สุขกับงาน

พระไพศาล วิสาโล 29 ตุลาคม 2005

ชายสามคนต่างก่ออิฐอยู่ไม่ไกลจากกันเท่าใดนัก  คนแรกทำงานอย่างเนือยๆ ท่าทางเหนื่อยล้า ชอบหยุดพักและชำเลืองมองนาฬิกา  คนที่สองดูกระฉับกระเฉงขึ้นมาอีกหน่อย แต่ทำๆ หยุดๆ  ส่วนคนที่สามนั้นทำงานด้วยความกระตือรือร้น หน้าตายิ้มแย้ม ก่ออิฐก้อนแล้วก้อนเล่าไม่ได้หยุด

เมื่อถูกถามกำลังทำอะไรอยู่ คนแรกตอบว่า “กำลังก่ออิฐ”

คนที่สองตอบว่า “กำลังก่อกำแพง”

ส่วนคนที่สามตอบว่า “กำลังสร้างวัด”

ทั้งสามคนทำงานอย่างเดียวกัน เริ่มงานพร้อมกัน แต่มีทีท่าอาการและความรู้สึกต่างกัน ทั้งนี้ก็เพราะเขามองเห็นงานไม่เหมือนกัน  คนแรกเห็นว่างานที่ตนทำนั้นเป็นเพียงแค่การก่ออิฐทีละก้อนๆ เท่านั้น ไม่ได้มีอะไรมากไปกว่านั้น  คนที่สองเห็นกว้างขึ้นหน่อยว่าอิฐที่ก่อขึ้นนั้นจะกลายเป็นกำแพง  คนที่สามมองกว้างและไกลกว่าใครเพื่อน เขาตระหนักว่าเขากำลังมีส่วนร่วมในการสร้างวัด นับเป็นบุญกุศลอันยิ่งใหญ่ ดังนั้นจึงมีความสุขและความภาคภูมิใจที่ได้ทำงานชิ้นนี้  แน่นอนว่าผลงานของคนที่สามย่อมออกมาดีกว่าใครๆ และอาจทำได้มากกว่าคนอื่นด้วยซ้ำ

งานอย่างเดียวกันแต่ให้ผลต่างกัน ทั้งในแง่ความรู้สึกและเนื้องานที่ปรากฏ ก็เพราะการให้ความหมายของงานต่างกันนั้นเอง  ใช่หรือไม่ว่าครูที่เห็นว่างานของตนคือการสอนหนังสือ หรือเห็นว่างานของตนเป็นเพียงอาชีพอย่างหนึ่ง ย่อมมีความรู้สึกและมีผลงานต่างจากครูที่ตระหนักว่าตนไม่ได้แค่สอนหนังสือเท่านั้น แต่กำลังมีส่วนในการก่อร่างสร้างชีวิตใหม่อันเยาว์วัยให้เป็นชีวิตที่เปี่ยมสุข หรือมองไปไกลยิ่งกว่านั้นคือตนกำลังมีส่วนในการสร้างโลกใหม่ที่ผู้คนอยู่กันด้วยความรักและความดีงาม  ครูคนแรกสอนโดยสนใจแต่เนื้อหาในตำรา หรือทำให้งานเสร็จเป็นวันๆ โดยเฝ้าคอยวันหยุดและวันจ่ายเงินเดือน  ส่วนคนที่สองสนใจพัฒนาการของเด็ก และพร้อมจะให้เวลาแก่นักเรียนโดยไม่สนใจว่าจะเป็นเช้าค่ำหรือวันหยุด  คนแรกทำงานเพราะเป็นหน้าที่ ส่วนคนที่สองทำงานเพราะรัก  คนแรกมักจำใจทำ แต่คนที่สองทำด้วยความสุข

เราจะทำงานอย่างมีความสุขหรือไม่ ไม่ได้อยู่ที่ว่าเป็นงานอะไรเท่านั้น แต่อยู่ที่ว่าเราทำงานนั้นอย่างไรด้วย  อันที่จริง หากยกเว้นงานบางอย่าง (เช่น งานที่เป็นมิจฉาอาชีวะแล้ว) กล่าวได้เลยว่า ทำงานอะไร ไม่สำคัญเท่ากับว่าทำงานอย่างไร นั่นคือทำงานโดยให้ความหมายแก่งานนั้นอย่างไร หรือมองงานนั้นว่ามีคุณค่าอย่างไร (พูดอย่างสมัยใหม่คือ มีวิสัยทัศน์กับงานนั้นอย่างไร)

