เรียนรู้ชีวิต เรียนรู้ความทุกข์

ชัยยศ จิรพฤกษ์ภิญโญ 11 พฤษภาคม 2008

ทุกค่ำคืน มีหลายคนที่ล้มตัวลงนอนด้วยอาการสลบไสลจากความตรากตรำเหนื่อยเพลีย เพื่อที่จะตื่นนอนกลางดึกด้วยความวิตกกังวลถึงหนี้สิน ภาระความรับผิดชอบ ฯลฯ  ไม่ไกลเกินไป หลายคนไม่สามารถหลับตานอนหลับพักผ่อนได้เพราะความเครียด วิตกกังวล เจ็บปวดเสียใจกับเรื่องราวรอบตัว  หลายชีวิตทุกข์ทรมานกับโรคภัยไข้เจ็บ รวดร้าวในจิตใจกับปัญหาความสัมพันธ์ที่ผิดหวัง โกรธแค้น

ความเครียด ความกังวล ความเหงา ซึมเศร้า ฯลฯ เป็นภาวะอาการที่เกิดขึ้นในตัวเรา ยามที่เราตกอยู่ภาวะที่ไม่มั่นคง ไม่ปลอดภัย กังวลกับความคาดหวังผลบางอย่างในอนาคต  หากอาการเครียดทุกข์ตรมสั่งสมและรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ พยาธิสภาพที่รอคอยอยู่และหลายคนกำลังประสบปัญหานี้คือ อาการซึมเศร้า ท้อแท้ หมดพลัง ชีวิตดูเหมือนไร้หนทาง มืดมน  อาการดังกล่าวต่างก็คือส่วนหนึ่งของโฉมหน้าความทุกข์ที่เกิดขึ้นกับชีวิต ช่างเป็นภาวะทุกข์ทรมาน ภาวะที่ทุกคนต้องการหลีกเลี่ยงแต่ก็หนีไม่พ้น  ไม่มากก็น้อย เราต่างล้วนถูกความทุกข์ในชื่ออาการต่างๆ รุมเร้าอยู่เสมอ

ย้อนมองชีวิตของเราแต่ละคน ใช่หรือไม่ว่ากิจกรรมชีวิตแต่ละอย่าง ทั้งการศึกษาเล่าเรียน การพักผ่อนเที่ยวเตร่ การสร้างสัมพันธภาพในรูปแบบต่างๆ เพื่อน คู่รัก ครอบครัว การแสวงหาความมั่นคง ความสำเร็จ การตัดสินใจในทุกเรื่องของเรา แม้แต่การมุ่งศึกษาและปฏิบัติธรรม ต่างเพื่อมุ่งความสุข และหลีกเลี่ยงความทุกข์  และยิ่งเราทุ่มเทพลังงานและทรัพยากรกับกิจกรรมเหล่านี้มากเพียงใด ก็ยิ่งสะท้อนถึงความเข้มข้นในความเชื่อว่าเราสามารถเข้าถึงความสุขและหลีกเลี่ยงความทุกข์ได้มากเท่านั้น

ความสุขที่เราแสวงหาต่างมีมาด้วยกันหลายชื่อ นับตั้งแต่ความมั่นคงปลอดภัยทั้งทางร่างกายและจิตใจ ความภาคภูมิใจ ความสำเร็จ ความอบอุ่น ความสนุกสนาน ความยุติธรรม ความสุขสงบ ความมีคุณค่า การเป็นที่ยอมรับ ฯลฯ  ตลอดเส้นทาง เราดิ้นรนและวิ่งหาเพื่อเข้าถึงและได้มาซึ่งความสุขในนามต่างๆ  แต่ในเส้นทางนั้น เราก็พบว่าสิ่งที่เข้ามาแวะเวียนเสมอๆ และแฝงฝังติดตัวเราอยู่เสมอ ในช่วงเวลาที่สั้นหรือยาว มากหรือน้อยก็ตาม ก็คือ ความทุกข์ ในรูปของอาการต่างๆ  นับแต่ความเครียด วิตกกังวล เหงา ผิดหวัง โกรธ เสียใจ หึงหวง อิจฉา กลัว เหนื่อยล้า ฯลฯ

