เคราะห์กรรมมาเตือนใจไม่ให้ประมาท

พระไพศาล วิสาโล 30 มกราคม 2005

ปี ๒๕๔๗ มาพร้อมกับพัดพาไข้หวัดนกให้แพร่กระพือไปทั่วประเทศ จนไก่และเป็ดถูกฆ่านับร้อยล้านตัว  ผู้คนเจ็บป่วยและล้มตายนับสิบ  หลังจากนั้นความรุนแรงที่ภาคใต้ซึ่งเริ่มต้นด้วยการปล้นปืนในค่ายทหารก็ขยายตัวเป็นการฆ่าประชาชนและเจ้าหน้าที่แทบไม่เว้นวัน  ตามมาด้วยการตอบโต้จากฝ่ายรัฐจนเกิดการสังหารหมู่ที่มัสยิดกรือเซะและอีกหลายแห่ง มีคนตายกว่าร้อยภายในวันเดียว  สี่เดือนหลังจากนั้นก็เกิดกรณีตากใบซึ่งเป็นผลให้ผู้ชุมนุมประท้วงล้มตายถึง ๘๕ คน  และก่อนที่ปี ๒๕๔๗ จะผ่านไป คลื่นยักษ์สึนามิก็เข้ามาถล่ม ๖ จังหวัดภาคใต้  ทำให้มีผู้ล้มตายกว่า ๕,๐๐๐ คน สูญเสียกว่า ๓,๐๐๐ คน  และทิ้งซากปรักหักพังไว้เบื้องหลังอย่างเหลือคณานับ  ทั้งนี้ยังไม่ต้องพูดถึงความสูญเสียในประเทศอื่นๆ จากเหตุการณ์เดียวกัน

ปี ๒๕๔๘ เริ่มต้นด้วยความหม่นหมองและเศร้าโศกจากกรณีสึนามิ  เหตุร้ายยังไม่ทันจางหายก็เกิดตึกถล่มกลางกรุงในสัปดาห์แรกของปี  สัปดาห์ที่สองก็เกิดเหตุรถไฟฟ้าใต้ดินชนกัน  เรื่องร้ายดูเหมือนจะทยอยมาไม่หยุดหย่อน ความหวั่นวิตกกำลังแพร่กระจายทุกหนแห่งว่าปีนี้อาจจะมีเหตุร้ายต่างๆ ตามมาอีกมากมาย

หลายคนพูดถึง “เคราะห์กรรม” ที่กำลังเกิดกับเมืองไทย  ถ้าเคราะห์กรรมหมายถึงชะตาอันเลวร้ายที่ถูกกำหนดเอาไว้แล้ว เรื่องนี้คงโต้เถียงกันได้มาก  แต่สิ่งหนึ่งที่ปฏิเสธได้ยากก็คือเหตุร้ายทั้งหลายที่เกิดขึ้นล้วนเป็นผลจาก “กรรมร่วม” ของคนทั้งสังคมไม่มากก็น้อย  หากรัฐและประชาชนฟังคำเตือนของ ดร.สมิทธ ธรรมสโรช ไม่โห่ฮาว่ากล่าวเมื่อ ๖ ปีที่แล้ว  แต่เตรียมตัวรับมืออย่างเต็มที่  คงไม่มีคนล้มตายและสูญหายจากคลื่นสึนามิมากเท่านี้  ในทำนองเดียวกันเป็นเพราะเราปล่อยให้มีการคอร์รัปชั่นกันอย่างแพร่หลาย อีกทั้งไม่ใส่ใจกับการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ การลักลอบต่อเติมตึกจึงกลายเป็นเรื่องธรรมดา  รอแต่ว่าเมื่อไรตึกไหนจะถล่มเท่านั้น  ส่วนไข้หวัดนกก็อาจไม่แพร่ระบาดไปทั่วประเทศหากรัฐและผู้ประกอบการไม่ช่วยกันปิดข่าวเพราะกลัวจะกระทบกับการส่งออก  และหากโครงสร้างแห่งความรุนแรงในภาคใต้ได้รับความสนใจจากรัฐและประชาชนในส่วนอื่นๆ ของประเทศ  การก่อการร้ายคงจะไม่ประทุและขยายตัวอย่างทุกวันนี้