คุณค่าของงานนั้นไม่ได้วัดที่ปริมาณของเงินเดือนหรือจำนวนลูกน้อง แต่อยู่ที่ประโยชน์ต่อสังคม หรือประโยชน์ทางจิตใจเป็นสำคัญ  นี้เป็นมิติที่คนจำนวนไม่น้อยมองข้ามไป เพราะทุกวันนี้เรามักเอาปริมาณตัวเลขเป็นที่ตั้ง คนที่ได้เงินเดือนน้อยจึงรู้สึกว่าทำงานที่ไม่มีคุณค่า หรืออยู่ในตำแหน่งที่ไม่สำคัญ ผลก็คือไม่มีความสุข ทำงานอย่างซังกะตาย  ส่วนคนที่ได้เงินเดือนมาก แม้ทีแรกจะรู้สึกว่าตนทำงานสำคัญ แต่เนื่องจากมองว่าเป็นแค่อาชีพหนึ่ง ไม่ได้เห็นคุณค่ามากไปกว่านั้น ไม่ช้าไม่นานก็จะทำเพียงแค่คอยวันสิ้นเดือนเท่านั้น และหวังว่าจะมีความสุขจากการได้เงินและใช้เงินเท่านั้น

ดังนั้นหากต้องการทำงานอย่างมีความสุข แทนที่จะชะเง้อหางานที่ได้เงินเดือนมากกว่าหรือมีตำแหน่งสูงกว่า โดยหวังว่าถ้าได้งานเหล่านั้นแล้วฉันถึงจะมีความสุขเสียที  จะไม่ดีกว่าหรือ หากเรามีความสุขเสียแต่บัดนี้โดยทำงานปัจจุบันด้วยมุมมองใหม่ นั่นคือมองให้เห็นคุณค่าหรือความสำคัญของงานที่กำลังทำอยู่ อย่างช่างก่ออิฐคนที่สาม  อย่าลืมว่าคุณค่าและความสำคัญของงานนั้นอยู่ที่มุมมองของเรายิ่งกว่าอะไรอื่น

เราจะทำงานอย่างมีความสุขหรือไม่ ไม่ได้อยู่ที่ว่าเป็นงานอะไรเท่านั้น แต่อยู่ที่ว่าเราทำงานนั้นอย่างไรด้วย

ความสุขนั้นเราสามารถหาได้ทุกขณะ รวมทั้งจากขณะที่กำลังทำงาน โดยไม่ต้องรอว่าให้ถึงวันหยุดเสียก่อน เงินเดือนออกเสียก่อน หรือได้ไปเที่ยวเสียก่อน จึงจะมีความสุขได้  สำหรับผู้ที่ทำงานเพื่อปรารถนาความสำเร็จจากงานก็เช่นกัน ก็ไม่จำเป็นต้องรอให้งานเสร็จหรือสำเร็จเสียก่อน จึงจะมีความสุขได้  การรอคอยเช่นนั้นเท่ากับเป็นการฝากความสุขไว้กับอนาคต ไม่ต่างจากการคอยน้ำบ่อหน้า

ใครที่หวังว่าจะมีความสุขเมื่องานเสร็จ ขณะที่กำลังทำงานอยู่ย่อมเป็นสุขได้ยาก กลับจะเป็นทุกข์ด้วยซ้ำเพราะเอาแต่ครุ่นคิดว่าเมื่อไรงานจะเสร็จเสียที และเป็นธรรมดาที่ว่ายิ่งอยากให้เสร็จไวๆ ก็ยิ่งจะรู้สึกว่าเสร็จช้าลง  เหมือนกับการเดินทาง ยิ่งอยากให้ถึงไวๆ กลับยิ่งถึงช้าลง ตรงกันข้ามคนที่ไม่สนใจว่าจะถึงเมื่อไร กลับรู้สึกว่าถึงเร็วจัง  การเดินทางนั้นจะถึงไวหรือไม่ อยู่ที่ใจเป็นสำคัญ ฉันใด การทำงานจะเป็นสุขหรือไม่ ก็อยู่ที่การวางจิตวางใจ ฉันนั้น

