ถอยหลังจึงก้าวหน้าได้

พระไพศาล วิสาโล 1 กรกฎาคม 2013

ชีวิตคนเราเปรียบได้กับลูกธนูซึ่งจะพุ่งไปข้างหน้าได้ก็ต้องง้างมาข้างหลังก่อน ยิ่งง้างมาข้างหลังไกลเท่าไรมันก็จะพุ่งไปข้างหน้าได้ไกลมากเท่านั้น  จะเปรียบกับต้นไม้ก็ได้ ต้นไม้จะสูงได้ก็ต้องอาศัยราก ต้นไม้ยิ่งสูงใหญ่เท่าไรก็ต้องยิ่งอาศัยรากที่หยั่งลึกลงไปในดินมากเท่านั้น  ถ้าหากว่ารากไม่แข็งแรง หยั่งลงไปในดินไม่ลึก ก็สูงได้ไม่นาน ยิ่งสูงเท่าไรก็ยิ่งโค่นลงมาได้ง่ายเพราะว่าเจอแรงลม  ต้นไม้หลายต้นที่ภูหลงซึ่งอาตมาอยู่ตอนนี้ไม่สามารถจะหยั่งรากลึกลงไปในดินได้ เพราะว่าข้างล่างเป็นหิน รากมันตื้น แต่ก็ยังพออยู่กันได้เพราะว่ามีต้นไม้หลายๆ ต้นขึ้นมาเป็นหมู่กัน  แต่ถ้าเกิดว่าต้นไม้รอบๆ ถูกตัด ถูกโค่น มันก็จะอยู่โด่เด่ พอลมพายุพัดมามันก็โค่นทันทีเพราะว่ารากมันตื้น

คนเราทุกคนย่อมปรารถนาความเจริญ ความก้าวหน้า อยากจะก้าวหน้าไปได้ไกล อยากจะมีหน้าที่การงานที่สูงขึ้น ก็คงเหมือนกับลูกธนูที่ต้องการจะพุ่งไปไกลๆ ก็ต้องรู้จักง้างมาข้างหลัง ต้นไม้ที่อยากจะแทงยอดสูงก็ต้องหยั่งรากลงไปในดินให้ลึก เมล็ดพันธุ์หลายชนิดจะงอกรากออกมาก่อนแล้วถึงค่อยมีใบโผล่มา หรือไม่ก็แตกใบออกมาพร้อมๆ กับหยั่งราก เราลองสังเกตถั่วงอก ไม่ใช่ว่ามันจะผลิใบออกมาแค่นั้น มันต้องแตกรากออกมาด้วย เพราะมันจะเติบโตได้ต้องมีรากที่แข็งแรง

เหมือนกับตึกหรืออาคารซึ่งสร้างสูงกี่ชั้นก็แล้วแต่ ก็ต้องเริ่มต้นจากการสร้างฐานก่อน แล้วก็ตอกเสาเข็มให้ลึก ยิ่งสูงเสาเข็มก็ต้องยิ่งลึก ฐานต้องมั่นคง ถ้าฐานมั่นคงแล้วจะสร้างกี่ชั้นก็ได้ แต่ก็ต้องมีข้อจำกัดเหมือนกัน คือถ้าฐานเท่าเดิมแต่ว่าสร้างสูงขึ้น ต่อเติมไปเรื่อยๆ บางทีก็พังได้ โค่นลงมาได้ อย่างเมื่อประมาณ ๒๐ ปีที่ผ่านมาเคยมีข่าวโรงแรมรอยัล พลาซ่า ที่โคราชพังลงมาเป็นข่าวใหญ่ ไม่ใช่แค่ทั่วประเทศ ทั่วโลกเลย เพราะว่ามีคนตายเยอะมาก กู้ศพออกมาลำบากมาก ต้องไปผ่าขากันข้างในซากตึกเลยทีเดียว  ทุลักทุเลมาก อันนี้ก็เพราะว่าเจ้าของเขาต่อเติมอาคารให้สูงขึ้นๆ แต่ว่าฐานรากเท่าเดิม ไม่ได้สมดุลกับตัวอาคารที่สูงขึ้น ก็เลยพังลงมา