เหตุร้ายทั้งหลายมิได้เกิดจากเคราะห์กรรมหรืออำนาจที่มองไม่เห็น ควบคุมไม่ได้  หากเกิดจากการปล่อยปละละเลยให้ปัญหาต่างๆ หมักหมมจนสำแดงอาการออกมาในที่สุด  จะว่าไปแล้วเกือบทุกปัญหาเคยมีผู้เตือนภัยล่วงหน้าเอาไว้แล้ว  ไม่ว่ากรณีตึกถล่ม คลื่นสึนามิ ความรุนแรงในภาคใต้ หรือแม้กระทั่งวิกฤตเศรษฐกิจปี ๒๕๔๐ แต่ผู้คนไม่สนใจ  และสาเหตุที่ไม่สนใจก็เพราะคำเตือนนั้นสวนทางกับภาพที่ปรากฏ และขัดกับความรู้สึก  คนที่กำลังรวยเพราะหุ้นย่อมไม่อยากฟังคำเตือนว่าฟองสบู่กำลังจะแตก เช่นเดียวกับคนที่กำลังรวยจากธุรกิจท่องเที่ยวย่อมไม่อยากฟังคำเตือนว่าคลื่นสึนามิอาจถล่มชายฝั่ง

คนที่กำลังหลงใหลเพลิดเพลินกับความสุขเฉพาะหน้า โดยไม่ตระหนักถึงภัยที่อยู่เบื้องหน้า ทั้งไม่ระวังตัวสำหรับภัยที่อาจจะเกิดขึ้น  พุทธศาสนาเรียกว่าคนประมาท  สำหรับคนประมาท ไม่มีอะไรช่วยปลุกให้เขาตื่นจากความหลงได้ดีเท่ากับภัยที่ประชิดตัวแล้ว  เพียงแค่ “เห็น” หรือ “รู้” อย่างเดียวอาจไม่ช่วยให้เขาลุกขึ้นมาเตรียมตัว  ต่อเมื่อ “รู้สึก” คือได้รับความเจ็บปวดแล้ว จึงค่อยตื่นตัวขวนขวายหาทางแก้ไขหรือป้องกัน  ผู้ที่ชอบล้อมคอกเมื่อวัวหายไปแล้วคือบุคคลประเภทนี้

มองในแง่นี้เหตุร้ายทั้งหลายที่ทยอยตามกันมา คือสัญญาณเตือนภัยซ้ำแล้วซ้ำเล่าเพื่อปลุกให้เราทั้งหลายตื่นจากความหลง และหันมาสำรวจตรวจสอบว่าเราได้ปล่อยปละละเลยให้ปัญหาต่างๆ หมักหมมเพียงใด  ป้องกันเหตุร้ายและเตรียมพร้อมรับมือกับปัญหาที่อาจเกิดขึ้นแล้วหรือยัง  กล่าวอีกนัยหนึ่งไม่ควรมองว่าเหตุร้ายทั้งหลายเป็น “เคราะห์กรรม” แต่เป็นเครื่องเตือนใจให้เราไม่ประมาท

