ตัดทอนจากปาฐกถาเรื่อง “เปิดหน้าต่าง สร้างสะพาน สมานใจ:ทางออกจากกับดักแห่งความรุนแรงในยุคทักษิณ” โดย พระไพศาล วิสาโล เมื่อวันที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๔๗ ณ อนุสรณ์สถาน ๑๔ ตุลาคม
ความรุนแรงเชิงวัฒนธรรมกำลังเป็นปัญหาที่น่าวิตกอย่างยิ่งในสังคมไทย มันมิใช่อุบัติการณ์ที่ปรากฏออกมาเป็นครั้งคราว หากแสดงตัวออกมาอย่างต่อเนื่อง และเป็นที่มาแห่งความรุนแรงที่เห็นจนชินตา อาทิ ความรุนแรงในครอบครัว แต่นับวันมันจะส่งผลให้เกิดความรุนแรงแบบรวมหมู่บ่อยขึ้น ความกระเหี้ยนกระหือของประชาชนผู้รักชาติซึ่งร่วมก่อความรุนแรงในเหตุการณ์ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ นั้นมิใช่อุบัติเหตุหรือไร้ที่มา มันสะท้อนถึงความรุนแรงเชิงวัฒนธรรมที่ดำรงอยู่ในสังคมไทย และยังไม่หายไปไหน หากยังปรากฏให้เห็นเนืองๆ ดังเห็นได้จากการแซ่ซ้องสรรเสริญของประชาชนเมื่อมีการสังหารหมู่พลพรรคก๊อดอาร์มี่ที่ราชบุรีเมื่อปี ๒๕๔๓ และเมื่อมีการฆ่าตัดตอนกว่า ๒,๕๐๐ ศพ เมื่อปี ๒๕๔๖ และล่าสุดคือเมื่อมีการสังหารผู้ก่อความไม่สงบถึง ๑๐๘ คนเมื่อวันที่ ๒๘ เมษายนที่ผ่านมา ทั้งนี้ยังไม่ต้องพูดถึงความรุนแรงอีกมากมายในระดับที่เล็กลงมาทั้งที่เป็นข่าวและไม่เป็นข่าว
ความรุนแรงเชิงวัฒนธรรมที่กำลังเป็นปัญหา ประการแรกคือ ความเชื่อที่ว่าคนชั่วนั้นไม่มีศักดิ์และสิทธิแห่งความเป็นมนุษย์ หากสมควรที่จะต้องกำจัดออกไป ยิ่งเป็นฆาตกรด้วยแล้วต้องฆ่าให้ตายตกไปตามกันโดยไม่ต้องคำนึงถึงศีลธรรมหรือกฎหมายใดๆ ทั้งสิ้น ไม่มีอะไรที่สะท้อนทัศนะดังกล่าวชัดเจนเท่ากับคำพูดของเกจิอาจารย์ท่านหนึ่งที่ว่า “ฆ่าคนขายยาบ้าบาปเท่ากับตบยุงตาย ๑ ตัว…อย่าให้มันอยู่รกแผ่นดิน ไม่ต้องให้มันไปติดคุก” แม้ไม่ต้องพูดถึงหลักธรรมทางพุทธศาสนาซึ่งปฏิเสธการฆ่าในทุกกรณี เพียงมองในแง่กฎหมาย ทัศนะเช่นนี้มีแต่จะทำให้บ้านเมืองลุกเป็นไฟเพราะสนับสนุนให้ไม่ต้องมีขื่อแปใดๆ ทั้งสิ้น
ทัศนคติดังกล่าวทำให้ผู้คนสมาทานลัทธิตาต่อตา ฟันต่อฟัน ไปได้อย่างง่ายดาย ด้วยเหตุนี้คนเป็นอันมากจึงเข้าใจไม่ได้เมื่อคณะกรรมการอิสระตรวจสอบข้อเท็จจริงเหตุการณ์มัสยิดกรือเซะ มีข้อสรุปว่า การที่เจ้าหน้าที่ปาระเบิดเข้าไปในมัสยิดนั้นเป็นการกระทำที่เกินกว่าเหตุ เพราะในทัศนะของคนจำนวนไม่น้อย ผู้ก่อความไม่สงบที่หลบอยู่ในมัสยิดนั้นสมควรตายสถานเดียว ไม่จำต้องคำนึงถึงข้อกฎหมายใดๆ ทั้งสิ้น ความเชื่อว่าการแก้แค้นนั้นเป็นสิทธิอันชอบธรรมที่ใครๆ ก็ทำได้โดยไม่ต้องรอศาลยุติธรรม กำลังระบาดอย่างแพร่หลาย เราจึงเห็นการรุมประชาทัณฑ์ผู้ต้องหาคดีอุกฉกรรจ์เกิดขึ้นเป็นอาจิณ ราวกับว่าพลเมืองดีมีสิทธิละเมิดกฎหมายหรือละเมิดศีลธรรมก็ได้หากกระทำกับคนชั่ว
