เข้าพรรษาเพื่อพัฒนาชีวิต

พระไพศาล วิสาโล 16 กรกฎาคม 2006

“เข้าพรรษา” มิใช่เป็นเทศกาลสำหรับบรรพชิตเท่านั้น  หากยังมีความสำคัญสำหรับคฤหัสถ์ด้วย เพราะเป็นเทศกาลสำหรับการฝึกฝนพัฒนาตนโดยเฉพาะ  สำหรับภิกษุสามเณรการอยู่ประจำวัดตลอดสามเดือนหมายถึงโอกาสสำหรับการศึกษาปฏิบัติธรรมอย่างจริงจัง  นี้คือเหตุผลที่ญาติโยมนิยมให้ลูกหลานมาอุปสมบทในช่วงนี้ โดยถือว่าการบวชจน “ได้พรรษา” นั้นมีอานิสงส์มาก  ขณะเดียวกันอุบาสกอุบาสิกาก็นิยมมาจำศีลที่วัด โดยสมาทานศีลอุโบสถหรือศีล ๘ กันเป็นกลุ่ม  บ้างก็มาจำศีลตลอดทั้งพรรษาเลยทีเดียว  ส่วนผู้ที่มีกิจธุระ ไม่สามารถทำเช่นนั้นได้ ก็ตั้งใจสมาทานศีล ๕ ไม่ให้บกพร่อง  ขณะเดียวกันก็มาบำเพ็ญทานในวันพระ ซึ่งเป็นโอกาสที่จะได้ฟังธรรมจากพระภิกษุสงฆ์ด้วย

ประเพณีดังกล่าวสืบทอดกันมาช้านาน จนเพิ่งแปรเปลี่ยนไปเมื่อไม่กี่สิบปีมานี้เอง อันเนื่องมาจากช่องว่างระหว่างฆราวาสและพระสงฆ์ที่ถ่างกว้างขึ้น  แม้กระนั้นก็ไม่ได้ทำให้ความสำคัญของเทศกาลนี้ลดน้อยถอยลงไป ทั้งนี้เพราะมนุษย์นั้นจะประเสริฐได้ก็เพราะได้รับการฝึกฝน  และการฝึกฝนที่สำคัญก็คือการฝึกฝนในทางพฤติกรรม (หรือศีล) ควบคู่ไปกับการพัฒนาจิตและปัญญา  การฝึกฝนดังกล่าวย่อมนำไปสู่ชีวิตที่ดีงาม  จะว่าไปแล้วสิ่งที่ชาวพุทธเรียกว่า “บุญ” นั้น มิใช่อะไรอื่น หากคือการกระทำเพื่อฝึกฝนพัฒนาตนตามนัยดังกล่าวนี้เอง  เห็นได้จากบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ ประการที่พระอรรถกถาจารย์ได้จำแนกเอาไว้ นับตั้งแต่ทาน ศีล ภาวนา ไปจนถึงทิฏฐุชุกัมม์ (หรือการทำความเห็นให้ตรง)  นอกจากนั้นความสุข ความโปร่งโล่งเบาสบาย และความสงบเย็นอันเป็นผลจากการฝึกฝนตนหรือการทำความดีดังกล่าว ก็เรียกว่า “บุญ” ด้วยเช่นกัน

เนื่องจากบุญหรือการฝึกฝนพัฒนาตน มีความสำคัญอย่างมากต่อชีวิตของเรานี้เอง  เทศกาลเข้าพรรษาจึงมีความหมายอย่างมากสำหรับชาวพุทธ  จริงอยู่การฝึกฝนพัฒนาตนนั้นเป็นสิ่งที่เราควรทำตลอดเวลา แต่การทำความดีคนเดียวนั้นเป็นเรื่องไม่ง่ายนัก เพราะต้องทวนกระแสกิเลส  แต่หากมีคนอื่นร่วมทำด้วย เราก็จะมีกำลังใจและแรงจูงใจเพิ่มขึ้น ซึ่งเอื้อให้ทำความดีดังกล่าวได้อย่างต่อเนื่อง (ลองสังเกตดูก็ได้ว่าเวลาเราทำสมาธิคนเดียว มักทำไม่ได้นาน  แต่หากทำกันเป็นหมู่คณะ จะทำได้นาน  บางครั้งยังรู้สึกว่าเวลาผ่านไปอย่างรวดเร็ว แถมจิตสงบได้เร็วกว่าเดิมด้วย)  ด้วยเหตุนี้มนุษย์เราจึงต้องการเทศกาลแห่งการทำความดี  เทศกาลเข้าพรรษามีความสำคัญกับเราทุกคนที่เป็นชาวพุทธก็เพราะเหตุผลดังกล่าว

