แง่คิดจากคนใกล้ตาย

พระไพศาล วิสาโล 10 ธันวาคม 2023

พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมเย็นวันที่ 5 ธันวาคม 2566


มีหมอคนหนึ่ง เป็นคนหนุ่มไฟแรง จบแพทย์ที่เชียงใหม่ แล้วเรียนต่อเป็นแพทย์เฉพาะทางทันทีด้านเวชศาสตร์ครอบครัว ซึ่งเป็นการเรียนที่หนัก แต่ก็มีความสุขที่ได้เรียนรู้เพราะรักความเป็นหมอ มิหนำซ้ำยังเรียนปริญญาโทของคณะวิศวกรรมศาสตร์อีก เรื่องวิทยาการข้อมูล เพราะตั้งใจจะทำการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับเรื่องการระบาดของโรคหรือระบาดวิทยา

จบปริญญาโทแล้วสมัครเป็นอาจารย์แพทย์ ก็ได้เป็นอาจารย์แพทย์สมใจ ชีวิตทำท่าจะรุ่งโรจน์ในด้านอาชีพการงาน ชีวิตส่วนตัวก็กำลังจะไปได้ไกลเพราะว่ากำลังจะแต่งงานและมีบ้านใหม่

แต่แล้ววันหนึ่งก็พบว่าตัวเองเป็นมะเร็งปอดระยะสุดท้าย หมอบอกว่ามีเวลาอยู่ได้ประมาณ 6 เดือน ตัวเองเพิ่งอายุ 28 เอง อนาคตที่รุ่งโรจน์ก็เหมือนจะดับวูบไปเลย หมอคนนี้ชื่อหมอกฤตไท ธนสมบัติกุล ซึ่งคงจะรู้จักถ้าได้ติดตามเพจ

หมอกฤตไทเมื่อรู้ว่าตัวเองเป็นมะเร็งระยะสุดท้าย ทีแรกก็ทำใจยากเพราะอายุยังไม่มาก แค่ 28 งานการก็ดี ชีวิตส่วนตัวก็ดี กำลังจะไปไกล แกบอกว่าคนเราก็แปลก ไม่ทันได้แก่เลยก็ใกล้จะตายแล้ว คนส่วนใหญ่มีโอกาสได้แก่ก่อนที่จะตาย แต่ตัวเขาไม่มีโอกาสได้แก่ แต่ก็ไม่ได้ท้อ ยอมรับความจริงของชีวิตแม้ว่าจะเจ็บปวด แต่อยากจะเอาประสบการณ์ของตัวเองมาเป็นประโยชน์กับผู้คนทั้งหลาย โดยเฉพาะคนหนุ่มสาววัยเดียวกับตน จึงทำเพจในเฟซบุ๊กชื่อ “สู้ดิวะ” เมื่อปีที่แล้ว

อาตมาเคยเอาเรื่องของหมอกฤตไทมาพูดเมื่อปีที่แล้ว ตอนที่เปิดเพจนี้ใหม่ๆ “สู้ดิวะ” ในแง่หนึ่งเป็นการให้กำลังใจคนที่ป่วยด้วยโรคมะเร็งว่า อย่าเพิ่งหมดหวังกับชีวิตตราบใดที่ยังมีลมหายใจ ต้องมีความหวัง อย่าปล่อยใจไปกับความหดหู่ท้อแท้ ขณะเดียวกันอยากจะให้ประสบการณ์ของหมอเป็นอนุสติ เป็นบทเรียนชีวิตกับคนหนุ่มสาว เพื่อที่จะได้ใช้ชีวิตอย่างไม่ประมาท ใช้ชีวิตอย่างคุ้มค่า เพราะว่าชีวิตนี้มันเปราะบาง

คนหนุ่มสาวมักจะไม่ตระหนักว่าชีวิตมันเปราะบาง แต่ถ้าวันใดเจ็บป่วยด้วยโรคร้าย จะรู้ว่าชีวิตนี้มันเปราะบาง มันไม่แน่นอน เพราะฉะนั้นถ้าหากว่าสามารถจะใช้ชีวิตไปในทางที่ถูกต้องหรือมีคุณค่า แม้ชีวิตจะสั้นแต่ก็ถือว่าคุ้มค่ากับการได้เกิดมา

