พุทธศาสนาไม่เชื่อว่ามีพระเจ้าหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่บงการชีวิตของเรา มีแต่การกระทำของตัวเราเองเท่านั้นที่เป็นปัจจัยสำคัญในการกำหนดชีวิตของเรา ที่จริงยังมีปัจจัยอย่างอื่นที่เป็นตัวกำหนดเช่น ดินฟ้าอากาศ หรือผู้คนแวดล้อม แต่ไม่สำคัญเท่ากับการกระทำของเราเอง ด้วยเหตุนี้พระพุทธเจ้าจึงตรัสเน้นเรื่องกฎแห่งกรรม นั่นคือ ถ้าอยากได้ดี ก็ต้องทำดี
กฎแห่งกรรมเป็นกฎธรรมชาติ เป็นไปตามหลักของเหตุและผล พระองค์จึงตรัสว่า “หว่านพืชเช่นใด ย่อมให้ผลเช่นนั้น” ไม่มีใครจะแทรกแซงหรือบิดเบือนกฎนี้ได้ ใครที่ทำไม่ดี ก็ต้องประสบกับสิ่งไม่ดี แต่เดี๋ยวนี้ชาวพุทธเป็นจำนวนมาก พยายามหาทางแทรกแซงกฎนี้ ด้วยการประกอบพิธี “ตัดกรรม” บ้าง “แก้กรรม” บ้าง ด้วยความคิดว่าทำแล้วจะไม่ต้องรับกรรมที่เคยทำไว้
นี้เป็นส่วนหนึ่งของความเชื่อแปลกๆ ที่ผุดขึ้นมามากมาย ส่วนใหญ่ก็หนีไม่พ้นลัทธิหวังผลดลบันดาล อยากได้อะไร ก็ไม่ต้องลงมือทำหรือใช้ความเพียร เพียงแต่อ้อนวอนสิ่งศักดิ์สิทธิ์ หรือบนบานศาลกล่าวเท่านั้นก็จะได้อย่างที่หวัง ครั้นทำอะไรไม่ถูกต้อง แทนที่จะยอมรับผลที่เกิดขึ้น หรือแก้ไขปรับปรุงตัวใหม่ ก็ขอให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ช่วยขจัดหรือบรรเทาผลร้ายที่จะเกิดขึ้น
มนุษย์ยุคไหนก็หนีไม่พ้นลัทธิหวังผลดลบันดาล แต่ยุคนี้ผู้คนกลับลุ่มหลงมากกว่าแต่ก่อน ส่วนหนึ่งก็เพราะอิทธิพลของบริโภคนิยม ที่ทำให้ผู้คนติดสบาย อยากได้อะไรก็ควักเงินซื้อ ไม่ต้องลงมือทำ เลยกลายเป็นพวกพึ่งเงินมากกว่าพึ่งความเพียร ใช้เงินเป็นใบเบิกทางในทุกเรื่อง รวมทั้งใช้เงินซื้อบริการของเทวดาตั้งแต่ชั้นต่ำไปจนถึงชั้นพรหม เช่นเดียวกับใช้เงินซื้อบริการของหมอ ซื้อความสะดวกจากข้าราชการ และซื้อเก้าอี้หรือซื้อตำแหน่งจากนักการเมือง
ความเชื่อเรื่องกรรมที่ผิดพลาดจึงทำให้ชีวิตตกต่ำและสังคมเสื่อมถอย พุทธิกา ฉบับนี้จึงลงบทความเรื่อง “เชื่อกรรมอย่างไรไม่ให้ตกต่ำ” เพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตตามหลักพุทธศาสนา และเพื่อความเจริญงอกงามของสังคม สำหรับบทความอื่นๆ นั้นก็ยังน่าติดตามเหมือนเคย
กว่าพุทธิกา ฉบับนี้จะออก ก็เป็นช่วงเทศกาลกฐิน ซึ่งเป็นเทศกาลทำบุญของคนไทย ขอให้เป็นโอกาสที่เราจะได้ทำบุญอย่างถูกต้องตามหลักพุทธศาสนา ซึ่งนอกจากจะทำให้เกิดความสุขแก่ผู้ทำแล้ว ยังเป็นการอุปถัมภ์พระศาสนา และส่งเสริมสามัคคีธรรมด้วย
อ่านจดหมายข่าวพุทธิกาฉบับอื่นๆ ได้ ที่นี่