ความรุนแรงนั้นมีพลวัตของมันเอง ในด้านหนึ่งความรุนแรงจะพัฒนาไปในลักษณะที่ร้ายแรงมากขึ้น ในอีกด้านหนึ่งเหยื่อของความรุนแรงก็จะตีวงกว้างขึ้น ไม่ใช่แค่ฆาตกรหรือผู้ค้ายาบ้าเท่านั้น หากยังรวมไปถึง “ผู้ไม่รักชาติ” หรือคนที่ “ไม่ใช่ไทย” ดังที่นักศึกษาประชาชนที่ชุมนุมอยู่ในธรรมศาสตร์เมื่อวันที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ ได้ประสบมาแล้ว และคนไทยในสามจังหวัดภาคใต้ได้ประสบมาตลอด ทั้งโดยถูกฆ่าอย่างเปิดเผยหรือถูกอุ้มหายตัวไป ประเด็นนี้โยงไปสู่ความรุนแรงเชิงวัฒนธรรมประการต่อมา นั่นคือ ความเชื่อแบบชาตินิยมที่คับแคบ ได้แก่ชาตินิยมแบบชาติพันธุ์ ที่ถือว่าเชื้อชาติไทยเท่านั้นที่เป็น “ไทย” เชื้อชาติจีนหรือเชื้อชาติมลายูไม่มีสิทธิเป็นไทย ยิ่งไปกว่านั้นชาตินิยมแบบชาติพันธุ์ดังกล่าวยังควบคู่กับชาตินิยมที่เน้นวัฒนธรรมจำเพาะ กล่าวคือ ต่อเมื่อนับถือศาสนาพุทธ และพูดไทยเท่านั้นถึงจะเป็น “ไทย” ชาตินิยมดังกล่าวก่อให้เกิดความรุนแรงก็เพราะได้กดคนไทยจำนวนไม่น้อยที่นับถือศาสนาคริสต์หรืออิสลาม พูดไทยไม่ได้ ให้กลายเป็นพลเมืองชั้นสอง ไม่มีสิทธิเสรีภาพเท่าเทียมกับคนที่มีเชื้อชาติไทยหรือนับถือศาสนาพุทธ ชาตินิยมแบบคับแคบดังกล่าวแม้จะเพิ่งเกิดเมื่อ ๘๐ ปีมานี้ แต่ได้ฝังลึกและยังมีอิทธิพลไม่น้อยกับคนปัจจุบัน เกษียร เตชะพีระเคยถามนักศึกษาในชั้นว่า “นักศึกษาคิดว่าตนเองเป็นคนไทยหรือไม่?” ปรากฏว่า ในจำนวน ๙๑ คนมีผู้ตอบว่า ตนไม่ได้เป็นคนไทย ๑๐ คน และตอบอย่างกำกวม ๒๔ คน สาเหตุสำคัญก็เพราะผู้ตอบนั้นนับถือศาสนาคริสต์หรือไม่ก็อิสลาม เป็นลูกจีนหรือไม่ก็มีเชื้อแขก มิได้มีเชื้อไทยแท้ๆ [1]
ในระยะหลังชาตินิยมหรือความเป็นไทยที่คับแคบนี้ได้ถูกนำมาใช้กับคนที่มีความคิดเห็นต่างจากตน โดยไม่จำต้องเป็นความคิดทางการเมืองเท่านั้น ไม่ใช่แต่คอมมิวนิสต์เท่านั้นที่ไม่ใช่ไทย ใครก็ตามที่เห็นขัดแย้งกับคนส่วนใหญ่ในเรื่องประวัติศาสตร์หรือความเชื่อท้องถิ่น เช่น ตั้งคำถามเกี่ยวกับวีรกรรมของท้าวสุรนารี หรือไม่เชื่อว่าศิลาจารึกหลักที่ ๑ ทำโดยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช หรือไม่เห็นด้วยกับการห้ามผู้หญิงเข้าไปชั้นในของพระเจดีย์ที่มีพระธาตุอยู่ข้างใต้ ก็ถูกกล่าวหาว่าไม่ใช่คนไทยไปในทันที ผลที่ตามมาคือถูกกลุ่มพลังมวลชนเผาพริกเผาเกลือและสาปแช่ง น่าสงสัยว่าหากผู้ที่เห็นขัดแย้งดังกล่าวตกอยู่ในท่ามกลางผู้ชุมนุมเหล่านั้น เขาจะรอดออกมาได้โดยสวัสดิภาพหรือไม่
ทั้งหมดนี้สะท้อนให้เห็นถึงการขาดขันติธรรมและเมตตาธรรมในหมู่คนไทย ซึ่งเป็นความรุนแรงเชิงวัฒนธรรมประการต่อมา นับวันผู้คนจะยอมรับความเห็นที่ต่างจากตนได้ยาก และมีแนวโน้มที่จะมองเห็นคนเหล่านั้นเป็นศัตรู เมื่อมองเห็นเป็นศัตรูย่อมรู้สึกชอบธรรมที่จะใช้ความรุนแรงกับคนเหล่านั้นได้ง่าย อย่างน้อยก็ใช้ความรุนแรงทางวาจา ดังเห็นได้ทั่วไปตามเว็บบอร์ดต่างๆ ในแวดวงอินเตอร์เน็ต น่าสังเกตว่ากระบวนการดังกล่าวจะเริ่มจากการขีดเส้นแยกอีกฝ่ายให้เป็น “คนอื่น” หรือ “พวกมัน” จากนั้นก็กดอีกฝ่ายให้มีสถานะต่ำลง ที่นิยมใช้อย่างแพร่หลายคือการตีวงให้อีกฝ่ายเป็น “เสียงส่วนน้อย” จากนั้นก็ประทับตราว่า “ไม่ใช่คนไทย” หรือตั้งคำถามว่า “เป็นคนไทยหรือเปล่า?” ตามมาด้วยการกล่าวหาว่า “ไม่รักชาติ” เมื่อเป็นคนไม่หวังดีต่อชาติเสียแล้ว ก็ง่ายที่จะตีตราคาดโทษว่าเป็น “คนชั่ว” ถึงตรงนี้ก็ย่อมรู้สึกชอบธรรมที่จะใช้ความรุนแรงกับคนเหล่านั้นอย่างน้อยก็ทางวาจา หากมีอำนาจก็ย่อมทำมากกว่านั้น ทุกวันนี้วาทกรรมประชาธิปไตย ตามด้วยวาทกรรมชาตินิยม และตบท้ายด้วยวาทกรรมศีลธรรม กำลังถูกนำมาใช้สนับสนุนความคิดที่คับแคบและทัศนคติที่นิยมความรุนแรงอย่างเด่นชัดขึ้นทุกที ไม่ต้องสงสัยเลยว่า พ.ต.ท.ทักษิณเป็นตัวอย่างชัดเจนในการใช้วิธีการดังกล่าวกับผู้ที่เห็นต่างจากตน
อันที่จริงมีความรุนแรงเชิงวัฒนธรรมอีกหลายประการ ที่ยังไม่ได้กล่าวถึง อาทิ ทัศนคติที่ถือว่าผู้ชายเป็นใหญ่ในครอบครัว และดังนั้นจึงมีสิทธิที่จะใช้ความรุนแรงกับภรรยาหรือคู่ครอง โดยถือว่าเป็นเรื่องภายในครอบครัวที่คนอื่นไม่เกี่ยว ทัศนคติดังกล่าวสร้างความทุกข์ทรมานแก่ผู้หญิงเป็นจำนวนมากในสังคมไทย นอกจากนั้นยังได้แก่ทัศนคติรังเกียจคนจน เห็นคนจนเป็นคนขี้เกียจ ได้ไม่รู้จักพอ ถูกหลอกง่าย ไม่รู้จักคิด ดังนั้นผู้คนทั่วไปรวมทั้งรัฐบาลเอง จึงมีความรู้สึกในทางลบต่อชาวนาชาวไร่ที่มาชุมนุมประท้วงเพราะเชื่อว่ามีมือที่สามมายุแหย่ รวมทั้งไม่รู้สึกอินังขังขอบที่เขาเหล่านั้นถูกเอารัดเอาเปรียบ ทัศนคติดังกล่าวสนับสนุนให้ความรุนแรงเชิงโครงสร้างยังดำรงอยู่อย่างหนาแน่น
หากความรุนแรงทางกายภาพเป็นเรื่องของตัวบุคคล และความรุนแรงเชิงโครงสร้างเป็นเรื่องของระบบหรือโครงสร้างที่อยู่เหนือตัวบุคคล ความรุนแรงเชิงวัฒนธรรมก็คือสิ่งที่อยู่ลึกลงไปในจิตสำนึกของบุคคลซึ่งประกอบกันเป็นสังคม ความรุนแรงในระดับจิตสำนึกนี้เองที่เป็นพื้นฐานให้กับความรุนแรงอีก ๒ ประเภท ด้วยเหตุนี้หากต้องการให้สังคมไทยเป็นสังคมที่ปลอดจากความรุนแรงอย่างแท้จริง จำเป็นที่เราจะต้องช่วยกันขจัดความรุนแรงเชิงวัฒนธรรมไปพร้อมๆ กับความรุนแรงเชิงโครงสร้าง
ความรุนแรงเชิงวัฒนธรรมที่เป็นปัญหาขั้นพื้นฐานก็คือ การขาดขันติธรรมและเมตตาธรรม เมื่อครั้งที่หมอบรัดเลย์มาประกาศศาสนาคริสต์ที่เมืองไทยราวๆ ๑๕๐ ปีก่อน มีเรื่องเล่าว่าคราวหนึ่งหมอบรัดเลย์ได้ยืนประกาศศาสนาหน้าร้านขายพระพุทธรูป พร้อมกับโจมตีการนับถือรูปเคารพไปด้วย หมอบรัดเลย์พูดโจมตีจนเหนื่อยเนื่องจากอากาศร้อน เจ้าของร้านซึ่งนั่งฟังอยู่อย่างสงบ รู้สึกสงสารจึงเชิญหมอบรัดเลย์มานั่งพักในร้านและสอบถามว่าเหตุใดเขาจึงทำอย่างนั้น ถ้าเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นในกรุงเทพฯ ทุกวันนี้เราคงนึกได้ไม่ยากว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับหมอสอนศาสนาผู้นั้น เห็นได้ชัดว่าขันติธรรมและเมตตาธรรมที่เจ้าของร้านแสดงออกมานั้นได้ขาดหายไปอย่างมากจากจิตใจของคนไทยทุกวันนี้ เรามีความยึดมั่นถือมั่นในความคิดกันมากขึ้น และทนความคิดเห็นที่ต่างออกไปได้น้อยลง ที่จริงไม่ใช่แต่ความต่างทางความคิดเท่านั้น แม้ความต่างในด้านอื่นๆ ก็สามารถทำให้เกิดความแตกแยกกันได้ง่าย อาทิ ความต่างทางศาสนา เชื้อชาติ ฐานะทางเศรษฐกิจ การศึกษา สถาบัน และแม้แต่ความต่างทางเพศและวัย
สังคมไทยจะหลุดจากความรุนแรงเชิงวัฒนธรรมได้ ต้องเริ่มต้นจากการทำให้ขันติธรรมและเมตตาธรรมกลายมาเป็นวัฒนธรรมของสังคม ขันติธรรมและเมตตาธรรมจะเกิดขึ้นได้อย่างแท้จริงเมื่อเรารู้สึกถึงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับผู้อื่น ตระหนักว่าเรามีความเหมือนมากกว่าความต่าง แม้จะต่างความคิด ต่างภาษา ต่างเชื้อชาติ แต่เหนืออื่นใดเราทุกคนล้วนเป็นมนุษย์เหมือนกัน รักสุขเกลียดทุกข์เช่นเดียวกัน ความรู้สึกเช่นนี้แหละที่จะทำให้เราเห็นใจกัน และมีความเอื้ออาทรต่อกันมากขึ้น
ควบคู่กับขันติธรรมและเมตตาธรรม ก็คือความตระหนักว่า ความรุนแรงนั้นไม่สามารถแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืน มันทำได้อย่างมากเพียงแค่ยุติปัญหาชั่วคราวเท่านั้น และไม่มีหลักประกันว่าปัญหาจะไม่ลุกลามเลวร้ายลง ยิ่งใช้ความรุนแรงเพื่อขจัดความชั่วร้ายด้วยแล้ว ความชั่วร้ายมีแต่จะเพิ่มมากขึ้น เพราะสิ่งที่ถูกขจัดไปคือตัวบุคคลเท่านั้น ขณะที่ผู้ใช้ความรุนแรงนั้นเองกลับจะถูกความชั่วร้ายครอบงำมากขึ้น เช่นเดียวกับตำรวจที่ใช้ความรุนแรงกับโจรเป็นอาจิณ ในที่สุดย่อมมีพฤติกรรมเยี่ยงโจรเสียเอง กล่าวคือ รีดไถ ปล้น หรือฆ่าผู้บริสุทธิ์ ดังเป็นข่าวอยู่เสมอ จะสู้กับความชั่วร้ายนั้นมีวิธีเดียว คือใช้ความดี และความดีนั้นย่อมแสดงออกโดยวิธีการที่สันติ
สันติวิธีมิใช่การยอมจำนน แต่เป็นการเผชิญหน้ากับปัญหา เราสามารถเผชิญกับปัญหาได้โดยไม่จำต้องใช้วิธีหักโค่นทำลายล้าง หรือทำด้วยความเกลียดโกรธ แต่ทำด้วยความเมตตา นั่นคือไม่มองคู่กรณีเป็นศัตรูที่ต้องกำจัด เพราะมนุษย์นั้นหาใช่ศัตรูไม่ ความโกรธเกลียด อาฆาตพยาบาท ความโลภ และความหลงต่างหากคือศัตรูที่แท้จริง เมตตาธรรมนั้นมีพลังในตัวเองที่สามารถก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงได้ ในด้านหนึ่งเมตตาธรรมสามารถดึงเอาความดีงามออกมาจากใจของคู่กรณีและนำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมได้ แต่ที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือเมตตาธรรมยังสามารถยกระดับจิตใจของผู้ที่ใช้สันติวิธีได้ด้วย