แม้ความทุกข์ต่างๆ เหล่านี้จะรุมเร้าโจมตีเพียงใด และความสุขที่ได้มาจะอยู่กับเราเพียงชั่วครู่หรือเนิ่นนานก็ตาม เราก็มีความเชื่อที่ฝังลึกและแทบไม่เคยสั่นคลอนเลยก็คือ เราเชื่อว่าตัวเราที่เป็นอยู่ขณะนี้ มีร่างกายและจิตใจที่ดำเนินชีวิตอยู่ขณะนี้ มีตัวตนมีตัวจิตที่อยู่ภายในที่ควรค่าแก่การทะนุถนอม ควรค่าแก่การทุ่มเทพลัง เรี่ยวแรง เวลา และทรัพยากรต่างๆ เพื่อจงรักภักดี เพื่อชื่อสัตย์ต่อตัวตนภายใน ต่อจิตใจของเราว่า ในที่สุดเมื่อเราพยายามมากพอ ตัวตนภายในของเราก็จะมีสุขตลอดไป เราจะไม่ทุกข์อีกต่อไป  แต่ข่าวร้ายก็คือ ความคาดหวัง ความใฝ่ฝันเช่นนี้ไม่เคยมาถึง

สิ่งที่น่าเสียดายก็คือ ยามเมื่อเราต้องการเดินทางไปที่ไหนสักแห่ง แม้ว่าในเส้นทางนั้นเราจะทุ่มเทเรี่ยวแรงและความพากเพียรมากเพียงใด ทั้งหมดก็คือ ความสูญเปล่า เมื่อเส้นทางที่เราเลือกเดินทางนั้น มันเป็นเส้นทางที่ผิด  เหมือนว่าเราต้องการไปเชียงใหม่ แต่เมื่อขบวนรถที่เราเลือกมันไม่ได้ไปเชียงใหม่ จะเพราะขึ้นขบวนผิดหรือสาเหตุใดก็ตาม เมื่อเส้นทางที่เลือกผิด ความพากเพียรก็ย่อมสูญเปล่า  และเส้นทางที่ผิดในตัวเราก็คือ ความเชื่อที่ผิดๆ บางอย่าง โดยเฉพาะความเชื่อที่ว่าเรามีตัวตน มีจิตใจที่จะเป็นสุขได้ตลอดไป มีตัวตนที่เราสามารถปลอดพ้นความทุกข์  มันเป็นความหลงผิดที่ร้ายแรง

หากเราเฝ้าสังเกตจิตใจที่เป็นต้นเหตุสำคัญของสุขทุกข์ในชีวิตเราให้ดี เราก็จะพบว่าจิตใจของเรานั้นแปรเปลี่ยนตลอดเวลา เราไม่สามารถคาดเดาได้เลยว่านาทีข้างหน้าจิตใจของเราจะคิดนึกอะไร จะรู้สึกอย่างไร  เพราะขณะที่เรากำลังแช่มชื่นเบิกบาน ทันทีที่มีสิ่งอื่นมากระทบ จิตใจก็พร้อมแปรเปลี่ยนความรู้สึกและความคิดนึกได้ทันที จิตใจเหมือนผ้าขาวที่ถูกย้อมตามสีสันอารมณ์ได้ง่ายเหลือเกิน  แท้จริงจิตใจของเราอยู่ภายใต้กฏไตรลักษณ์ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา  นี่คือความจริงที่เราหลงลืม ความจริงที่เรามองข้าม และเรามองไม่เห็น  เราถูกความหลงผิดแฝงฝังในตัวเราอย่างแนบแน่นว่าจิตใจเป็นสิ่งที่เราสามารถควบคุมบังคับได้ จิตใจเป็นสิ่งที่เรากำหนดสุข ทุกข์ได้  แท้จริงสิ่งที่เราทำได้ มีเพียงการสร้างเหตุปัจจัยสุข-ทุกข์ให้กับจิตใจได้เท่านั้น

ยามค่ำคืนที่เงียบสงบ หากเราได้เพ่งพินิจชีวิต เราก็จะพบว่าแท้จริงความทุกข์ต่างหากที่เป็นสิ่งจริงแท้ ความสุขเป็นเพียงผิวหน้าที่ฉาบทาความทุกข์  เราไม่อาจยึดมั่นถือมั่นสิ่งใดได้เลย (แต่เราก็หลงว่าเราทำได้) และยิ่งเรายึดมั่นมากเพียงใด เราก็ยิ่งพบแรงเสียดทานที่กัดกินชีวิตมากเท่านั้น (แต่บ่อยครั้งเราก็ไม่ได้นำพา)

