอยู่แล้ว เราก็นั่งรถสาธารณะไป แต่ตอนเช้ารถทิ้งห่างมาก ก็ต้องเตรียมตัวออกจากบ้านเร็ว

และพอปฏิบัติหน้าที่อาสา เราก็ได้ฝึกความอดทน เพราะต้องยืน 3 ชั่วโมงกว่า พอดีพี่อยู่จุดคัดกรอง จุดตรวจสอบสิทธิ์ ถ้าเจ้าหน้าที่ไม่อยู่ตรงตู้กดใบนำทาง พี่จะเข้าไปช่วยตรงนั้น เลยทำให้ต้องเจอคนเยอะ เราเป็นด่านแรก ผู้มารับบริการก็คาดหวังเยอะว่าตรงนี้จะให้ข้อมูลได้ เราก็รับอารมณ์ผู้ป่วยเหมือนกันในบางครั้ง ก็ต้องปรับอารมณ์ตัวเอง ซึ่งพี่มองว่า เป็นสิ่งที่ได้จากการทำงานจิตอาสามากๆ และพี่ก็ได้เห็นความเป็นจริงมากขึ้น

อย่างตอนที่ได้ช่วยเหลือชุมชน ทำให้เราได้เข้าไปคลุกกับกลุ่มคนที่ขาดปัจจัยและอาจขาดโอกาส ก็ได้เห็นความเป็นจริงของชีวิตในอีกมุมหนึ่ง พอมาทำงานอาสาที่โรงพยาบาลก็ได้เห็นคนป่วย นี่คือโลกของความเป็นจริงจริงๆ พอได้เห็นมุมต่างๆ เหล่านี้ ทั้งความทุกข์ของผู้ป่วย ความยากจนของคน ก็สอนเราให้เห็นสัจธรรมของชีวิต และยังมีแง่มุมว่า เราอย่าไปตัดสินคนอื่นด้วยสายตาของเรา อย่างคนที่เราไปช่วย คนที่เขาขาดทรัพย์สิน เรารู้สึกเขาน่าสงสารจังเลย อันนี้คือการตัดสินของเรา จริงๆ แล้วเขาอาจมีความสุขมากกว่าเราก็ได้”

“ทั้งความทุกข์ของผู้ป่วย ความยากจนของคน สอนเราให้เห็นสัจธรรมของชีวิต และยังมีแง่มุมว่า เราอย่าไปตัดสินคนอื่นด้วยสายตาของเรา”


เกษียณสุข

ก่อนเกษียณจากงาน พี่เบบี้เตรียมความพร้อมด้านสุขภาพล่วงหน้าหลายปี ทั้งเรื่องการกิน การออกกำลังกาย การพักผ่อน อาทิ ไม่กินอาหารจังค์ฟู้ด ลดปริมาณเครื่องปรุงรสต่างๆ พยายามลดน้ำตาล ลดแป้ง ดื่มน้ำเยอะๆ แบ่งเวลาในการออกกำลังกาย

พี่เบบี้เป็นคนที่ไม่มีโรคประจำตัว สุขภาพในวัยเกษียนก็แข็งแรง แต่เธอก็ไม่ประมาทในการใช้ชีวิต เพราะกลไกในร่างกายเป็นสิ่งที่คาดเดาไม่ได้ ความเจ็บป่วยสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา พอได้มาทำงานอาสาที่โรงพยาบาล ได้เห็นความเจ็บป่วย ยิ่งทำให้เห็นความเป็นจริงของชีวิตคือ เกิด แก่ เจ็บ ตาย หากความเจ็บป่วยนั้น วันนั้นอาจขึ้นกับตนเอง เธอบอกว่าก็ต้องยอมรับ และอยู่กับมันให้ได้ ซึ่งสิ่งนี้เธอก็ได้รับมาจากการศึกษาธรรมะด้วย