คนจำนวนไม่น้อยก็เป็นแบบนี้ คือพอมีชีวิตที่เจริญก้าวหน้ามากขึ้น มีทรัพย์สมบัติมากขึ้น มีฐานะการงานสูงขึ้นๆ เรียกได้ว่าแบกรับภาระเยอะ มันไม่ใช่แค่สบายอย่างเดียว มันเป็นภาระด้วย  ยศ ทรัพย์ อำนาจ ชื่อเสียง พวกนี้เป็นภาระทั้งนั้น  ถ้าภาระมากขึ้นๆ แต่ฐานใจไม่เข้มแข็งก็พังลงมาได้ง่าย บางคนก็เป็นโรคประสาท บางคนถึงกับเจ็บป่วย อาจจะป่วยทางกาย แต่ว่าเป็นเพราะใจแบกรับภาระต่างๆ ไม่ไหว เจอความผันผวนของโลกธรรมโดยเฉพาะขาลง เจอคำตำหนิ เจอคำนินทา เจอคนเลื่อยขาเก้าอี้ เจอคนต่อต้าน เลยเครียดมากถึงกับป่วย ที่ผิดหวังมากจนฆ่าตัวตายก็เยอะ  คนที่มีหน้าที่การงานสูงๆ มีเงินมากๆ แต่ว่าฆ่าตัวตายก็มาก ก็เพราะว่าเขาขาดฐานที่มั่นคง เพราะเขาคิดแต่จะพัฒนาชีวิตให้สูงขึ้นไป สูงขึ้นไป เหมือนกับการต่อเติมอาคารให้สูงขึ้นไปเรื่อยๆ แต่ว่าลืมการเสริมฐานสร้างรากให้เข้มแข็งมั่นคงไปพร้อมกัน  ฐานที่ว่านี้ก็คือฐานใจ

ฐานใจนั้นสำคัญมาก พวกเราล้วนมีอนาคตและความเจริญก้าวหน้ารออยู่ บางคนก็มีแล้วแต่ว่าอาจจะละเลยเรื่องฐานใจ  ฐานใจนั้นไม่มีใครมองเห็น ก็เหมือนกับรากที่อยู่ในดิน ไม่มีใครเห็น ใครๆ ก็เห็นแต่ลำต้นที่สูงชะลูด พูดแต่ว่าต้นไม้ต้นนี้สูงมาก แต่ไม่เคยมีใครบอกว่าต้นไม้ต้นนี้รากลึกเพราะมองไม่เห็น คนก็ไปเชิดชูต้นไม้ที่สูงใหญ่ แผ่กิ่งก้านได้เยอะ แต่ไม่ค่อยได้สังเกตว่าที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะมันมีรากที่แข็งแรงและรากที่หยั่งลึก

ฐานใจนั้นสำคัญมาก ความเจริญก้าวหน้าในชีวิตและความผาสุกทั้งปวงนั้นอยู่ที่ใจ ไม่ใช่อยู่ที่สิ่งภายนอก ไม่ใช่ทรัพย์สมบัติ ไม่ใช่ฐานะ ชื่อเสียง สถานภาพ หรือแม้กระทั่งหมู่มิตร บริษัท บริวาร ทั้งหมดนี้เป็นส่วนภายนอก คนที่มีสิ่งภายนอกเหล่านี้ครบถ้วนแต่ว่าเป็นทุกข์ มีมากมาย ต่อเมื่อกลับมาหาฐานใจ กลับมาเอาใจใส่ดูแลจิตใจของตน จึงจะพบกับความสุขที่แท้จริง

ในสมัยพุทธกาลมีพระรูปหนึ่งนามว่าพระภัททิยะ พื้นเพเดิมเป็นกษัตริย์ เป็นพระญาติกับพระพุทธเจ้า พระภัททิยะเป็นพระราชาซึ่งมีบริษัท บริวาร มีอำนาจพอสมควร แต่มาบวชเพราะว่าเหตุการณ์พาไป ก็คือว่าเพื่อนสนิทคนหนึ่งชื่อว่าอนุรุทธกุมารซึ่งเป็นรัชทายาทของอีกเมืองหนึ่งอยากบวช แต่พ่อแม่ไม่ยอม พอทนรบเร้าไม่ได้พ่อแม่ก็บอกว่าจะอนุญาตให้อนุรุทธกุมารบวชโดยมีเงื่อนไขว่าเพื่อนซึ่งก็คือพระภัททิยะบวชด้วย  พระภัททิยะก็เลยจำใจเพราะว่าถูกอนุรุทธกุมารอ้อนวอนถึง ๗ วัน เมื่อบวชแล้วก็คงคิดว่าบวชชั่วคราว แต่ไปๆ มาๆ ก็บวชตลอดชีวิต แล้วก็ได้เป็นพระอรหันต์เช่นเดียวกับพระอนุรุทธะ