เพจนี้มีคนติดตามมากและให้แรงบันดาลใจ ตอนหลังหมอกฤตไทพิมพ์หนังสือออกมาเล่มหนึ่งชื่อเดียวกับชื่อเพจ “สู้ดิวะ” แต่ว่าออกมาได้แค่เดือนสองเดือน ปรากฏว่าวันนี้มีข่าวว่าหมอกฤตไทเสียชีวิตแล้ว

นับเป็นเวลาหนึ่งปีในการใช้ชีวิตของตัวหมอที่มีคุณค่า เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น และไม่ลืมที่จะใช้เวลาที่มีอยู่น้อยนิดเพื่อประโยชน์ของตัวเองด้วย ในแง่หนึ่งหมอกฤตไทเป็นแบบอย่างที่ดีของคนที่แม้ว่าจะเจอโรคร้าย แต่ก็ยอมรับความจริงของชีวิตได้ ไม่มัวแต่หดหู่ท้อแท้โวยวายตีโพยตีพาย ทำไมต้องเป็นฉัน

หมอกฤตไทอาจจะมีบางช่วงที่มีความรู้สึกแบบนี้ เป็นธรรมดาของปุถุชน แต่ก็ไม่ใช่จมอยู่กับความหดหู่ คนเราพอยอมรับความจริงแล้วก็สามารถจะเดินหน้าต่อไปได้ เดินหน้าต่อไปได้หมายความว่าในแง่หนึ่งก็ดูแลรักษาร่างกายของตัว มีช่องทางอะไรที่จะดูแลรักษาหรือช่วยทำให้คุณภาพชีวิตไม่แย่ลงในช่วงที่ยังมีลมหายใจ ก็ทำ

แต่ไม่ใช่ทำเฉพาะเรื่องการดูแลสุขภาพกาย ตอนหลังหมอกฤตไทเห็นถึงความสำคัญของการดูแลสุขภาพใจด้วย เพราะมีความสำคัญมาก คนเราเวลาเจ็บป่วยไม่ได้ป่วยกายอย่างเดียว มันป่วยใจด้วย ป่วยใจเพราะความกลัวเพราะความหดหู่ ซึ่งมันเป็นการซ้ำเติมให้ทุกข์มากขึ้น

ป่วยกายอาจจะรักษาไม่ได้ เพราะว่าวิทยาการเทคโนโลยีมีจำกัดและโรคลามมากแล้ว แต่อย่างน้อยก็ดูแลใจไม่ให้ทุกข์ทรมาน อันนี้คือสิ่งที่หมอกฤตไทพยายามทำและเอามาเผยแพร่ มาบอกเล่าให้เป็นข้อคิดสำหรับคนหนุ่มสาว

หากใช้ชีวิตไปในทางที่ถูกต้องหรือมีคุณค่า แม้ชีวิตจะสั้น แต่ก็ถือว่าคุ้มค่ากับการได้เกิดมา

และที่สำคัญคือยังมีความหวัง มีความหวังกับการใช้ชีวิตแต่ละวัน หรือแม้กระทั่งแต่ละชั่วโมงให้มีคุณค่า เวลาเจ็บป่วยก็ยังมีเวลาออกกำลังกาย ดูแลเอาใจใส่สุขภาพ และอะไรที่เป็นประโยชน์ให้กับผู้อื่นได้ก็ทำ

หนังสือหรือข้อคิดของหมอกฤตไทที่ถ่ายทอดออกมาให้กับคนทั่วไป หลักๆ มี 3 เรื่อง ซึ่งล้วนแต่มีคุณค่า แม้แต่คนที่ไม่ได้ป่วย แม้ไม่ใช่เป็นคนหนุ่มคนสาว หลายข้อก็ตรงกับหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา

ประเด็นแรก ให้รู้จักอยู่กับปัจจุบัน ให้ใช้วันนี้เหมือนเป็นวันสุดท้าย คนเราถ้าหากตระหนักว่า เราอาจจะไม่มีวันพรุ่งนี้ หรือตระหนักว่าวันนี้คือวันสุดท้ายของเรา เราจะใช้เวลาอย่างมีคุณค่ามากขึ้น อะไรที่ดี อะไรที่ควรทำ ก็รีบทำ อะไรที่สำคัญต่อตนเอง ต่อญาติมิตร ต่อคนรัก ก็รีบทำ ไม่ผัดผ่อน

ความทุกข์ของคนส่วนใหญ่เกิดจากความคิดว่ามีเวลา และไม่ใช่แค่มีเวลาสองสามวัน อาจจะมีเวลาเป็นปีๆ ก็เลยเอาแต่ผัดผ่อน ได้แต่บอกว่า เดี๋ยวก่อน ๆ ๆ สุดท้ายสิ่งที่ควรทำก็ไม่ได้ทำ เพราะความเจ็บ ความป่วย หรือความตายมันมาประชิดตัวเสียก่อน

คนเราถ้าหากคิดหรือตระหนักว่า วันนี้เป็นวันสุดท้ายของเรา ในแง่หนึ่งเราก็จะทำดีกับคนรอบข้าง คนที่อยู่รอบตัวเรา เราจะไม่เอาแต่ใจตัว เราจะคำนึงถึงความรู้สึกของคนรอบข้างมากขึ้น ยิ่งถ้านึกว่าไม่ใช่แค่วันนี้จะเป็นวันสุดท้ายของเรา อาจจะเป็นวันสุดท้ายของคนที่เรารักด้วย เราจะปฏิบัติกับเขาอย่างดี ไม่หุนหันพลันแล่น และถ้าเราทำอย่างนั้นแล้ว คนที่มีความสุขที่สุดก็คือเรา ไม่ใช่แค่คนที่เราทำดีด้วยเท่านั้น เราก็ไม่รู้สึกผิดอะไร เราจะรู้สึกว่า เราได้ทำดีกับคนที่เรารัก ไม่มีอะไรที่ติดค้างใจ หรือขุ่นข้องหมองใจ

การที่เราใช้ชีวิตวันนี้เหมือนวันสุดท้าย มันจะทำให้เราไม่คิดรอความสุขจากวันพรุ่งนี้ หลายคนรอความสุขหรือคาดหวังความสุขที่อยู่ข้างหน้า หรือพรุ่งนี้ หรือมะรืนนี้ ส่วนวันนี้ก็อยู่แบบกล้ำกลืนฝืนทน หรือบางทีก็มีความทุกข์เพราะคาดหวังความสุขวันพรุ่งนี้หรือมะรืนนี้

ถ้าเราตระหนักว่า วันนี้อาจจะเป็นวันสุดท้ายของเรา เราจะไม่รอ ไม่คาดหวังความสุขวันพรุ่งนี้ แต่เราจะรู้จักขวนขวายหาความสุขในวันนี้เลย และความสุขในวันนี้ไม่จำเป็นต้องกินดื่มเที่ยวเล่นหรือช้อปก็ได้ เพราะถ้าเรารู้จักมองหรือตระหนักว่าวันของเรามีเวลาเหลือไม่มาก เราจะพบว่าสิ่งธรรมดาๆ ในชีวิตของเราแต่ละวันๆ ก็สามารถเป็นแหล่งที่มาของความสุขได้

ซึ่งนำมาเป็นประเด็นที่สองที่คุณหมอกฤตไทย้ำว่า ให้รู้จักขอบคุณความปกติธรรมดาของชีวิต หลายคนไม่ได้ตระหนักเลยว่าการที่ชีวิตเราปกติ มันเป็นโชค มันเป็นสิ่งวิเศษ อันนี้หมอพูดจากประสบการณ์ตัวเองว่า เมื่อเห็นคนป่วย การหายใจไม่ใช่ทำได้ง่ายๆ การที่หายใจไม่เหนื่อยหอบแต่ละวันๆ มันก็ถือว่าเป็นความสุขแล้ว วันไหนที่ไม่เจ็บไม่ปวดมันก็เป็นความสุขแล้ว

