ขับรถอย่างไรไม่ให้วุ่นวายใจ

จักรกริช พวงแก้ว 6 สิงหาคม 2018

ไม่มีอะไรจะเหมือนเมื่อยามที่การจราจรติดขัดอย่างหนัก กับความไม่อดทนของคนบนท้องถนน

สภาพการจราจรบนถนนที่ติดขัด คงทำให้ผู้ขับขี่รถร้อนรนใจได้ไม่น้อย และพร้อมที่จะระเบิดความเดือดดาลลงบนท้องถนน เพราะความเครียดที่เพิ่มขึ้น ได้ทำให้เราละวางเหตุผลต่างๆ ลง

ยิ่งการจราจรแย่มากเท่าไรก็ยิ่งทำให้เราเครียดมากเท่านั้น แต่นี่เป็นโอกาสดีเลิศที่จะทำให้เราได้ฝึกสติ ได้เพิ่มสัมผัสการรับรู้กับคนอื่น ได้ฟื้นฟูสมดุลและมุมมองของเรา

ขั้นตอนง่ายๆ ที่สามารถฝึกได้หลังพวงมาลัยเหล่านี้ จะทำให้เราพบว่ามันได้ผลที่วิเศษมาก

1. อันดับแรกคือต้องสูดลมหายใจลึก

วิธีการง่ายๆ ที่จะนำเอาออกซิเจนเข้าสู่ร่างกาย และทำให้ช่องว่างระหว่างตัวเรากับความเครียดจากรถติดนั้นขยายห่างออกจากกัน ทำให้เรามองเห็นมุมมองและทางเลือกอื่นๆ เพิ่มขึ้น

2. ถามตัวเองว่าเราต้องการอะไร

อาจจะเป็นช่วงขณะนี้ที่เราต้องการความปลอดภัย หรือเราต้องการเพียงความผ่อนคลาย หรือต้องการบรรเทาทุกข์ การเข้าใจว่าเราต้องการอะไรจะทำให้เรากลับสู่ภาวะสมดุล

3. สนองตอบต่อความต้องการของเรา

ถ้าเราต้องการเพียงความผ่อนคลาย เราสามารถสำรวจร่างกายเพื่อหาจุดที่รู้สึกเคร่งเครียด (เราสามารถทำได้ในขณะขับรถ) และผ่อนคลายจุดที่เรารู้สึกเคร่งเครียดนั้น หรือปรับสภาพร่างกายได้ตามที่เราต้องการ  เราสามารถเติมความกรุณาให้ตัวเองด้วยคำพูด เช่น ฉันจะผ่อนคลาย ฉันจะรู้สึกปลอดภัย ฉันจะมีความสุข

4. มองไปรอบๆ และคำนึงว่าผู้ขับขี่คนอื่นก็เป็นเหมือนเรา

คนที่ติดอยู่บนถนนทุกคนก็ต้องการสิ่งเดียวกันกับเราคือ รู้สึกปลอดภัย รู้สึกผ่อนคลาย และต้องการความสุข  เรามักจะเห็นคนจำนวนไม่น้อยที่รู้สึกปั่นป่วน แต่เราก็อาจเห็นบางคนที่ร้องเพลงหรือกำลังยิ้ม ซึ่งมันก็ทำให้เรารู้สึกเครียดน้อยลงในทันที และเช่นเดียวกันที่เราสามารถจะกล่าวคำกรุณาให้กับพวกเขาว่า คุณจะผ่อนคลาย คุณจะรู้สึกปลอดภัย คุณจะมีความสุข

5. สูดลมหายใจลึกอีกครั้ง

ในระยะเวลา 15 วินาทีหรือน้อยกว่านั้น ที่เราสามารถปรับอารมณ์ความรู้สึกของเราได้จากคำแนะนำข้างต้น และเมื่อใดก็ตามที่เรารู้สึกอึดอัดจากสภาพการจราจรที่ติดขัด เราสามารถเลือกที่จะทำงานกับอารมณ์เหล่านั้น และเสนอความกรุณาให้กับผู้อื่นได้เช่นกัน … ถ้าเราต้องการความปลอดภัย ให้กล่าวกับตัวเองว่า “ฉันจะรู้สึกปลอดภัย คุณจะรู้สึกปลอดภัย พวกเราจะรู้สึกปลอดภัย” หายใจเข้า หายใจออก นั่นคือเราได้หว่านเมล็ดพันธุ์ของความสุขลงแล้ว


เครดิต

จักรกริช พวงแก้ว

ผู้เขียน: จักรกริช พวงแก้ว

ฝ่ายสื่อสารองค์กรมูลนิธิเครือข่ายพุทธิกา