พอเพียงแค่ไหนถึงจะเพียงพอ

พระไพศาล วิสาโล 21 มกราคม 2007

ใครที่ไปเยือนวัดป่าซึ่งตั้งในถิ่นทุรกันดาร และได้เห็นวิถีชีวิตของพระที่นั่น รวมทั้งได้ฟังคำสอนของท่าน อาจมีความเข้าใจว่าพุทธศาสนานั้นปฏิเสธความสบาย เพราะแม้แต่อาหารก็ฉันเพียงมื้อเดียว ไฟฟ้าก็ไม่ต่อเข้ามา แถมยังสร้างกุฏิในป่าลึกดูน่าอันตราย

ความจริงแล้ว พุทธศาสนาไม่ได้ปฏิเสธความสบาย กลับเห็นว่าความสบายเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยให้ชีวิตเป็นสุข  เมื่อพระพุทธองค์ตรัสสอนเรื่อง “อายุวัฒนธรรม” หรือธรรมที่ส่งเสริมสุขภาพและช่วยให้อายุยืน  ธรรมที่พระพุทธองค์ทรงยกมาเป็นข้อแรกก็คือ “สัปปายการี” ได้แก่ การทำสิ่งที่สบาย หรือการทำตนให้สบาย  ในหมวดธรรมว่าด้วย “กามโภคี” หรือผู้ครองเรือน พระพุทธองค์ทรงสรรเสริญผู้ที่นอกจากแสวงหาทรัพย์โดยชอบธรรมแล้ว ยังรู้จักเลี้ยงตนให้อิ่มหนำเป็นสุขและสบาย  ขณะเดียวกันทรงตำหนิคนรวยที่ตระหนี่ แม้กระทั่งอาหารก็กินอย่างกระเบียดกระเสียร หรือทำตัวให้ลำบาก เพราะเสียดายทรัพย์

อย่างไรก็ตามการที่พุทธศาสนาให้ความสำคัญแก่ความสบาย ไม่ใช่เพราะว่ามันดีโดยตัวมันเอง  หากแต่เป็นเพราะว่าความสบายนั้นเป็นสิ่งที่เกื้อกูลต่อชีวิต ช่วยให้ชีวิตเจริญงอกงามและเข้าถึงความสุขที่ประณีตลึกซึ้ง  ตรงนี้ต้องอธิบายก่อนว่าความสุขของคนเรานั้นมีสี่ประเภทได้แก่

๑. ความสุขทางกาย หรือความสุขจากการเสพและการใช้ทรัพย์

๒. ความสุขทางศีล หรือความสุขจากการมีพฤติกรรมดีงามและมีสัมพันธภาพที่ราบรื่นกับผู้อื่น

๓. ความสุขทางจิต เช่น เกิดปีติ มีสมาธิ ผ่อนคลาย ปลอดโปร่ง

๔. ความสุขทางปัญญา หรือความสุขเนื่องจากความรู้แจ้งในสัจธรรม จนเป็นอิสระหลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งปวง

พุทธศาสนาถือว่า ความสบายหรือความสุขทางกาย จะต้องเป็นไปเพื่อเกื้อกูลความสุขสามประเภทหลัง หรือทำให้พฤติกรรม (ศีล) จิต และปัญญา เจริญงอกงามขึ้น  เช่น เมื่อมีความเป็นอยู่ผาสุกและสบายแล้ว ก็ควรช่วยเหลือผู้อื่น ด้วยการให้ทานแก่ผู้ยากไร้ บริจาคทรัพย์ให้แก่ส่วนรวม หรือสละเวลามาทำประโยชน์แก่สังคม  พร้อมกันนั้นก็ใช้ความสะดวกสบายนั้นเพื่อการบำเพ็ญภาวนาทางจิตและปัญญา  กล่าวคือเมื่อความจำเป็นในการทำมาหากินลดน้อยลง ก็มีเวลาให้แก่การทำสมาธิภาวนามากขึ้น หรือใช้อาคารบ้านเรือนที่สะดวกสบายนั้นเป็นประโยชน์แก่การเจริญกรรมฐาน  ในหมวดธรรมว่าด้วย “สัปปายะ” หรือความสบายทั้ง ๗ ประการนั้น (เช่น ที่อยู่ซึ่งไม่พลุกพล่าน  แหล่งอาหารที่ไม่ใกล้ไม่ไกลเกินไป  อาหารที่เหมาะกับร่างกาย) จะเห็นได้ว่าล้วนเป็นไปเพื่อการบำเพ็ญภาวนาโดยตรง

พุทธศาสนาถือว่าความสบายหรือความสุขทางกาย จะต้องเป็นไปเพื่อทำให้ศีล จิต และปัญญา เจริญงอกงามขึ้น