วัฒนธรรมที่มีขันติธรรมและเมตตาธรรมเป็นพื้นฐานนั้น นอกจากจะเรียกร้องการเปลี่ยนมุมมองต่อผู้อื่นแล้ว ยังต้องอาศัยการเปลี่ยนมุมมองต่อตนเองด้วย นั่นคือไม่เอาตนเองเป็นศูนย์กลาง หรือเอาความเห็นของตนเองเป็นใหญ่ ยิ่งไปกว่านั้นก็คือจำเป็นต้องหันมามองตนเองและรู้เท่าทันตนเองด้วยว่า ลึกๆ แล้วเราชอบแบ่งเขาแบ่งเราโดยไม่รู้ตัว มนุษย์พร้อมจะเอาทุกอย่างมาเป็นเส้นแบ่งเขาแบ่งเรา ถ้าไม่เอาเผ่าพันธุ์มาเป็นเส้นแบ่ง ก็เอาภาษา เชื้อชาติ ศาสนา สีผิว มาแบ่งเขาแบ่งเราแทน หรือไม่ก็เอาความคิด ฐานะทางเศรษฐกิจ การศึกษา หรือสถาบันที่สังกัด มาเป็นเส้นแบ่ง แม้แต่สิ่งดีงามเช่นความดีหรือศีลธรรม ก็ไม่เว้นที่จะถูกเอามาใช้เป็นเส้นแบ่งด้วยเช่นกัน
การแบ่งดีแบ่งชั่วชัดเจนว่า พวกฉันดี พวกแกเลว เป็นตัวการสำคัญที่ทำให้ผู้คนขาดขันติธรรม เพราะเมื่อสรุปว่าอีกฝ่ายเลวเสียแล้ว ก็ไม่ต้องสนใจฟังมัน และเมื่อมันชั่ว ก็ต้องจัดการกับมันอย่างไม่ต้องปรานีปราศรัย เมื่อสาวให้ลึกลงไปจะพบว่าสัญชาตญาณที่ชอบแบ่งเขาแบ่งเรานั้นมิได้มาจากอะไรอื่น หากเกิดจากความสำคัญมั่นหมายในตัวตน หรือความยึดมั่นใน “ตัวกู ของกู” ความสำคัญมั่นหมายดังกล่าวนี้เองที่ทำให้เราชอบยึดเอาสิ่งต่างๆ มาเป็น “ของกู” โดยไม่รู้ตัว รวมทั้งแสวงหากลุ่มสังกัดเพื่อจะได้ยึดหมายว่าเป็น “พวกกู” ซึ่งก็คือการผลักให้คนที่เหลือกลายเป็น “พวกมัน” ไปเสีย จะเอาชนะสัญชาตญาณแบ่งเขาแบ่งเราได้ก็ด้วยการรู้เท่าทัน “ตัวกู ของกู” ไม่ยอมให้มันมาครอบงำจิตใจของเราง่ายๆ
ขันติธรรม เมตตาธรรม ความใฝ่ในสันติวิธี ไม่นิยมความรุนแรง และการไม่เอาตนเองเป็นศูนย์กลาง คือสิ่งที่จะต้องทำให้กลายเป็นวัฒนธรรมของสังคม วัฒนธรรมดังกล่าวซึ่งในที่นี้ขอเรียกว่า “วัฒนธรรมแห่งความสมานฉันท์” เป็นสิ่งที่จะนำพาสังคมไทยหลุดจากความรุนแรงเชิงวัฒนธรรมที่กำลังลุกลามอยู่ในปัจจุบัน อย่างไรก็ตามวัฒนธรรมดังกล่าวไม่อาจเกิดขึ้นได้ด้วยการเทศน์การสอนเท่านั้น หากยังต้องอาศัยการรณรงค์ขับเคลื่อนทางสังคมเพื่อก่อให้เกิดสัมพันธภาพและทัศนคติอย่างใหม่ ซึ่งในที่นี้มีขอเสนอบางประการ
การขาดขันติธรรมและเมตตาธรรมแพร่ระบาดในสังคมไทย ก็เพราะมีการสร้างกำแพงขวางกั้นระหว่างกลุ่มต่างๆ ในสังคม แม้วิถีชีวิตของโลกสมัยใหม่ดูเหมือนจะทำให้ผู้คนกลุ่มต่างๆ มีปฏิสัมพันธ์กันมากขึ้น แต่ในอีกด้านหนึ่งสังคมสมัยใหม่ก็มีความซับซ้อนและซอยย่อยหลากหลายมากขึ้น การแตกตัวออกเป็นหมู่เหล่าต่างๆ มากมาย ทำให้ผู้คนสัมพันธ์กันอย่างฉาบฉวยมากขึ้น และยากที่กลุ่มต่างๆ จะรู้จักกันได้ทั่วถึง นอกจากนั้นความรู้สึกโดดเดี่ยวอ้างว้างในสังคมเมืองก็มักจะผลักดันให้ผู้คนเข้าหาสังกัดและจำกัดตัวอยู่ในกลุ่มของตน สภาพดังกล่าวได้ทำให้เกิดช่องว่างระหว่างกลุ่มคนต่างๆ มากมายในสังคม (จะเรียกว่าช่องว่างทางอัตลักษณ์ก็ได้) ผลก็คือการมีทัศนคติและวิถีชีวิตที่แตกต่างกันอย่างมาก จนยากจะเข้าใจกันได้ แม้พูดภาษาเดียวกัน นับถือศาสนาเดียวกัน แต่มีฐานะทางเศรษฐกิจต่างกัน ก็ยากที่จะสื่อสารกันให้รู้เรื่อง