“กิน-ดื่มอย่างรู้สึกตัว” สุขภาพดีทั้งกายและใจ

เครือข่ายพุทธิกา 7 สิงหาคม 2024

เราทุกคนมีโอกาสสัมผัสความสุขที่แท้จริงจากการกิน เมื่อกินอาหารอย่างรู้สึกตัว

กินเงียบๆ

การกินอย่างรู้สึกตัวทำได้ดีที่สุดในความเงียบ ใส่ใจกับสิ่งที่เรากินอยู่ และเมื่อใส่ใจกับการกิน เราสังเกตเห็นว่าร่างกายมีปฏิกิริยาอย่างไร เมื่อเราเคี้ยวและกลืนอาหาร เราอาจจะรู้สึกได้ถึงท้องที่ขยายใหญ่ขึ้นและอิ่มขึ้นทุกคำที่กินเข้าไป เราอาจรับรู้ความกรุบกรอบของแตงกวา ความชุ่มฉ่ำของมะเขือเทศ กลิ่นหอมบางๆ ของเครื่องเทศ กลิ่นฉุนของกระเทียม เราจะรู้ตัวว่าเรากำลังกินอะไรอยู่

ก่อนกิน

รับรู้ลมหายใจของตัวเอง โดยหายใจเข้าลึกๆ 2-3ครั้ง หลับตาหรือลืมตาก็ได้ รับรู้สิ่งที่ทำให้คุณอยากกิน คุณกินเพราะหิวจริงหรือเปล่า หิวแค่ไหน หรือคุณกินเพราะเครียดหรือเบื่อ กินเพราะความเคยชิน หรือกินเพราะเพิ่งถึงบ้านและเห็นกล่องขนมวางทิ้งไว้บนโต๊ะ อาจมีสาเหตุหลายประการที่กระตุ้นความอยากของคุณ เพียงสังเกตว่ามันคืออะไร

กินอย่างรู้สึกตัว

พิจารณาดูว่าคุณอยากกินอะไร กินเพราะชอบ กินเพราะพึงพอใจ หรือกินเพื่อให้อิ่ม กฎที่ดีข้อหนึ่งคือกินมื้อเล็กๆ เพื่อให้ตัวเองเพลิดเพลินไปกับของว่าง โดยไม่รู้สึกผิด

ลิ้มรสอาหาร

รับประทานช้าๆ และไม่ทำอะไรอย่างอื่น ใส่ใจกับอาหาร คุณจะแปลกใจว่าคุณพึงพอใจกับอาหารในปริมาณน้อยเพียงใด เนื่องจากคุณตั้งใจลิ้มรสอย่างเต็มที่และพึงพอใจกับรสชาติอาหารไปแล้ว

กินเพียงอย่างเดียว

ไม่ทำงานหลายอย่าง เช่น ทำงาน ดูโทรศัพท์หรือแท็บเล็ต พูดคุยกับใครสักคน อ่านหนังสือ ซึ่งจะทำให้การลิ้มรสอาหารลดลง นอกจากนี้ยังอาจนำไปสู่การกินแบบไร้เหตุผล เช่น กินมันฝรั่งทอดจนหมดถุงโดยไม่ได้ตั้งใจ

ดื่มชาเพื่อดื่มชา

พระติชนัทฮันห์แนะนำว่าเมื่อดื่มชา ให้สำรวจชาด้วยประสาทสัมผัสต่างๆ…สัมผัสความร้อนเมื่อถ้วยชากระทบมือ…ดมกลิ่นใบชาเมื่อดื่ม สังเกตสีของน้ำชา รับรู้ความเคลื่อนไหวขณะยกถ้วยขึ้นสู่ริมฝีปาก สังเกตการตอบสนองทางกายเมื่อลิ้มรส… สังเกตว่ามีอาการยินดีหรือความไม่พอใจหรือไม่ และเมื่อใดก็ตามที่จิตใจถูกความคิดดึงออกไป (ซึ่งมันจะเป็นเช่นนั้น) เพียงแค่สังเกตว่าใจอยู่ที่ไหน แล้วพากลับมาอย่างอ่อนโยน กลับมารู้สึกกายและใจ

สำรวจด้วยความอยากรู้อยากเห็น

เช่น เห็นอะไร, ได้กลิ่นอะไร, สัมผัสเป็นอย่างไร, ได้ยินอะไร, รสชาติเป็นอย่างไร

กว่าจะมาเป็นอาหารในจานเรา

อาหารทุกชิ้นที่เรากินมีเรื่องราวที่มาอันยาวนานซึ่งเรามักจะไม่นึกถึง ลองใช้เวลาสักครู่เพื่อรับรู้ที่มาของอาหารที่อยู่ในจานของคุณ ลองนึกถึงคนปลูก คนซื้อ คนเก็บเกี่ยว คนจัดส่ง และองค์ประกอบทางธรรมชาติทั้งหมด เช่น แสงแดด ฝน ดิน และลมที่ช่วยให้มันเติบโต เมื่อคุณรู้ว่าอาหารของคุณมาจากไหน คุณจะรู้สึกเชื่อมโยงกับสิ่งที่คุณกินมากขึ้นเท่านั้น

เพียงแค่สนุกไปกับมัน

มีคำแนะนำมากมายว่าจะกินอะไรและควรกินอย่างไร ซึ่งอาจทำให้คุณรู้สึกหนักใจและท้ายที่สุดก็บั่นทอนการรับประทานอาหารของคุณอย่างมาก สิ่งสำคัญคือต้องเรียนรู้วิธีการไว้วางใจตัวเอง ละทิ้งการตัดสินที่รุนแรง และเพลิดเพลินกับอาหารที่เติมพลังให้กับร่างกายอย่างเหมาะสม เมื่อคุณรู้สึกตัวในการรับประทานอาหาร คุณจะเรียนรู้อย่างรวดเร็วว่าร่างกายต้องการอะไร และอะไรไม่จำเป็นจริงๆ

เริ่มต้นใหม่

คนส่วนใหญ่มักกินอาหารชนิดเดียวกันสัปดาห์ต่อสัปดาห์เพื่อความสะดวกและรสชาติที่ชอบหรือคุ้นเคย ลองดูว่าคุณสามารถกินอาหารที่คุ้นเคยด้วยความอยากรู้อยากเห็นได้หรือไม่ ลองนึกภาพนี่เป็นครั้งแรกที่คุณเคยกินมัน เคี้ยวช้าๆ เข้าถึงทุกความรู้สึกและเนื้อสัมผัสของรสชาติ คุณสังเกตเห็นอะไร