รู้ทันบริโภคนิยม

พระไพศาล วิสาโล 15 ตุลาคม 2006

มองจากมุมของศาสนา ไม่มีศาสนาอะไรที่มีผู้นับถือมากเท่าศาสนาบริโภคนิยม  ศาสนานี้แพร่หลายไปทั่วทุกมุมโลกอย่างไม่มีศาสนาใดเทียบเท่าได้  แม้แต่ในป่าอะเมซอน ขั้วโลกเหนือ ยอดเขาเอเวอเรสต์  ศาสนานี้ก็ยังแพร่ไปถึงโดยผ่านเคเบิลทีวีและสัญญาณดาวเทียม และโดยนักท่องเที่ยวที่นิยมบริโภคประสบการณ์แปลกๆ ใหม่ๆ  ศาสนาคริสต์ซึ่งมีผู้นับถือมากที่สุดในโลก เมื่อเทียบกับศาสนาอิสลาม พุทธ ฮินดู ก็ยังต้องพ่ายแพ้ต่อศาสนาบริโภคนิยม  ดังผลการสำรวจความเห็นคนทั่วโลกพบว่า สัญลักษณ์ของแฮมเบอร์เกอร์ยี่ห้อแมคโดแนลด์ (อักษร M มนโค้ง) มีคนรู้จักมากกว่าสัญลักษณ์ของศาสนาคริสต์ (ไม้กางเขน) เสียอีก

ลัทธิบริโภคนิยมสามารถแพร่ขยายไปทั่วโลกอย่างรวดเร็วได้  สาเหตุสำคัญประการหนึ่งก็เพราะมันสามารถเข้าถึงจุดอ่อนของมนุษย์ นั่นคือ ตัณหา  มนุษย์นั้นต้องการความสะดวกสบายในทางกาย ปรารถนาสิ่งปรนเปรอทางประสาททั้งห้า (กามตัณหา)  แต่เท่านั้นก็ยังไม่พอ เรายังต้องการเป็นอะไรที่มากไปกว่าเดิม (ภวตัณหา)  บริโภคนิยมให้สัญญาว่าสามารถตอบสนองความอยากมีและอยากเป็นของมนุษย์ได้  ใช่แต่เท่านั้นบริโภคนิยมยังมีเสน่ห์ดึงดูดใจสำหรับคนในยุคปัจจุบันที่ถือว่าเสรีภาพและอิสรภาพเป็นคุณค่าที่สำคัญ  บริโภคนิยมทำให้เราเชื่อว่าการมีวัตถุสิ่งเสพจะทำให้เรามีเสรีภาพและอิสรภาพมากขึ้น  เช่น รถยนต์จะทำให้เรามีเสรีภาพในการเดินทาง  โทรศัพท์มือถือจะทำให้เราเป็นอิสระจากข้อจำกัดทางภูมิศาสตร์ สามารถติดต่อสัมพันธ์กับผู้คนได้อย่างเสรี  เครื่องสำอางและสินค้าแบรนด์เนมต่างๆ จะทำให้เรามีเสรีภาพในการเปลี่ยนตัวตนหรือสร้างภาพลักษณ์ใหม่ได้ตามใจปรารถนา  ใช่แต่เท่านั้น ความหลากหลายของสินค้าทำให้เรามีเสรีภาพในการเลือกและบริโภคอย่างแทบจะไม่มีขีดจำกัด  ในยุคที่เชิดชูปัจเจกภาพ บริโภคนิยมสามารถทำให้เราเลือกที่จะเป็นคนที่ไม่เหมือนใครก็ได้  ที่สำคัญก็คือบริโภคนิยมทำให้เราเชื่อว่าความสุขนั้นอยู่แค่เอื้อม  ความทุกข์และปัญหาต่างๆ ในชีวิต สามารถแก้ได้ด้วยวัตถุสิ่งเสพ ขอเพียงแต่มีปัญญาหามาบริโภคให้ได้เท่านั้น

แต่สิ่งที่บริโภคนิยมไม่ได้บอกเราก็คือ การที่จะได้สิ่งเหล่านี้มา เราต้องสูญเสียอะไรไปบ้าง  ในขณะที่เราไล่ล่าหาความสุขที่อยู่ข้างหน้านั้น เราได้ละทิ้งความสุขที่มีอยู่แล้วในปัจจุบันมากน้อยเพียงใด  ไม่ต่างจากหมาคาบเนื้อกลางสะพานในนิทานอีสป ที่ทิ้งเนื้อลงน้ำเพียงเพราะอยากได้เนื้อชิ้นใหญ่ในแม่น้ำซึ่งที่จริงเป็นแค่เงา  ยิ่งไล่ล่าหาความสุข ชีวิตกลับเครียดมากขึ้น และสุขภาพย่ำแย่  แม้จะมีสิ่งอำนวยความสะดวกมากมาย แต่ชีวิตกลับเร่งรีบวุ่นวาย จนไม่มีเวลาให้กับตัวเอง ขณะเดียวกันความสัมพันธ์กับผู้คนก็แย่ลง  ผลก็คือแม้จะมีบ้านหลังใหญ่ แต่ไร้ความอบอุ่น  แม้จะมีรถหลายคัน แต่ไม่เคยมีเวลาข้ามถนนไปทักทายเพื่อนบ้าน  และแม้จะโทรศัพท์หรือออนไลน์ข้ามโลก แต่กลับห่างเหินกับคนในบ้าน  ขณะที่ในบ้านเราติดแอร์เย็นสบาย แต่นอกบ้านกลับร้อนอ้าว เต็มไปด้วยมลภาวะ และไม่ปลอดภัยที่จะเดินกลางคืน

