“กราบนมัสการ อยากถามท่าน พอดีแม่ป่วยเป็นมะเร็งระยะที่ 3 แล้ว แต่ตอนนี้ดิฉันพยายามรักษาแม่เต็มที่แต่เงินหมด แล้วตอนนี้ก็ค่อนข้างลำบาก ท่านพระอาจารย์พอมีแนวทางแนะนำดิฉันได้ไหมคะ ตอนนี้ดิฉันก็เป็นหนี้ เบิกเงินเดือนล่วงหน้าจนจะหมดแล้วค่ะ ขอแนวทางชี้แนะ ขอบพระคุณค่ะ”
ข้างต้นเป็นเนื้อความในเฟสบุ๊คของพระอาจารย์ไพศาล วิสาโล ที่มีผู้เรียนถามท่านเพื่อขอคำปรึกษากับเรื่องทุกข์ใจ ยามที่เราเผชิญกับเรื่องราวอึดอัดคับข้องใจ แรงผลักพื้นฐานที่มักเกิดขึ้นทันทีคือ ความต้องการ ความพยายามที่จะกำจัดความทุกข์ อึดอัด คับข้องในใจให้หายไปทันที สิ่งที่มักเกิดขึ้นบ่อยๆ คือ ความพยายามมุ่งมั่นที่อยากกำจัดหรือคลี่คลายความทุกข์ใจให้หายไป อาจสร้างปัญหาเรื่องราวใหม่ขึ้นมาได้ แล้วสิ่งที่ตามมาคือ ความทุกข์ใจเรื่องใหม่เข้ามาแทนที่ หรือขยายเรื่องเดิมให้ใหญ่โตขึ้น กลายสภาพเป็นงูกินหาง
จากตัวอย่างข้างต้น ผู้เขียนเชื่อว่ากรณีเช่นนี้เกิดขึ้นกับหลายครอบครัว สภาพความรุนแรงมากน้อยแตกต่างกันไป ปัญหาโรคภัยไข้เจ็บ นำไปสู่ปัญหาหนี้สิน ปัญหาความเครียด จนนำไปสู่ปัญหาสัมพันธภาพในครอบครัว และโยงไปสู่ปัญหาสุขภาพกายใจในที่สุด เราในฐานะปัจเจกชน และในฐานะสมาชิกของครอบครัว ชุมชน จึงไม่สามารถหลีกเลี่ยงผลกระทบได้ พร้อมกันนั้น ตัวเราเองก็สามารถสร้างผลกระทบต่อคนอื่น ต่อครอบครัว และชุมชนรอบตัวได้เช่นกัน
ชีวิตที่ขับเคลื่อนไปบนถนนชีวิต เปรียบเหมือนรถประจำทางที่แล่นไป และตัวเราก็ทำหน้าที่อยู่ในรถประจำทางชีวิตด้วยบทบาทที่แตกต่างตามเงื่อนไขต่างๆ
ในวัยเด็กที่เราต้องพึ่งพิงผู้ใหญ่ พ่อแม่ ครูอาจารย์ บทบาทที่เราทำได้คือ ผู้โดยสารที่อาจมีอภิสิทธิ์ได้เป็นผู้โดยสารชั้นพิเศษ หรือได้โอกาสเพียงเป็นผู้โดยสารชั้นประหยัด หรือเราอาจได้แค่สิทธิ์การเป็นผู้ยืน เหตุปัจจัยอาจขึ้นกับสภาพสายสัมพันธ์ วัตถุประสงค์ รวมถึงเจตนา
แต่เมื่อถึงวัยที่เราเป็นผู้ใหญ่ สิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้คือ เราต้องเริ่มมีความรับผิดชอบในบทบาทผู้ขับขี่รถประจำทางชีวิตของเราเอง และเมื่อถึงช่วงเวลาหนึ่ง รถประจำทางชีวิตของเราก็จะเริ่มมีผู้โดยสารคนอื่นๆ มาอาศัย เช่น ครอบครัว เพื่อนร่วมงาน หรือคนแปลกหน้าที่เข้ามาเชื่อมสัมพันธ์ในบางวาระโอกาส ในวัยผู้ใหญ่ เราในฐานะผู้ขับขี่รถประจำทางชีวิต เรามีหน้าที่โดยปริยายที่จะต้องทำบทบาทผู้ขับขี่ที่ต้องดูแลรับผิดชีวิตตนเอง ชีวิตของผู้โดยสารที่เข้ามาและต่อรถประจำทางคันนี้ของเรา