แม้วิถีชีวิตสังคมสมัยใหม่ไม่เอื้อให้ผู้คนจำนวนมากทำบุญตามประเพณีโดยมีวัดเป็นศูนย์กลาง เช่น ไม่สามารถจำศีลที่วัด หรือไปฟังธรรมในวันพระได้  แต่ถ้าจับสารัตถะของเทศกาลเข้าพรรษาได้ เราก็สามารถประยุกต์ประเพณีดังกล่าวให้เกิดความเจริญงอกงามแก่ชีวิตได้  โดยเฉพาะการพัฒนาตนให้เป็นอิสระจากกามสุข ซึ่งเป็นจุดมุ่งหมายของการถือศีล ๘ อันเป็นธรรมเนียมที่นิยมปฏิบัติในช่วงเทศกาลเข้าพรรษา  ดังจะเห็นได้ว่าศีลที่เพิ่มจากศีล ๕ นั้นล้วนเกี่ยวกับการฝึกฝนตนให้ลดละจากความยึดติดในสิ่งเสพที่น่าเพลิดเพลินยินดี ไม่ว่าทางตา หู จมูก ลิ้น และกาย  เช่น แทนที่จะมัวเพลิดเพลินในอาหาร ก็งดอาหารในเวลาวิกาลเสียบ้าง  แทนที่จะเพลิดเพลินกับการขับร้อง ฟังเพลง เต้นรำ ดูความบันเทิง หลงใหลในกลิ่นหอม หรือติดยึดในเพศรส  ก็ให้ลดละตลอดสามเดือน หรืออย่างน้อยสัปดาห์ละครั้งก็ยังดี

กามคุณหรือรูป เสียง กลิ่น รส และสัมผัสทางกายอันน่าพึงพอใจนั้นให้ความสุขแก่เราก็จริงอยู่  แต่ก็เต็มไปด้วยทุกข์  เพียงแค่นึกอยากจะเสพ ก็ทำให้ใจร้อนรุ่ม  กว่าจะได้มาก็ต้องดิ้นรนแข่งขันกับผู้อื่น ครั้นได้มาก็ต้องคอยหวงแหนรักษา  แต่ไม่ว่าจะพยายามเพียงใด มันก็ไม่สามารถอยู่กับเราไปได้ตลอด  หากมันไม่พรากจากเรา เราเองก็ต้องพรากจากมัน  ยิ่งไปกว่านั้นรสชาติความเอร็ดอร่อยหรือความสุขจากกามคุณ ก็ไม่เคยยั่งยืนเลย  อาหารที่อร่อย หากกินบ่อยๆ ความอร่อยก็กลายเป็นความจำเจ  เพลงที่ไพเราะ หากฟังทุกวัน ก็น่าเบื่อ  ความแปรเปลี่ยนดังกล่าวผลักดันให้เราต้องดิ้นรนหารสชาติหรือสิ่งเสพใหม่ๆ ไม่สิ้นสุด  แม้แต่คู่ครองหรือคู่นอน ก็ตกอยู่ในสภาพดังกล่าวเช่นกัน  ตราบใดที่เรายังยึดติดกับกามคุณ ก็ไม่ต่างจากคนวิ่งหนีเงา ยากที่จะมีความสุขได้อย่างแท้จริง เพราะไม่เคยหยุดดิ้นรนไขว่คว้าได้เสียที