ย้อนมองชีวิตของเราแต่ละคน ใช่หรือไม่ว่ากิจกรรมแต่ละอย่าง การตัดสินใจแต่ละเรื่อง หรือแม้แต่การศึกษาและปฏิบัติธรรม ต่างเพื่อมุ่งความสุขและหลีกเลี่ยงความทุกข์

แง่หนึ่งความสุขทำให้เราอยู่นิ่ง แต่แง่หนึ่งความสุขก็ทำให้เราติดจม ไม่คิดดิ้นรน ไม่คิดเปลี่ยนแปลง ความสุขจึงไม่อาจทำให้เราเรียนรู้อะไรได้มากนัก  แตกต่างกับความทุกข์ ซึ่งทำให้เราต้องต่อสู้ดิ้นรนเพื่อไปให้พ้นจากสภาพทุกข์ทรมาน ในแง่นี้ความทุกข์จึงเป็นแรงขับเคลื่อนต่อชีวิตที่สำคัญ  ท่าทีต่อความทุกข์จึงเป็นเรื่องสำคัญ

เมื่อเราเครียด กังวล หากเราได้กลับมาคิดนึกทบทวน ตั้งสติและตรึกตรองกับตนเองถึงเป้าหมาย คุณค่าของชีวิต เส้นทางชีวิตที่กำลังเป็นอยู่และกำลังดำเนินไป ความทุกข์เช่นนี้ก็ทำให้เราเกิดการเรียนรู้  แต่หากท่าทีต่อความทุกข์ที่เราสัมพันธ์ คือ การติดจมกับความเครียด วิตกกังวล ผิดหวัง เสียใจ ฯลฯ กับการต้องพบปะสิ่งไม่พึงปรารถนา การไม่ได้อยู่กับสิ่งที่ต้องการ เช่น เกลียดงานที่ทำแต่ไม่คิดเปลี่ยน ตัดพ้อต่อโชคชะตาแต่ก็ไม่คิดปรับปรุงแก้ไข  นี่ก็คือ ท่าทีต่อความทุกข์ในลักษณะติดตันแต่เพียงว่าเราทุกข์ เราเครียด เราทรมาน  นั่นหมายถึงเราวางตัวเองในฐานะเหยื่อ หรือผู้ถูกกระทำ ท่าทีเช่นนี้เราอาจจะไม่ได้เรียนรู้อะไรนัก  แต่หากเราได้กลับมาตั้งสติ คิดนึกตรึกตรองที่มาที่ไปของความทุกข์ เราก็จะไม่ใช่เหยื่อของความทุกข์อีกต่อไป แต่เราสามารถใช้ความทุกข์นำพาชีวิตไปสู่ภาวะที่สร้างสรรค์ ภาวะที่มีสันติสุขได้

หากเราได้เรียนรู้ความทุกข์ผ่านชีวิตที่ดำเนินไปในแต่ละวันได้อย่างรู้เท่าทัน มองเห็นความเป็นอนิจจังของจิตใจ รางวัลที่รอคอยไม่ใช่ความสุข  แต่คือ ความสามารถที่จะปล่อยวางความหลงผิด มีความสุขสงบในจิตใจได้ แม้ขณะนั้นเรากำลังประสบความทุกข์ก็ตาม ความทุกข์กัดกินเราไม่ได้

ขอให้เราได้เรียนรู้ชีวิต เข้าถึงความทุกข์เพื่อนำพาชีวิตไปสุ่สันติสุข  อย่าให้ใครพูดได้ว่า ความทุกข์อยู่รอบตัวให้เรียนรู้ แต่ก็ไม่ได้นำพา


ภาพประกอบ

ชัยยศ จิรพฤกษ์ภิญโญ

ผู้เขียน: ชัยยศ จิรพฤกษ์ภิญโญ

นอกเหนือจากบทบาทนักเขียนประจำคอลัมน์ งานสำคัญ คือ กระบวนกร นักจิตปรึกษา, enneagram coach สนใจและรักที่จะทำงานด้านการทำงานเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงกับโลกภายในผ่านทักษะ ประสบการณ์เรียนรู้ทั้งงานอบรม การทำจิตปรึกษา และงานเขียน