ปีนี้เป็นปีพิเศษสำหรับชาวพุทธ เพราะเป็นปีที่ครบ ๒,๖๐๐ ปีแห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า วันวิสาขบูชาปีนี้จึงมีความพิเศษกว่าปีก่อนๆ แม้จะผ่านไปแล้ว แต่ก็ยังมีวันอาสาฬบูชาอีกวันที่มีความสำคัญพอๆ กัน เพราะเป็นวันครบรอบ ๒,๖๐๐ ปีแห่งการแสดงปฐมเทศนาของพระพุทธเจ้า กล่าวอีกนัยหนึ่งพุทธศาสนาจะมีอายุครบ ๒,๖๐๐ ปีในวันเพ็ญเดือน ๘ ที่กำลังจะมาถึงนี้ (ซึ่งตรงกับวันที่ ๒ สิงหาคม) เพราะเป็นวันที่มีการประกาศศาสนาเป็นครั้งแรก
การแสดงปฐมเทศนาครั้งนั้นเป็นเหตุการณ์สำคัญของประวัติศาสตร์พุทธศาสนา เพราะเป็นเหตุให้มีพระสงฆ์เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก (เริ่มต้นจากพระอัญญาโกณฑัญญะ) ทำให้มีพระรัตนตรัยครบองค์สาม ขณะเดียวกันธรรมที่ทรงแสดงในวันนั้นได้กลายเป็นคำสอนสำคัญในพุทธศาสนาที่ชาวพุทธรู้จักหรือคุ้นเคยกันดี อาทิ อริยสัจสี่ ทางสายกลาง อริยมรรคมีองค์แปด คำสอนเหล่านี้ไม่ได้มีความหมายต่อประวัติศาสตร์พุทธศาสนาเท่านั้น แต่ยังมีความสำคัญต่อผู้คนในยุคปัจจุบัน เพราะยังสามารถเป็นกุญแจไขไปสู่ความพ้นทุกข์ได้ หรือแม้จะยังไม่ปรารถนาถึงพระนิพพาน ก็สามารถช่วยบรรเทาความทุกข์ในชีวิตได้ เพียงแค่ทำความเข้าใจให้ชัดเจนว่าทางสายกลางนั้นคืออะไร ก็จะช่วยให้หลีกเลี่ยงทางสุดโต่งได้ไม่น้อย และห่างไกลจากความทุกข์ได้มาก เพราะทุกวันนี้ผู้คนส่วนใหญ่ยังพัวพันอยู่กับทางสุดโต่งอยู่มาก ด้านหนึ่งก็หลงใหลในกามสุข หมกมุ่นกับบริโภคนิยม อีกด้านหนึ่งก็ติดจมอยู่ในความทุกข์ และคอยซ้ำเติมโบยตีจิตใจให้ทุกข์หนักขึ้นไม่หยุดหย่อน กลายเป็นว่าหมกจมทั้งสุขและทุกข์ ตราบใดที่ยังไม่ตระหนักว่าตนหลงอยู่ในทางสุดโต่ง ก็ยากที่จะถอนตนออกมาจากความทุกข์ได้ ยิ่งการนำเอาอริยมรรคมีองค์ ๘ มาใช้กับชีวิตด้วยแล้ว ก็ยิ่งเป็นเรื่องยาก
ทุกวันนี้ความสุดโต่งได้ขยายไปสู่ทัศนคติในการมองโลก รวมไปถึงการมองผู้คนเป็นฝักฝ่ายอย่างชัดเจน แม้กระทั่งคุณค่าที่ดีงาม เช่น ความซื่อสัตย์สุจริต กับ ความยุติธรรม ก็ถูกแบ่งออกเป็นคนละฝ่าย ทำนองเดียวกับคุณธรรม กับ ประชาธิปไตย ก็ถูกแบ่งแยกว่าเป็น “อุดมการณ์” ของกลุ่มการเมืองคนละกลุ่มที่อยู่ตรงข้ามกัน ทั้งๆ ที่มนุษย์ย่อมต้องการคุณค่าทั้งสองอย่าง ไม่อาจขาดอันใดอันหนึ่งได้
“พุทธชยันตี” หรือชัยชนะของพระพุทธเจ้า ไม่ควรเป็นโอกาสสำหรับการเฉลิมฉลอง ๒๖ ศตวรรษแห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า และการประกาศธรรมของพระองค์เท่านั้น แต่ควรเป็นโอกาสที่เราจะได้ใคร่ครวญทบทวนชีวิตของเรา และนำเอาคำสอนของพระองค์มาใช้เพื่อให้เกิดความเจริญงอกงามแห่งชีวิต โดยไม่คลาดจากธรรม หรือพลัดหลงไปตามกระแสแห่งความละโมบ โกรธเกลียด และความหลงงมงาย ซึ่งกำลังเชี่ยวกรากอยู่ในปัจจุบัน
อ่านจดหมายข่าวพุทธิกาฉบับอื่นๆ ได้ ที่นี่