ฉันแชร์ ฉันจึงมีอยู่?

ภัสน์วจี ศรีสุวรรณ์ 3 สิงหาคม 2014

ท่ามกลางยุคที่เราสามารถติดต่อสื่อสารกับผู้คนที่อยู่ไกลคนละฟากโลกโดยเสียแค่เงินค่าไวไฟหรือซื้อชั่วโมงอินเทอร์เน็ตไม่กี่บาท ผู้คนทั่วโลกกลับโหยหามิตรภาพอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน บางคนระบายความเหงาหงอยและสิ้นหวังผ่านโซเชียลมีเดีย และผิดหวังกับการตอบสนองของเพื่อนๆ ทางหน้าจอจนถึงขั้นปลิดชีพตัวเอง

เมื่อเร็วๆ นี้มีกระทู้ในเว็บไซต์พันทิป ชื่อ “เมื่อเพื่อนฉันไม่อัพสเตตัส Facebook และการจากไปอย่างไม่มีวันกลับ” บอกเล่าถึงเรื่องราวของหญิงสาวที่เมื่อทะเลาะกับแฟนก็มักระบายความรู้สึกลงบนเฟสบุค จนเพื่อนสนิทพากันบ่นว่าเธอ “เพ้อ” และ “น่ารำคาญ” เธอจึงหยุดโพสต์ข้อความไปหนึ่งเดือน หลังจากนั้นก็ผูกคอตาย โดยเขียนบันทึกไว้ว่า เธอจะไม่ตั้งสเตตัสอีกแล้ว เพราะไม่ต้องการให้คนอื่นรำคาญเธอ เป็นเสียงตัดพ้อต่อว่าที่สะท้อนให้เห็นว่าเมื่อเพื่อนในสังคมออนไลน์อันเป็นที่พึ่งสุดท้ายไม่อาจเป็นที่พึ่งได้ โลกของเธอจึงพังทลายจนไม่อาจมีชีวิตอยู่ต่อไป

เหตุการณ์น่าสะเทือนใจนี้ไม่ได้เกิดเฉพาะในบ้านเรา แต่เป็นภาพสะท้อนอิทธิพลของสื่อสังคมออนไลน์ที่กำลังมีต่อผู้คนทั่วโลก

ศาสตราจารย์ดอกเตอร์เชอรี่ เตอเคิล (Sherry Terkle) นักจิตวิทยาที่สนใจประเด็นอิทธิพลของเครื่องมือสื่อสารที่มีต่อมนุษย์ ใช้เวลาเกือบ 20 ปีในการพูดคุยกับผู้คนทุกเพศทุกวัยนับพันคน เธอพบว่าเครื่องมือเล็กๆ อย่างมือถือนั้นมีพลังทางจิตวิทยาต่อมนุษย์มากมายเหลือเกิน ไม่เพียงแต่เปลี่ยนสิ่งที่เราทำเท่านั้น แต่ยังเปลี่ยนตัวตนของเราอีกด้วย  ดังจะเห็นได้ว่าพฤติกรรมที่พวกผู้ใหญ่เห็นเป็นเรื่องแปลกประหลาดและน่ารังเกียจเมื่อไม่นานมานี้ เดี๋ยวนี้ผู้ใหญ่พวกนั้นก็ทำกันเป็นเรื่องปกติ เช่น การส่งข้อความระหว่างการประชุม บนโต๊ะอาหาร หรือแม้แต่ในงานศพ

