สุขภาพมิได้หมายถึงความปลอดโรคเท่านั้น เพราะแม้จะปลอดโรคหรือปัจจัยทางกายภาพที่เป็นตัวก่อโรค เช่น เชื้อโรค สารพิษ ก็ใช่ว่าบุคคลจะมีสุขภาพหรือสุขภาวะที่ดีได้ มีผู้ป่วยไม่น้อยที่รู้สึกอ่อนเพลีย เวียนหัว ทั้งๆ ที่อวัยวะทุกอย่างเป็นปกติ บางคนหูหนวก ตาบอด หรือเป็นอัมพาต โดยไม่พบรอยโรคหรือความผิดปกติของอวัยวะที่เกี่ยวข้อง แต่เมื่อสาวหาสาเหตุกลับพบว่าต้นตออยู่ที่จิตใจ เช่น ความเครียด หรือภาวะกดดันในจิตไร้สำนึก ดร.เฮอเบิร์ต เบนสัน แห่งคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ถึงกับตั้งข้อสังเกตว่า “ความเจ็บป่วยของผู้ที่ไปหาหมอร้อยละ ๖๐-๙๐ เป็นเรื่องกาย-ใจ และเกี่ยวข้องกับความเครียด”
การวิจัยตลอด ๒ ทศวรรษที่ผ่านมาได้ชี้ว่า มีหลายโรคที่เกี่ยวข้องกับจิตใจและความสัมพันธ์กับผู้คน ที่ชัดเจนได้แก่โรคหัวใจ คนที่มักโกรธ เครียดจัด มุ่งมั่นเอาชนะ ไม่ยอมแพ้ มีโอกาสเป็นโรคนี้สูงกว่าคนที่มีจิตใจผ่อนคลาย เมื่อปี ๒๕๓๘ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ได้ทำการศึกษาคนไข้โรคหัวใจขาดเลือดจำนวนกว่า ๑,๖๐๐ คน พบว่าคนที่ไม่สามารถควบคุมความโกรธได้ มีอัตราการกำเริบของโรคหัวใจขาดเลือดมากกว่าถึง ๒ เท่าเมื่อเทียบกับคนที่มีอารมณ์สงบและสามารถควบคุมตนเองได้ นอกจากนั้นยังมีการค้นพบว่าการจัดการกับความเครียดที่ไม่เหมาะสม เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการตายมากกว่าการสูบบุหรี่เสียอีก
อีกโรคได้แก่มะเร็ง เคยมีการสัมภาษณ์ผู้ป่วยมะเร็ง ๒๕๐ คน พบว่า ส่วนใหญ่มีประสบการณ์ชีวิตคล้ายกัน เช่น มีความเศร้า เปลี่ยวเหงาในวัยเด็ก มีปัญหาความสัมพันธ์กับพ่อแม่ พอโตขึ้นประสบกับความผิดหวังในชีวิต เช่น ถูกออกจากงาน ลูกหนีจาก คู่ชีวิตตาย เกิดความสิ้นหวังซึมเศร้า มีนายแพทย์บางคนสามารถทำนายว่าใครบ้างที่จะเป็นมะเร็งโดยดูจากบุคลิกและภาวะจิตใจ ปรากฏว่าเขาทำนายถูก ๑๑ คนจาก ๑๘ คนว่าจะเป็นมะเร็ง และทำนายถูก ๒๕ คนจาก ๓๓ คนว่าจะไม่เป็นมะเร็ง