ความสุขที่อยู่เหนือกามคุณนั้นมีอยู่  แต่เราจะสัมผัสความสุขดังกล่าวได้ต่อเมื่อเรารู้จัก “เว้นวรรค” จากกามสุขบ้าง  เพราะถ้าใจยังวุ่นกับการเสพกามสุข ความสุขที่ประณีตก็ยากจะแทรกเข้ามาให้เราได้ประสบสัมผัส  และดังนั้นจึงหมดโอกาสที่จะได้พบกับความสงบเย็นและเบาสบาย  การถือศีล ๘ โดยเนื้อแท้ก็คือการเปิดโอกาสให้จิตใจได้สัมผัสกับความสุขที่ไม่อิงวัตถุ  เป็นความสุขที่เกิดจากชีวิตที่เรียบง่าย และเอื้อให้ “ชีวิตพอเพียง” เปี่ยมไปด้วยความสุข  จริงอยู่ตอนสมาทานศีลใหม่ๆ อาจจะไม่สุขสบายเท่าใดนัก นี้เป็นธรรมดาของการเลิกละสิ่งเสพติดทุกประเภท  คนที่เลิกบุหรี่หรือสุรา แรกๆ ก็ย่อมรู้สึกกระสับกระส่าย แต่ไม่นานจะรู้สึกถึงความโปร่งโล่งเบาสบาย

ความสุขที่อยู่เหนือกามคุณนั้นมีอยู่ แต่เราจะสัมผัสความสุขดังกล่าวได้ต่อเมื่อรู้จัก “เว้นวรรค” จากกามสุขบ้าง

สำหรับคนที่ยังพอใจกับกามสุข กลัวชีวิตขาดรสชาติไป  อย่างน้อยเทศกาลเข้าพรรษาก็น่าเป็นโอกาสให้ลดละสิ่งที่กำลังลุ่มหลงมัวเมา ซึ่งกำลังทำชีวิตให้ตกต่ำ  สำหรับหลายคน สิ่งนั้นได้แก่บุหรี่ สุรา การพนัน ยาเสพติด  แต่สำหรับคนจำนวนไม่น้อย สิ่งที่กำลังลุ่มหลงอยู่ อาจได้แก่ การเที่ยวห้าง การเล่นเกมออนไลน์ หรือการคุยโทรศัพท์มือถือ  จะเรียกสิ่งเหล่านี้ว่าอบายมุขสมัยใหม่ก็ได้  สำหรับคนเหล่านี้การฝึกฝนพัฒนาตนในช่วงเข้าพรรษา คงไม่มีอะไรที่น่าเริ่มต้นดีไปกว่าการลดละสิ่งเสพติดเหล่านี้ลงบ้าง  เช่น  ลดการเที่ยวห้างเหลือเพียงเดือนละครั้ง หรือเล่นเกมออนไลน์เพียงวันละชั่วโมง หรืองดใช้โทรศัพท์มือถือหลังสองทุ่มไปแล้ว เป็นต้น

นอกจากการลดละสิ่งที่รัดรึงจิตใจหรือบั่นทอนชีวิตแล้ว  เทศกาลเข้าพรรษายังควรเป็นโอกาสสำหรับการทำสิ่งดีงามด้วย เช่น การบริจาคทาน  ตามประเพณีนั้น เรานิยมบริจาคทานให้แก่วัด  ส่วนหนึ่งก็เพราะวัดนั้นเป็นสมบัติสาธารณะ การเอื้อเฟื้อวัดก็เท่ากับเอื้อเฟื้อส่วนรวม  ถ้าจับสาระดังกล่าวได้ เราก็ควรประยุกต์ประเพณีด้วยการบริจาคเงินให้แก่องค์กรหรือหน่วยงานที่ทำประโยชน์แก่ส่วนรวมด้วย

ถ้าจะให้ดีกว่านั้น ควรก้าวไปถึงขั้นสละเวลาและแรงกายให้แก่ส่วนรวม หรือบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ เช่น ปลูกป่า ช่วยสอนหนังสือให้เด็ก  นี้เป็นการทำบุญที่มีอานิสงส์มาก เพราะนอกจากจะลดละความเห็นแก่ตัว และฝึกฝนตนให้มีเมตตาและนึกถึงผู้อื่นแล้ว ยังช่วยลดความทุกข์ในสังคม และส่งเสริมให้ผู้คนมีความเอื้ออาทรต่อกัน  สังคมไทยจะน่าอยู่มากขึ้นหากชาวพุทธทำบุญกันแบบนี้กันทั้งประเทศ


ภาพประกอบ

พระไพศาล วิสาโล

ผู้เขียน: พระไพศาล วิสาโล

เจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต และประธานมูลนิธิเครือข่ายพุทธิกา