ร้ายกว่านั้นก็คือ สิ่งที่เราได้มาด้วยราคาที่แพงนั้นก็หาใช่ของจริงที่ต้องการไม่  เสรีภาพที่บริโภคนิยมสัญญาว่าจะให้นั้น แท้ที่จริงก็เป็นเพียงเสรีภาพที่จะเลือกซื้อรถยนต์หรือโทรศัพท์มือถือยี่ห้อไหนเท่านั้นเอง  ขณะที่เรากลับเป็นทาสของสิ่งเหล่านี้ จะไปไหนก็ไม่ได้หากขาดรถ และกระสับกระส่ายทำอะไรไม่ถูกหากลืมโทรศัพท์มือถือไว้ที่บ้าน จิตใจไร้อิสระเพราะถูกล่ามไว้กับวัตถุสิ่งเสพ  บริโภคนิยมให้ได้แต่ความสะดวกสบาย แต่ไม่สามารถให้ความสุขที่แท้จริงได้  เพราะใจไม่รู้จักพอ ชีวิตจึงไม่เคยเต็มอิ่มเสียที  บริโภคนิยมให้สัญญาว่าเทคโนโลยีนานาชนิดจะทำให้เรามีเวลาว่างมากขึ้น  แต่แล้วชีวิตเรากลับวุ่น จนแม้แต่จะนอนก็ไม่มีเวลา อีกทั้งชีวิตก็เร่งรีบกว่าเดิม จนแม้แต่จะกินก็ต้องรีบเคี้ยว  ยิ่งไปกว่านั้นตัวตนใหม่ๆ ที่ได้จากการบริโภคก็ไม่จิรังยั่งยืน  ไม่ใช่เพียงเพราะเราเบื่อตัวตนเหล่านี้ และถูกกระตุ้นให้อยากได้ตัวตนใหม่ๆ อยู่เสมอเท่านั้น  แต่ที่สำคัญก็คือตัวตนเหล่านี้เป็นเพียงมายา มันเป็นได้แค่ภาพลักษณ์ ซึ่ง “ตกรุ่น” ไปในเวลาไม่นาน

บริโภคนิยมทำให้เราเชื่อว่าความทุกข์และปัญหาต่างๆ ในชีวิต สามารถแก้ได้ด้วยวัตถุสิ่งเสพ ขอเพียงแต่มีปัญญาหามาบริโภคให้ได้เท่านั้น

ปัญญาพาเท่าทัน

บริโภคนิยมทำให้เราเป็นทาสของวัตถุและตกอยู่ในความหลงมากขึ้น  การเป็นไทจากบริโภคนิยมจะต้องเริ่มต้นจากการมีปัญญาแลเห็นโทษและข้อจำกัดของมัน  กล่าวคือเห็นว่า

๑) ในการได้มาซึ่งวัตถุสิ่งเสพเพื่อบริโภคนั้น เราต้องสูญเสียอะไรไปบ้าง

เงินเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น เรายังต้องเสียเวลา พลังงาน และความสุขทางใจ  และอาจต้องแลกกับสุขภาพ และความสัมพันธ์อันราบรื่นกับผู้คน ไม่เว้นแม้แต่คนในครอบครัว  ใช่แต่เท่านั้นเมื่อได้มาแล้ว ก็ต้องเป็นภาระในการดูแลรักษา คอยห่วงกังวล  แต่ไม่ว่าจะดูแลรักษาหรือห่วงกังวลเพียงใด ในที่สุดสิ่งนั้นก็ต้องเสื่อมเสีย สูญหาย หรือพลัดพรากไปจากเรา  มองให้กว้างออกไป วัตถุสิ่งเสพเหล่านี้ไม่ได้สร้างภาระให้เราคนเดียวเท่านั้น หากยังสร้างภาระให้แก่สังคม  ยิ่งเราเสพมากเท่าไร ก็มีผลต่อสิ่งแวดล้อม อย่างน้อยก็ในรูปของขยะและมลพิษ