เพราะช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนเวลานี้ห่างกันไกลมาก ไม่ต้องดูอื่นไกล แม้ในครอบครัวเดียวกัน ช่องว่างระหว่างพ่อแม่กับลูกซึ่งเป็นวัยรุ่นก็ถ่างกว้างมากจนเข้าใจกันได้ยาก ส่วนหนึ่งเพราะดูโทรทัศน์คนละช่อง ใช้เวลาว่างคนละแบบ อยู่กับสิ่งแวดล้อม (และเทคโนโลยี) คนละแวดวง เมื่อเป็นเช่นนี้จึงไม่ต้องพูดถึงกลุ่มคนที่มีเชื้อชาติ ศาสนา ภาษา และท้องถิ่นที่แตกต่างกัน อาทิ คนเมืองกับชาวเขา ชาวพุทธในกรุงเทพฯ กับชาวมุสลิมในภาคใต้ ช่องว่างดังกล่าวนับวันจะทำให้เกิดเป็นปฏิปักษ์กันมากขึ้น และมีขันติธรรมกันน้อยลง
ในบริบทดังกล่าว วัฒนธรรมแห่งความสมานฉันท์จะเกิดขึ้นได้ก็ด้วยการสร้าง “สายสัมพันธ์พาดผ่าน” ระหว่างกลุ่มต่างๆ ในสังคม เป็นสายสัมพันธ์ที่ไม่เพียงข้ามวัฒนธรรม ภาษา เชื้อชาติ เศรษฐกิจ การศึกษา และภูมิประเทศเท่านั้น หากยังข้ามอายุ และเพศด้วย เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่า ผู้ใหญ่ทุกวันนี้มีความเข้าใจเด็กและเยาวชนน้อยลงทุกที จึงลงเอยด้วยการมีทัศนคติในทางลบ และทำให้เกิดการกระทบกระทั่งและก่อความรุนแรงทางจิตใจและวาจาโดยไม่รู้ตัว
สายสัมพันธ์พาดผ่านนี้สามารถเกิดขึ้นได้ด้วยการจัดกิจกรรมเพื่อให้คนต่างกลุ่มต่างอัตลักษณ์มารู้จักกัน ที่ดีกว่านั้นก็คือ มาใช้ชีวิตร่วมกัน และทำงานด้วยกัน หน่วยงานของรัฐ องค์กรธุรกิจ และองค์กรภาคประชาชน ควรร่วมกันจัดทำโครงการระดับชาติเพื่อสร้างสายสัมพันธ์พาดผ่านชนิดที่ครอบคลุมทั้งประเทศ โดยอาศัยกิจกรรมเช่น การประชุม สัมมนา การแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม การจัดค่าย กิจกรรมอีกอย่างหนึ่งที่จะช่วยได้อย่างมากคือการส่งเสริมอาสาสมัครลงไปทำงานในชุมชนที่มีอัตลักษณ์แตกต่างไปจากตน โดยไม่จำกัดเฉพาะคนหนุ่มสาว แต่ควรรวมผู้มีอายุด้วย โดยถือเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้จากกันและกันเพื่อสร้างสมานฉันท์ระหว่างคนในชาติ นอกเหนือไปจากการช่วยเหลือชุมชนที่ยากไร้
สื่อมวลชนสามารถมีส่วนร่วมในกระบวนการดังกล่าวได้ด้วยการนำเสนอเรื่องราวของคนกลุ่มต่างๆ โดยเฉพาะคนที่ไม่มีอำนาจควบคุมสื่อ เช่น คนยากจน ชนกลุ่มน้อย ทั้งนี้เพื่อให้คนส่วนใหญ่เข้าใจปัญหาและมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือ กรณีแม่ใหญ่ไฮเป็นตัวอย่างที่ชี้ให้เห็นว่า สื่อมวลชนมีอำนาจที่จะทำให้ผู้คนเกิดความเห็นใจคนยากไร้ได้ไม่น้อย แม้จะยังมองไม่เห็นถึงสาเหตุเชิงโครงสร้างก็ตาม