แม้แต่โรคติดเชื้อ ก็มีอิทธิพลของอารมณ์เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เช่น ในสก็อตแลนด์ มีการพบว่าร้อยละ ๖๕ ของคนที่เป็นวัณโรคเคยประสบเหตุการณ์ที่ทำให้เครียดจัด ร้อยละ ๙๐ ของเหตุการณ์ดังกล่าวได้แก่การผิดหวังในความรัก ล้มเหลวในการแต่งงาน เมื่อคนเหล่านี้หายจากโรค ปรากฏว่าคนที่กลับมาเป็นโรคนี้ใหม่ ร้อยละ ๗๕ ประสบเหตุการณ์ที่ทำให้ทุกข์มาก ส่วนคนที่ไม่เป็นโรคนี้ มีเพียงร้อยละ ๑๒ เท่านั้นที่ผ่านเหตุการณ์อย่างเดียวกัน
“ความเจ็บป่วยของผู้ที่ไปหาหมอร้อยละ ๖๐-๙๐ เป็นเรื่องกาย-ใจ และเกี่ยวข้องกับความเครียด”
ในขณะที่ความเครียดและความวิตกกังวลมีผลในการก่อโรค ความรู้สึกผ่อนคลาย แช่มชื่นเบาสบาย ไร้วิตกกังวล ก็ย่อมช่วยให้สุขภาพดีขึ้น หายจากโรคภัยไข้เจ็บได้เร็วขึ้น หรือมีอายุยืน มีการวิจัยเป็นอันมากที่ยืนยันเรื่องนี้ เมื่อปี ๒๕๔๐ ได้มีการศึกษาผู้มีอายุระหว่าง ๕๕-๘๕ ปีจำนวนกว่า ๒,๘๐๐ คนในอเมริกา พบว่าคนที่รู้สึกว่าควบคุมชีวิตตนได้มีอัตราการตายน้อยกว่าคนที่รู้สึกท้อแท้กับชีวิตถึงร้อยละ ๖๐ ส่วนผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่มองโลกในแง่ดีหรือสามารถจัดการกับความโกรธได้ดี มีแนวโน้มที่จะอยู่ยืนยาวกว่าผู้ป่วยที่มีความเครียดหรือเก็บกดความโกรธเอาไว้
ความรู้สึกสงบ ผ่อนคลาย นั้นทำได้หลายอย่าง วิธีหนึ่งก็คือการสวดมนต์ ในอเมริกาพบว่าในบรรดาผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดหัวใจนั้น คนที่มีศรัทธาและได้กำลังใจจากศาสนามีอัตราการตายน้อยกว่าคนที่ไม่ได้สนใจศาสนาถึง ๑ ใน ๓ ส่วนคนที่ไปวัดสม่ำเสมอก็มีอัตราการตายด้วยโรคหลอดเลือดหัวใจน้อยกว่าคนที่ไม่ไปถึงครึ่งหนึ่ง แม้ว่าจะนำเอาพฤติกรรมการสูบบุหรี่และปัจจัยทางเศรษฐกิจสังคมสุขภาพมาพิจารณาในการวิจัยแล้วก็ตาม
นอกจากจิตใจที่สงบ ผ่อนคลายแล้ว ความสัมพันธ์กับผู้อื่นก็มีผลต่อสุขภาพมาก เคยมีการศึกษาผู้ป่วยมะเร็งเต้านม โดยแบ่งออกเป็น ๒ กลุ่ม ทั้ง ๒ กลุ่มได้รับการศึกษาตามมาตรฐานการแพทย์แผนใหม่ทุกประการ แต่กลุ่มที่หนึ่งนั้นมีการพบปะพูดคุยกันระหว่างคนไข้ และช่วยเหลือกันตามโอกาส โดยทำเช่นนี้สม่ำเสมอสัปดาห์ละ ๙๐ นาที ต่อเนื่องนาน ๑ ปี อีกกลุ่มไม่มีกิจกรรมสร้างความสัมพันธ์ในกลุ่ม ปรากฏว่าอัตราการอยู่รอดของกลุ่มแรกมากเป็น ๒ เท่าของกลุ่มที่สอง และยังพบอีกว่าในกลุ่มที่สองนั้น เมื่อเวลาผ่านไป ๕ ปี ไม่มีผู้ป่วยคนใดมีชีวิตรอดเลย