ในยามนี้ไม่มีอะไรดีกว่าการรักษาใจให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาท  ความหวั่นวิตกไม่ได้ช่วยให้อะไรดีขึ้น  ความไม่ประมาทต่างหากที่จะช่วยให้เราเตรียมการป้องกันและระมัดระวังอย่างเต็มที่ในทุกสิ่งที่เกี่ยวข้องด้วย  ไม่ใช่แค่ในบ้านหรือที่ทำงานเท่านั้น แต่รวมถึงในสังคมที่แวดล้อมเราด้วย  กล่าวคือนอกจากดูแลเอาใจใส่ครอบครัวและทรัพย์สมบัติเช่น บ้านเรือน รถยนต์ ข้าวของเครื่องใช้แล้ว  ควรใส่ใจในกิจการต่างๆ ของรัฐและความเป็นไปในสังคมด้วย  เมื่อเห็นว่ามีความไม่ถูกต้องเกิดขึ้นในสังคม เช่น มีการคอร์รัปชั่นอย่างแพร่หลาย เอาเปรียบคนยากจน ละเมิดสิทธิมนุษยชน ทอดทิ้งเยาวชน ทำลายทรัพยากรธรรมชาติ ศีลธรรมตกต่ำ อบายมุขครองเมือง ฯลฯ  เราไม่ควรนิ่งดูดาย เพราะปัญหาเหล่านี้ล้วนเป็นระเบิดเวลาที่สามารถสร้างความวิบัติแก่เราเองและผู้อื่นได้ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง  พร้อมกันนั้นควรมีใจกว้าง พร้อมรับฟังเสียงทักท้วงโดยถือว่าเป็นเครื่องเตือนใจไม่ให้ประมาท ไม่ว่าเสียงนั้นจะมาจากใคร และแม้จะไม่เพราะเสนาะหูก็ตาม

เหตุร้ายทั้งหลายที่ทยอยตามกันมา คือสัญญาณเตือนภัยซ้ำแล้วซ้ำเล่าเพื่อปลุกให้เราทั้งหลายตื่นจากความหลง

อย่างไรก็ดี เพียงแค่การจัดการกับสิ่งนอกตัวเท่านั้นยังไม่พอ จำเป็นต้องเตรียมใจให้พร้อมเผชิญกับทุกสิ่งทุกอย่างที่เข้ามาในชีวิตด้วย  เพราะโลกและชีวิตนั้นเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน มันมีความผันผวนปรวนแปรตลอดเวลาอย่างยากที่จะควบคุมให้เป็นไปตามใจได้ทุกอย่าง  ผู้ที่ไม่ประมาทคือผู้ที่ตระหนักถึงความไม่แน่นอน  และดังนั้นจึงเตรียมใจไว้ให้พร้อมกับสิ่งที่เลวร้ายที่สุดควบคู่ไปกับการพยายามป้องกันมิให้เกิดสิ่งเลวร้ายขึ้นมา  และขณะที่ทุกอย่างยังดูเหมือนปกติ ก็พยายามใช้ชีวิตให้มีคุณค่ามากที่สุด  ไม่ปล่อยเวลาให้ล่วงเลยไปโดยไร้ประโยชน์ หรือลุ่มหลงมัวเมากับความสุขราวกับว่ามันจะอยู่กับเราตลอดไป

ผู้ที่ไม่ประมาทย่อมเห็นคุณค่าของการฝึกใจให้เข้มแข็งมั่นคงและรู้เท่าทันความจริงของชีวิต เพื่อพร้อมเผชิญกับทุกสิ่งที่เข้ามาในชีวิตไม่ว่าจะดีหรือร้ายก็ตาม  เมื่อมีสติมั่นคงย่อมไม่หวั่นไหวยามภัยคุกคาม  เมื่อมีปัญญาแม้ประสบทุกข์ก็ยังเป็นสุขอยู่ได้  ด้วยเหตุนี้จึงไม่หวั่นเกรงต่อทุกข์ภัยที่เข้ามา

ทุกข์ภัยเหล่านั้นจะเกิดจาก “เคราะห์กรรม” หรือไม่ ไม่สำคัญ  เพราะกรรมใหม่ที่สร้างขึ้นตามพุทธวิธีนั้นย่อมมีอานุภาพมากกว่ากรรมเก่าเสมอ


ภาพประกอบ

พระไพศาล วิสาโล

ผู้เขียน: พระไพศาล วิสาโล

เจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต และประธานมูลนิธิเครือข่ายพุทธิกา