เธอสังเกตว่าเมื่อมือถืออยู่ในมือ คนส่วนใหญ่จะมีความรู้สึก 3 อย่างคือ เราสามารถพุ่งความสนใจไปที่ใดก็ได้ที่เราต้องการ จะมีคนได้ยินเสียงของเรา และเราจะไม่โดดเดี่ยว  ดังนั้นเมื่อเรารู้สึกโดดเดี่ยว เราก็จะมองหาโทรศัพท์มือถือเพื่อเช็คความเคลื่อนไหวของผู้อื่น หรือบอกสถานะของตัวเอง เมื่อรู้สึกว่าไม่มีใครฟังฉัน เราก็จะหันไปหามือถือ  เราอยากใช้เวลากับมือถือที่ดูเหมือนจะแคร์เรามากกว่ามนุษย์ตัวเป็นๆ เมื่อทำบ่อยๆ ก็กลายเป็นนิสัย ทำให้เราคาดหวังจากเทคโนโลยีมากขึ้น แต่คาดหวังจากคนอื่นน้อยลง จนเด็กหนุ่มวัยสิบแปดคนหนึ่งบอกว่า เขาหวังว่าสักวันหนึ่งจะมีคนผลิตเครื่องมือที่เป็นเพื่อนมนุษย์ได้อย่างแท้จริง โดยไม่ต้องพูดคุยกับมนุษย์ตัวเป็นๆ ซึ่งเป็นเรื่องยุ่งยากซับซ้อนสำหรับเขา

พฤติกรรมที่บ้านเราเรียกว่า “สังคมก้มหน้า” ทำให้เกิดบรรยากาศ “โดดเดี่ยวแม้อยู่ด้วยกัน” (Alone together) ซึ่งเป็นชื่อหนังสือเล่มล่าสุดของเธอ อันหมายถึงเรามักอยากอยู่กับใครสักคน ในเวลาเดียวกันก็อยากจะเชื่อมต่อกับสถานที่หรือคนอื่นๆ  ที่เราทำเช่นนี้เพราะเรารู้สึกว่าเราสามารถควบคุมความสนใจของตัวเองได้ สามารถซ่อนตัวจากคนๆ หนึ่งได้ แม้ว่าจะยังเชื่อมต่อกับคนๆ นั้นอยู่ก็ตาม  เราพูดคุยผ่านหน้าจอเพื่อการ “เชื่อมโยง” (connection) แต่กลับไม่อยากสร้างมิตรภาพหรือความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งด้วยการสนทนาแบบเจอหน้าเจอตา เพราะการพูดคุยซึ่งหน้านั้นซับซ้อนยากจะควบคุม เพราะไม่สามารถ edit, delete หรือ retouch ได้เหมือนการพูดคุยผ่านหน้าจอ

เตอเคิลเรียกความสัมพันธ์บนสื่อสังคมออนไลน์ปัจจุบันว่า “โกลดิล็อกเอฟเฟค” นั่นคือไม่ใกล้และไม่ไกลเกินไป แต่พอดีๆ ซึ่ง “พอดีๆ” นี้เองที่สะท้อนผ่านการนำเสนอตัวเองผ่านสื่อสังคมออนไลน์ปัจจุบัน คือ ต้องแก้นิด ปรับหน่อย ใช้แอพหน้าใส แอพลดความอ้วน ลงรูปไปเที่ยวสถานที่สวยๆ และอาหารการกินดีๆ จนมั่นใจว่า “พอดี” หรือ “ดูดี” แล้วจึงโพสต์  เมื่อทำบ่อยๆ เข้าก็หลงลืมไปว่าแท้จริงแล้วตัวเองคือใครกันแน่ หรือหลงลืมไปว่าเสียงสรรเสริญเยินยอหรือเสียงตัดพ้อด่าว่าในหน้าจอโทรศัพท์เป็นของจริง ที่สำคัญคือ หลงลืมไปว่าสื่อสังคมออนไลน์เป็นเพียงเครื่องมือสร้างความเชื่อมโยง แต่ไม่ใช่การสร้างมิตรภาพที่ลึกซึ้ง เมื่อหลงลืมก็มีโอกาสโศกเศร้าเสียใจหรือเกิดโศกนาฎกรรมดังกรณีหญิงสาวข้างต้น

“เราสามารถพุ่งความสนใจไปที่ใดก็ได้ที่ต้องการ จะมีคนได้ยินเสียงของเรา และเราจะไม่โดดเดี่ยว” เป็นความรู้สึกของคนส่วนใหญ่เมื่อมีโทรศัพท์มือถืออยู่กับตัว