คนเราไม่ตระหนักว่าวันปกติธรรมดา วันที่เราไม่เจ็บไม่ป่วย ไม่มีความเจ็บความปวดที่หลัง ไม่ต้องนอนติดเตียง อันนี้คือความสุขแล้ว เราไม่จำเป็นต้องรอให้เจ็บให้ป่วย หรือต้องปวดเสียก่อน แล้วจึงจะมาเห็นคุณค่าของการไม่เจ็บไม่ปวด หรือเห็นคุณค่าของความปกติธรรมดา

ถ้าเรารู้จักใคร่ครวญ เราก็จะรู้ว่า การที่ชีวิตเรามันปกติธรรมดา ไม่ต้องมีความสนุกนาน ไม่ต้องไปเที่ยวต่างประเทศ ไม่ต้องไปกินดื่มเที่ยวเล่นอะไร แค่ปกติธรรมดามันก็เป็นความสุขแล้ว

คุณหมอบอกว่าให้รู้จักขอบคุณชีวิตที่ปกติธรรมดาเสียบ้าง คนเราจะไม่รู้สึกชื่นชมหรือขอบคุณความสุขจากชีวิตที่ปกติธรรมดา ถ้าเราคิดว่ายังมีพรุ่งนี้ ยังมีมะรืนนี้ ยังมีอีกหลายปี อีกยี่สิบสามสิบปีรออยู่ข้างหน้า เราจะไม่เห็นคุณค่าของความปกติธรรมดาเลย หรือถ้าเราไม่รู้สึกว่าเราต้องเจ็บต้องป่วย ต้องมีทุกขเวทนา เราจะไม่รู้สึกเลยว่า การที่เรามีชีวิตปกติธรรมดานั้นมันเป็นโชค เป็นความสุข

และถ้าเรารู้ว่าชีวิตของเรามันเหลือน้อยลงไปแล้ว มันไม่ใช่แค่ความปกติธรรมดาของชีวิต คือความไม่เจ็บไม่ป่วยเท่านั้น การที่ได้อยู่กับคนรัก ได้เห็นวิวทิวทัศน์ที่สวยงามในยามเช้า ได้เห็นดอกไม้ ได้เห็นท้องฟ้า แค่นี้ก็มีความสุขแล้ว ความสุขมันอยู่ข้างหน้าเรา แต่เราไม่ค่อยเห็นจนกว่าเราจะตระหนักว่า เรามีเวลาเหลืออยู่ในโลกนี้ไม่นาน

ถ้าเราตระหนักว่า วันนี้อาจจะเป็นวันสุดท้ายของเรา เราจะใช้เวลาอย่างมีคุณค่ามากขึ้น

มีนักดนตรีคนหนึ่ง วิลโก้ จอนห์สัน เขาเป็นนักดนตรีดัง เพราะเป็นคนบุกเบิกดนตรีพั้งก์ ตอนที่หมอวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งตับอ่อน โรคเดียวกับสตีฟ จ็อบ เขาบอกว่าพอออกมาจากโรงพยาบาล เขารู้สึกสดชื่นมีชีวิตชีวามาก ไม่ว่าจะดอกไม้ สายลม เมฆ ท้องฟ้า เหล่านี้มีความหมายใหม่กับเขา มันสวยงามมาก การเดินบนท้องถนนมันกลายเป็นสิ่งที่วิเศษ ทั้งที่แต่ก่อนนั้นเป็นเรื่องธรรมดา มันกลายเป็นสิ่งวิเศษไปแล้วเพราะไม่รู้ว่าจะได้เจอภาพนี้อีกนานเท่าไหร่ ของธรรมดามันกลายเป็นของวิเศษมีชีวิตชีวาขึ้นมาเลย