และเมื่อเราทำหน้าที่ขับขี่รถประจำทางชีวิตนี้ ภาวการณ์ที่อาจประสบได้ คือ การหลงทาง เครื่องยนต์ชำรุดเสียหาย ผู้โดยสารก่อกวนการเดินทาง ตัวเราล้มป่วยไม่พร้อมขับขี่ ฯลฯ ภาวะยุ่งยากติดขัดต่างล้วนเป็นบททดสอบเส้นทางชีวิต ความตระหนักรู้ตัว การมีสติปัญญา สติสัมปชัญญะของผู้ขับขี่รถประจำทาง จึงเป็นฐานทรัพยากรสำคัญ เช่นเดียวกับความพร้อมของสภาพเครื่องยนต์ น้ำมันเชื้อเพลิง
ดังนั้น เมื่อเผชิญภาวะอุปสรรคที่รถประจำทางคันนี้ขับเคลื่อนไม่ได้ หรือไม่มีคุณภาพ สิ่งแรกที่ทุกคนพึงกระทำทันทีคือ การค้นหาให้ได้ว่าเกิดอะไรขึ้น นี่คือโจทย์ข้อแรก และโจทย์ข้อสองคือ เราจะทำอย่างไรดีกับโจทย์ข้อแรกนี้
ชีวิตที่ขับเคลื่อนไปบนถนนชีวิต เปรียบเหมือนรถประจำทางที่แล่นไป และตัวเราก็ทำหน้าที่อยู่ในรถประจำทางชีวิตด้วยบทบาทที่แตกต่าง
เพราะรถประจำทางชีวิต คือชีวิตของเรา การมีความรู้ความสามารถในการเข้าใจตนเอง การยอมรับและเข้าใจในความจริงหรือกฎธรรมชาติความเป็นไปของชีวิต ก็ช่วยให้เราขับเคลื่อนชีวิตต่อไปได้ แม้จะเผชิญกับภาวะอึดอัดคับข้องใจในการเดินทาง ในบางครั้งเราก็ต้องอาศัยและพึ่งพาความช่วยเหลือ เพื่อช่วยเรามองเห็นโจทย์ชีวิตที่แท้จริงว่าคืออะไร และรับมือกับโจทย์นี้อย่างไรดี
ทุกครั้งที่การขับรถประจำทางชีวิตพบพานอุปสรรค ปัญหาข้อติดขัด หากว่าเราสามารถก้าวข้ามได้ สิ่งที่จะงอกเงยในตัวเราคือ การสั่งสมประสบการณ์ในฐานะความฉลาดในชีวิตและการดำเนินชีวิต ความฉลาดเช่นนี้เราจักได้มา ไม่ใช่ด้วยการมีความสามารถในการคิดนึก การมีข้อมูลสำคัญ แต่มาจากการมีประสบการณ์กับความทุกข์ ความยากลำบาก ที่ช่วยหล่อหลอมเคี่ยวกรำให้จิตใจได้รับการฝึกฝน บ่มเพาะให้มีคุณภาพของความอดทน เข้มแข็ง สุขุมหนักแน่น ภาวะคุณภาพจิตใจเช่นนี้ ไม่มีสิ่งใดทำให้ได้นอกจากการมีประสบการณ์ฝึกฝนโดยตรงผ่านความทุกข์ยากของชีวิต
ความมหัศจรรย์ของชีวิต คือ แต่ละเส้นทางของชีวิตที่ขับเคลื่อนไป สนามชีวิตแต่ละสนามจะเข้ามาให้เราเผชิญการทดสอบ เกณฑ์ตัดสินการผ่านสนามก็มาจากตัวเราด้วยผลลัพธ์คือ สุขทุกข์ที่เข้ามา บทเรียนชีวิตจากการเรียนรู้ที่เข้ามาหรือเก็บเกี่ยวได้ เราฉลาดขึ้นหรือโง่ลงกับการดำเนินชีวิตของเราเอง คุณภาพการขับขี่ การใช้ชีวิต การเลือกเส้นทาง ก็มาจากคุณภาพความฉลาดที่เราเก็บเกี่ยวได้ แม้เส้นทางที่เลือกอาจยากลำบาก แต่ความพร้อมและความฉลาดในการใช้และดำเนินชีวิต ก็ทำให้เรานำพาชีวิต ผู้โดยสาร และรถประจำทาง ไปถึงที่หมายโดยปลอดภัยสวัสดิภาพได้