พระภัททิยะบวชได้ไม่นานก็บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ วันหนึ่งท่านนั่งอยู่คนเดียว ก็รำพึงว่าสุขหนอ สุขหนอ พอดีมีพระเดินผ่านมาได้ยินเข้าก็คิดว่าพระภัททิยะอยากสึกเพราะรำพึงถึงแต่ราชสมบัติ จึงไปทูลพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าจึงเรียกพระภัททิยะมาถาม  พระภัททิยะก็บอกว่าที่ตนรำพึงเช่นนั้นก็เพราะมีความสุขมากที่ได้ออกบวช  ผิดกับตอนที่เป็นพระราชาแม้ว่าจะมีบริษัท บริวาร มีอำนาจมาก มีทรัพย์สินเงินทอง มีความสะดวกสบายมากมาย แต่ก็อยู่ด้วยความหวาดกลัว สะดุ้งกลัว เพราะว่าต้องคอยระวังว่าจะมีคนมาทำร้าย ต้องมีองครักษ์ติดตามอยู่ตลอดเวลา  ที่จริงท่านคงมีทุกข์อย่างอื่นด้วย แต่ว่าพอมาบวชแล้ว ทั้งๆ ที่ต้องบิณฑบาต ฉันวันละมื้อ และอยู่โคนต้นไม้ แต่มีความสุขมากเพราะว่ากิเลสหมดไปแล้ว ไม่มีเครื่องเศร้าหมอง ไม่มีอะไรที่ต้องห่วงกังวล ไม่มีแม้กระทั่งความกลัวว่าจะมีใครมาทำร้าย  อันนี้เป็นตัวอย่างของคนที่เมื่อกลับมาที่ใจของตัวเองแล้วจะพบว่า ในใจของเรานี่แหละคือที่ตั้งแห่งความสุขอันประเสริฐ

เมื่อกลับมาหาฐานใจ กลับมาเอาใจใส่ดูแลจิตใจของตน จึงพบกับความสุขที่แท้จริง

แต่ก่อนท่านคงคิดว่าความสุขจะได้มาจากสิ่งนอกตัว ไม่ได้รู้ว่าจริงๆ แล้วในใจของตัวเราเป็นที่ตั้งของความสุข และเป็นรากฐานของการดำเนินชีวิตที่เจริญก้าวหน้าอย่างแท้จริง  ใจของเรานั้นเต็มไปด้วยขุมทรัพย์ที่คนมักจะมองข้าม แต่ในเวลาเดียวกันถ้าหากว่าเรามองข้าม ใจที่สามารถให้ความสุขแก่เราได้ ก็อาจกลับกลายเป็นตัวการแห่งความทุกข์  อย่างที่พูดว่าคนเราทุกข์มากก็เพราะใจ เพราะว่าใจนั้นเปิดช่องให้ตัวร้ายเข้ามาขโมยความสุขไปจากเราและยัดเยียดความทุกข์มาให้

พระพุทธเจ้าตรัสว่า ศัตรูทำร้ายซึ่งกันและกันก็ไม่ก่อความวินาศหรือความฉิบหายได้เท่ากับจิตที่ตั้งไว้ผิดหรือจิตที่ฝึกไว้ผิด  ศัตรูทำร้ายกันก็คงเอากันถึงตาย แต่ก็ไม่ก่อความพินาศ ฉิบหาย หรือร้ายแรงเท่ากับจิตที่ตั้งไว้ผิด แต่ถ้าจิตตั้งไว้ถูกก็ก่ออานิสงส์มาก  พ่อแม่นั้นรักลูกมากก็จริงแต่ไม่ว่าจะทำสิ่งดีๆ ให้แก่ลูกเพียงใดก็เทียบไม่ได้กับจิตที่วางไว้ถูก  พ่อแม่นั้นย่อมอยากที่จะให้ลูกมีความสุข แต่ความสุขที่พ่อแม่ให้แก่ลูกหรือปรนเปรอให้กับลูกก็เทียบไม่ได้เลยกับความสุขที่เกิดจากจิตที่ตั้งไว้ถูก หรือจิตที่ฝึกไว้ถูก  พวกเราก็ย่อมปรารถนาความสุขเช่นกัน แต่ถ้าไปรอหาความสุขจากข้างนอกก็จะไม่พบ หรือว่าไม่ถึงใจ จนกว่าเราจะพบความสุขที่กลางใจ  จะพบได้ก็ต้องกลับมาใส่ใจ กลับมารู้จักจิตใจของเรา และเห็นคุณค่าของใจเรา สิ่งนี้เป็นขุมทรัพย์อันประเสริฐมากที่ผู้คนมองข้าม


ภาพประกอบ

พระไพศาล วิสาโล

ผู้เขียน: พระไพศาล วิสาโล

เจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต และประธานมูลนิธิเครือข่ายพุทธิกา