สภาวะจิตใจและความสัมพันธ์กับผู้อื่นนั้น มีผลต่อร่างกายอย่างมิอาจปฏิเสธได้ การรักษาที่เน้นแต่การเยียวยาร่างกายหรืออวัยวะเฉพาะส่วน แต่ไม่สนใจสภาวะจิตใจของผู้ป่วยหรือความสัมพันธ์ที่เขามีกับผู้อื่น ย่อมเป็นได้แค่การรักษา “โรค” แต่มิใช่การรักษา “คน” ซึ่งในที่สุดแล้วก็มิอาจรักษาโรคได้ด้วยซ้ำ หรือถึงรักษาได้ โรคก็กลับมาใหม่ จะในลักษณะเดิมหรือลักษณะใหม่ก็ตาม ด้วยเหตุนี้ในระยะหลังจึงมีการให้ความสำคัญกับมิติด้านจิตใจและสังคมมากขึ้น แม้กระทั่งในโรงพยาบาลที่ใช้การแพทย์แผนใหม่ โรงพยาบาลเหล่านี้ถึงแม้จะยังใช้วิธีการรักษาร่างกายเฉพาะจุดเฉพาะส่วนเหมือนเดิม แต่ก็เพิ่มการฟื้นฟูบำบัดจิตใจขึ้นมา หลายแห่งสนับสนุนและเปิดโอกาสให้ผู้ป่วยได้สวดมนต์ภาวนาตามความเชื่อของตน โดยเปิดห้องสวดมนต์หรือห้องทำสมาธิขึ้นในโรงพยาบาล ไม่ถือว่าเป็นเรื่องไสยศาสตร์อีกต่อไป ผู้บริหารโรงพยาบาลพบว่าวิธีนี้สิ้นเปลืองงบประมาณน้อยกว่าการพึ่งพายาและเทคโนโลยีซึ่งมีราคาแพงขึ้นทุกวัน
แม้ว่าโรงพยาบาลส่วนใหญ่ในประเทศไทยจะยังคงเน้นการรักษาอวัยวะ มากกว่าที่จะสนใจเรื่องจิตใจหรือความรู้สึกผูกพันของผู้ป่วยในฐานะมนุษย์ แต่ประสบการณ์ของแพทย์และพยาบาลจำนวนไม่น้อยก็เป็นหลักฐานยืนยันว่า จิตใจนั้นมีอานุภาพในการเยียวยารักษา ความเมตตาของหมอและพยาบาลสามารถทำให้อาการของผู้ป่วยดีขึ้นโดยที่ยังไม่ทันได้ให้ยาเลยด้วยซ้ำ เซอร์ วิลเลียม ออสเลอร์ ซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็นแพทย์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของอังกฤษและอเมริกาเมื่อต้นศตวรรษที่ ๒๐ เคยกล่าวว่า ผลสำเร็จในการบำบัดรักษาของเขานั้นเป็นเพราะบุคลิกและพฤติกรรมของเขา ซึ่งไม่เกี่ยวข้องอะไรกับความรู้ทางการแพทย์ของเขาเลย
ในทำนองเดียวกันนายแพทย์วิลเลียม เฮนรี เวลซ์ ซึ่งเป็นคนสำคัญในการบุกเบิกการแพทย์แผนใหม่ในอเมริกาได้พูดถึงบิดาของเขา ซึ่งเป็นหมอเหมือนกันว่า “ทันทีที่ท่านเข้าห้องผู้ป่วย คนป่วยจะรู้สึกดีขึ้นทันที บ่อยครั้งมิใช่เพราะการรักษาของท่าน แต่เป็นเพราะการปรากฏตัวของท่านต่างหากที่รักษาผู้ป่วยให้หายได้”
จิตใจจึงเป็นมิติที่มิอาจมองข้ามได้ในการเยียวยารักษาร่างกาย