เปิดเล่ม: จดหมายข่าวพุทธิกา ฉบับที่ 46

พระไพศาล วิสาโล 1 เมษายน 2012

๗ มีนาคม ศกนี้ สำหรับคนส่วนใหญ่แล้ว เป็นเพียงวันหยุดอีกหนึ่งวันเท่านั้น  แม้อาจจะรู้ว่าเป็นวันมาฆบูชา แต่ก็มองไม่เห็นความสำคัญมากไปกว่านั้น  มีส่วนน้อยที่เห็นว่าเป็นวันสำคัญทางศาสนา ที่เป็นโอกาสสำหรับการทำบุญเช่น ใส่บาตร หรือไม่ก็ร่วมพิธีทางศาสนา เช่น การเวียนเทียน  น้อยยิ่งไปกว่านั้นก็คือคนที่รู้ว่าวันมาฆบูชามีความเป็นมาอย่างไร   และคงมีน้อยมากๆ ที่รู้ว่าวันนั้นเมื่อเกือบ ๒,๖๐๐ ปีที่แล้ว พระพุทธองค์ตรัสสอนอะไรบ้าง

คนส่วนใหญ่เข้าใจว่าศาสนาพุทธสอนให้ “ละชั่ว ทำดี” แต่ถ้ารู้ว่าพระพุทธองค์ทรงสอนอะไรในวันเพ็ญ เก้าเดือนหลังจากการตรัสรู้ของพระองค์ ก็จะเข้าใจดีว่า นอกเหนือจาก “การไม่ทำบาปทั้งปวง การทำกุศลให้ถึงพร้อม” แล้ว  “การชำระจิตของตนให้ผ่องใส” ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ชาวพุทธพึงปฏิบัติ  อย่างไรก็ตาม จริยาประการหลังนั้นมักถูกละเลยไป ผลก็คือชาวพุทธจำนวนไม่น้อยเป็นทุกข์เพราะการทำความดี  เช่น ท้อแท้ที่ทำดีแล้วไม่ได้ดี ไม่มีคนเห็น หรือชื่นชมสรรเสริญ   หาไม่ก็ทุกข์ใจที่คนอื่นไม่ทำความดีเหมือนตน หรือทำความดีอย่างที่ตนคาดหวัง  หนักกว่านั้นก็คือเกิดอาการยกตนข่มท่าน มองเห็นคนอื่นว่าไม่ดีเหมือนตน จนตีตราว่าเขาเป็นคนเลว และพร้อมที่จะทำอะไรกับเขาก็ได้ในนามของคุณธรรมความดี

ความดีนั้นหากยึดติดถือมั่นจนหลง ก็สามารถทำความทุกข์ให้ทั้งแก่ตนเองและผู้อื่นได้ง่ายมาก  ดังนั้นการฝึกจิตให้มีรู้เท่าทันตนเองมองเห็นกิเลสที่มาครองใจ และสามารถขจัดออกไปจากจิตใจ จึงเป็นเรื่องสำคัญที่จะช่วยเสริมให้การละชั่ว ทำดีนั้น เป็นประโยชน์เกื้อกูลทั้งต่อตนเองและผู้อื่นอย่างแท้จริง  ยิ่งสามารถเจริญปัญญาจนเห็นว่าไม่มีอะไรที่ยึดติดถือมั่นว่าเป็นฉันหรือของฉันได้เลย ก็จะช่วยให้ไม่สำคัญผิดว่า “ตัวกู” คือ “ความดี” หรือยึดว่าคนอื่นต้องดีเหมือน “กู” เท่านั้น  พูดง่าย ๆ คือ ไม่เอาความดีไปทำร้ายผู้อื่น ขณะเดียวกันก็ปิดกั้นไม่ให้ความดีทำร้ายตนเอง หรือถูก “ความดีกัดเจ้าของ” อย่างที่ท่านพุทธทาสภิกขุได้เตือนเอาไว้

การฝึกจิตเจริญปัญญา ยังช่วยให้เราสามารถอยู่ในโลกนี้ได้โดยไม่ทุกข์  อย่าลืมว่าแม้ละชั่ว ทำดีมากมายเพียงใด ก็หนีความพลัดพรากสูญเสีย รวมทั้งความแก่ ความเจ็บ และความตายไม่พ้น  หลายคนพอประสบโรคร้าย หรือสูญเสียคนรัก ก็ร้องไห้ฟูมฟาย ก่นด่าชะตากรรมว่า “ทำไมต้องเป็นฉัน”  แต่คนที่เจริญปัญญาจนเข้าใจความจริงของชีวิตและโลกว่าเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน จะไม่เป็นทุกข์เมื่อประสบเหตุการณ์ดังกล่าว เพราะเขาตระหนักดีว่า สักวันหนึ่งก็ต้องเป็นคราวของฉัน หรือรู้ดีว่า “ทำไมจะเป็นฉันไม่ได้”  ยิ่งผู้ที่เจริญปัญญาจนเห็นชัดว่าไม่มีอะไรที่เป็น “ตัวกู ของกู”เลย เมื่อเจ็บป่วย ก็เห็นแต่ความเจ็บป่วย แต่ไม่มี “ผู้ป่วย” เมื่อจะตายก็รู้ว่าไม่มี “ผู้ตาย” ดังนั้นจึงไม่เป็นทุกข์แต่อย่างใด

วันมาฆบูชาจึงเป็นวันที่เราพึงย้ำเตือนตนเองให้ไม่เพียงละชั่ว และทำดีให้เพิ่มพูนเท่านั้น  แต่พึงชำระขัดเกลาจิตใจของตนให้สะอาด และเข้าถึงความสงบและความสว่างอย่างแท้จริง เพื่อช่วยให้บรรลุทั้งประโยชน์ตนและเกื้อกูลประโยชน์ท่านได้อย่างเต็มที่

บทความที่เกี่ยวข้อง

 


อ่านจดหมายข่าวพุทธิกาฉบับอื่นๆ ได้ ที่นี่

พระไพศาล วิสาโล

ผู้เขียน: พระไพศาล วิสาโล

เจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต และประธานมูลนิธิเครือข่ายพุทธิกา