เปิดเล่ม: จดหมายข่าวพุทธิกา ฉบับที่ 54

พระไพศาล วิสาโล 1 เมษายน 2014

มีเรื่องเล่าว่ามีหญิงชราชาวจีนคนหนึ่ง นับถือศาสนาพุทธ นิกายสุขาวดี ซึ่งเน้นที่การสวดหรือสาธยายพระนามของพระอมิตาภะ ซึ่งเป็นพระพุทธเจ้าองค์หนึ่ง สวดแต่ละทีนานนับชั่วโมง  วันหนึ่งขณะที่สวดมนต์อยู่ก็มีเพื่อนบ้านมาเรียกที่หน้าบ้าน “คุณลี คุณลี” แต่ไม่มีเสียงตอบจากเธอ เพราะกำลังง่วนอยู่กับการสวด  เพื่อนบ้านก็ส่งเสียงเรียกดังขึ้น ที่จริงเธอได้ยินแล้ว แต่ไม่สนใจ  พอเพื่อนบ้านส่งเสียงดังขึ้น เธอเริ่มหงุดหงิดแต่ก็ยังสวดต่อไป  เพื่อนบ้านไม่เห็นหญิงชราออกมาสักที ก็เลยตะโกนเรียกชื่อดังขึ้นอีก  สุดท้ายหญิงชราคนนี้เกิดหัวเสียขึ้นมา รู้สึกโกรธที่เขาส่งเสียงรบกวนการสวดมนต์ จึงหยุดสวดมนต์ แล้วชะโงกไปที่หน้าต่างตะโกนดังลั่นว่า “คุณต้องการอะไร ไม่รู้หรือว่าฉันกำลังสวดมนต์ เอ่ยพระนามพระอมิตาภะ”  เพื่อนบ้านตกใจที่เธอระบายอารมณ์ใส่ สักพักก็ตั้งสติได้ และพูดกับหญิงชราว่า “คุณลีผมเรียกชื่อคุณไม่กี่ครั้ง คุณยังโกรธขนาดนี้ แล้วที่คุณเอ่ยนามพระพุทธเจ้านับล้านครั้งตลอดสิบปีที่ผ่านมา ไม่คิดหรือว่าพระพุทธเจ้าจะต้องโกรธคุณแน่ๆ เลย”

เรื่องนี้เป็นอุทาหรณ์สอนใจว่า การสวดมนต์นั้น ถ้าหากจิตใจไม่สงบก็ไม่ได้ประโยชน์ ถ้าทำไปโดยคิดว่าสวดนานๆ ยิ่งดี จะได้ไปสวรรค์ หรือปิดอบาย แต่ไม่ได้ฝึกใจให้สงบเลย ก็แทบจะไม่ได้บุญ  อย่างมากก็ได้แค่ความเพียร แต่ไม่ได้ช่วยให้ใจสงบ ซึ่งเป็นจุดหมายที่แท้ของการสวดมนต์  สวดมนต์ได้บุญก็อยู่ที่ตรงนี้คือใจสงบ

ที่จริงแล้วการฝึกตนหรือการปฏิบัติธรรมในพระพุทธศาสนามีจุดมุ่งหมาย ๒ ประการใหญ่ๆ คือ หนึ่ง ลดอกุศลธรรมในจิตใจ สอง เพิ่มกุศลธรรมในจิตใจ  การลดอกุศลธรรมมีอยู่ ๒ อย่าง คือ อกุศลธรรมใดที่มีอยู่แล้วก็ทำให้เหลือน้อยลง อกุศลธรรมใดที่ยังไม่เกิดก็ป้องกันไม่ให้เกิดขึ้น  ส่วนกุศลธรรมก็มีอยู่ ๒ อย่างเช่นกัน คือ กุศลธรรมใดที่เกิดขึ้นแล้วก็ทำให้มีมากขึ้น กุศลธรรมใดที่ยังไม่เกิดก็ทำให้มีขึ้น  เพราะฉะนั้น ถ้าเราฝึกแล้วอกุศลธรรมไม่ลดลง หรือกุศลธรรมไม่เพิ่มขึ้น ก็เรียกว่าทำไปอย่างเปล่าประโยชน์หรือได้ผลน้อย

เวลาเราทำความดี ไม่ว่าจะเป็นการให้ทาน การรักษาศีล การภาวนา เราต้องถามตัวเราเองว่าเป็นการฝึกตนมากน้อยแค่ไหน ไม่ว่าจะเป็นการฝึกที่กาย ที่วาจา หรือที่ใจก็ตาม ไม่ใช่ทำแต่รูปแบบ  ถ้าทำแต่รูปแบบก็เรียกได้ว่าเป็นสีลัพพตปรามาส เป็นความหลงงมงาย เป็นอุปสรรคในการเข้าถึงธรรมขั้นสูง  บางทีนอกจากกุศลธรรมจะไม่เพิ่มขึ้นแล้ว ยังทำให้อกุศลธรรมเพิ่มขึ้นด้วย ไม่ใช่ลดลง เช่น ทำบุญด้วยกิเลส ให้ทาน ๑๐ บาท แต่อยากได้ ๑๐๐ บาท ให้ทาน ๑๐๐ บาท อยากได้ ๑,๐๐๐ บาท จะทำอะไรก็นึกถึงประโยชน์ที่จะได้เข้าตัว เช่น ลาภ ยศ สุข สรรเสริญ อย่างนี้เรียกว่าทำด้วยกิเลส  ถ้าทำบุญด้วยเจตนาแบบนี้ ด้วยทัศนคติแบบนี้ก็ไม่ได้เป็นการฝึกตนแต่อย่างใด แต่กลับเป็นการเพิ่มพูนกิเลสมากกว่า

การปฏิบัติธรรมนั้น เราต้องจับหลักให้ได้ว่าเราทำเพื่ออะไร  ถ้าจะทำอย่างถูกต้องก็คือทำเพื่อลดละกิเลสในใจ ลดละความเห็นแก่ตัว และเพิ่มพูนสติ สมาธิ ปัญญาให้มากขึ้น  ถ้าทำด้วยความมุ่งหมายอย่างอื่น นอกจากผลดีจะเกิดขึ้นน้อยแล้ว บางทีก็อาจจะเกิดโทษก็ได้  เช่น พอคิดว่าทำบุญ ๙ วัดแล้วจะปิดอบายได้ ก็เลยประมาท ไม่มีความยับยั้งชั่งใจในการทำความชั่ว เพราะคิดว่าตายไปแล้วไม่ตกนรกแน่ ฉะนั้นฉันจะทำอะไรก็ได้ จะไปโกงใคร เอาเปรียบใครก็ได้  นี้เป็นความงมงายที่ทำให้ชีวิตถลำไปสู่ทางต่ำได้มากขึ้น กลายเป็นว่าแทนที่จะได้บุญกลับได้บาป

บทความที่เกี่ยวข้อง

 


อ่านจดหมายข่าวพุทธิกาฉบับอื่นๆ ได้ ที่นี่

พระไพศาล วิสาโล

ผู้เขียน: พระไพศาล วิสาโล

เจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต และประธานมูลนิธิเครือข่ายพุทธิกา