คนเราถ้าไม่ใกล้ตายจะไม่รู้ว่าสิ่งที่เราเห็นเป็นธรรมดาในชีวิตประจำวัน มันมีคุณค่า มีความหมาย มีความสวยงาม แต่พอรู้ว่าเราจะมีชีวิตอยู่ได้อีกไม่นาน พวกนี้ สิ่งปกติธรรมดา ทั้งที่มีอยู่กับตัวเรา ทั้งที่ประสบพบเห็น มันจะเป็นสิ่งที่สามารถให้ความสุขกับเราได้ง่ายๆ
ฉะนั้นถ้าเรายังไม่ทันเจ็บป่วย อย่างน้อยก็รู้จักขอบคุณ รู้จักชื่นชมสิ่งเหล่านี้ไว้ เพราะเป็นความสุขที่หาได้ง่าย ไม่ต้องรอความสุขพรุ่งนี้ ไม่ต้องรอการกินดื่มเที่ยวเล่นก็ได้

ประเด็นที่สามที่หมอกฤตไทเน้น หรือนำมาแลกเปลี่ยนเป็นบทเรียนชีวิตคือ อย่าเสียเวลากับเรื่องที่ไม่เป็นเรื่อง เรื่องจิ๊บจ๊อย เรื่องที่ชวนหงุดหงิด โดยเฉพาะหลายคนเป็นทุกข์กับงานการ มีความเบื่อหน่ายกับองค์กร หรือกังวลกับพุงย้อยๆ ของตัว เวลาไปตัดผมเห็นผมหยิกนิดหน่อยก็ไม่พอใจ ไม่พอใจกับการมีสิว หรือไม่พอใจกับการที่กล้ามเนื้อซิกแพ็คมันไม่ชัดเจน หมอกฤตไทบอกว่าปล่อยไปเถอะ ช่างหัวมันบ้าง

หมอกฤตไทบอกว่าก่อนหน้านี้เขาเคยเป็นแบบนี้ แต่พอรู้ว่าตัวเองจะอยู่ได้ไม่นาน เรื่องพวกนี้เป็นเรื่องจิ๊บจ๊อยไปเลย

“เชื่อผมเถอะ เรื่องพวกนี้คุณจะไม่นึกถึงมันเลย ถ้าคุณใกล้ตายเมื่อไหร่ เรื่องพวกนี้กลายเป็นเรื่องจิ๊บจ๊อยที่เราไม่สนใจเลย”

แต่เราไม่ต้องรอให้เป็นคนใกล้ตายเสียก่อนถึงจะเห็นว่าเรื่องพวกนี้ไม่ควรเสียเวลา เพราะจริงๆ แม้เราจะยังไม่ใกล้ตาย ยังไม่เจ็บป่วย ถ้าเราลองนึกเสียบ้างว่าสักวันหนึ่งเราต้องตาย อันนี้ทางพระเรียกว่าเจริญมรณสติ เราก็จะตระหนักว่าเวลาของเราในโลกนี้มันเหลือน้อยไปทุกที เวลาของเราเหลือน้อยลงไปทุกวัน ทุกชั่วโมง ไม่ว่าหนุ่มสาวหรือแก่

ในเมื่อเวลาเราเหลือน้อยลงไปเรื่อยๆ แบบนี้ จะเอาเวลาที่เหลืออยู่ใช้ไปกับอะไร หมดไปกับเรื่องไม่เป็นเรื่อง เรื่องจิ๊บจ๊อย เรื่องหงุดหงิด ซึ่งหลายคนเป็นกัน เพื่อนบ้านเปิดเพลงดังก็ไปทะเลาะเบาะแว้งกับเขา แฟนลืมวันเกิดก็หัวเสีย หรือว่าโทรศัพท์รุ่นไม่ใหม่พอก็รู้สึกแย่ หรือไปทะเลาะเบาะแว้งเพียงเพราะว่าเพื่อนร่วมงานมีความเห็นไม่ตรงกับเรา