ไม่ว่าจะอย่างไร สังคมไทยและสังคมโลกก็ดำเนินมาจนถึงวันนี้ ยุคที่เราโตขึ้นมาพร้อมกับอินเทอร์เน็ตและถูกทำให้เชื่อว่าเราไม่ต้องการความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้ง และสับสนว่าการสื่อสารที่แท้จริงคือการโพสต์และการแชร์บนหน้าจอ จนมีคนเสียดสีว่าสังคมยุคนี้เป็นยุค “ฉันแชร์ ฉันจึงมีอยู่” (I share, therefore I am) ล้อไปกับคำกล่าวสุดฮิตของเรอเน เดส์การ์ตส์ นักปรัชญาชาวฝรั่งเศสชื่อก้องโลกที่บอกว่า “ฉันคิด ฉันจึงมีอยู่” (I think, therefore I am)  อย่างไรก็ตามเตอเกิลยังมองโลกในแง่ดีว่าสังคมเทคโนโลยียังเพิ่งอยู่ในยุคเด็กน้อยหัดเดิน เราสามารถตั้งคำถามได้ว่า เราจะปล่อยให้เทคโนโลยีพาเราไปในที่ที่เราไม่อยากไปหรือไม่ และอยากให้เทคโนโลยีมีอิทธิพลต่อเราและสังคมอย่างไร จากนั้นก็ออกแบบเสียใหม่ เป็นต้นว่าให้ความสำคัญกับปฏิสัมพันธ์แบบการพูดคุยต่อหน้าต่อตามากขึ้น

ย้อนกลับมาดูทางออกในทางธรรมกันบ้าง เคยมีคนพูดว่าปัญหาทั้งหมดในโลกเกิดจากมนุษย์ไม่สามารถอยู่นิ่งๆ คนเดียวได้อย่างมีความสุข  ดูเหมือนว่าปัญหานี้ไม่ใช่เพิ่งเกิดในยุคโซเชียลมีเดีย ย้อนกลับไปในสมัยพุทธกาลเมื่อสองพันหกร้อยปีมาแล้วก็คงมีเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้น พระพุทธเจ้าจึงตรัสคำสอนไว้ว่าอยู่คนเดียวเหมือนกับอยู่กับคนหมู่มาก คือ อบอุ่น ไม่กลัว รู้สึกปลอดภัย และเวลาอยู่กับคนหมู่มากก็เหมือนกับอยู่คนเดียว คือ ผู้คนจะส่งเสียงอึกทึกเราก็ไม่เดือดร้อนใจ ไม่หวั่นไหวตามสิ่งรอบข้าง มีความสงบสงัดราวกับอยู่คนเดียว  พูดง่ายๆ ได้ว่าจะทำให้เกิดภาวะนี้ขึ้นมาได้ ก็ด้วยการมีสติเป็นเพื่อนนั่นเอง

บางคนบอกว่าเรื่องอย่างนี้พูดง่ายทำยาก แต่ถ้าไม่ลองเราจะรู้ได้อย่างไรว่าการฝึกสติแบบนี้ยากง่ายเพียงใด

ดูเนื้อหาเพิ่มเติม ที่นี่


ภาพประกอบ

ภัสน์วจี ศรีสุวรรณ์

ผู้เขียน: ภัสน์วจี ศรีสุวรรณ์

อดีตนักข่าว นักเขียน บรรณาธิการนิตยสารสิ่งแวดล้อม และนักรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อม ปัจจุบันเป็นนักเขียนอิสระที่สนใจประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และการศึกษา ขณะเดียวกันก็รักการเดินทางและการออกกำลังกาย นิยมการเดินป่า เล่นโยคะ ปั่นจักรยาน และทำสวน ปัจจุบันอาศัยอยู่ที่บ้านเกิดอำเภอวิเศษชัยชาญ จังหวัดอ่างทอง