ถ้าเอาจิตใจไปจดจ่อกับอนาคต ไม่ว่าจะเป็นจุดหมายข้างหน้า หรือความสำเร็จของงาน จิตใจก็ทุกข์ง่าย เพราะถูกความวิตกกังวล และความเร่งรีบครอบงำ มิหนำซ้ำอาจเกิดความท้อแท้ตามมาหากจุดหมายหรือความสำเร็จยังอยู่อีกไกล  จะไม่ดีกว่าหรือหากเราเอาจิตใจไปจดจ่อที่เนื้องานนั้นแทน  ทำแต่ละขณะให้ดีที่สุด โดยขณะที่ทำนั้นไม่ต้องสนใจว่าจะเสร็จเมื่อไร และไม่กังวลว่าข้างหน้าจะมีอุปสรรคอะไรบ้าง ไม่ห่วงแม้กระทั่งว่าเสร็จแล้วจะเป็นอย่างไร

การทำงานโดยใส่ใจแต่ละขณะ และมุ่งทำแต่ละวินาทีให้ดีที่สุดนั้น จะช่วยให้ใจปลอดพ้นจากความเร่งร้อน ความกังวลและความท้อแท้  และหากจดจ่อได้ต่อเนื่อง จิตก็จะเป็นสมาธิ เกิดความสุขและความเพลินในงาน แม้งานยังไม่เสร็จเลยก็ตาม  อย่างไรก็ตาม จะทำเช่นนั้นได้ต้องมีสติหรือความรู้ตัว เพราะถ้าเผลอเมื่อไร ใจก็จะแวบไปยังอดีตหรือไม่ก็อนาคต เอาความผิดพลาดที่ผ่านมาแล้วมารบกวนใจ หรือไม่ก็ห่วงกังวลกับอุปสรรคหรือผลที่จะออกมา  แต่ถ้ามีสติ ก็จะรู้ทันความรู้สึกนึกคิดดังกล่าวได้ และดึงจิตกลับมาสู่งานที่กำลังทำในปัจจุบัน ถ้าทำได้ต่อเนื่องก็จะมีสมาธิแน่วแน่กับงาน จนอาจไม่รู้สึกเหนื่อยเลยก็ได้

การมีสติรักษาใจให้อยู่กับการทำงานอย่างต่อเนื่อง ไม่วอกแวก และไม่ห่วงกังวลกับผลงานซึ่งคอยอยู่ข้างหน้า  การทำงานด้วยท่าทีแบบนี้ ไม่เพียงทำให้งานออกมาดีเท่านั้น หากยังจะช่วยบ่มเพาะจิตใจของเราให้มีสมาธิและสติเพิ่มพูนขึ้น โดยมีความสุขเป็นผลพลอยได้  อานิสงส์ที่เกิดขึ้นกับตัวเองนี้ ทำให้การทำงานด้วยท่าทีแบบนี้เป็นการปฏิบัติธรรมไปด้วยในตัว

เราไม่ได้สร้างงานฝ่ายเดียว งานก็สามารถสร้างเราได้ด้วย  งานจะสร้างเราให้เป็นคนแบบใด เป็นคนใจร้อน ฉาบฉวย เฉื่อยเนือย ท้อแท้  หรือเป็นคนใจเย็น กระฉับกระเฉง ร่าเริง มีความสุข อยู่ที่ว่าเราทำงานนั้นอย่างไร ด้วยมุมมองอย่างไร และด้วยการวางใจแบบไหน  ถ้าเรามองเห็นคุณค่าของงาน และทำอย่างมีสติ งานนั้นก็จะบันดาลใจให้เป็นสุขและมีชีวิตที่ดีงามควรค่าแก่การดำรงอยู่


ภาพประกอบ

พระไพศาล วิสาโล

ผู้เขียน: พระไพศาล วิสาโล

เจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต และประธานมูลนิธิเครือข่ายพุทธิกา