กล่าวอีกนัยหนึ่ง พุทธศาสนาไม่สรรเสริญการถือเอาความสบายเป็นเป้าหมาย หรือหยุดแค่ความสบาย แต่จะต้องก้าวต่อไปโดยใช้ความสบายนั้นให้เกิดประโยชน์  คนที่หยุดแค่ความสบายแล้ว ไม่ทำอะไรต่อจัดว่าเป็นคนขี้เกียจ  ตรงนี้เป็นประเด็นที่ต้องทำความเข้าใจให้ชัด เพราะมีความเข้าใจในหมู่คนทั่วไปว่า เมื่อสบายแล้วไม่ทำอะไรต่อ ถือว่า “สันโดษ” ดังนั้นจึงเป็นสิ่งที่พุทธศาสนาสรรเสริญ  ความจริงแล้ว สันโดษในพุทธศาสนา (ความพอใจในสิ่งที่ได้มาโดยชอบธรรม) นั้น มีเป้าหมายเพื่อให้รู้จักพอในความสบายทางกาย หรือรู้จักพอในการเสพ เพื่อจะได้เอาเวลาและกำลัง (ทั้งกาย ทรัพย์ ปัญญา) ไปใช้ในการทำสิ่งดีงามที่เรียกว่า “กุศลธรรม” ให้ยิ่งๆ ขึ้นไป  กล่าวโดยสรุปก็คือ ทรงสอนให้สันโดษในทรัพย์หรือสิ่งเสพ แต่ไม่ให้สันโดษในกุศลธรรม

ตรงนี้เป็นข้อที่แตกต่างอย่างสำคัญระหว่างพุทธศาสนากับลัทธิบริโภคนิยม  บริโภคนิยมนั้นถือว่าความสบายเป็นเป้าหมายในตัวมันเอง ยิ่งสบายเท่าไรก็ยิ่งดีเท่านั้น และจะไม่หยุดดิ้นรนแสวงหาหากมีสิ่งอื่นที่สบายกว่า  ถึงจะมีเสื้อเนื้อประณีตหลายตัวแล้วก็ยังไม่พอใจ เพราะมีเสื้อที่นุ่มเนียนกว่านั้นวางขายอยู่  มีโทรศัพท์มือถือที่รวดเร็วทันใจแล้วก็ยังไม่พอใจ เพราะมีรุ่นใหม่ที่พูดคุยได้โดยไม่ต้องกดหมายเลข  มีรถที่ขับสบายอยู่แล้วก็ยังไม่พอใจ เพราะรุ่นใหม่ที่เพิ่งออกมาขับสบายกว่านั้นอีก  ในขณะที่พุทธศาสนาบอกว่าเราไม่ควรหยุดแค่ความสบายหรือความสุขทางกาย แต่ควรไปให้ถึงความสุขจากศีล จิต และปัญญาที่เจริญงอกงาม  บริโภคนิยมก็บอกเช่นกันว่าเราไม่ควรหยุดที่ความสบายในขณะนี้ แต่จะต้องสบายให้มากไปกว่านี้

ปัญหาก็คือความสบายกับความสุขนั้น บ่อยครั้งก็ไม่ได้ไปด้วยกัน  เมื่อเพิ่มความสบายไปถึงจุดหนึ่ง ความสุขก็ลดลง เพราะผลเสียของความสบายนั้นสะสมมากขึ้นจนแสดงตัวออกมา  ตัวอย่างที่ชัดเจนก็คือ คนที่รักสบาย เอาแต่นั่งๆ นอนๆ หรือทำงานเบาๆ ไม่ยอมออกกำลังกาย  ถึงเวลาพักผ่อน ก็นั่งดูโทรทัศน์ ดูไปก็กินขนมขบเคี้ยวไป  จะไปไหนมาไหน ก็ไม่ยอมเดินหรือขึ้นบันได แต่ใช้รถกับลิฟท์  ไม่ช้าไม่นานก็จะเจ็บป่วยด้วยโรคนานาชนิด อาทิ โรคหัวใจ โรคอ้วน เบาหวาน ซึ่งเรียกรวมๆ ว่า “โรคขี้เกียจ” ซึ่งกำลังเป็นปัญหาใหญ่ของทั้งโลกรวมทั้งประทศไทย

