บันทึกวิถีสู่ความสุขจากภายใน

มะลิ ณ อุษา 27 สิงหาคม 2024

เวลาที่เรามีความสุข…

ความรื่นรมย์เบิกบานย่อมแผ่กระจายให้คนรอบข้างมีความสุขไปด้วย อุปสรรคปัญหาในชีวิต หน้าที่การงาน หรือแม้แต่ความสัมพันธ์ก็ดูเหมือนจะราบรื่น

แน่นอนว่า เราปรารถนาชีวิตเช่นนั้น..

แต่ทว่า บ่อยครั้งที่ความทุกข์ ความเครียด ความเศร้าหมองมาเยือน หากเราไม่สามารถปลดเปลื้องมันลงได้ พลังงานลบก็อาจจะกระจัดกระจายสู่คนรอบข้าง ทั้งที่ตั้งใจและไม่ตั้งใจ ไม่ว่าจะลงมือทำอะไร ก็ดูเหมือนจะติดขัด บาดใจ บาดหมางไปหมด

แน่นอนว่า เราไม่ปรารถนาชีวิตเช่นนี้ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า เราต่างเคยหรือกำลังเผชิญกับสภาวะเช่นนี้

ข้อความข้างต้น

คือ โพสต์ที่กลุ่มกัลยาณมิตร จ.ชัยภูมิ ตั้งใจเชิญชวนคนที่สนใจเข้าร่วมกิจกรรมในวันที่ 26 พฤษภาคม และ วันที่ 9 มิถุนายน 2567

โดยกลุ่มเป้าหมายที่เราตั้งใจอยากให้มาเข้าร่วมคือ กลุ่มคนวัยทำงาน 25 – 45 ปี เพราะเห็นว่าคนกลุ่มนี้น่าจะอยู่ในช่วงที่ต้องแบกรับภาระในชีวิตอันหนักอึ้ง ทั้งพ่อแม่ที่เข้าสู่วัยชรา ครอบครัวตัวเองที่กำลังเติบโต อีกทั้งหน้าที่การงาน ท่ามกลางสถานการณ์ทางสังคมที่บีบคั้นกดดัน

เราวางแผนไว้ดังนี้

เรามีความตั้งใจว่าจะเชิญชวนผู้คนให้มาสำรวจตรวจค้นทุกข์และสุขในชีวิต ผ่านเครื่องมือที่แสนจะธรรมดาและเรียบง่าย ทว่าทรงพลังและลึกซึ้ง อันมีรากฐานมาจากเรื่องขันธ์ 5 การรับรู้ของอายตนะในมิติทางกายภาพ เชื่อมโยงกับการรับรู้ทางความคิดและอารมณ์ แล้วประมวลผลเป็นการกระทำ โดยตลอดสายของปรากฏการณ์ดังกล่าว อาจใช้เวลาเพียงเสี้ยววินาที แต่กลับส่งผลกระทบถึงชีวิตโดยรวม

ดังนั้น หากเราเกิดการรับรู้ที่ถูกต้องตรงจริงตั้งแต่ต้นทางก็จะสามารถนำไปสู่การดำเนินชีวิตที่เป็นปกติสุขได้ ในทางตรงข้าม หากการคิดเห็นของเราเป็นไปในทางที่บิดเบือนจากความจริง ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลของกลไกปกป้องตัวเองหรือความไม่รู้ก็ตาม ผลลัพธ์ที่ได้ก็จะนำไปสู่ความทุกข์ในระยะยาว

กระนั้น ในห้วงเวลา 1 วันเต็ม เราแทบจะไม่พูดคำว่า “ความสุข” เลย เราคุยกันว่าอะไรที่ทำให้เราทุกข์บ้าง แล้วเราจะรับมือกับความทุกข์นั้นอย่างไรผ่านวงสนทนา การวาดแผนที่ความทุกข์และแบบสำรวจสมดุลชีวิต เพื่อให้แต่ละคนได้มีพื้นที่และช่วงเวลาได้ใคร่ครวญชีวิตตัวเอง หลังจากนั้น เราก็ได้ค้นหาเครื่องมือหรือวิธีรับมือกับความทุกข์หรืออีกนัยหนึ่งก็คือการเติมความสุขอย่างสมดุลและสอดคล้องกับชีวิตของตัวเอง (เบื้องต้น) ทั้งมิติทางกายภาพ จิตใจ และวิญญาณ

ในช่วงท้ายของวัน

เราปิดวงด้วยการสะท้อนสิ่งที่ได้พบเจอตลอดทั้งวันที่ผ่านมา ทั้งอารมณ์ความรู้สึก มุมมองความคิด และบทเรียนที่เกิดขึ้น

จากเดิมที่เรากำหนดเวลาปิดวงไว้ที่ 15:30 น. ด้วยเห็นว่าวันที่เราเลือกจัดกิจกรรม เป็นวันอาทิตย์ซึ่งอาจจะเป็นวันหยุดเพียงวันเดียวของหลายคน แต่ในท้ายที่สุด การจัดกิจกรรมทุกรอบ แทบทุกคนอยู่ร่วมกระบวนการจนแม้เวลาล่วงเลย 16:00 น. ไปแล้วก็ตาม