ผู้คนมีอคติต่อกันส่วนหนึ่งก็เพราะไม่สามารถฟังผู้อื่นได้อย่างลึกซึ้ง ผู้คนมักจะเบียดเบียนกันส่วนหนึ่งก็เพราะไม่รู้วิธีที่จะจัดการกับความขัดแย้งโดยสันติวิธี ด้วยเหตุนี้กระบวนการแก้ไขความขัดแย้งโดยสันติวิธีจึงเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ควรเผยแพร่ให้รู้จักกันมากๆ ถ้าจะให้ดีควรส่งเสริมให้มีขึ้นตั้งแต่ในระดับโรงเรียน ในสหรัฐอเมริกา มีโรงเรียนประถมและมัธยมนับพันๆ แห่งที่จัดอบรมทักษะการแก้ไขความขัดแย้งแก่นักเรียน เพื่อจะได้รู้จักวิธีการสื่อสาร การฟังอย่างตั้งใจ การจัดการกับความโกรธ และการหาทางออกร่วมกัน โรงเรียนบางแห่งถึงกับจัดตั้งศูนย์จัดการความขัดแย้งขึ้น โดยมีนักเรียนเป็นอาสาสมัครในการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทบาดหมางระหว่างเพื่อนนักเรียนด้วยกัน [2]
ประสบการณ์ในหลายประเทศบ่งชี้ว่า การจัดการความขัดแย้งมิใช่เป็นเรื่องยุ่งยากซับซ้อน แม้แต่นักเรียนหรือเด็กๆ ก็สามารถทำได้ เพราะอาศัยทัศนคติในทางบวกและทักษะพื้นๆ บางประการเท่านั้น อาทิ การรู้จักฟัง การเปิดใจกว้าง และความเห็นอกเห็นใจ
สถาบันการศึกษาในประเทศไทยควรมีการอบรมทักษะการจัดการความขัดแย้งให้แก่นักเรียน ครู ขณะเดียวกันควรมีการอบรมให้แก่บุคคลภายนอกด้วย แน่นอนว่าทักษะดังกล่าวต้องมีทัศนคติที่เกื้อกูลเป็นพื้นฐานด้วย จะพัฒนาทักษะให้ได้ผล ก็ต้องพัฒนาทัศนคติ อันได้แก่ความใจกว้างและความเห็นอกเห็นใจ ซึ่งก็คือขันติธรรมและเมตตาธรรมนั่นเอง นอกจากสถาบันการศึกษาแล้ว หน่วยงานต่างๆ ทั้งของรัฐและเอกชนก็ควรให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ด้วย เพราะทุกหน่วยงานย่อมหนีไม่พ้นความขัดแย้ง เป็นที่น่ายินดีที่หน่วยงานภาครัฐของไทยได้ให้ความสนใจกับเรื่องนี้มากขึ้น อาทิ กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งจัดให้มีการวิจัยและอบรมด้านนี้แก่บุคลากรอย่างจริงจังในช่วง ๒ ปีที่ผ่านมา
หากมีการเผยแพร่กระบวนการแก้ไขความขัดแย้งโดยสันติวิธีไปทั่วทั้งสังคม ผู้คนจะเข้าใจสันติวิธีดีขึ้น และมีทักษะในการแก้ปัญหาโดยไม่ใช้ความรุนแรง ขณะเดียวกันขันติธรรมและเมตตาธรรมก็จะเพิ่มพูนมากขึ้นด้วย
ความสำเร็จของการใช้สันติวิธีแก้ไขปัญหาทั้งในระดับบุคคล ชุมชน และระดับประเทศ เป็นประเด็นที่สื่อมวลชนควรให้ความสนใจ เพื่อช่วยให้คนส่วนใหญ่ในสังคมตระหนักว่ายังมีวิธีอื่นที่ทรงประสิทธิภาพและให้ผลยั่งยืนกว่าความรุนแรง
“จิตใหญ่” คือจิตที่ไม่เห็นแก่ตัว ไม่คิดติดตันอยู่กับผลประโยชน์ของตัว เป็นจิตที่ไม่ตีกรอบจำกัดวงอย่างคับแคบ ว่าคนกลุ่มนี้พวกนี้เท่านั้นที่เป็นพวกของตน หากรู้สึกเป็นหนึ่งเดียวกับมวลมนุษย์ในโลกแม้จะต่างเชื้อชาติ ภาษา ศาสนา หรือความเชื่อ เห็นมนุษย์ทุกคนเป็นเพื่อนร่วมโลกหรือเพื่อนร่วมทุกข์ที่ควรมีความเอื้ออาทรต่อกัน
องค์กรศาสนาควรส่งเสริมให้ผู้คนมีจิตใหญ่ แทนที่จะเอาศาสนามาเป็นเส้นแบ่ง ควรช่วยให้ศาสนิกชนไปพ้นเส้นแบ่งทั้งหลาย เพื่อให้เข้าถึงแก่นแท้ของศาสนาที่เห็นมนุษย์ทั้งปวงเป็นพี่น้องกัน โดยเฉพาะพุทธศาสนาซึ่งไปลึกถึงขั้นตั้งคำถามกับสำนึกเรื่องตัวตน น่าจะมีบทบาทในการช่วยให้พุทธศาสนิกชนรู้เท่าทันความยึดมั่นถือมั่นในตัวตน ซึ่งเป็นตัวการที่ชอบแบ่งเขาแบ่งเรา โดยเอาศาสนา ภาษา เชื้อชาติ เศรษฐกิจ การศึกษา และอะไรต่ออะไรอีกมากมาย มาเป็นเครื่องมือ