เราเสียเวลาไปกับเรื่องพวกนี้มากโดยที่ไม่ตระหนักว่า เวลาของเราในโลกนี้มันเหลือน้อยลงไปทุกทีๆ ถ้าตระหนักว่าเวลาของเราเหลือน้อย แม้จะยังไม่ป่วย เราจะไม่มัวเสียเวลากับเรืองพวกนี้ หรือไม่มัวเสียเวลากับความทุกข์ เรื่องที่น่าหงุดหงิด

ถ้ารู้จักใคร่ครวญ เราจะรู้ว่า แค่การที่ชีวิตเรามันปกติธรรมดา มันก็เป็นความสุขแล้ว

อีกข้อหนึ่งที่หมอกฤตไทบอกก็คือว่า อย่าเสียเวลาของเราเพื่อความฝันของคนอื่น อันนี้บอกคนหนุ่มสาวโดยตรงเลย อย่าใช้เวลาทั้งชีวิตเพื่อตอบสนองความฝันของคนอื่น อันนี้พูดไปแล้วเมื่อวานว่าคนหนุ่มสาวหลายคนเป็นทุกข์มาก ทุกข์กับความคาดหวังของสังคมและคนรอบข้าง คนรอบข้างอาจจะเป็นพ่อแม่ก็ได้ เป็นเพื่อนก็ได้ เขาคาดหวัง หรือเขาอยากให้เราสนองความฝันของเขา เขาทำไม่ได้ เขาก็อยากให้ลูกให้หลานสนองความฝันของเขา

ถ้าหากเราใช้ชีวิตของเราเพื่อสนองความฝันของคนอื่น การมีชีวิตของเราเองก็จะไม่มีวันได้เกิดขึ้นเลย เสร็จแล้วก็ทุกข์ระทมกับการที่ไม่ได้ใช้ชีวิตในแบบที่ตัวเองใฝ่ฝัน ซึ่งเป็นกันมากในคนหนุ่มสาว ใช้ชีวิตตามความคาดหวังของคนอื่น จนไม่รู้ว่าตัวเองมีความมุ่งหวังอะไรกับชีวิต หรืออยากจะมีชีวิตแบบไหน

และอีกอันหนึ่งที่คนเสียเวลามากก็คือ การเสียเวลากับการทำสิ่งที่ไม่ชอบ ต้องอดทน งานการน่าเบื่อ แต่ที่ทำก็เพราะว่ามีเงินเดือนที่ดี และคิดว่าถ้าเราอดทนอีกนิด อดทนอีกหน่อย แล้ววันหน้าจะดีขึ้น หมอกฤตไทก็เตือนว่าคุณไม่รู้หรอกว่าพรุ่งนี้จะมีหรือเปล่า คุณอาจจะไม่มีวันพรุ่งนี้ก็ได้ ซึ่งคล้ายกับภาษิตทิเบตที่ว่า “ไม่มีใครรู้หรอกว่า ระหว่างพรุ่งนี้กับชาติหน้าอะไรจะมาก่อน อย่าไปคิดว่ามีพรุ่งนี้แล้วจึงมีชาติหน้า พ้นจากวันนี้ไปก็ชาติหน้าเลย”

ฉะนั้นถ้าเราไม่รู้ว่าพรุ่งนี้จะมีหรือเปล่า วันนี้ก็ควรจะใช้ชีวิตให้กับสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับเรา หรือสิ่งที่มีค่า รวมทั้งสิ่งที่เราชอบด้วย แต่ว่าสิ่งที่เราชอบก็ต้องพิจารณาว่ามันมีคุณค่าหรือเปล่า เพราะหลายคนใช้เวลาหมดไปกับการกินดื่มเที่ยวเล่นเพราะชอบ แต่ปรากฏว่าไม่มีเวลาให้กับสิ่งอื่นที่มีคุณค่า ไม่มีเวลาให้กับคนรัก ไม่มีเวลาให้กับพ่อแม่ หรือแม้กระทั่งไม่มีเวลาให้กับตัวเองด้วยซ้ำ

“ไม่มีใครรู้หรอกว่า ระหว่างพรุ่งนี้กับชาติหน้าอะไรจะมาก่อน”