แต่นอกจากความทุกข์ทางกายแล้ว ความทุกข์ทางใจก็เพิ่มพูนด้วย เพราะความสบายนั้นต้องอาศัยทรัพย์ ยิ่งอยากสบายมากเท่าไร ก็ยิ่งต้องมีทรัพย์มากเท่านั้น  และเมื่อมีทรัพย์มาก ก็ย่อมเกิดความกังวลเป็นธรรมดา เช่น ต้องคอยหวงแหนทรัพย์ จอดรถราคานับสิบล้านที่แสนสบายไว้ข้างถนน ก็คอยเป็นห่วงว่าจะมีคนมาขโมยหรีอขีดข่วนให้เสียโฉม  จะใช้โทรศัพท์มือถือรุ่นใหม่ราคาแพงก็ต้องคอยระวังว่าจะมีคนมาวิ่งราวเอาไป ใครจะมายืมก็หวงไม่อยากให้ใช้ ความสัมพันธ์กับเพื่อนก็แย่ลง  ยิ่งมีทรัพย์มากเท่าไร ก็ยิ่งเห็นทรัพย์สำคัญกว่าคน อีกทั้งไม่แน่ใจว่าใครเป็นเพื่อนแท้บ้าง จึงหวาดระแวง ผลก็คือความสัมพันธ์กับผู้คนตกต่ำลง ทำให้มีความทุกข์มากขึ้น  ทั้งนี้ยังไม่ต้องพูดถึงการติดยึดความสบาย จนทำทุกอย่างแม้จะผิดศีลก็ตาม เพื่อให้มีทรัพย์มาสนองความสบาย  วิถีชีวิตแบบนี้แม้สบายกาย แต่ร้อนรุ่มใจ จึงอยากที่จะมีความสุขได้อย่างแท้จริง

ความสบายหรือความสุขจากทรัพย์จึงมีขีดจำกัด คือมีจุดพอดีของมัน หากเลยจากจุดนั้นไปแล้ว จะทำให้ชีวิตมีความสุขน้อยลง  คนที่มีความสุขคือคนที่รู้จักสบายแต่พอดี  ด้วยเหตุนี้ในหมวดธรรมว่าด้วยการมีอายุยืน หรือ “อายุวัฒนธรรม” หลังจากที่พระพุทธองค์ตรัสข้อแรกว่าให้รู้จักทำตัวให้สบายแล้ว ได้ตรัสข้อที่สองตามมาว่า ให้รู้จักประมาณในความสบาย หาไม่แล้วชีวิตจะไม่เป็นสุขและอายุสั้น

ชีวิตพอเพียงคือชีวิตที่รู้จักสบายแต่พอดี ไม่เพลิดเพลินหมกมุ่นกับความสุขจากสิ่งเสพ หรือมัวแต่แสวงหาทรัพย์และสะสมเงินทองอย่างไม่รู้จักพอ  ขณะเดียวกันเมื่อพอเพียงในความสบาย หรือหาทรัพย์ได้พอเพียงแล้ว ก็ไม่หยุดเพียงเท่านั้น แต่หันไปพากเพียรในการสร้างความดีงามหรือความเจริญด้านอื่นๆ ต่อไปให้ยิ่งกว่าเดิม ทั้งในด้านศีล จิต และปัญญา ทั้งในส่วนที่เป็นประโยชน์ตนและประโยชน์ท่าน

เมื่อชีวิตเจริญงอกงามในทางศีล จิต และปัญญา เราก็จะพึ่งวัตถุน้อยลง  ธรรมชาติของคนเรานั้นย่อมโหยหาความสุข  เมื่อมีความสุขทางใจเป็นเครื่องหล่อเลี้ยง ได้รับความอบอุ่นท่ามกลางกัลยาณมิตรที่เอื้ออาทร ความสุขจากทรัพย์หรือสิ่งเสพก็จะมีความสำคัญน้อยลง  ดังนั้นยิ่งเข้าถึงความสุขทางใจได้มากเท่าไร ความต้องการทรัพย์หรือสิ่งเสพก็จะลดลงมากเท่านั้น

ถึงตรงนี้ความสบายจะพัฒนาไปอีกขั้นหนึ่ง คืออิงอาศัยวัตถุสิ่งเสพน้อยลง ดังนั้นแม้จะอยู่บ้านหลังเล็กๆ มีทรัพย์สมบัติไม่มาก หรืออยู่ในป่าที่หลีกเร้น มีบริขารแค่ไม่กี่ชิ้น ก็มีทั้งความสุขและความสบายได้  ยิ่งมีปัญญารู้ชัดว่าสิ่งเหล่านี้ไม่อาจยึดติดถือมั่นได้ ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน มีเท่าไร ก็ยังสุขและสบายอยู่นั่นเอง เพราะจิตเป็นอิสระและปลอดโปร่งอย่างสิ้นเชิง

นี้ใช่ไหมคือจุดหมายสูงสุดของชีวิตพอเพียง


ภาพประกอบ

พระไพศาล วิสาโล

ผู้เขียน: พระไพศาล วิสาโล

เจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต และประธานมูลนิธิเครือข่ายพุทธิกา