๒) วัตถุสิ่งเสพไม่สามารถให้ความสุขแก่เราได้อย่างแท้จริง มันให้อย่างมากแค่ความสะดวกสบายทางประสาททั้งห้า 

จริงอยู่ตอนที่เสพหรือได้มาใหม่ๆ ก็มีความสุข  แต่ความสุขนั้นก็จะเกิดขึ้นเพียงชั่วคราว ไม่นานความสุขก็จะกลายเป็นความทุกข์  อาหารไม่ว่าอร่อยเพียงใด แต่ถ้ากินทุกมื้อไปทั้งเดือน ก็ทำให้เอียนได้  เพลงไม่ว่าจะไพเราะเพียงใด หากฟังบ่อยๆ ก็จะรู้สึกเบื่อ  แม้แต่เสื้อผ้าที่ให้ความสุขใจเมื่อสวมใส่ หรือโทรศัพท์มือถือที่ทำให้เจ้าของภูมิอกภูมิใจที่ได้โชว์ แต่ไม่นานก็กลายเป็นของล้าสมัยที่ไม่มีใครอยากใช้

การเห็นโทษและข้อจำกัดของวัตถุสิ่งเสพ จะช่วยให้เรารู้เท่าทันการโฆษณา (ซึ่งล้วนแต่พูดถึงสิ่งดีๆ ของสินค้า) และทำให้เราไม่หลงคล้อยตามบริโภคนิยมไปง่ายๆ  แต่การเห็นเพียงเท่านั้น ยังไม่พอ  เราจะเป็นอิสระจากบริโภคนิยมได้ก็เพราะมีปัญญาแลเห็นทางเลือกที่ดีกว่าด้วย  กล่าวคือ เห็นว่าความสุขที่แท้จริงนั้น อยู่ที่ใจเป็นสำคัญ  วัตถุเป็นเพียงแค่ส่วนประกอบ  แม้วัตถุหรือความสบายทางกายจะช่วยให้เรามีความสุข แต่ก็เป็นเพียงแค่ระดับหนึ่งเท่านั้น  เลยจากนั้นไปต้องอาศัยการรักษาใจอย่างถูกต้อง  หากรักษาใจไม่ถูกต้อง แม้จะเป็นเศรษฐีพันล้าน หรือได้โชคหลายสิบล้านจากล็อตเตอรี่ ก็ยังฆ่าตัวตายได้  ในขณะที่คนจำนวนไม่น้อย มีเงินไม่มากแต่ก็มีความสุข  บางคนทั้งๆ ที่เป็นโรคร้าย ก็ยังพูดได้เต็มปากว่า “โชคดีที่เป็นมะเร็ง”  หรือแม้เป็นโรคหัวใจจนเกือบตาย แต่ก็มองว่านั่นเป็นสิ่งที่ดีที่สุดอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นกับชีวิตของเขา  กล่าวอีกนัยหนึ่งสุขหรือทุกข์ล้วนอยู่ที่ใจ  วัตถุสิ่งเสพเป็นได้อย่างมากแค่อุปกรณ์เสริมไปสู่ความสุข แต่หาใช่ตัวความสุขไม่  “ความสุขที่คุณดื่มได้” ในชีวิตจริงหามีไม่

๓) การเปลี่ยนแปลงตัวตนหรือเป็นคนใหม่นั้น สำเร็จได้ก็ด้วยการกระทำ มิใช่เกิดจากการบริโภค 

การบริโภคนั้นทำได้อย่างมากเพียงแค่สร้างภาพลักษณ์  และไม่ว่าจะเปลี่ยนภาพลักษณ์อย่างไร ก็ไม่ได้ทำให้เราเป็นคนใหม่ไปได้  ร้ายกว่านั้นก็คือทำให้เราเป็นทาสของวัตถุสิ่งเสพ และเอาคุณค่าของตัวเองไปฝากไว้กับวัตถุ  ซึ่งในที่สุดก็ทำให้เราไม่รู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่าเลยจนกว่าจะมีวัตถุสิ่งเสพ เช่น สินค้าแบรนด์เนม อยู่ใกล้ตัว  อันที่จริงคุณค่าในตัวเองเกิดขึ้นได้ก็จากการทำสิ่งดีงามและสร้างสรรค์  ซึ่งไม่เพียงเป็นประโยชน์แก่ผู้อื่นเท่านั้น หากยังผลย้อนกลับมาเปลี่ยนแปลงตัวเรา ทั้งกายและใจ ให้มีคุณภาพใหม่  และทำให้เราค้นพบคุณสมบัติที่แท้จริงในตัวเรา  ความเป็นคนใหม่หรือสำนึกในตัวตนใหม่ที่ดีกว่าเดิม จะเกิดขึ้นได้ก็ด้วยเหตุนี้


ภาพประกอบ

พระไพศาล วิสาโล

ผู้เขียน: พระไพศาล วิสาโล

เจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต และประธานมูลนิธิเครือข่ายพุทธิกา