“พื้นที่ตรงนี้ เป็นพื้นที่ที่เราได้หันกลับมามองตัวเองอย่างไม่พยายามหลบเลี่ยง เราได้สบตาตรงๆ กับความทุกข์ ความเจ็บปวด แม้ในใจจะหวั่นๆ อยู่บ้าง และอีกช่วงที่ดี คือ การที่เราได้พูดออกมาให้ใครสักคนได้ฟัง โดยที่ไม่ถูกตัดสิน ไม่ต้องกลัวว่าเขาจะมองเราอย่างไร รู้สึกได้ปลดล็อกบางอย่างในตัวเอง” คือบางส่วนเสียงสะท้อนจากผู้เข้าร่วม

หนึ่งในผู้เข้าร่วมที่เรารู้สึกประทับใจ คือ คู่แม่ลูกที่น่ารัก ในฐานะที่รู้จักกับคนที่เป็นแม่ เธอคือผู้หญิงที่เก่ง แกร่ง และอุทิศตัวเพื่อให้ชาวบ้านในชนบทได้มีสุขภาพที่ดี วงสนทนาทำให้เราได้เห็นอีกแง่มุมจากคำบอกเล่าของลูกสาววัยเริ่มต้นทำงาน เธอเล่าถึงชีวิตวัยรุ่นที่ผ่านแรงกดดันจากความคาดหวัง ทั้งจากครอบครัว คนรอบข้าง และจากตัวเองจนต้องเผชิญกับภาวะซึมเศร้า และความยากลำบากในการต่อสู้เพื่อหลุดออกจากหลุมดำแห่งความทุกข์นั้น

การจัดกระบวนการผ่านไปแล้ว 3 รอบ

มีกลุ่มผู้เข้าร่วมที่มาจากหลากหลายสาขาอาชีพ ไม่ว่าจะเป็นด้านสาธารณสุข การศึกษา เกษตรอินทรีย์ เจ้าหน้าที่ภาครัฐ และนักธุรกิจ เวลาที่เราได้พบเจอกันตามวาระต่างๆ ส่วนหนึ่งของบทสนทนา คือ เรื่องราวการขยายขอบเขตการเรียนรู้ การนำบทเรียนไปปรับใช้ทั้งที่สำเร็จและไม่สำเร็จ บางครั้งเรานั่งคุยกันแบบไม่เป็นทางการในร้านกาแฟข้างทาง สนามหญ้า และริมระเบียงในโรงพยาบาล

เราจึงแอบจัดตั้ง “สังฆะ” ขยายวงกัลยาณมิตร ให้ขยายกว้างขึ้นและต่อเนื่องเป็นกระบวนการที่มีชีวิตในพื้นที่ต่อไป

ขอบคุณทุกการเกื้อหนุนที่ทำให้เกิดโครงการ “สู่วิถีแห่งความสุขจากภายใน” นี้ขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มูลนิธิเครือข่ายพุทธิกา โรงพยาบาลหนองบัวระเหว โรงเรียนบ้านหนองจาน วัดดาวเรือง ศูนย์สุขภาพชุมชน อ.หนองบัวระเหว และกลุ่มกัลยาณมิตร

หมายเหตุส่งท้าย

สิ่งที่แนบมาพร้อมกับบทความนี้ คือ ความสุขเล็กๆ ของคนจัดกระบวนการ ในช่วงเวลาเตรียมงาน เตรียมเนื้อหา เตรียมกิจกรรม และเตรียมอุปกรณ์ เราตั้งใจอยากให้บรรยากาศการเรียนรู้มีความผ่อนคลายเป็นกันเอง เราจึงใส่ใจรายละเอียดตั้งแต่อุปกรณ์การรับประทานอาหาร ทั้งอาหารกลางวันและอาหารว่าง เพื่อลดขยะบรรจุภัณฑ์ การนั่งพื้นที่มีเบาะ สมุดบันทึกแฮนด์เมด


**กิจกรรมนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการเติมสุขทุกวัน โดยมูลนิธิเครือข่ายพุทธิกา ที่จัดขึ้นโดยเครือข่ายเติมสุขในหลากหลายพื้นที่

 

มะลิ ณ อุษา

ผู้เขียน: มะลิ ณ อุษา

คือ...ผู้หญิงธรรมดา รักการเดินทางพอๆ กับการอยู่บ้าน แต่ที่รักมากกว่า คือ การเรียนรู้ชีวิต วันดีคืนดี คุณอาจเห็นเธอนั่งวาดภาพอยู่ข้างถนน อ่านบทกวีอยู่ในกระโจมกลางป่า สอนหนังสือเด็กๆ ในชนบท ปลูกต้นไม้ในสวนเล็กๆ หรือนวดแป้งอยู่หน้าเตาดิน ไม่ต้องแปลกใจ เธอทั้งหมดคือคนๆ เดียวกัน