“ช่วงหลังๆพี่ศึกษาธรรมะ และปฏิบัติเจริญสติ เลยทำให้พี่เย็นลงและเห็นตัวเองมากขึ้น มีความรู้สึกว่าพระธรรมคือฮาวทูที่ประเสริฐสุดในโลกแล้ว เราไม่ต้องไปคิดเรื่องของพระสงฆ์ดีไม่ดี พระจะดีหรือไม่ดีไม่ได้เกี่ยวกับศาสนา แต่สิ่งที่สำคัญกับตัวเรา เกี่ยวข้องกับตัวเราที่สุด คือคำสอนของพระพุทธเจ้า ที่อยู่บนความเป็นจริง ปัจจุบันขณะ ไม่ย้อนหลังกลับไปเสียใจในอดีต ไม่กังวลในอนาคต พอเราอยู่ในปัจจุบันขณะ อยู่กับลมหายใจ ความทุกข์จะน้อยลง พี่เลยมองว่า จริงๆ แล้วต้องปฏิบัติด้วย และมองว่าการได้ช่วยเหลือคนอื่นคือการที่เราไม่เอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง บางคนมีความทุกข์มาก เพราะเขาอยู่กับตัวเองมาก ไม่มองไปรอบๆ ถ้าเขามองไปรอบๆ และได้ให้อะไรออกไป เขาจะไม่โฟกัสกับตัวเอง ความทุกข์ก็น้อยลง จริงๆ ต้องพูดคำนี้ว่า การช่วยเหลือคนอื่นเติมสุขให้กับเราได้จริงๆ”

ซึ่งหนึ่งในการเติมสุขของพี่เบบี้ก็คือ การเป็นอาสาอำนวยความสะดวกผู้ป่วยในโรงพยาบาล เธอบอกต้องขอบคุณที่ได้มาทำงานนี้ ทั้งรู้สึกประทับใจในทีมงาน และผู้ที่มาเป็นจิตอาสามากๆ

“มีความรู้สึกว่า ทำไมเขาดีจังเลย เขาช่างเสียสละจังเลย เขาดูมีความสุขที่ได้ช่วยเหลือผู้อื่น พอเรามาร่วมงานด้วยก็ได้รับพลังบวก พลังดีๆ กลับไป เหมือนว่าเวลาเรามาทำงานที่นี่เราถูกห่อหุ้มด้วยพลังดีงาม มีความสุขและตั้งตารอว่า เมื่อไหร่จะถึงวันที่มาทำงานอาสาอีก มันเป็นความรู้สึกอย่างนั้นจริงๆ ตีสี่ที่ต้องตื่นมา เป็นเรื่องเล็กน้อยมาก รู้สึกว่าในช่วงที่มา เราได้รับพลังแห่งความสุขเยอะ”

 

หลังจากปฏิบัติงานครบ 4 ครั้งในหนึ่งเดือนตามกำหนดแล้ว เดือนต่อๆ มาพี่เบบี้ยังจัดสรรเวลามาเป็นจิตอาสาที่สถาบันประสาทวิทยา นอกจากช่วยเหลือผู้อื่นที่โรงพยาบาลแล้ว เธอยังอาสาไปทำงานด้านอื่นๆ อีก เช่น ไปช่วยงานเพื่อนอาสา ทำไม้กวาดทางมะพร้าวถวายวัด เย็บถุงผ้าเอาไปให้ผู้ป่วยที่ห้องยา ขณะเดียวกันก็ยังสนุกกับการเรียนรู้ หาคอร์สเรียนที่สนใจ แปลนิยายภาษาอังกฤษ และใช้เวลาที่มีคุณค่าที่สุดอยู่กับคุณแม่

นุดา

ผู้เขียน: นุดา

เกิดและเติบโตที่จังหวัดนครปฐม ชอบอ่านหนังสือตั้งแต่เด็ก ตอบตัวเองได้ว่า อยากทำงานเกี่ยวกับการเขียนตอนเรียนมัธยม จึงเลือกเดินในเส้นทางสายนี้ และยึดเป็นอาชีพหลักกว่า 20 ปี แม้รูปแบบของสื่อจะไปเปลี่ยนไปตามยุคสมัย แต่เชื่อว่าการเขียนยังเป็นพลังสำคัญในการสื่อสาร