สถาบันการศึกษาตลอดจนองค์กรต่างๆ ในภาคประชาชนสามารถมีบทบาทสำคัญในเรื่องนี้ด้วยการสร้างสายสัมพันธ์แห่งไมตรีจิตมิตรภาพระหว่างคนไทยกับคนชาติอื่นๆ ดังที่เครือข่ายองค์กรสันติภาพในไทย ได้จัดทำโครงการปันน้ำใจให้เด็กอิรัก แม้จะเป็นโครงการเฉพาะกิจก็ตาม นอกจากการขยายจิตสำนึกแห่งความเป็นมนุษย์ให้กว้างไกลแล้ว การขยายจิตสำนึกแห่งความเป็นไทยให้กว้างขวางก็สำคัญ
ดังได้กล่าวแล้วว่าความเป็นไทยที่คับแคบ เป็นความรุนแรงเชิงวัฒนธรรมอย่างหนึ่ง ซึ่งวันนี้มีบทบาทไม่น้อยในการก่อความรุนแรงขึ้นในภาคใต้ การพยายามบังคับให้ผู้คนในสามจังหวัดภาคใต้นับถือพุทธศาสนาและพูดภาษาไทยเพื่อจะได้เป็นไทยตามนิยามของรัฐ ได้สร้างความบีบคั้นแก่ผู้คนที่นั่นมาหลายสิบปี แม้เวลานี้แรงบีบคั้นดังกล่าวจะบรรเทาเบาบางลง แต่ความรังเกียจเดียดฉันท์คนที่นั่นว่าไม่ใช่คนไทยเพราะไม่ยอมเปลี่ยนวัฒนธรรมให้เป็นไทยตามนิยามที่คับแคบ ก็ทำให้คนเหล่านั้นกลายเป็นพลเมืองชั้นสองไปโดยปริยาย ซึ่งในที่สุดความคับแค้นก็ประทุออกมาเป็นความรุนแรงโดยคนจำนวนหนึ่ง
ทางออกย่อมไม่ใช่การผลักไสให้คนเหล่านั้นไปอยู่ประเทศอื่นอย่างที่หลายคนอยากจะเห็น ทางออกที่แท้จริงคือการเปลี่ยนสำนึกหรือนิยามความเป็นไทยเสียใหม่ ให้ครอบคลุมถึงคนทุกเชื้อชาติ ศาสนา ภาษา และวัฒนธรรม ที่เกิดในผืนแผ่นดินนี้ ครอบคลุมถึงคนทุกคนที่ปรารถนาจะฝากปัจจุบันและอนาคตไว้บนผืนแผ่นดินนี้ แม้จะมีอดีตหรือความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ที่ต่างกันก็ตาม พูดอีกนัยหนึ่ง แม้บรรพบุรุษจะไม่ได้มาจากเทือกเขาอัลไต ก็มีสิทธิเป็นคนไทยได้อย่างเต็มภาคภูมิ
ใช่แต่เท่านั้น แม้แต่คนจนก็ต้องได้รับการนับรวมให้เป็นเจ้าของแผ่นดินไทยด้วย นั่นหมายความว่าปัญหาของคนจนก็ต้องถือว่าเป็นปัญหาของชาติด้วย ไม่ใช่เรียกร้องให้คนจนเสียสละเพื่อชาติ ซึ่งเมื่อสาวไปถึงที่สุดแล้ว “ชาติ” ที่ว่าก็คือคนกลุ่มเล็กๆ ในเมืองที่มีอำนาจเงินและการเมืองอยู่ในมือนั่นเอง
สำนึกความเป็นไทยจะพ้นจากความคับแคบได้ นอกจากจะต้องอาศัยการแย่งชิงคำนิยามเพื่อไม่ให้ถูกผูกขาดโดยรัฐหรือผู้มีอำนาจ และการเชื่อมโยงคนไทยต่างกลุ่มต่างอัตลักษณ์ให้มารู้จักกันและเข้าใจกันแล้ว อีกปัจจัยที่สำคัญก็คือการเปิดโอกาสให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการกำหนดความเป็นไปของชาติ รวมทั้งการกำหนดชะตากรรมของตนเองด้วย ขณะเดียวกันก็ต้องทำให้พื้นที่ทางการเมืองเปิดสำหรับทุกคน ทุกคนมีสิทธิที่ประท้วงคัดค้านเพื่อปกป้องวิถีชีวิตของตน มีสิทธิใช้ท้องถนนและสื่อมวลชนเป็นเวทีสำหรับการแสดงออกซึ่งความทุกข์ร้อนของตน ด้วยวิธีนี้ชาติจึงจะเป็นของทุกคน และทุกคนจะรู้สึกว่าตนเป็นคนไทยอย่างแท้จริง