การที่คนเราคิดถึงความตายที่จะต้องเกิดขึ้นกับเราแม้ยังไม่เจ็บไม่ป่วย มันช่วยทำให้เราตระหนักว่า ในเมื่อเวลาเราเหลือน้อยลงไปทุกทีๆ ควรใช้เวลาที่เหลืออยู่ให้มีคุณค่า ไม่ใช่เพียงแค่สนองความอยากของคนอื่น หรือแม้กระทั่งสนองความอยากของกิเลสในใจเรา อันนี้ท่านเตือนให้รู้จักใช้ชีวิตที่ไม่ประมาท ความไม่ประมาททางพระพุทธศาสนาก็คืออันนี้

และถ้าเราใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่า ถึงแม้เราจะต้องตายจากโลกนี้ไป มันไม่มีอะไรต้องเสียดาย ที่จริงการใช้ชีวิตของเราแต่ละวันๆ สิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้คือการใช้แต่ละวันเพื่อการเตรียมตัวรับมือกับความตายที่จะเกิดขึ้นในวันข้างหน้า เพราะไม่อย่างนั้น ถ้าความตายมาถึงมันทุกข์ทรมานมาก

หรืออย่างน้อยๆ ก็ใช้เวลาแต่ละวันเพื่อการเตรียมรับมือกับความเจ็บความป่วยที่จะเกิดขึ้นในวันข้างหน้า เพราะก่อนที่เราจะตายเราจะต้องเจ็บป่วยซึ่งส่วนใหญ่ไม่ใช่ตายฉับพลัน และหลายคนแม้ยังไม่ตายแต่ทุกข์ทรมานมากเพราะความเจ็บปวด ไม่ว่าจะเป็นทุกขเวทนาทางกายหรือทางใจ เพราะอะไร เพราะว่าช่วงเวลาที่ปกติสุข ไม่ได้สนใจเตรียมตัวเลย ทั้งๆ ที่มันมีโอกาสจะเกิดขึ้นกับเราถึง 90 %

และถ้าจะให้ดีก็เตรียมตัวรับมือกับความผันผวนปรวนแปรของชีวิต เรียนรู้จากความสูญเสียพลัดพราก เงินหาย ของหาย ก็ถือว่าเป็นแบบฝึกหัดในการฝึกใจให้เผชิญกับสิ่งที่ไม่ถูกใจ หรือความผันผวนของชีวิตได้ เจอคำต่อว่าด่าทอก็ถือว่าเป็นเครื่องฝึกใจให้มีความมั่นคงหนักแน่น ถึงเวลาเจ็บเวลาป่วยก็จะไม่โวยวายตีโพยตีพาย ถึงเวลาตายก็สามารถจะเผชิญความตายได้อย่างสงบ

นี่คือบทเรียนที่เราสามารถครุ่นคิดหรือใคร่ครวญได้จากการระลึกถึงความตาย หรือถ้าจะให้ดีก็เรียนรู้จากประสบการณ์ชีวิตของคนใกล้ตายอย่างหมอกฤตไท ข้อเขียนของหมอกฤตไทตลอดปีที่ผ่านมาสามารถเตือนใจเราได้ดี เพราะเป็นการเอาประสบการณ์ของคนจริงๆ คนที่เจ็บป่วยจริงๆ คนที่ใกล้ตายจริงๆ มาบอกเล่า อ่านแล้วก็รู้สึกใกล้ตัว ไม่ใช่เป็นเรื่องไกลตัว ไม่ใช่เป็นเรื่องคิดเอาเอง
อันนี้เป็นแง่คิดของคนที่แม้รู้ว่าจะตาย ก็ไม่ยอมปล่อยให้การตายของตนไร้ค่า แต่เอามาใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อเพื่อนมนุษย์ที่ยังอยู่.


Credit จาก Zen Sukato / Nok Peaceful / Patwajee

พระไพศาล วิสาโล

ผู้เขียน: พระไพศาล วิสาโล

เจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต และประธานมูลนิธิเครือข่ายพุทธิกา